วันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

พระพุทธสิหิงค์ ตำนานและรูปแบบ

ความนำ
พระพุทธรูปนั้นเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสิ่งบูชาสักการะของพุทธศาสนิกชนอย่างสูงสุด เพราะถือว่า พระพุทธรูปนั้นเป็นเสมือนพระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาของพุทธศาสนา ที่พุทธศาสนิกชนทุกคนบูชาและเคารพสูงสุด พระพุทธรูปถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของประติมากรรมอันเกี่ยวกับประดิษฐกรรมตามกระบวนช่างปั้น,แกะสลักและหล่อซึ่งทำให้เกิดรูปที่มีมิติที่สมบูรณ์ตามอุดมคติของศิลปินผู้ซาบซึ้งในหลักธรรมของพระพุทธองค์อย่างแท้จริงแล้วจึงเนรมิตพระรูปให้ตรงกับมโนภาพของตน และให้เป็นสื่อแทนคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
อนึ่ง พระพุทธรูปนั้นตามหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาแล้วจัดเป็นเจดีย์ประเภทหนึ่งใน เจดีย์ ๔ ประเภท คือ
๑. ธาตุเจดีย์ เจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า
ภาพที่ ๑ พระธาตุนาดูน อ.นาดูน จ.มหาสารคาม
๒. บริโภคเจดีย์ เจดีย์คือสิ่งหรือสถานที่พระพุทธเจ้าเคยทรงใช้หรือประทับอยู่ หมายถึงต้น, สังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่ง ตลอดถึงสิ่งที่พระพุทธองค์เคยทรงบริโภค เช่น บาตรจีวรและบริขารอื่น ๆ เป็นต้น

ภาพที่ ๒ สังเวชนียสถาน ๔
๓. ธรรมเจดีย์ เจดีย์ที่บรรจุพระธรรม เช่น บรรจุใบลานจารึกพุทธพจน์แสดงหลักธรรมประกอบด้วยปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น

ภาพที่ ๓ หอไตรวัดทุ่งศรีเมือง อ.เมือง จ. อุบลราชธานี
๔. อุทเทสิกเจดีย์ เจดีย์ที่สร้างอุทิศพระพุทธเจ้า อันได้แก่ พระพุทธรูปนั้นเอง[๑]
ภาพที่ ๔ พระพุทธสิหิงค์ วัดพระสิงห์ อ.เมือง จ. เชียงใหม่
ดังนั้น การศึกษาเกี่ยวกับพระพุทธรูปก็จัดได้ว่ามีความสำคัญในฐานะที่เป็นอุทเทสิกเจดีย์และก่อให้เกิดปัญญา ก่อให้เกิดความศรัทธาเลื่อมใส และมีความรู้ความเข้าใจในศิลปะด้านนี้มากยิ่งขึ้นทำให้เห็นคุณค่าทางภูมิปัญญาของผู้สร้างและปรัชญาที่มีอยู่ในพระพุทธรูปเหล่านั้นด้วย

สำหรับพระพุทธรูปที่สำคัญ ๆ ในประเทศไทยมีมากมายหลายองค์ด้วยกัน แต่ข้าพเจ้าเลือกศึกษาเฉพาะ พระพุทธสิหิงค์เท่านั้น พระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิหล่อหุ้มทองคำซึ่งก็นับว่าเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญของประเทศไทยองค์หนึ่งที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายเคารพบูชา ในเทศกาลวันสงกรานต์ทางราชการจะจัดปะรำขึ้นแล้วอาราธนาอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานเพื่อให้ประชาชนได้นมัสการและทรงน้ำโดยทั่วกันทุก ๆ ปี[๒] ในการศึกษาพระพุทธสิหิงค์นี้จะเน้นเพียง ๒ ประเด็นคือ
๑. ตำนานประวัติความเป็นมา
๒. รูปแบบของพระพุทธสิหิงค์

๑. ประวัติความเป็นมา

เรื่องตำนานหรือประวัติของพระพุทธสิหิงค์ ได้มีท่านผู้เรียบเรียงไว้แล้วหลายท่าน เช่น พระโพธิรังสี ปราชญ์แห่งเมืองเชียงใหม่ ได้เขียนเป็นภาษามคธ ราว พ.ศ.๑๙๖๐ และบรรยายเรื่องราว จนมาถึง พ.ศ.๒๔๕๔ สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยา ดำรงราชานุภาพ ได้ทรงนิพนธ์ต่อจากพระโพธิรังสี มาจนถึงสมัย หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ได้เรียบเรียงใหม่เป็นตำนานย่อ และกล่าวข้อวิจารณ์ในทางโบราณคดี ส่วนที่ผู้เขียนได้นำกล่าวมานี้ได้อ้างถึงตำนานพระพุทธสิหิงค์ ของพลตรีหลวงวิจิตรวาทการ เขียนขึ้นเนื่องด้วยได้มีการรวบรวมข้อเท็จจริง ที่ท่านผู้รู้ทั้งหลายเหล่านั้นได้ค้นคว้าแล้วมาเรียบเรียงไว้ให้เป็นตำนานที่อ่านง่าย เพื่อความสะดวกและเข้าใจแก่ผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาทั่วไป

พระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปที่กษัตริย์ลังกาได้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๗๐๐ ได้อัญเชิญเข้ามาสู่ประเทศสยาม ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ฉะนั้น จึงต้องนับว่า พระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของประเทศสยามอย่างแท้จริง[๓] แต่ในเมืองไทย พระพุทธรูปที่ทรงพระนามว่าพระพุทธสิหิงค์นั้นมีอยู่ ๓ องค์ ๓ แห่งคือ




(ภาพที่ ๕ พระพุทธสิหิงค์ทั้ง ๓ องค์)

องค์ที่ ๑ ประดิษฐานในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร

(ภาพที่ ๖)

พระพุทธสิหิงค์ องค์ที่ ๑ (ภาพที่ ๖) นี้เป็นพระพุทธรูปปางนั่งขัดสมาธิสูง ๙๖ ซม. หน้าตักกว้าง ๖๖ ซม. หล่อด้วยสัมฤทธิ์ ปิดทองคำเปลว พระสรีระได้สัดส่วนและงดงามที่สุดจะหา พระพุทธโบราณในเมืองไทยที่งดงาม และได้สัดส่วนเทียมพระพุทธสิหิงค์องค์นี้มิได้เลย ตามตำนานกล่าวว่าองค์นี้ศิลปะสุโขทัยประดิษฐานในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ กรุงเทพมหานคร


องค์ที่ ๒ ประดิษฐานในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่
(ภาพที่ ๗)

พระพุทธสิหิงค์ องค์ที่ ๒ (ภาพที่ ๗) เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ มีความสำคัญคู่กับพระพุทธสิหิงค์ในกรุงเทพฯ และเมืองนครศรีธรรมราช เป็นพระพุทธรูปที่งดงามมาก องค์นี้ศิลปะเชียงแสน พระพุทธสิหิงค์เชียงใหม่ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร หล่อด้วยสัมฤทธิ์ปิดทองคำเปลว หนักตักกว้าง ๔๐ นิ้ว ศิลปะเชียงแสนรุ่นแรก ปัจจุบันประดิษฐานในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่




องค์ที่ ๓ ประดิษฐานในหอพระพุทธสิหิงค์ ข้างศาลากลาง จ.นครศรีธรรมราช
(ภาพที่ ๘)

พระพุทธสิหิงค์ องค์ที่ ๓ (ภาพที่ ๘) เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองนครศรีธรรมราช มีความสำคัญคู่กับพระพุทธสิหิงค์เมืองเชียงใหม่ และกรุงเทพมหานคร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร แบบขนมต้ม มีพระพักตร์กลม อมยิ้ม พระอุระอวบอ้วน หล่อด้วยสัมฤทธิ์ ปิดทอง หน้าตักกว้าง ๑๔ นิ้ว สูง ๑๖.๘ นิ้ว นับเป็นพระพุทธรูปสำคัญ คู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณกาล ประดิษฐานอยู่ในบุษบกไม้ ณ หอพระ ระหว่างศาลกับศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช องค์นี้ศิลปะศรีวิชัย

ประวัติหรือตำนานของพระพุทธสิหิงค์นี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงนิพนธ์ ไว้ว่า[๔] เดิมพระเจ้ากรุงลังกาองค์ ๑ ทรงสร้างขึ้นไว้ พระเจ้านครศรีธรรมราชไปขอมาถวายสมเด็จพระร่วง(รามราช) พระเจ้ากรุงสุโขทัย ๆ ทรงปฏิบัติบูชามาหลายรัชกาล จนถึงสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ กรุงศรีอยุธยาได้เมืองสุโขทัยเป็นเมืองขึ้น จึงเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมาไว้ในกรุงศรีอยุธยา อยู่ได้หน่อยหนึ่ง พระมเหสีคิดอุบายทูลขอให้พระยาญาณดิศผู้เป็นบุตรไปไว้ ณ เมืองกำแพงเพชร อยู่นั้นไม่ช้า พระยามหาพรหมเจ้าเมืองเชียงรายยกกองทัพมาตีเมืองกำแพงเพชร พระยาญาณดิศสู้ไม่ได้ยอมเป็นไมตรี พระยามหาพรหมจึงของพระพุทธสิหิงค์ไปไว้เมืองเชียงราย ต่อมาพระยามหาพรหมเกิดวิวาทกับพระเจ้าแสนเมืองมา เจ้านครเชียงใหม่ผู้เป็นหลาน พระเจ้าแสนเมืองมายกกองทัพไปตีได้เมืองเชียงรายจึงเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมากับพระแก้วมรกตด้วยกัน พระพุทธสิหิงค์อยู่ในเมืองเชียงใหม่จนสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จไปตีเมืองเชียงใหม่ได้ เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๒๐๕ จึงเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมากรุงศรีอยุธยาประดิษฐานไว้ในวัดพระศรีสรรเพชญ

พระพุทธสิหิงค์อยู่ในกรุงศรีอยุธยาต่อมาตลอด ๑๐๕ ปี จนเสียพระนครแก่พม่าข้าศึก สมัยนั้นชาวเชียงใหม่ยังเป็นพวกพม่าจึงเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับไปไว้เมืองเชียงใหม่ ครั้งรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ ไทยมณฑลภาคพายัพกลับมาเป็นของไทย แต่ในสมัยผู้คนร่อยหรอไม่พอจะตั้งรักษาเมืองเชียงใหม่ไว้ต่อสู้พม่าได้ ต้องทิ้งเมืองเชียงใหม่ให้ร้าง คงรักษาแต่เมืองนครลำปางเป็นที่มั่นอยู่คราวหนึ่ง สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงพระดำริว่า พระพุทธสิหิงค์เคยเป็นพระพุทธรูปสำคัญในกรุงศรีอยุธยาโดยมีตำนานดังแสดงมาจึงได้โปรดให้เชิญลงมายังกรุงเทพฯ เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๓๘[๕]

สำหรับประวัติพระพุทธสิหิงค์ที่วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่นั้นมีตำนานกล่าวว่า[๖] เมื่อพุทธศักราช ๑๙๕๐ ขณะเมื่อพระพุทธสิหิงค์ยังประดิษฐานอยู่ ณ เมืองเชียงราย เชียงรายกับเชียงใหม่เกิดการรบพุ่งกันซึ่งเชียงใหม่เป็นฝ่ายชนะ พระเจ้าแสนเมืองมาแห่งนครเชียงใหม่จึงโปรดให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มายังเชียงใหม่โดยล่องเรือมาตามลำน้ำปิง เรือที่อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาเทียบท่าขึ้นฝั่งยังนครเชียงใหม่ที่ท่าวังสิงห์ ขณะเชิญขึ้นประดิษฐานบนบุษบกปรากฏรัศมีจากองค์พระเรืองรองเป็นลำไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือไหลถึง ๒,๐๐๐ วา ต่อมาจึงได้มีการสร้างวัดขึ้น ณ ที่นั้นได้ชื่อตามเหตุอัศจรรย์ในครั้งนั้นว่า วัดฟ้าฮ่าม ซึ่งหมายถึงฟ้าอร่ามนั่นเอง แต่แรกนั้นพระเจ้าแสนเมืองมาตั้งพระทัยจะอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปประดิษฐานยังวัดสวนดอกซึ่งตั้งอยู่นอกเวียงออกไปทางทิศตะวันตก แต่เมื่อชักลากบุษบกไปถึงวัดลีเชียงพระก็มีอันติดขัดไม่อาจลากต่อไปได้ พระเจ้าแสนเมืองมาถือเป็นศุภนิมิตโปรดให้สร้างมณฑปขึ้น ณ วัดลีเชียงพระและประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ไว้ ณ วัดนั้น เมื่อพระพุทธสิหิงค์ประดิษฐานอยู่ ณ วัดลีเชียงพระ ความศรัทธาเลื่อมใสของชาวเมืองที่มีต่อพระพุทธรูปองค์นี้ทำให้ชาวเมืองเชียงใหม่พากันเรียกชื่อวัดตามนามพระ แต่เนื่องจากชาวเมืองเรียกนามพระพุทธสิหิงค์กร่อนเป็นพระสิงห์ วัดพระพุทธสิหิงค์กลายเป็นวัดพระสิงห์ดังเช่นทุกวันนี้

ส่วนพระพุทธสิหิงค์ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติที่ปรากฏเรื่องราวตาม สิหิงคนิทาน หรือตำนานของพระพุทธสิหิงค์ที่กล่าวว่าพ่อขุนรามคำแหงแห่งกรุงสุโขทัยได้ทรงทราบกิตติศัพท์เกี่ยวกับพระพุทธสิหิงค์จึงโปรดให้พระยานครศรีธรรมราชแต่งทูตอัญเชิญพระราชสาสน์ไปขอประทานพระพุทธสิหิงค์จากกษัตริย์ลังกา ซึ่งพระเจ้ากรุงลังกาก็ถวายให้สมพระราชประสงค์จึงได้มีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์เข้ามายังดินแดนไทยโดยผ่านทางนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นเมืองที่มีการติดต่อสัมพันธ์อยู่กับลังกาอย่างใกล้ชิด ตามตำนานนั้นว่าพ่อขุนรามคำแหงไปรับพระพุทธสิหิงค์ถึงยังนครศรีธรรมราชด้วยพระองค์เอง พระพุทธสิหิงค์เป็นที่เลื่อมใสเคารพบูชาในหมู่ชาวภาคใต้โดยเฉพาะชาวนครศรีธรรมราชเป็นอย่างยิ่ง ว่ากันว่าผู้ทุจริตคิดมิชอบทั้งหลายจะไม่กล้าสาบานต่อหน้าองค์พระเลย หลังจากที่ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่ศาลากลางจังหวัดแล้วคดีความที่จะต้องขึ้นโรงขึ้นศาลลดน้อยลงไปอย่างเห็นได้ชัดเนื่องจากมักมีการเอ่ยอ้างนามพระพุทธสิหิงค์ในการสาบานตัว ทำให้ไม่มีใครกล้าเบิกความเท็จ[๗]

กล่าวโดยสรุปประวัติความเป็นมาของพระพุทธสิหิงค์พบว่าน่าจะเกิดขึ้นในลังกาและได้อัญเชิญมายังเมืองต่าง ๆ ตามลำดับ คือ นครศรีธรรมราช ละโว้ สุโขทัย อยุธยา ชัยนาท กำแพงเพชร ก่อนจะขึ้นมาสู่ล้านนา

๒.รูปแบบพุทธลักษณะของพระพุทธสิหิงค์
พระพุทธสิหิงค์ถือได้ว่าเป็นรูปแบบการสร้างสกุลช่างเชียงแสน(พุทธศตวรรษที่ ๑๖-๒๑)เป็นสกุลช่างทางภาคเหนือมีเมืองเชียงแสนเป็นเมืองสำคัญในสมัยนั้นของอาณาจักรล้านนาไทยอาจจะมีคำถามว่าทำไม่จึงเรียกว่าสิงห์ หรือสิงห์ ๑ สิงห์ ๒ และสิงห์๓ คำตอบคือพระพุทธรูปมีความงดงามน่าเกรงขามท่าทางสง่าดุจพญาสิงหราชจึงได้นามว่าสิงห์หนึ่ง สิงห์สองและสิงห์สาม[๘]พระพุทธสิหิงค์องค์แรก (ภาพที่ ๖) เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ บางท่านกล่าวว่าเป็นศิลปะลังกา แต่ก็มีบางท่านเช่น ศักดิ์ชัย สายสิงห์ [๙] ให้ความเห็นว่าลักษณะทางศิลปกรรมน่าจะเป็นแบบสุโขทัย อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ หรืออาจจะสรุปได้ว่าพระพุทธสิหิงค์ที่ประดิษฐานในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์นั้นอาจจะเป็นพระพุทธรูปล้านนาที่มีอิทธิพลของศิลปะสุโขทัยที่เรียกว่าพระพุทธรูปแบบเชียงแสนสิงห์สอง อาจจะประมาณเกิดขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ก็ได้

ส่วนพระพุทธสิหิงค์องค์ที่ ๒ (ภาพที่ ๗) นั้นเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร เป็นศิลปะล้านนาแบบที่เรียกว่า “สิงห์หนึ่ง” อายุราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ พระพุทธรูปเชียงแสนยุคแรก (สิงห์หนึ่ง) มีพุทธลักษณะแบบศิลปะปาละของอินเดีย ได้รับอิทธิพลเผยแพร่ผ่านมาทางพม่า มีพระพักตร์กลมอมยิ้ม พระหนุ (คาง) เป็นปมนูน ชายสังฆาฏิเป็นรูปทรงเขี้ยวตะขาบอยู่เหนือพระถัน นิยมสร้างปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร ฐานบัวหงาย หล่อด้วยโลหะสำริด ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ [๑๐]พระพุทธสิหิงค์แบบสิงห์หนึ่งนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เมื่อมีการรับตำนานหรือคติการสร้างพระพุทธสิหิงค์เกิดขึ้น ชาวล้านนาจึงถือเอารูปแบบของพระพุทธรูปแบบสิงห์หนึ่งซึ่งได้รับความนิยมในขณะนั้นเป็นต้นแบบของพระพุทธสิหิงค์และเรียกว่าพระสิงห์ในเวลาต่อมา อีกอย่างหนึ่งพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรแบบล้านนานี้เองน่าจะเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญทำให้เกิดการสร้างพระพุทธรูปแบบนี้อย่างแพร่หลายไปยังแหล่งอื่น ๆ โดยเฉพาะเมืองที่ได้รับการกล่าวถึงในตำนานของล้านนาที่ว่าพระพุทธสิหิงค์ได้ผ่านมาตามเมืองต่าง ๆ เช่น นครศรีธรรมราช อยุธยา ชัยนาท สุโขทัย กำแพงเพชร เป็นต้น

พระพุทธสิหิงค์องค์ที่ ๓ (ภาพที่ ๘) ปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร เช่นเดียวกับองค์ที่ ๒ แต่อวบอ้วนมากกว่านิยมเรียกว่าแบบ ขนมต้ม หรือศิลปะแบบขนมต้ม จัดอยู่ในสกุลช่างนครศรีธรรมราช ในสมัยอยุธยาราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒

สรุป
ประวัติตำนานและรูปแบบพระพุทธสิหิงค์จากการศึกษาสรุปได้ว่า ตามประวัติพระพุทธสิหิงค์มาจากลังกาแล้วผ่านนครศรีธรรมราช ละโว้ สุโขทัย อยุธยา ชัยนาท กำแพงเพชร ก่อนจะขึ้นมาสู่ล้านนา แต่จากการศึกษาค้นคว้าของ ศักดิ์ชัย สายสิงห์[๑๑] พบได้ข้อสรุปว่า ตำนานและรูปแบบของพระพุทธสิหิงค์นั้นน่าจะมาจากล้านนา เพราะพระพุทธรูปคือพระพุทธสิหิงค์ในกลุ่มขัดสมาธิเพชรตามตำนานเกิดขึ้นในล้านนาและน่าจะแพร่หลายลงมายังสุโขทัย อยุธยา และกำแพงเพชร โดยพบหลักฐานคือการค้นพบพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรในพระอุระของพระมงคลบพิตรและในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะเป็นการแสดงให้เห็นลักษณะการผสมผสานทางด้านรูปแบบระหว่างการแสดงลักษณะขัดสมาธิเพชรแบบล้านนาที่ไม่ใช่สายวิวัฒนาการของอยุธยาที่มีพื้นฐานมาจากขอม และจากการค้นพบพระพุทธรูปในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะแสดงให้เห็นว่าอยุธยาได้รู้จักพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชร “พระพุทธสิหิงค์” แล้ว อย่างน้อยประมาณต้นหรือกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐ หลักฐานอีกอย่างหนึ่งคือการค้นพบพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรในนามพระพุทธสิหิงค์คือพระพุทธรูปที่พบที่วัดโกขาม จังหวัดสมุทรสงครามเป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรแบบอยุธยาที่เรียกว่าแบบขนมต้ม มีจารึกที่ฐานที่กล่าวว่าพระพุทธรูปองค์นี้คือ พระพุทธสิหิงค์ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๒๓๒

เพราะฉะนั้น จึงอาจได้ข้อสรุปอีกอย่างหนึ่งว่า รูปแบบการสร้างพระพุทธสิหิงค์นั้นน่าจะเกิดที่ล้านนาก่อนแล้วจึงแผ่ขยายลงมาสุโขทัย อยุธยา จนถึงนครศรีธรรมราช ไม่ใช่มาจากลังกามาถึงภาคใต้แล้วขึ้นไปทางเหนือตามตำนานที่กล่าวไว้ พระพุทธสิหิงค์องค์แรก(ภาพที่ ๖) น่าจะเป็นพระพุทธรูปล้านนาประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ รูปแบบน่าจะเป็นสกุลช่างสุโขทัย ส่วนองค์ที่ ๒ (ภาพที่ ๗) เป็นศิลปะแบบล้านนาอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ส่วนองค์ที่ ๓ (ภาพที่ ๘) เป็นศิลปะแบบขนมต้นสกุลช่างนครศรีธรรมราชที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะของอยุธยา



[๑] ขุ.อ. ๒๔๗, ชา.อ. ๖/๑๘๕, วินย. ฎีกา ๑/๒๖๓.
[๒] กรมการศาสนา, ประวัติพระพุทธรูปองค์สำคัญ (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์การศาสนา, ๒๕๒๔), หน้า๑๐๐.
[๓] http://www.komchadluek.net/column/pra/2005/03/28/02.php

[๔] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ตำนานพระพุทธรูปสำคัญ( กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๔๘) , หน้า๕๑.
[๕] ประวัติตำนานพระพุทธสิหิงค์ รายละเอียดอ่านได้จาก ประวัติพระพุทธรูปองค์สำคัญ. อ้างแล้ว หน้า ๑๐๐-๑๑๒.
[๖] วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร, พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง (พิมพ์ครั้งที่ ๓, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ทิพากร, ๒๕๔๖), หน้า ๒๔.
[๗] วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร, พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง (พิมพ์ครั้งที่ ๓, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ทิพากร, ๒๕๔๖), หน้า ๒๖.

[๘] ขวัญทอง สอนศิริ, พุทธนาคบริรักษ์ ๔๘ พรรษา สยามบรมราชกุมารี ( จัดพิมพ์ขึ้นเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเจริญพระชนมายุ ๔๘ พรรษา พ.ศ. ๒๕๔๖, นครปฐม: เพชรเกษมการพิมพ์, ๒๕๔๖), หน้า ๔๓.
[๙] รศ.ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์, ศิลปะสุโขทัย:บทวิเคราะห์หลักฐานโบราณคดี จารึกและศิลปกรรม (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร,๒๕๕๑) ,หน้า ๑๒๑,
[๑๐] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๒๒.
[๑๑] รศ.ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์, ศิลปะสุโขทัย:บทวิเคราะห์หลักฐานโบราณคดี จารึกและศิลปกรรม (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร,๒๕๕๑) ,หน้า ๑๒๒-๑๒๓,

วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

สันโดษ

สันโดษ

บทนำ
สังคมมนุษย์ทุกวันนี้ล้วนมีการดำรงชีวิตด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นปัจจัย ๔ เพื่ออุปโภคบริโภค เครื่องใช้สอยต่าง ๆ แต่ว่าไม่ค่อยมองเห็นความสำคัญของสิ่งเล็กน้อยพยายามสรรหาแสวงหาสิ่งที่สังคมกำหนดขึ้นว่า สิ่งนั้นมีค่าน้อยมีค่ามากก็เลยกลายเป็นว่าเป็นคนหลงค่านิยมไป ฉะนั้นเราจำเป็นจะต้องมีความสันโดษ พระธรรมวิสุทธิกวี (พิจิตร ตวณฺโณ) ( ๒๕๕๐: ๑๖-๑๗) ได้อธิบายได้ว่า ความสันโดษนี้เหมาะแก่ทุกคน ยิ่งในสมัยปัจจุบัน ความสันโดษนี้ยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้น เพราะคนเราไม่ว่ายากจนหรือร่ำรวย ถ้าขาดสันโดษเสียแล้วก็ย่อมทำความเดือดร้อนให้กับตนเองและผู้อื่นเสมอ ส่วนคนที่มีสันโดษไม่ว่าเขาจะอยู่ในฐานะเช่นไรคือ ไม่ว่าเขาจะยากจนหรือร่ำรวย ก็ย่อมทำความสุขความเจริญให้กับตนเองและผู้อื่นเสมอ อันเป็นผลสะท้อนต่อความสงบสุขและความเจริญของบ้านเมืองอีกด้วย เพราะเหตุนี้เอง พระพุทธเจ้าจึงตรัสสรรเสริญธรรมะข้อนี้ไว้ในมงคลสูตรว่า ความสันโดษเป็นมงคลอย่างสูง คือ เป็นความเจริญก้าวหน้าในชีวิตอย่างมาก

ในอดีตและยุคปัจจุบันยังมีหลายคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับหลักคำสอนเรื่องสันโดษ มีบางคนกล่าวว่า คำสอนเรื่องสันโดษในพระพุทธศาสนาเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยที่เข้าใจว่า คำสอนเรื่องนี้เป็นเหตุให้คนไทยมีนิสัยตามแต่จะได้ ไม่ขวนขวายเพื่อก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ เพราะถือว่าพอเลี้ยงตัวไปวันหนึ่ง ๆ ก็พอแล้ว ทั้งเป็นเหตุพื้นฐานให้คนไทยเกียจคร้านอีกด้วย ความจริง เป็นเรื่องของการเข้าใจผิดและใช้หลักธรรมผิดประเภทเช่นเดียวกับการเข้าใจผิด และใช้ยาผิดประเภท คำสอนทางพระพุทธศาสนาไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจแต่อย่างใด การไม่เข้าใจคำสอนและการไม่ปฏิบัติตามหลักคำสอนต่างหากที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ (สุวรรณ เพชรนิล, ๒๕๔๔: ๒๔๐-๒๔๑)
สันโดษก็คือความพอดีพอใจในสิ่งที่ตนมีในสิ่งที่ตนได้ไม่อยากได้จนเกิดความโลภ พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต), ( ๒๕๔๘: ๑๐๖) จำแนกสันโดษไว้ ๓ อย่างด้วยกันคือ
๑. ยถาลาภสันโดษ ยินดีตามที่ได้
๒. ยถาพลสันโดษ ยินดีตามกำลัง
๓. ยถาสารุปปสันโดษ ยินดีตามสมควร
สันโดษพระผู้มีพระภาคเจ้าพระพุทธตรัสว่าเป็นมงคลแก่ชีวิต ในแนวทางพระพุทธศาสนามีนักปราชญ์ท่านหนึ่งได้กล่าวสรรเสริญสันโดษว่าเป็นมงคลแก่ชีวิตซึ่งอยู่ในหนังสือมังคลัตถทีปนี เล่มสองมีเนื้อความภาษาบาลีว่า
คารโว จ นิวาโต จ สนตุฏฺ จ กตญุตา
กาเลน ธมฺมสฺสวนํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตม
ความเคารพ ความถ่อมตน ความเป็นผู้สันโดษ ความกตัญญู
การฟังธรรมตามกาล ๕ อย่างนี้จัดว่าเป็นมงคลชีวิตอย่างสุงสุด
(มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙ : ๑๔)

ความสันโดษจึงถือว่าอยู่ในหลักมงคลชีวิต ๓๘ ประการ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยในการที่จะมีสันโดษมิใช่ง่าย เพราะว่าทุกคนย่อมมีโลภคือความอยากได้กันทุกคนแต่เราต้องใช้ธรรมะคือความสันโดษข่มความอยากเอาไว้ เมื่อทำได้อย่างนี้ ก็จะทำให้เรามีชีวิตที่มีแต่ความสุข มีคนสรรเสริญ เป็นคนดีของสังคม

ความหมายของสันโดษ
สันโดษหมายถึงความพอดีหรือความยินดีอยู่ได้ด้วยของที่มีอยู่ ไม่ด้นรนแสวงหาสิ่งของต่างๆจนน่าเกลียดเกินไป ให้รู้จักหน้าที่การงานของตัวเองยินดีตามมีตามได้ยินดีตามสมควร บุคคลนำไปใช้ได้เหมาะสมกับหน้าที่ของตน สันโดษจึงเป็นมูลเหตุให้บุคคลประกอบอาชีพสุจริตหรือที่เรียหกว่าสัมมาอาชีวะ เมื่อทุกคนที่มีสันโดษล้วนเป็นคนขยันมั่นเพียรในการหาในการก่อสร้างให้เกิดทรัพย์สินเป็นของตนขึ้นในทางที่ชอบธรรมแล้วจะทำให้ทุกคนเป็นผู้สามารถตั้งตนให้ครนมีทรัพย์สินเป็นหลักฐานพึ่งตนเองได้

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) (๒๕๔๘:๑๐๕-๑๐๖)ได้อธิบายว่า สันโดษคือความยินดี,ความพอใจ, ความยินดีด้วยของของตนซึ่งได้มาด้วยเรี่ยวแรงความเพียรโดยชอบธรรม, ความยินดีด้วยปัจจัยสี่ตามมีตามได้, ความรู้จักอิ่มรู้จักพอ
พระสมชาย านวุฑฺโฒ (๒๕๓๓ : ๑๘๗) ได้กล่าวความหมายของสันโดษไว้ว่า สันโดษมาจากภาษาบาลีว่า สันโตสะ สัน แปลว่า ตน โตสะ แปลว่ายินดี สันโดษจึงแปลว่า ยินดีชอบใจ พอใจ อิ่มใจ จุใจ สุขใจ กับสิ่งของ ๆ ตน ความหมายโดยย่อ คือให้รู้จักพอ ให้รู้จักประมาณ

เสฐียรพงษ์ วรรณปก (๒๕๓๓ : ๑๑๘) กล่าวความหมายของความสันโดษไว้ว่า สันโดษสันตุฏฐินั้นหมายความว่า ความภูมิใจในผลสำเร็จที่ตนสร้างสรรค์ขึ้นมาด้วย ความสามารถ ด้วยความพากเพียรพยายาม ของตนในทางที่สุจริต ชอบธรรม

ตามที่กล่าวมาสันโดษจึงเป็นสิ่งสำคัญมากในการดำเนินชีวิต เพื่อให้อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขเมื่อมีความสันโดษแล้วก็จะก่อให้เกิดความเห็นอกเห็นใจกันมีความเมตตากรุณามุทิตาอุเบกขาซึ่งเป็นหัวใจหลักของคนที่มีคุณธรรมตามหลักพระพุทธศาสนาเรียกว่า พรหมวิหารธรรมนั้นเอง
คนที่มีสันโดษจึงถือว่าเป็นมงคลอย่างประเสริฐกับตัวเองด้วย ทั้งพระผู้มีพระภาคก็ทรงสรรเสริญ ความสันโดษว่า สนฺตุฏฺฐี ปรมํ ธนํ แปลว่า ความสันโดษเป็นทรัพย์อันประเสริฐอธิบายว่าคนที่ประกอบด้วยสันโดษ ย่อมเป็นผู้มีความสุขไม่ลำบากยากเข็ญทั้งทำให้ตัวเองและประเทศชาติมีความเจริญ พัฒนาด้วย

ลักษณะของสันโดษ
ตามที่กล่าวแล้ว สันโดษซึ่งแปลว่า ความยินดี ความพอใจ ในสิ่งของที่ตนอยู่ พระสมชาย านวุฑฺโฒ (๒๕๓๓:๑๘๘) ได้จำแนกประเภทของสันโดษไว้ ๓ อย่างคือ
๑. สเกนสันโดษ ยินดีตามมี
๒. สันเตนสันโดษ ยินดีตามได้
๓. สเมนสันโดษ ยินดีตามควร
ยินดีตามมี หมายถึงการยินดีในสิ่งของที่ตนมีที่ตนครอบครองอยู่ไม่ดิ้นรนขวยขวาย สิ่งของ ๆ คนอื่นมาเพื่อตน พอใจในของๆตน ไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ ลูกเมีย หรือแม้แต่ฟหน้าที่การงานที่ทำเป็นต้นสันโดษข้อนี้จึงเป็นเครื่องกำจัดความเกียจคร้าน เบื่อหน่าย

ยินดีตามได้ หมายถึงยินดีกับสิ่งที่ตนได้มา อธิบายว่า แสวงหาสิ่งใด ได้สิ่งนั้นมาก็มีความพอใจในสิ่งนั้น ถึงมันจะไม่ดีมาก ไม่ประณีตก็ยินดีเท่านั้น ไม่กระวนกระวายดิ้นรณสิ่งที่เกินกำลัง สติปัญญาความสามารถ

ยินดีตามควร หมายถึงยินดีกับของที่สมควรกับตัวเองเท่านั้น สิ่งใดมีอยู่ หรือสิ่งที่จะได้มามันอาจมีค่ามากไม่สมกับเราที่จะได้รับก็ไม่ยินดี ไม่ยอมรับเอาสิ่งนั้นมาครอบครองเป็นของตนเอง

อานิสงส์ของการมีสันโดษ
อานิสงส์ของสันโดษนั้นถ้าเป็นคฤหัสถ์นำไปใช้ย่อมทำให้รู้จักผิดชอบ และรู้จักตนเองท่านได้ให้ความหมายสำหรับคฤหัสถ์ไว้ว่า จงสันโดษในรูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ซึ่งก็หมายความว่า ยินดีในภรรยาสามีของตน นั้นเอง ซึ่งท่านก็น้อมเข้ามาในศีล ๕ ข้อ คือข้อที่สาม ไม่ประพฤตินอกใจสามีภรรยาของตนเอง และยินดีตามมีตามได้ยินดีในหน้าที่การงานของตนเอง ยินในฐานะการหาได้รายที่ตนทำงานมาได้ ซึ่งทำให้เกิดสุขทั้งชาตินี้ และชาติหน้าต่อไป ถ้าเป็นพระภิกษุสามเณร ท่านให้สันโดษในจีวรบิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานเภสัช ซึ่งจะทำให้พระภิกษุสามเณรมีความสุขกาย สบายใจ ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า และบรรลุมรรคผลนิพพานสืบต่อไป ดังข้อความที่กล่าวไว้ในมังคลัตถทีปนีแปลเล่ม ๔ (มหามกุฏราชวิทยาลัย,๒๕๓๙:๒:๑๐๔)ที่ว่า
“ภิกษุผู้สันโดษ ย่อมเป็นผู้อยู่เป็นสุขในทิศทั้ง ๔ และเป็นผู้ไม่กระทบกระทั่ง สันโดษอยู่ด้วยปัจจัยนอกนี้ ๆ (ตามมีตามได้) ครอบงำเสียซึ่งอันตรายทั้งหลาย ไม่หวาดเสียว เป็นผู้เดียว เช่นกับนอแรด พึงเที่ยวไป”
พระสมชาย านวุฑฺโฒ (๒๕๓๓ : ๑๙๗) ได้จำแนกอานิสงส์ของสันโดษไว้ ๑๐ อย่างคือ
๑. ตัดกังวลต่างๆ
๒. ออกห่างอกุศล
๓. ทำตนให้สบาย
๔. คลายผิดคิดถูก
๕. ปลูกศีลธรรม
๖. นำตนให้พ้นทุกข์
๗. ไม่ฝ่าฟืนทำชั่ว
๘. ปลูกแต่ความเจริญ
๙. สร้างแต่เหตุดี
๑๐. นำศาสนาให้รุ่งเรือง


สรุปความ
สันโดษหมายถึงความยินดีในสิ่งที่ตนเองมี ในที่นี้คือยินดีในหน้าที่การงานของตัวเองในทรัพย์สินของตนเอง ถ้าเป็นคฤหัสถ์ก็ยินดีในหน้าที่การงานของคฤหัสถ์ ถ้าเป็นบรรพชิตก็ยินดีในกิจของบรรพชิต ซึ่งแบ่งออกเป็นสามอย่างคือ
๑. ยถาลาภสันโดษ ยินดีตามได้
๒. ยถาพลสันโดษ ยินดีตามกำลัง
๓. ยถาสารุปปสันโดษ ยินดีตามสมควร ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์จะขาดสันโดษไม่ได้เลย ถ้าไม่มีคุณธรรมข้อนี้ ก็จะทำให้เดือดร้อนทั้งตนเองและผู้อื่น ถ้ามีความสันโดษทำให้ผู้ปฏิบัติได้รับผล ประโยชน์ที่เป็นคุณูปการอย่างยิ่งทั้งในชาตินี้และสัมปรายภพอย่างแท้จริง



















บรรณานุกรม
พระธรรมวิสุทธิกวี (พิจิตร ตวณฺโณ). พระพุทธศาสนากับชีวิตพอเพียง. กรุงเทพมหานคร : ชวนพิมพ์ ๕๐ จำกัด , ๒๕๕๐.
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลธรรม. (พิมพ์ครั้งที่ ๑๓) กรุงเทพมหานคร:บริษัท เอส. อาร์. พริ้นติ้งแมสโปรดักส์จำกัด:๒๕๔๘.
พระสมชาย านวุฑฺโฒ.มงคลชีวิต ฉบับธรรมทายาท.กรุงเทพมหานคร : กราฟิคอาร์ต, ๒๕๓๓.
มหามกุฏราชวิทยาลัย.มังคลัตถทีปนีแปลเล่มสอง.กรุงเทพมหานคร:มหามกุฏราชวิทยาลัย,๒๕๓๙.
.มหามกุฏราชวิทยาลัย.มังคลัตถทีปนีแปลเล่มสี่. กรุงเทพมหานคร : มหามกุฏราชวิทยาลัย,๒๕๓๙.
เสฐียรพงษ์ วรรณปก. สูตรสำเร็จแห่งชีวิต. กรุงเทพมหานคร : อมรินทร์พรี้นติ้งกรุ๊พ, ๒๕๓๓.
สุวรรณ เพชรนิล. พุทธปรัชญาเบื้องต้น. (พิมพ์ครั้งที่ ๘). กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ๒๕๔๔.

อัพยากตปัญหา

อัพยากตปัญหา
ความนำ
การตอบปัญหาต่าง ๆ เป็นเรื่องการแสดงความรู้ความสามารถเป็นพุทธประสงค์ที่สำคัญประการหนึ่ง เห็นได้จากการที่มารผู้มาทูลอาราธนาให้พระพุทธองค์ปรินิพพาน มารได้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้พระภาคเจ้าจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด ขอพระสุคตเจ้าจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด บัดนี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระพุทธเจ้าแล้ว”
พระพุทธเจ้าได้ตรัสตอบมารว่า
“ดูกรมารผู้มีบาป ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ผู้เป็นสาวกสาวิกาของเรา ยังไม่เฉียบแหลม ยังไม่ได้ฝึกฝน ยังไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เรียนกับอาจารย์แล้วยังบอกธรรมไม่ได้ ยังแสดงข่มขี่คำรุกรานของผู้อื่นไม่ได้เพียงใด เราจักยังไม่ปรินิพพานเพียงนั้น” (มหาปรินิพพานสูตร ที. มหา.๑๐/๙๕/๘๘)

ในพระสูตรนี้จะเห็นคำว่า “ข่มขี่คำรุกรานของผู้อื่น” ในที่นี่หมายถึงการตอบปัญหาต่าง ๆ ได้ เรื่องนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าความสามารถตอบปัญหาต่าง ๆ ได้นั้นไม่ได้มีความสำคัญเฉพาะพระพุทธเจ้าเท่านั้น แต่มีความสำคัญต่อพุทธบริษัททั้งปวง เพราะหมายถึงความมั่นคงอยู่รอดของพระพุทธศาสนา (สุวรรณ เพชรนิล, ๒๕๔๔: ๒๔๕) ในพระสูตรต่าง ๆ จะพบว่าพระพุทธเจ้าทรงสรงเสริมให้พระสาวกมีความสามารถในการตอบปัญหาอยู่เสมอ ๆ เมื่อพระสาวกนั่งสนทนาปัญหาเรื่องใด ๆ ก็ตามพระองค์เสด็จผ่านไปทางนั้น ก็มักจะรับสั่งถามว่า พวกเธอกำลังสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อพระภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบก็ทรงนำสู่รายละเอียดของเรื่องนั้น ๆ และตรัสหลักธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ การที่ทรงให้ความสนพระหฤทัยกับปัญหาต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ เป็นวิธีการให้ความรู้แก่พระสาวกตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่ปล่อยให้เหตุการณ์ล่วงเลยไปอย่างไม่มีความหมาย วิธีการตอบปัญหาของพระพุทธเจ้านั้นอาจแบ่งได้ ๔ แบบตามที่ปรากฏในปัญหาสูตร (อํ.จตุกฺก.๔๒/๓๙) ดังข้อความในพระสูตรว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัญหาพยากรณ์ ๔ อย่างนี้ ๔ อย่างเป็นไฉน คือ ปัญหาที่พึงพยากรณ์โดยส่วนเดียวมีอยู่ ๑ ปัญหาที่พึงจำแนกพยากรณ์มีอยู่ ๑ ปัญหาที่ต้องสอบถามแล้วพยากรณ์มีอยู่ ๑ ปัญหาที่ควรงดมีอยู่ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัญหาพยากรณ์ ๔ อย่าง นี้แล ฯ ๑. กล่าวแก้โดยส่วนเดียว ๒. จำแนกกล่าวแก้ ๓. ย้อนถามกล่าวแก้ ๔. การงดกล่าวแก้ อนึ่ง ภิกษุใดย่อมรู้ความสมควรแก่ธรรมในฐานะนั้น ๆ แห่งปัญญาเหล่านั้น บัณฑิตทั้งหลายกล่าวภิกษุอย่างนั้นว่า เป็นผู้ฉลาดต่อปัญหาทั้ง ๔ ภิกษุผู้ที่ใคร ๆ ไล่ปัญหาได้ยาก ครอบงำได้ยาก เป็นผู้ลึกซึ้ง ให้พ่ายแพ้ได้ยาก และเป็นผู้ฉลาดต่อประโยชน์ทั้ง ๒ คือทั้งในด้านเจริญและในด้านเสื่อม ย่อมเป็นผู้ฉลาดงดเว้น ทางเสื่อม ถือเอาทางเจริญ เป็นธีรชนเพราะรู้จักประโยชน์ ชาวโลกขนานนามว่า บัณฑิต ฯ
จากพระสูตรนี้สรุปเป็นแนวทางการตอบปัญหา ๔ ประเภทคือ
๑. เอกังสพยากรณียปัญหา คือปัญหาที่ตอบแบบตรงไปตรงมาหรือการตอบปัญหาแบบเชิงเดียว
๒. วิภัชชพยากรณียปัญหา คือการแยกตอบปัญหาหรือการแยกประเด็นตอบ
๓. ปฏิปุจฉาพยากรณียปัญหา คือย้อนถามก่อนจึงตอบหรือการตอบโดยการย้อนถาม
๔. อัพยากตปัญหาหรือฐปนียปัญหา คือปัญหาบางอย่างต้องตัดบทไปเลยไม่ตอบหรือปัญหาที่ไม่ทรงพยากรณ์ ( เสฐียรพงษ์ วรรณปก, ๒๕๔๐: ๕๗- ๕๘)

นอกจากวิธีตอบปัญหา ๔ ประการนี้แล้ว ยังมีวิธีปลีกย่อยอีกบางอย่างที่สังเกตได้จากการตอบปัญหาของพระพุทธเจ้าตามที่ปรากฏในพระสูตรบางแห่งคือ พระองค์ทรงตอบคำถามเท่าที่ตอบได้ และปัญหาร้ายส่วนบุคคลไม่ทรงตอบ (แสง จันทร์งาม,๒๕๒๖: ๑๒๑-๑๒๔)
ประเด็นที่น่าสนใจในการตอบคำถามคือในแบบที่ ๔ คืออัพยากตปัญหาคือปัญหาที่ไม่ทรงพยากรณ์หรือตอบแบบไม่ตอบนี้เองทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า
๑. ปัญหาอะไรที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงตอบ
๒. ทำไมจึงไม่ทรงตอบคำถามเหล่านั้น ซึ่งผู้เขียนจะได้นำเสนอต่อไป

ปัญหาอะไรที่ไม่ทรงตอบ
ปัญหาที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์หรือตอบนั้นมีปรากฏอยู่ในพระสูตรที่รู้จักกันดีคือจูฬมาลุงโกยวาทสูตร(ม.ม.๑๓/๑๔๗-๑๔๙/๑๑๗-๑๑๘) เนื้อความของพระสูตรมีอยู่ว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น ท่านพระมาลุงกยบุตรไปในที่ลับ เร้นอยู่ เกิดความดำริแห่งจิตอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ ทรงงด ทรงห้ามทิฏฐิเหล่านี้ คือ โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่ สัตว์เบื้องหน้า แต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ ข้อที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ทิฏฐิเหล่านั้นแก่เรานั้น เราไม่ชอบใจ ไม่ควรแก่เรา เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วทูลถามเนื้อความนั้น ถ้าพระผู้มีพระภาคจักทรงพยากรณ์แก่เรา ฯลฯ เราก็จักประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ถ้าพระผู้มีพระภาคจักไม่ทรงพยากรณ์ ฯลฯ เราก็จักลาสิกขามาเป็นคฤหัสถ์.
ครั้งนั้น เวลาเย็น ท่านพระมาลุงกยบุตรออกจากที่เร้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส เมื่อข้าพระองค์ ไปในที่ลับ เร้นอยู่ เกิดความดำริแห่งจิตอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ ทรงงดทรงห้ามทิฏฐิเหล่านี้ คือ โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ สัตว์เบื้องหน้า แต่ตายไปไม่มีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ ข้อที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ทิฏฐิเหล่านั้นแก่เรานั้น เราไม่ชอบใจ ไม่ควรแก่เรา เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคทูลถามเนื้อความนั้น ถ้าพระผู้มีพระภาคจักทรงพยากรณ์ ฯลฯ เราก็จักประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ถ้าพระผู้มีพระภาคจักไม่ทรงพยากรณ์ ฯลฯ เราจักลาสิกขามาเป็นคฤหัสถ์. ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าโลกมีที่สุดหรือโลกไม่มีที่สุด เมื่อไม่ทรงรู้ ไม่ทรงเห็น ก็ขอตรัสบอกตรงๆ เถิดว่า เราไม่รู้ เราไม่เห็น. ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า ชีพอันนั้นสรีระก็อันนั้น ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่า ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่า ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงทราบว่า ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่า ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง เมื่อไม่ทรงรู้ไม่ทรงเห็น ก็ขอตรัสบอกตรง ๆ เถิดว่า เราไม่รู้ไม่เห็น. ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ ขอจงทรงพยากรณ์ แก่ข้าพระองค์เถิดว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่ ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป ไม่มีอยู่ ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงทราบว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ หรือว่าสัตว์เบื้องหน้า แต่ตายไปไม่มีอยู่ เมื่อไม่ทรงรู้ ไม่ทรงเห็น ก็ขอตรัสบอกตรงๆ เถิดว่า เราไม่รู้ เราไม่เห็น. ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี ขอจงทรงพยากรณ์ แก่ข้าพระองค์เถิดว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงทราบว่า สัตว์ เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี หรือว่าสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ เมื่อไม่ทรงรู้ ไม่ทรงเห็น ก็ขอตรัสบอกตรงๆ เถิดว่า เราไม่รู้ เราไม่เห็น.

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมาลุงกยบุตร เราได้พูดไว้อย่างนี้กะเธอหรือว่า เธอจงมาประพฤติพรหมจรรย์ในเราเถิด เราจักพยากรณ์ทิฏฐิ ๑๐ แก่เธอ ฯลฯ ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
ก็หรือว่า ท่านได้พูดไว้กะเราอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักประพฤติ พรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ถ้าพระผู้มีพระภาคจักทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์ ฯลฯ

ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า. ดูกรมาลุงกยบุตร ได้ยินว่า เรามิได้พูดไว้กะเธอดังนี้ว่า เธอจงมาประพฤติพรหมจรรย์ ในเราเถิด เราจักพยากรณ์แก่เธอ ฯลฯ ได้ยินว่า แม้เธอก็มิได้พูดไว้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ถ้าพระผู้มีพระภาค จักทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์ ฯลฯ ดูกรโมฆบุรุษ เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอเป็นอะไร จะมาทวงกะใครเล่า
จากพระสูตรนี้จะพบว่าคำถามทั้ง ๑๐ ที่พระมาลุงกยบุตรได้ถามพระพุทธเจ้านั้นมีเรื่องสำคัญ ๆ เพียง ๓ เรื่องเท่านั้นคือ

๑. เรื่องโลก ได้แก่คำถามข้อที่ ๑-๔ คือ
๑.๑ โลกเที่ยง (คงอยู่อย่างนี้ตลอดกาล)
๑.๒. โลกไม่เที่ยง (คงอยู่อย่างนี้ชั่วคราว)
๑.๓. โลกมีที่สุด (จักรวาลมีขอบเขตจำกัด)
๑.๔. โลกไม่มีที่สุด (จักรวาลไม่มีขอบเขต)
๒. เรื่องจิตกับกายหรือเรื่องชีวะกับสรีระ ได้แก่คำถามข้อที่ ๕-๖ คือ
๒.๑. ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น (กายกับจิตเป็นอันเดียวกัน)
๒.๒. ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง (กายกับจิตเป็นคนละอย่างกัน)
๓. เรื่องตายเกิด-ตายสูญหรือเรื่องภาวะหลังความตายของมนุษย์ ได้แก่คำถามข้อที่ ๗-๑๐ คือ
๓.๑ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ (ตายแล้วไม่สูญ)
๓.๒ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่ (ตายแล้วสูญ)
๓.๓ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มีไม่มีอยู่ก็มี (ตายแล้วสูญก็มี ไม่สูญก็มี)
๓.๔ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็หามิได้ ไม่มีอยู่ก็หามิได้ (ตายแล้วสูญก็ไม่ใช่ ไม่สูญก็ไม่ใช่)

แต่เมื่อวิเคราะห์คำถามทั้ง ๑๐ ข้อนั้น สรุปได้ว่าปัญหาที่ถามมีเพียง ๒ ประเด็นเท่านั้นคือ
๑. มี
๒. สูญ
นอกจากในจูฬมาลุงโกยวาทสูตรแล้วยังมีปัญหาที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงแนะนำให้คิดหรือศึกษาอีก ดังปรากฏในอจินติตสูตร (อํ.จตุกฺก.๒๑/๗๗/๖๘) เนื้อหาต่อไปนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ ประการนี้ อันบุคคลไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิดพึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า เดือดร้อน อจินไตย ๔ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ๑ ฌานวิสัยของผู้ได้ฌาน ๑ วิบากแห่งกรรม ๑ ความคิดเรื่องโลก ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลายอจินไตย ๔ ประการนี้แล ไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิด พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า เดือดร้อน



อจินไตยคือสิ่งที่ไม่ควรคิดมี ๔ อย่างคือ
๑. พุทธวิสัย
๒. ฌานวิสัย
๓. กรรมวิบาก
๔. โลกจินตา
อจินไตยคืออะไร พระธรรรมปิฎก(ประยุทธ์ ปยุตฺโต) (๒๕๔๖: ๑๙๔-๑๙๕) ได้อธิบายไว้ว่า

อจินไตยคือสิ่งที่ไม่พึงคิด ท่านว่าถ้าขืนครุ่นคิดก็มีส่วนที่จะอัดอั้นเป็นบ้า ที่ท่านว่าอย่างนี้มิใช่หมายความว่า พระพุทธเจ้าทรงห้ามไม่ให้เราคิด เพียงแต่ทรงแสดงความจริงไปตามธรรมดาว่าเรื่องนี้คิดเอาไม่ได้หรือไม่อาจจะเข้าใจได้สำเร็จด้วยการคิดหาเหตุผลและเมื่อคิดไปจะเกิดเป็นบ้าขึ้นก็มิใช่เพราะพระพุทธเจ้าหรือใครลงโทษหรือทำให้บ้า แต่ผู้คิดเป็นบ้าตามธรรมดาของเขาเองเพราะคิดอัดอั้นวุ่นไป

ส่วนในคำถามที่ ๒ ที่ว่าทำไมพระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์หรือตอบปัญหาเหล่านี้ ก็มีคำตอบชัดเจนอยู่ในจูฬมาลุงโกวาทสูตร(ม.ม.๑๓/๑๕๒/๑๒๐)ดัง เนื้อความของพระสูตรว่า
ดูกรมาลุงกยบุตร เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายจงทรงจำปัญหาที่เราไม่ พยากรณ์ โดยความเป็นปัญหาที่เราไม่พยากรณ์ และจงทรงจำปัญหาที่เราพยากรณ์ โดยความเป็นปัญหาที่เราพยากรณ์เถิด. ดูกรมาลุงกยบุตร อะไรเล่าที่เราไม่พยากรณ์ ดูกรมาลุงกยบุตร ทิฏฐิว่า โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ก็หามิได้ ไม่มีอยู่ก็หามิได้ ดังนี้ เราไม่พยากรณ์. ดูกรมาลุงกยบุตร ก็เพราะเหตุไร ข้อนั้นเราจึงไม่พยากรณ์ เพราะข้อนั้นไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เหตุนั้นเราจึงไม่พยากรณ์ข้อนั้น.
ดูกรมาลุงกยบุตร อะไรเล่า ที่เราพยากรณ์ ดูกรมาลุงกยบุตร ความเห็นว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ดังนี้ เราพยากรณ์. ก็เพราะเหตุไร เราจึงพยากรณ์ข้อนั้น เพราะข้อนั้น ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เหตุนั้นเราจึงพยากรณ์ ข้อนั้น. เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายจงทรงจำปัญหาที่เราไม่พยากรณ์ โดยความเป็นปัญหาที่เราไม่พยากรณ์ และจงทรงจำปัญหาที่เราพยากรณ์ โดยความเป็นปัญหาที่เราพยากรณ์เถิด. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระมาลุงกยบุตร ยินดีชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล.
จากพระสูตรนี้ตอบคำถามได้ว่าเหตุผลที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงตอบคำถามทั้ง ๑๐ ข้อนั้นสรุปได้ว่าที่ไม่ทรงตอบเพราะ

๑. ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
๒. ไม่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์
๓. ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย
๔. ไม่เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด
๕. ไม่เป็นไปเพื่อความดับ
๖. ไม่เป็นไปเพื่อความสงบ
๗. ไม่เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง
๘. ไม่เป็นไปเพื่อความตรัสรู้
๙. ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน

พระ ดร.ดับบลิว ราหุล (W.Rahula) (๒๕๓๒:๔๕) ได้อธิบายว่า พระพุทธเจ้าไม่ตอบคำถามเหล่านี้ เพราะคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นมุ่งหมายจะนำมนุษย์ไปสู่ความปลอดภัย ความสงบ ความสุข ความเยือกเย็น และการบรรลุซึ่งพระนิพพาน พระพุทธองค์มิได้ตรัสสิ่งทั้งหลายเพียงเพื่อสนองความอยากรู้อยากเห็นตามสติปัญญาของมนุษย์เลย พระพุทธเจ้าทรงเป็นศาสดาที่เป็นนักปฏิบัติ และทรงสั่งสอนเฉพาะแต่สิ่งทั้งหลายที่จะนำมาเฉพาะซึ่งความสงบ (สันติ) และความสุขแก่มนุษย์ทั้งหลาย

มีนักคิดชาวอินเดียคือ T.R.V.Murati ได้พยายามอธิบายเพิ่มในประเด็นนี้โดยอ้างเหตุผล ๓ ทางคือ
๑. Practical คือเน้นเป้าหมายของพระพุทธศาสนาเป็นหลัก พระพุทธองค์ทรงต้องการสอนให้พ้นทุกข์ คำสอนอะไรที่นอกเหนือจากนั้น พระองค์ไม่ทรงยุ่งโดยถือว่าสิ่งนั้นไม่มีประโยชน์ เพราะไม่ตรงกับเป้าหมายของศาสนาพุทธ

๒. Agnostic คือการที่ทรงไม่ตอบ เพราะไม่รู้ว่ามีหรือไม่มีคืออาจมีหรือไม่มีก็ได้ที่ไม่ตอบเพราะไม่แน่ใจว่าคำตอบนั้นจะใช่หรือไม่ ยังไม่ประกาศตัวเข้าข้างใด เพราะไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริง มีหรือไม่มีนั่นเอง ในข้อนี้ T.R.V.Murati ได้ให้ทัศนะว่า พระพุทธองค์ไม่ได้เป็น Agnostic เพราะทรงเป็นพระสัพพัญญูคือรู้แจ้งเห็นจริงในทุกอย่าง

๓. Nagative หรือ Nihilism คือการที่ทรงไม่ตอบเพราะทรงเป็นบุคคลชอบทำลายล้างทฤษฎี ไม่เชื่ออะไรสักอย่างเชื่อแต่เรื่องการทำลาย Nagative หมายถึงพระพุทธองค์นิ่ง เพราะเป็นคนชอบขัด ทำลายไปทุกอย่าง ในแง่นี้ไม่น่าจะใช่ เพราะพระพุทธองค์ไม่ได้ทรงเป็นนักทำลาย (Nihilism) แต่พระองค์ทรงช่วยให้คนพ้นทุกข์ด้วยการควบคุมกิเลส พระองค์ต้องการสอนให้คนบรรลุเป้าหมายที่ทรงวางไว้ โดยทรงใช้คำว่า หยุด คือการไม่ทำต่อไป ไม่ได้ใช้คำว่าทำลาย (พินิจ รัตนกุล, ๒๕๔๒:๑๑)
อีกอย่างหนึ่ง ปัญหาเหล่านี้ไม่ว่าคำตอบจะออกมาในรูปใดก็ไม่พ้นการโต้แย้ง เนื่องจากอยู่นอกวิสัยของประสบการณ์ซึ่งไม่ชี้ชัดได้ว่าเป็นจริงอย่างไร (เดือน คำดี, ๒๕๕๐: ๑๒๘)

ในจูฬมาลุงโกวาทสูตรนี้เอง พระพุทธเจ้านอกจากไม่ทรงตอบปัญหาทั้ง ๑๐ เหล่านั้นแล้วยังได้ตรัสเตือนพระมาลุงกยบุตรให้เลิกสนใจปัญหาที่ต้องการถามแล้วมาสนใจสิ่งที่พระองค์จะตรัสให้ฟังที่ก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่า พระองค์ทรงต้องการให้พระลุงกยบุตรตระหนักถึงปัญหาที่จำเป็นและสำคัญและควรเร่งแก้อย่างรีบด่วน ปัญหานั้นคือการดับทุกข์นั้นเอง พระองค์ได้ทรงอุปมาอุปไมยไว้อย่างน่าสนใจอย่างยิ่ง ดังข้อความที่ว่า

ดูกรมาลุงกยบุตร บุคคลใดแลจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคจักไม่ทรง พยากรณ์แก่เรา ฯลฯ เพียงใด เราจักไม่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพียงนั้น ตถาคตไม่พึงพยากรณ์ข้อนั้นเลย และบุคคลนั้นพึงทำกาละไปโดยแท้. ดูกรมาลุงกยบุตร เปรียบเหมือนบุรุษต้องศรอันอาบยาพิษที่ฉาบทาไว้หนา มิตรอมาตย์ ญาติสาโลหิตของบุรุษนั้น พึงไปหานายแพทย์ผู้ชำนาญในการผ่าตัดมาผ่า. บุรุษผู้ต้องศรนั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เรายังไม่รู้จักบุรุษ ผู้ยิงเรานั้นว่าเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ หรือศูทร ... มีชื่อว่าอย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ ... สูงต่ำหรือปานกลาง ... ดำขาวหรือผิวสองสี ... อยู่บ้าน นิคม หรือนครโน้น เพียงใดเราจักไม่นำลูกศรนี้ออกเพียงนั้น บุรุษผู้ต้องศรนั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เรายังไม่รู้จักธนูที่ใช้ยิงเรานั้น เป็นชนิดมีแหล่งหรือเกาทัณฑ์ ... สายที่ยิงเรานั้นเป็นสายทำด้วยปอผิวไม้ไผ่ เอ็น ป่านหรือ เยื่อไม้ ลูกธนูที่ยิงเรานั้น ทำด้วยไม้ที่เกิดเองหรือไม้ปลูก หางเกาทัณฑ์ที่ยิงเรานั้น เขาเสียบด้วย ขนปีกนกแร้ง นกตะกรุม เหยี่ยว นกยูงหรือนกชื่อว่า สิถิลหนุ (คางหย่อน) ... เกาทัณฑ์นั้นเขาพันด้วยเอ็นวัว ควาย ค่างหรือลิง ... ลูกธนูที่ยิงเรานั้น เป็นชนิดอะไร ดังนี้ เพียงใด เราจักไม่นำลูกศรนี้ออกเพียงนั้น ดูกรมาลุงกยบุตร บุรุษนั้นพึงรู้ข้อนั้นไม่ได้เลย โดยที่แท้ บุรุษนั้นพึงทำกาละไป ฉันใด ดูกรมาลุงกยบุตร บุคคลใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคจักไม่ทรงพยากรณ์ทิฏฐิ ๑๐ นั้น ฯลฯ แก่เราเพียงใด เราจักไม่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพียงนั้น ข้อนั้นตถาคตไม่พยากรณ์เลย โดยที่แท้ บุคคลนั้นพึงทำกาละไป ฉันนั้น. (ม.ม.๑๓/๑๕๐/๑๑๘-๑๑๙)

จากพระพุทธพจน์นี้ชี้ให้เห็นว่า พระพุทธองค์ไม่ทรงตอบ เพราะเป็นปัญหาที่ไม่ควรสนใจ เพราะไม่ช่วยให้มนุษย์พ้นทุกข์ งานเฉพาะหน้าของมนุษย์คือการดับทุกข์ เหมือนกับบุรุษผู้ถูกลูกศรอาบยาพิษยิง สิ่งที่ต้องรีบทำก่อนคือการเยียวยารักษาให้มีชีวิตรอด ไม่ใช่มัวแต่ไปเสียเวลาหาคำตอบว่าใครเป็นผู้ยิงหรือลูกศรทำด้วยอะไรเป็นต้น
ถ้ามองในเชิงของความรู้ในโลกนี้มีมากมาย แต่พระพุทธองค์เน้นสอนกับความรู้ที่เกี่ยวกับการดับทุกข์เท่านั้น ไม่จำเป็นที่มนุษย์ต้องรู้ไปทุก ๆ เรื่อง ดังพุทธพจน์ที่ปรากฏในสีสปาสูตร (สํ.มหา.๑๙/๑๗๑๒-๑๗๑๓/๔๓๔)ที่ว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ สีสปาวัน ใกล้เมืองโกสัมพี ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงถือใบประดู่ลาย ๒-๓ ใบด้วยฝ่าพระหัตถ์ แล้วตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมา แล้วตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ใบประดู่ลาย ๒-๓ ใบที่เราถือด้วยฝ่ามือกับใบที่บนต้น ไหนจะมากกว่ากัน ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใบประดู่ลาย ๒-๓ ใบที่พระผู้มีพระภาคทรงถือด้วยฝ่าพระหัตถ์มีประมาณน้อย ที่บนต้นมากกว่าพระเจ้าข้า. พ. อย่างนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เรารู้แล้วมิได้บอกเธอทั้งหลายมีมาก ก็เพราะเหตุไรเราจึงไม่บอก เพราะสิ่งนั้นไม่ประกอบด้วยประโยชน์ มิใช่พรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับ ความสงบ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ นิพพาน เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่บอก.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งอะไรเราได้บอกแล้ว เราได้บอกแล้วว่า นี้ทุกข์ ... นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ก็เพราะเหตุไรเราจึงบอก เพราะสิ่งนั้นประกอบด้วยประโยชน์ เป็นพรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่าย ... นิพพาน เพราะฉะนั้น เราจึงบอก ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.

จากพระสูตรนี้จะพบว่าความรู้ที่พระพุทธองค์นำมาสอนนั้นเปรียบได้กับใบไม้ในกำพระหัตถ์ของพระองค์เท่านั้น ความรู้นั้นมีเพียงจำนวนน้อยนิดแต่มีความสำคัญต่อการแก้ปัญหาชีวิตของมนุษย์ ข้อนี้ตรงกับนักประสบการณ์นิยมท่านหนึ่งคือ จอห์น ลอค(John Lock) ที่ได้กล่าวไว้ว่า เราไม่จำเป็นต้องรู้ว่ามหาสมุทรลึกเท่าใด รู้เพียงว่าลึกกว่าเรือของเราก็ใช้ได้ เราไม่อาจรู้ทุกสิ่ง รู้เพียงเพื่อให้ชีวิตดำเนินไปได้ก็พอ (เดือน คำดี, ๒๕๕๐.๑๒๘) พระพุทธองค์ทรงเน้นสอนเรื่องทุกข์ สาเหตุของทุกข์ ความดับทุกข์ และวิธีการดับทุกข์ เพราะคำสอนเหล่านี้เป็นไปเพื่อประโยชน์และที่สำคัญนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดคือพระนิพพานนั่นเอง

สรุปจากการนำเสนอมา ก็สามารถตอบคำถามที่ว่าปัญหาอะไรที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงตอบ ทำไมจึงไม่ทรงตอบปัญหาเหล่านั้นได้ แต่ก็คงฝากให้ท่านผู้รู้ทั้งหลายได้อภิปรายหรือแสดงเหตุผลในประเด็นนี้ต่อไปอีก

บรรณานุกรม
กรมการศาสนา. พระไตรปิฎกฉบับหลวง. ๔๕ เล่ม. กรุงเทพมหานคร: ๒๕๔๖.
เดือน คำดี. เอกสารประกอบการสอน พ ๒๐๕ ระเบียบวิธีวิจัยบูรณาการ. กรุงเทพมหานคร:๒๕๕๐. (เอกสารอัดสำเนา)
พระธรรมปิฎก(ประยุทธ์ ปยุตฺโต).พุทธธรรมฉบับขยายความ. พิมพ์ครั้งที่ ๑๑.กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๖.
พินิจ รัตนกุล.รวบรวมคำบรรยายพุทธปรัชญา. นครปฐม: มหาวิทยาลัยมหิดล, ๒๕๔๒. (เอกสารอัดสำเนา)
สุวรรณ เพชรนิล. พุทธปรัชญาเบื้องต้น. พิมพ์ครั้งที่ ๘. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ๒๕๔๔.
เสฐียรพงษ์ วรรณปก. พุทธวิธีสอนจากพระไตรปิฎก.กรุงเทพมหานคร: เพชรรุ่งการพิมพ์, ๒๕๔๐.
แสง จันทร์งาม. วิธีสอนของพระพุทธเจ้า. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์บรรณาคาร, ๒๕๒๖.
Walpola Sri Rahula. What The Buddha Taught. แปลโดย ชูศักษ์ ทิพย์เกษรและคณะ. กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์มหาจุฬา
ลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๒.

วันพุธที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

สสารนิยม จิตนิยม ธรรมชาตินิยม

สสารนิยม (Materialism) เป็นแนวคิดทางปรัชญาที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เนื่องจากมนุษย์ได้สัมผัสกับสสารวัตถุอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ต่อมาแนวคิดนี้ได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบทั้งในจีน อินเดีย และกรีซ โดยปรัชญา “สสารนิยม” ของจีนเห็นพ้องกับปรัชญา “สสารนิยม” (จารวาก) ของอินเดียที่ว่าโลกแห่งสสสารวัตถุที่เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้เป็นโลกที่จริงเพียงโลกเดียว
ส่วนปรัชญา “สสารนิยม” ของกรีซนั้น มุ่งแสวงหาสิ่งที่เรียกว่า “ปฐมธาตุ” (First Element) กล่าวคือ ตัวร่วมของสรรพสิ่งทั้งหลายในจักรวาล ทาเสส (Thales) บิดาแห่งปรัชญากรีกเห็นว่า “น้ำ คือปฐมธาตุ เพราะสามารถดำรงอยู่ได้ทั้งสถานะที่เป็นของแข็ง ของเหลว และก๊าซ” นักปรัชญากรีกท่านอื่น ๆ เห็นว่า ปฐมธาตุคือ ดินบ้าง ลมบ้าง หรือ ดิน น้ำ ลม ไฟ รวมกันบ้าง แต่นักปรัชญากรีกที่สำคัญอีกท่านหนึ่งคือ เดโมคลีตุส (Democretus) เห็นว่า “ปฐมธาตุ คือ อะตอม (atom)” ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกย่อยต่อไปอีกได้ แต่ทรรศนะเรื่อง “สสารนิยม” ก็ไม่อาจไปไกลได้มากกว่านี้นานนับสหัสวรรษ เนื่องจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของมนุษย์ยังมีอยู่อย่างจำกัด
หลังยุค “การฟื้นฟูศิลปวิทยาการ” (Renaissance) และ “การปฏิวัติอุตสาหกรรม” ในยุโรป นับตั้งแต่การค้นพบ “กฎแห่งแรงโน้มถ่วง” ของนิวตั้น (Newton) เป็นต้นมา วิทยาศาสตร์ได้เจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ปรัชญา “สสารนิยม” เจริญรุ่งเรือง แต่ก็ยังอยู่ในกรอบของ “ฟิสิกส์แบบนิวตั้น” (Newtonian Physics) กล่าวคือ เชื่อว่าอะตอมเป็นสิ่งที่แข็งตัวและอยู่นิ่งอยู่กับที่ อะตอมและสิ่งที่ประกอบขึ้นด้วยอะตอมจะเคลื่อนที่ไปก็ต่อเมื่อมีแรงภายนอกมากระทบมันเท่านั้น (Determinism) สรรพสิ่งเคลื่อนไหวไปอย่างเป็นระบบจักรกล (Machanism) และสรรพสิ่งสามารถทอนลงเป็นหน่วยย่อยได้ (Reductionism) ปรัชญาด้าน “สสารนิยม” ดังกล่าวมีอิทธิพลต่อวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแพทย์และสาธารณสุข และต่อวิชาการด้านสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐศาสตร์แม้กระทั่งในปัจจุบัน
“สสารนิยม” ตั้งต้นจากทรรศนะที่ว่า “สิ่งที่เป็นจริงจะต้องสัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย สิ่งที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่สามารถสัมผัสได้เป็นสิ่งที่ไม่จริง” เมื่อเป็นเช่นนี้โลกที่เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้จึงเป็นโลกที่จริงแท้เพียงโลกเดียว โลกแห่งนามธรรมมีเพียงในความคิด หรือความฝันของมนุษย์เท่านั้น มันจึงไม่มีอยู่จริง ชีวิตของมนุษย์มีเพียงความจริงทางด้านสรีระร่างกายเท่านั้น สิ่งที่เรียกว่า “จิต” ไม่มีอยู่จริง จิตเป็นเพียงปฏิกิริยาทางชีวเคมีที่เกิดจากความสลับซับซ้อนของร่างกายเท่านั้น สรีระร่างกายของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างทางสมอง มีความละเอียดอ่อนและสลับซับซ้อนมาก มันซับซ้อนมากจากระทั่งเราคิดว่าเรามี “จิต” แต่จิตก็หามีอยู่ไม่ ความจริงของมนุษย์ก็คือความจริงทางด้านร่างกายเท่านั้น ดังนั้น ในแง่นี้มนุษย์จึงเป็นหุ่นยนต์ชนิดหนึ่ง แต่เป็นหุ่นยนต์ทางชีวเคมี ซึ่งอาจผ่าตัดเปลี่ยน “อะไหล่” ได้
แม้ว่าพุทธศาสนาจะมีทฤษฎีความรู้ (Epistemology) ที่ใกล้เคียงกับปรัชญา “สสารนิยม” กล่าวคือ พุทธศาสนายอมรับว่ามนุษย์สัมผัสและรับรู้โลกภายนอกโดยผ่านทางประสาทสัมผัส (หรือ “อายตนะ”) คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย (ที่รับรู้รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส) แต่พุทธศาสนาก็ยอมรับอีกเช่นกันว่ามนุษย์มีอายตนะที่ ๖ คือ “ใจ” (ที่รับรู้ “ความรู้สึกนึกคิด”) และ “ใจ” ของมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่สามารถพัฒนาให้สูงส่งได้จนกระทั่งสามารถพ้นทุกข์ได้
หลัก “ไตรลักษณ์” ของพุทธศาสนาข้อหนึ่ง คือ อนิจจัง (ความไม่เที่ยง) นับเป็นการปฏิเสธทฤษฎี “ฟิสิกส์แบบนิวตั้น” โดยสิ้นเชิง ในโลกทัศน์ของพุทธศาสนาทุกสิ่งเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่เหมือน “อะตอม” ของนิวตั้น ซึ่งจะเคลื่อนไหวก็ต่อเมื่อมีแรงผลักจากภายนอกเท่านั้น ตามทรรศนะของพุทธศาสนาทุกสิ่งจึงมิได้เคลื่อนไปอย่างจักรกล (Non-Mechanism) มิได้เคลื่อนไปเมื่อเกิดแรงกระทบจากภายนอกแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น (Non-Determinism) แต่อาจเคลื่อนที่ไปจากการเคลื่อนไหวภายใน หรือจากแรงจูงใจของ “จิตใจ” ได้ ดังนั้น “จิตใจ” จึงไม่สามารถทอนลงเป็นวัตถุหรือร่างกายได้ Non-Reductionism) ดังนั้น พุทธศาสนาจึงแตกต่างไปจากปรัชญา “สสารนิยม” อย่างเด่นชัด.
(ที่มา :ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, มหาวิทยาลัยมหิดลหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๖ ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๙๓. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า ๖.)
จิตนิยม” (Idealism) เป็นแนวคิดทางปรัชญาที่มีมาแต่โบราณ เชื่อกันว่าเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยที่มนุษย์ค้นพบไฟ สามารถขับไล่สัตว์ใหญ่ให้ออกจากถ้ำ และยึดเอาถ้ำเป็นที่อยู่อาศัยโดยก่อไฟไว้ที่ปากถ้ำ ทำให้มนุษย์รู้สึกปลอดภัยและนอนหลับได้สนิท เมื่อนอนหลับสนิทมนุษย์ก็เห็นความฝันชัดเจน จึงเข้าใจเอาเองว่า “จิต” หรือ “วิญญาณ” ของตนออกไปท่องเที่ยวขณะที่ตนเองนอนหลับ
แนวคิดเรื่อง “จิตนิยม” ได้รับการพัฒนาต่อมาโดยนักปรัชญาทั้งในกรีซและอินเดีย และต่อมาได้มีอิทธิพลต่อศาสนาทั้งในตะวันตกและตะวันออก “จิตนิยม” เริ่มต้นจากแนวความคิดที่ว่า “สิ่งที่เป็นจริงจะต้องแน่นอนตายตัว เที่ยงแท้ นิรันดร ตลอดกาล สิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอนเป็นสิ่งที่ไม่จริง” เมื่อเป็นเช่นนี้โลกที่เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้จึงเป็นโลกที่ไม่จริงแท้ เพราะเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
โลกที่จริงแท้จะต้องเป็น “โลกแห่งนามธรรม” เท่านั้น เพราะ “นามธรรม” อยู่เหนือกฎเกณฑ์ทั้งปวงของวิชาฟิสิกส์ ทันทีที่เป็นรูปธรรมทุกสิ่งจะต้องตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของฟิสิกส์ทั้งสิ้น ซึ่งเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
“โลกแห่งนามธรรม” นี้ เพลโต (Plato) นักปรัชญากรีกเรียกว่า “โลกแห่งแบบ (Form)” ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูเรียกว่า “พรหมัน” หรือ “ปารมาตมัน” ส่วนศาสนาที่เชื่อเรื่องพระเจ้าเรียกว่า “อาณาจักรของพระเจ้า”
ตามทรรศนะของ “จิตนิยม” ชีวิตมนุษย์แบ่งออกเป็น ๒ ส่วนคือ ร่างกายและจิตใจ ร่างกายเป็นสมาชิกของโลกแห่งสสารวัตถุ ส่วนจิตใจเป็นสมาชิกของโลกแห่งนามธรรม จิตใจทำหน้าที่ควบคุมบังคับบัญชาร่างกายให้แสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ไปตามที่จิตใจต้องการ ดังคำกล่าวที่ว่า “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” เมื่อร่างกายตายลงจิตหาได้ตายตามไม่ จิตซึ่งเป็นตัวตนที่แท้จริงของมนุษย์จะเป็นอิสระจากร่างกาย และออกจากร่างกายซึ่งเสื่อมสลายไป
ปัญหาต่อมาก็คือว่าเมื่อออกจากร่างกายแล้วจิตจะไปที่ไหน “จิตนิยมตะวันตก”เช่น ศาสนาที่เชื่อพระเจ้าองค์เดียว (Monotheism) ทั้งหลาย อธิบายว่าจิตจะตรงดิ่งไปยังที่ที่พระเจ้ากำหนดไว้ และรออยู่ที่นั้นจนกว่าจะถึง “วันสิ้นโลก” แล้วพระเจ้าจะทรงลงมาตัดสิน ใครทำดีก็ขึ้นสวรรค์ ใครทำชั่วก็ลงนรก
ในทางดาราศาสตร์แล้ว ดวงอาทิตย์จะมีเชื้อเพลิงเผาไหม้ตัวเองไปอีกประมาณ ๕,๐๐๐ ล้านปีก็จะดับ เมื่อถึงเวลานั้นโลกก็จะถึงกาลอวสาน ถ้าหาก “วันสิ้นโลก” หมายถึงวันดังกล่าวแล้ว จิตของคนตายจะต้องรอแกร่วอยู่นานโขทีเดียวกว่าจะได้รับการพิพากษา
สำหรับ “จิตนิยมตะวันออก” เช่น ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู อธิบายว่า จิตจะล่องลอยไปหาร่างกายใหม่ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลากลางคืนที่มีการปฏิสนธิ จิตจะวิ่งตรงเข้าสวมร่างกายใหม่นั้นทันที) พวกพราหมณ์เปรียบร่างกายเหมือนกับเสื้อผ้า เมื่อเราใส่จนเก่าขาดแล้วก็ทิ้งไป และหาเสื้อผ้าใหม่มาสวมใส่แทน แนวคิดเช่นนี้เรียกว่าทฤษฎี “จิตอมตะ” (อาตมัน) และเป็นที่มาของทฤษฎี “การกลับชาติมาเกิดใหม่” (rebirth) โดยต้นตอของทฤษฎีเกิดที่อินเดียก่อน แล้วต่อมาก็แพร่หลายไปยังดินแดนที่ได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมอินเดีย เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย เป็นต้น
เมื่อพุทธศาสนาเกิดขึ้นในอินเดีย พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธทฤษฎี “จิตอมตะ” ของพวกพราหมณ์ โดยชี้ให้เห็นว่าทฤษฎีดังกล่าวไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในธรรมชาติ และเสนอทฤษฎี “อนัตตา” ขึ้นมาแทน โดยทรงอธิบายว่า ร่างกายไม่สามารถตั้งอยู่ได้โดยปราศจากจิตใจ และจิตใจก็ไม่สามารถตั้งอยู่ได้โดยปราศจากร่างกาย ทั้งร่างกายและจิตใจนั้นสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออกพุทธศาสนายอมรับว่า จิตนั้นมีอยู่ แต่มีอยู่อย่างไม่เป็นตัวไม่เป็นตน เป็น “อนัตตา” (ความไม่มีตัวตนที่แท้จริง) ดังนั้นพุทธศาสนาจึงมิใช่ “จิตนิยม” ในความหมายที่กล่าวมาทั้งหมด
(ที่มา : ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๙๓๐๕. คอลัมน์หน้าต่างครอบครัว, หน้า ๖.)
ธรรมชาตินิยม" (Naturalism) เป็นแนวคิดทางปรัชญาที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง ภายหลังจากการค้นพบทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ ๓ ทฤษฎี กล่าวคือ ทฤษฎี "มหากัมปนาท" (Big Bang Theory) ของเอ็ดวิน ฮับเบิ้ล (Edwin Hubbles) ทฤษฎี "วิวัฒนาการ" (Evolution Theory) ของชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) และทฤษฎี "ควอนตั้มฟิสิกส์" (Quantum Physics) ของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) นับเป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) ครั้งสำคัญทั้งในโลกของปรัชญาและวิทยาศาสตร์
ปรัชญา "ธรรมชาตินิยม" ตั้งต้นจากทรรศนะที่ว่า "สิ่งที่เป็นจริงซึ่งเรียกว่า สิ่งธรรมชาติ (natural object) จะต้องอยู่ภายใต้อวกาศและเวลา (space and time) เกิดขึ้นและดับลงโดยมีสาเหตุ และสาเหตุนั้นจะต้องเป็นสิ่งธรรมชาติด้วย" หมายความว่า นอกจากสสารแล้ว สิ่งที่มิใช่สสาร เช่น ปรากฏการณ์ (phenomenon) ที่เรียกว่า "จิต" ของมนุษย์ หากอยู่ภายใต้ระบบอวกาศและเวลาแล้ว ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นจริงด้วย นับเป็นการทลายข้อจำกัดของปรัชญา "สสารนิยม" (Materialism) ซึ่งยอมรับแต่เพียง "สสาร" (matter) ที่สัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เท่านั้น
ตามทฤษฎี "มหากัมปนาท" ต้นกำเนิดของจักรวาลเกิดจากการระเบิดครั้งใหญ่ (Big Bang) เมื่อประมาณ ๑๕,๐๐๐ ล้านปีที่แล้ว อันก่อให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่กลายเป็น "มวลสาร" (matter) ปริมาณมหาศาล แรงระเบิดได้ก่อให้เกิด "ช่องว่าง" หรือ "อวกาศ" (space) ขึ้น มวลสาร อวกาศ และความเร็ว ได้ก่อให้เกิด "เวลา" (time) ขึ้น จักรวาลได้ขยายตัวออกกลายเป็น "กาแล็กซี" (Galaxy) ซึ่งมีจำนวนกว่า ๑ ล้านล้านกาแล็ซี แต่ละกาแล็กซีประกอบด้วยดาวฤกษ์ (เช่น ดวงอาทิตย์) จำนวนกว่า ๑ ล้านล้านดวง "สุริยระบบ" (Solar System) ของเราอยู่ชายขอบ "กาแล็กซีทางช้างเผือก" (Milky Way Galaxy) ซึ่งอยู่ชายขอบของจักรวาลใหญ่อีกทีหนึ่ง เราจึงมิได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาลไม่ว่าในความหมายใด
ตามทฤษฎี "วิวัฒนาการ" หลังจากโลกได้เย็นตัวลงแล้ว ปฏิกิริยาทางเคมีบนผิวโลกทำให้เกิดไอน้ำ ไอน้ำที่ลอยขึ้นสูงถูกแรงดึงดูดของโลกดูดไว้ ก่อให้เกิดชั้นบรรยากาศและเมฆขึ้น ในที่สุดเมฆก็ตกลงมาเป็นฝน ทำให้เกิดลำคลอง แม่น้ำ ทะเล และมหาสมุทร เมื่ออนินทรียสาร (non-organic matter) ทำปฏิกิริยากับน้ำปริมาณมหาศาลในเวลาที่ยาวนานเพียงพอ สิ่งมหัศจรรย์คือ อินทรียสาร (organic matter) หรือ "ชีวิต" (life) ก็เกิดขึ้น จากโครงสร้างที่เรียบง่าย (เช่น สัตว์เซลล์เดียว) ชีวิตได้วิวัฒนาการสู่ความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยแยกเป็นทั้งอาณาจักรพืชและอาณาจักรสัตว์
ในอาณาจักรสัตว์ชีวิตได้วิวัฒนาการจากหนอนทะเล มาเป็นปลา สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์บก กระทั่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในที่สุด เมื่อชีวิตมีวิวัฒนาการที่ยาวนานเพียงพอ สิ่งอัศจรรย์ยิ่งกว่านั้นคือ "จิต" (mind) ก็เกิดขึ้น นักชีววิทยาสังเกตว่า รูปแบบของชีวิตนับตั้งแต่ปลาเป็นต้นมาล้วนแต่มีปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "จิต" เกิดขึ้นแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นปลาโลมาที่สามารถฝึกได้ สุนัขที่ซื่อสัตย์ต่อเจ้าของ ลิงที่เริ่มเรียนรู้การใช้เครื่องมือ และที่สำคัญที่สุดก็คือมนุษย์ "จิต" ของมนุษย์จึงเป็นสุดยอดของวิวัฒนาการของจักรวาลนี้ จากการคำนวณของนักธรณีวิทยา โลกมีอายุประมาณ ๕,๐๐๐ ล้านปี สิ่งมีชีวิตมีอยู่ในโลกนี้ประมาณ ๕๐๐ ล้านปี และมนุษย์เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ ๒ ล้านปีมานี้เอง
ทฤษฎี "วิวัฒนาการแบบก้าวกระโดด" (Emergent Evolution) บ่งบอกว่า เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านปริมาณมาถึงจุดหนึ่ง จะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านคุณภาพขึ้นอย่างฉับพลัน และในวิวัฒนาการของจักรวาลและโลก ได้เกิดวิวัฒนาการแบบก้าวกระโดดขึ้นอย่างน้อยที่สุด ๔ ครั้งใหญ่ๆ คือ การเกิดขึ้นของมวลสาร น้ำ ชีวิต และ "จิตใจ" พุทธศาสนาเห็นพ้องกับปรัชญา "ธรรมชาตินิยม" ที่ว่า "จิตใจ" ของมนุษย์มีอยู่ แต่มิใช่ "สิ่ง" (object) แต่เป็น "ปรากฏการณ์" (phenomenon) ที่ไม่เป็นตัวไม่เป็นตน เป็น "อนัตตา" (non-self) ร่างกายกับจิตใจจึงเป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน และอิงอาศัยกันอย่างแยกไม่ออก
ตามทฤษฎี "ควอนตั้มฟิสิกส์" หน่วยที่เล็กที่สุดที่เรียกว่า "อะตอม" (atom) นั้นมิใช่สิ่งที่แข็งตันและหยุดนิ่งอยู่กับที่ ดังคำอธิบายของ "ฟิสิกส์แบบนิวตัน" (Newtonian Physics) แต่กลับประกอบด้วยโปรตอน นิวตรอน อิเล็กตรอน และช่องว่างมหาศาลระหว่างประจุไฟฟ้าเหล่านั้น และอิเล็กตรอนก็วิ่งรอบนิวตรอนด้วยความเร็วสูง ทุกสิ่งจึงเคลื่อนที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่มีสิ่งใดหยุดนิ่งอยู่กับที่ สรรพสิ่งจึงเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงด้วยตัวของมันเองได้ ไม่จำเป็นต้องเกิดจากแรงผลักจากภายนอกแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ทรรศนะนี้นับเป็นการทลายข้อจำกัดของปรัชญา "สสารนิยม" ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ "ฟิสิกส์แบบนิวตัน" ซึ่งมองว่าสรรพสิ่งอยู่ภายใต้ระบบจักรกล (Mechanism) จะเคลื่อนไหวก็ต่อเมื่อมีแรงผลักจากภายนอกเท่านั้น (Determinism) และทุกสิ่งสามารถทอนลงเป็นหน่วยย่อยได้ (Reductionism) "สสารนิยม" จึงปฏิเสธการมีอยู่ของ "จิต" ว่าเป็นเพียงปฏิกิริยาทางชีวเคมีของร่างกายเท่านั้น มนุษย์จึงไม่แตกต่างไปจากหุ่นยนต์ นับเป็นข้อจำกัดของปรัชญา "สสารนิยม" ที่นำเอาระบบกลไกทางฟิสิกส์มาใช้อธิบายเรื่องของชีวิตซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ละเอียดอ่อนทางชีววิทยา การเกิดขึ้นของปรัชญา "ธรรมชาตินิยม" จึงทำให้ความรู้ทางปรัชญาและวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ มาประสานสอดคล้องเข้ากับพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งทฤษฎี "อนิจจัง" และ "อนัตตา" อย่างน่า (ที่มา :ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล , หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๙๓๖๑. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า ๖.)

ศาสนา ปรัชญา ลัทธิ

ศาสนา
คำว่า “ศาสนา” มีความหมายตามรูปศัพท์ว่า คำสั่งสอน การปกครอง การฝึกหัด ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Religion ซึ่งมีศัพท์เดิมมาจากภาษาละตินว่า Religis และคำว่า Religis นี้นักปราชญ์ทางภาษาศาสตร์ได้สันนิษฐานว่ามาจากคำ 2 คำ คือ “relegere” ซึ่งแปลว่า การปฏิบัติต่อ หรือการเกี่ยวข้องด้วยความระมัดระวัง และ “religare” ซึ่งแปลว่า ผูกพัน เพราะฉะนั้น คำว่า Religion จึงมีความหมายตามรูปศัพท์ว่า การปฏิบัติต่อ การเกี่ยวข้อง หรือผูกพันอย่างระมัดระวัง ซึ่งอาจหมายถึงการปฏิบัติพระเจ้าด้วยความพินอบพิเทา การเกี่ยวข้องกับพระเจ้าด้วยความจงรักภักดี หรือการผูกพันกับพระเจ้าด้วยความรักและศรัทธา ทั้งนี้เพราะชาวตะวันตกเคยอบรมกันมาให้เชื่อถือในเรื่องของพระเจ้า และพระเจ้าเป็นเรื่องของศาสนา เมื่อพูดถึงคำว่า ศาสนา หรือ Religion จึงเข้าใจว่าเป็นหลักการหรือข้อที่พึงปฏิบัติต่อพระเจ้า ศาสนาและพระเจ้าเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแยกจากกันและกันได้ ถ้าไม่มีพระเจ้า ก็ไม่มีศาสนาหรือไม่เป็นศาสนา นับว่าเป็นการให้ความหมายที่ออกจะแคบไป ทั้ง ๆ ที่ในโลกนี้ก็ยังมีศาสนาอื่น ๆ ที่ไม่เชื่อถือในเรื่องพระเจ้า เช่น ศาสนาพุทธ ศาสนาเชน ที่ชาวโลกทั่วไปก็ยอมรับนับถือว่าเป็นศาสนา จากความหมายของรูปศัพท์ดังที่กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่า คำว่าศาสนาในภาษาไทย และ Religion ในภาษาอังกฤษนั้น มีความหมายไม่ตรงกันทีเดียว ถ้าจะหาทางประนีประนอมเพื่อให้ความหมายตามรูปศัพท์พอที่จะเข้ากันได้ ก็อาจจะให้ความหมายว่า คำสั่งสอนว่าด้วยหลักการปฏิบัติต่อกัน หรือคำสั่งสอนเกี่ยวกับหลักปฏิบัติที่ทำให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีต่อกันและกัน
นักปราชญ์ศาสนาได้ให้ความหมายของศาสนาไว้ ซึ่งจะแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้แล้วแต่ประเด็นที่ต้องการเน้นและสภาพแวดล้อม
Saint Augustine เน้นการกลับคืน ( Recover ) กล่าวว่า ศาสนา คือ ความดีอันเกิดจากการถวายความบริสุทธิ์ซึ่งได้มาจากพระเจ้ากลับคืนไปยังพระเจ้า
Max Miller เน้นพุทธิปัญญา ( Intellect ) กล่าวว่า ศาสนา คือ ความสามารถหรืออำนาจทางจิตซึ่งไม่ขึ้นแก่ความรู้สึกทางประสาทสัมผัสหรือเหตุผล สามารถนำบุคคลให้เข้าถึงพระเจ้าภายใต้พระนามต่าง ๆ
หลวงวิจิตรวาทการ เน้นองค์ประกอบของศาสนา กล่าวว่า คำสอนที่จัดเป็นศาสนานั้นต้องเป็น
เรื่องที่ถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ มีสอนทางจรรยา มีศาสดา มีคณะบุคคลที่รักษาความศักดิ์สิทธิ์และคำสอนไว้ เช่น พระหรือนักบวช และมีการกวดขันเรื่องความจงรักภักดี
ศาสตราจารย์เสฐียร พันธรังสี เน้นลักษณะของศาสนา กล่าวว่า ลักษณะที่เรียกว่าศาสนาได้ มีหลักการดังนี้ คือ ต้องเป็นเรื่องเชื่อถือได้โดยมีความศักดิ์สิทธิ์ มีคำสอนทางธรรมจรรยา มีศาสดา และมีผู้สืบต่อคำสอนที่เรียกกันว่าพระหรือนักบวช
อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ เน้นลักษณะคำสอน กล่าวว่า คำสอนที่นับว่าเป็นศาสนานั้นว่าด้วยเรื่องต่าง ๆ คือ ความเชื่อในอำนาจที่มองเห็นไม่ได้ด้วยตาบางอย่าง เช่น อำนาจของธรรม หรืออำนาจของพระเจ้า มีหลักศีลธรรม มีคำสอนว่าด้วยจุดหมายสูงสุดแห่งชีวิต และพิธีกรรม
จากคำจำกัดความและทัศนะต่าง ๆ ที่กล่าวข้างต้นนี้ พอจะสรุปเป็นทัศนะอีกทัศนะหนึ่งได้ว่า ศาสนา คือ คำสั่งสอนที่พระศาสดาได้ค้นพบ หรือได้จากเทวโองการซึ่งมีลักษณะศักดิ์สิทธิ์เป็นที่พึ่งทางใจ ได้ถูกนำมาเผยแพร่ให้มวลมนุษยชาติประพฤติปฏิบัตินาม และประกอบพิธีกรรมเพื่อประสบสันติสุขในระดับศีลธรรมจรรยา และสันติสุขนิรันดร อันเป็นจุดหมายสูงสุดของชีวิต

ศาสนากับลัทธิ
คำว่า “ลัทธิ” เป็นคำที่มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่าศาสนา เพราะลัทธิตรงกับภาษาอังกฤษว่า Doctrine พจนานุกรมอังกฤษได้ให้ความหมายว่า “เรื่องที่สั่งสอนกันมา ความเชื่อถือ โอวาทของนิกายใดนิกายหนึ่ง” ส่วนพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายของ “ลัทธิ” ไว้ว่า “คติความเชื่อถือ หรือความคิดเห็น เช่น ลัทธิศาสนา ลัทธิการเมือง ลัทธิประเพณี” นอกจากนี้ยังมีท่านผู้รู้ได้ให้ความหมายเอาไว้ต่าง ๆ กัน เช่น หลวงวิจิตรวาทการ เขียนไว้ว่า ลัทธิ คือ แนวคิดคำสอนที่มีผู้นับถือกันมาก ๆ ศาสตราจารย์เสฐียร พันธรังษี เขียนไว้ว่า ลัทธิ คือ คำสอนเฉพาะกลุ่มเฉพาะพวก พ.อ. ปิ่น มุทุกันต์ เขียนไว้ว่า ลัทธิ คือ กระบวนความเชื่อถือในทางพิธีกรรมของประชาชน พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) เขียนไว้ว่า ลัทธิ คือ ความเชื่อถือ ความรู้ และประเพณีที่ได้รับและปฏิบัติสืบต่อกันมา จากคำจำกัดความต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น พอจะสรุปได้ว่า ลัทธิ คือ สิ่งที่มนุษย์ได้รับและเชื่อถือปฏิบัติสืบต่อกันมา อาจเป็นหลักความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม หรือแนวคิดคำสอนเรื่องทั่ว ๆ ไป เช่น เศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา ปรัชญา วัฒนธรรม และศาสนา จะเห็น
ได้ว่าศาสนาเหมือนกับลัทธิในแง่ที่เป็นความเชื่อถือเหมือนกัน แต่จะแตกต่างกันในประเด็นดังต่อไปนี้
1. ศาสนามีความหมายแคบกว่าลัทธิ เพราะศาสนาเน้นในเรื่องของศีลธรรมจริยธรรม บุญบาปความดี ความชั่ว และจุดหมายสูงสุดของชีวิต ส่วนลัทธิมีความหมายกว้างกว่า อาจมีทั้งแง่เศรษฐกิจ
การเมือง การศึกษา ปรัชญา วัฒนธรรม ส่วนแง่ศีลธรรมจริยธรรมอาจมีหรือไม่มีก็ได้
2. ศาสนาเน้นทั้งระดับศีลธรรมจรรยาและระดับปรมัตถสัจจะ อันเป็นจุดหมายสูงสุดของชีวิต ส่วนลัทธิจะสอนเฉพาะระดับศีลธรรมจรรยาเพื่อให้เกิดความผาสุก ความสงบ และความไพบูลย์ในโลกนี้ชาตินี้เท่านั้น
3. ศาสนาจะต้องมีพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับคำสอนในรูปของศาสนพิธี ส่วนลัทธินั้นสุดแท้แต่จะกำหนด บางลัทธิก็มี บางลัทธิก็ไม่มี
4. ศาสนามีลักษณะศักดิ์สิทธิ์ เป็นสิ่งเคารพสูงสุด เป็นที่พึ่งทางใจของมนุษย์ ส่วนลัทธิไม่มีลักษณะดังกล่าว
5. ศาสนาเป็นหลักการที่แท้จริงแน่นอนไม่มีการเปลี่ยนแปลง ลัทธิอาจเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลาและสถานที่
6. ศาสนามีศาสดาเป็นผู้ก่อตั้ง และศาสดานั้นอาจจะได้รับเทวโองการมาจากพระเจ้า หรือได้ค้นพบสัจธรรมที่มีอยู่แล้ว ถึงแม้ไม่มีใครค้นพบ สัจธรรมนี้ก็ยังมีอยู่ ในกรณีแรกศาสดาเป็นคนกลางที่นำเอาคำสอนของพระเจ้ามาบอกมนุษย์ ในกรณีหลังศาสดาเป็นคนกลางที่นำเอาสัจธรรมมาบอกมนุษย์
ส่วนลัทธิแม้จะมีผู้ก่อตั้งเป็นเจ้าลัทธิก็ตาม แต่ไม่มีลักษณะเหมือนศาสดา กล่าวคือ ความคิดคำสอนนั้นเป็นของเจ้าลัทธิเอง เป็นข้อเสนอ เป็นทัศนะส่วนตัว ซึ่งแถลงให้คนอื่นทราบ หากมีคนเห็นด้วยและทำตามก็กลายเป็นลัทธิ
7. ศาสนาเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับมนุษย์ทั้งโลก เพื่อประโยชน์สุขแห่งมวลมนุษย์ทั่วไป ส่วนลัทธิเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับมนุษย์บางกลุ่มบางพวก และเพื่อประโยชน์สุขแห่งมนุษย์บางกลุ่มบางพวกเท่านั้น
8. มนุษย์นับถือศาสนาหลายศาสนาในเวลาเดียวกันไม่ได้ แต่ลัทธินั้นมนุษย์สามารถนับถือหลายลัทธิในเวลาเดียวกันได้

ศาสนากับปรัชญา
คำว่าปรัชญา มีความหมายตามรูปศัพท์ว่า ความรู้อันประเสริฐ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Philo-sophy ซึ่งมีความหมายตามรูปศัพท์ว่า ความรักในความรู้ และมีนักปรัชญาได้ให้คำจำกัดความไว้มากมาย อาทิเช่น
ศาสตราจารย์เสฐียร พันธรังษี กล่าวไว้ว่า “ปรัชญา ได้แก่ หลักฐานแห่งความรู้ หลักวิทยา-การ หรือหลักประพฤติปฏิบัติ หรือหมายถึงความเชื่ออันใดอันหนึ่ง เป็นความรู้ความคิดที่ไม่เกี่ยวข้อง
กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเทพเจ้าใด ๆ”
หลวงวิจิตรวาทการ กล่าวไว้ว่า “ปรัชญา หมายถึง หลักความดีที่สามารถสอนกันเองได้ คิดค้นมาใหม่ได้ ซึ่งมีจดจารึกกันไว้เพื่อศึกษากันต่อมา ไม่เกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ ไม่ได้มาจากเทพเจ้าหรือสวรรค์ชั้นใด ๆ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายไว้ว่า “ปรัชญา น. วิชาว่าด้วยหลักแห่งความรู้และความจริง”
เพลโต นักปรัชญากรีกผู้ยิ่งใหญ่ กล่าวไว้ว่า “ปรัชญามุ่งที่จะรู้สิ่งนิรันดรและธรรมชาติแท้จริงของสิ่งทั้งหลาย หมายความว่า ปรัชญา หมายถึง การศึกษาหาความรู้เรื่องสิ่งนิรันดรและความจริงของสิ่งเหล่านั้น”
อริสโตเติล กล่าวไว้ว่า “ปรัชญา คือ ศาสตร์ที่สืบค้นถึงธรรมชาติของสิ่งที่มีอยู่โดยตัวเอง ตลอดจนคุณลักษณะตามธรรมชาติของสิ่งนั้น” เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าทั้งศาสนาและปรัชญาเหมือนกันตรงที่ต่างมุ่งหาความจริงสูงสุดหรืออันติมะสัจจะเกี่ยวกับเรื่องมนุษย์ เรื่องโลก เรื่องสากลจักรวาล เรื่องวิญญาณ หรือแม้แต่เรื่องพระเจ้า โดยศึกษาเรื่องเหล่านี้และพยายามเข้าใจถึงสิ่งเหล่านี้เหมือนกัน ต่างกันก็ตรงที่เมื่อค้นพบความจริงหรือได้ความคิดใหม่เกี่ยวกับความจริงแล้ว นักปรัชญาจะหยุดอยู่แค่นั้น จะไม่สนใจในการปฏิบัติหรือเข้าถึงความจริงนั้นคล้าย ๆ กับว่าเพื่อรู้ความจริงหรือหาความจริงที่จะรู้เท่านั้น ส่วนศาสนาเน้นในเรื่องปฏิบัติ เมื่อค้นพบความจริงหรือได้รับความจริงอันเป็นเทวโองการแล้ว จะต้องปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความจริงนั้น เช่นพระพุทธเจ้าเมื่อทรงค้นพบความจริงอันประเสริฐที่เรียกว่า อริยสัจ 4 พระองค์ก็ได้ปฏิบัติเข้าถึงความจริงนั้น และสอนให้ศาสนิกชนลงมือปฏิบัติเพื่อเข้าถึงสัจธรรมนั้น ส่วนที่คล้ายคลึงอีกอย่างก็คือ คุณลักษณะของศาสดาและนักปรัชญา กล่าวคือ ต่างก็เป็นคนฉลาดชอบคิดเรื่องเหตุผล นับว่าเป็นบุคคลชั้นปัญญาชนที่เดียว ต่างกันก็คือศาสดามีจำนวนน้อย ส่วนนักปรัชญามีจำนวนมากมาย แต่อย่างไรก็ตามในส่วนที่ต่างกัน ศาสนากับปรัชญาอาจจะแตกต่างกันในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
1. ศาสดาล้วนแต่ต้องได้บำเพ็ญคุณงามความดี และเป็นนักเสียสละอย่างสูง ส่วนนักปรัชญานั้นยังเป็นบุคคลประเภทหลงติดอยู่กับโลก มีเพียงส่วนน้อยมากที่จะเป็นนักเสียสละและมีคุณธรรมเต็มเปี่ยมเยียงศาสดา
2. การก่อตั้งศาสนาเป็นงานที่ลำบาก ส่วนการคิดปรัชญานั้นเป็นงานที่ไม่ยากลำบากเท่าไรนัก
3. ศาสนา หมายถึง ลัทธิความเชื่อถือที่มีศาสดาเป็นผู้ริเริ่ม ส่วนปรัชญานั้นหมายความถึงการ
แสวงหาความรู้ซึ่งผู้รักในความรู้อาศัยหลักตรรกศาสตร์ค้นคิดเท่าที่จะค้นคิดได้
4. ศาสนามุ่งความบริสุทธิ์และความหลุดรอด ส่วนปรัชญามุ่งตรงต่อความจริงเท่านั้น
5. ศาสนาสอนให้คนรักกัน ให้ละชั่วทำดี ให้มีความเมตตาปรานีต่อกัน โดยไม่ถือชั้นวรรณะ
สอนให้รู้จักเอ็นดูแม้แต่สัตว์ สอนให้บำเพ็ญความดีทั้งแก่ตนและผู้อื่น สอนให้รู้จักเสียสละเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่นในทางที่ชอบ สอนให้สละความชั่วร้ายทั้งหลาย แล้วบำเพ็ญความดียิ่ง ๆ ขึ้นไปสอนให้ชำระกายวาจาใจให้หมดจดจากสรรพสิ่งที่เกี่ยวข้องอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ ส่วนปรัชญานั้นมุ่งแสดงให้คนเห็นความจริงของโลก โดยมิให้งมงายไร้เหตุผล
6. วิธีการของศาสนานั้นใช้ศรัทธาเป็นพื้นฐาน ส่วนวิธีการทางปรัชญานั้นใช้การคาดคะเนและใช้หลักตรรกศาสตร์ปะปนกันไป
7. ศาสนามีคัมภีร์เป็นที่รวบรวมคำสอน และถือว่าเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ ส่วนปรัชญาแม้จะมีหนังสือที่นักปรัชญาแต่ละคนอาจเขียนไว้ แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์อย่างคัมภีร์ของศาสนา คงถือเป็นเหมือนหนังสือทั่ว ๆ ไป
8. ศาสนาต้องมีพิธีกรรมที่เรียกว่าศาสนพิธี อันเป็นระเบียบปฏิบัติศาสนกิจ แต่ปรัชญาไม่มีพิธีกรรมใด ๆ
9. ศาสนามีศาสนบุคคล คือ สมาชิกชั้นนำของศาสนาที่ทำหน้าที่สืบต่ออายุศาสนา โดยการศึกษาปฏิบัติเผยแพร่และนำประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ส่วนปรัชญาไม่มีคณะบุคคลเช่นกล่าวนี้
10. ศาสนาต้องมีศาสนสมบัติ คือ สิ่งที่อยู่ในกรรมสิทธิ์ขององค์การศาสนา อันได้แก่ ศาสนสถานต่าง ๆ เช่น วัด วิหาร โบสถ์ มัสยิด เทวลัย ตลอดทั้งปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุต่าง ๆ ส่วนปรัชญาไม่มีสถานเช่นที่ว่านี้
11. ศาสนามีการกวดขันเรื่องความภักดี กล่าวคือ ผู้นับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่งอยู่แล้วจะไปนับถือศาสนาอื่นในเวลาเดียวกันไม่ได้ ส่วนปรัชญาไม่มีการกวดขันเรื่องความภักดีเช่นนั้น
12. คำสอนของศาสนามีลักษณะเป็นปรัชญาได้ แต่ปรัชญาของนักปรัชญาไม่ได้เป็นศาสนา

สรุปความจริง, ชีวิต, คน

ความจริงมี 2 ลักษณะ คือ ความจริงที่สามารถสัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ ความจริงตามหลักวิทยาศาสตร์ แต่ยังมีความจริงอีกลักษณะหนึ่งคือความจริงที่ไม่สามารถสัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 ความจริงแบบนี้สัมผัสได้ด้วยจิต ความจริงที่สัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสนั้นเป็นความจริงที่สมมติขึ้น เรียกว่าความจริงโดยสมมติ ความจริงที่สัมผัสได้ด้วยจิตเป็นทั้งความจริงโดยสมมติและความจริงที่ปรมัตถ์ ถ้าความจริงใดช่วยขจัดความทุกข์ในชีวิตได้ ความจริงนั้นเป็นความจริงขั้นปรมัตถ์
ชีวิตคืออะไร? ชีวิตเป็นสิ่งที่มีการเกิดขึ้น เจริญเติบโตและดับสลายไปในที่สุด สิ่งมีชีวิตได้แก่ พืช และสัตว์ซึ่งมีความแตกต่างกันในรายละเอียด คนเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งซึ่งมีความเหมือนและความแตกต่าง จากสัตว์ทั้งทางด้านกายภาพและคุณภาพ
นักปรัชญาได้อธิบายความคิดเกี่ยวกับคนไว้หลายทฤษฎี บ้างก็กล่าวว่า คนเป็นเพียงสสารชั้นหนึ่งที่ไม่แตกต่างจากเครื่องจักร บางทฤษฎีก็เชื่อว่าคนมีทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ และบางทฤษฎีก็เชื่อว่าคนคือวิวัฒนาการของสารเคมีทีรวมตัวกันและเกิดปฏิกิริยาทางเคมี
คนเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งเชื่อกันว่าคนวิวัฒนาการมาจากสัตว์ แต่คนเป็นสัตว์ประเสริฐ เป็นสัตว์รู้คิด เป็นสัตว์สังคม
คนกับสัตว์เหมือนหรือต่างกันอย่างไร? คนเหมือนสัตว์ ตรงที่อวัยวะต่าง ๆ ทำหน้าที่เหมือนกัน มีความต้องการต่าง ๆ เหมือนกัน และมีการเกิด แก่ และตาย เหมือนกัน มีความต้องการเรื่องอาหาร การพักผ่อน การป้องกันตนเอง และการมีความสุขทางเพศ เหมือนกัน
ในขณะที่มีความเหมือนก็ย่อมมีความแตกต่างชีวิตของคนต้องเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา คนมีการเจริญเติบโต เผชิญกับความสุข ความทุกข์ ความสมหวัง ความผิดหวัง ชีวิตคนดำเนินไปเรื่อย ๆ เหมือนวันเวลาที่ผ่านไป ที่ไม่มีวันย้อนกลับมาใหม่ได้ ไม่ว่าจะเกิดมาในฐานะใดก็ย่อมมีวิถีชีวิตในลักษณะเดียวกันทั้งสิ้น

ความจริงคืออะไร

ความจริงคืออะไร?
ความจริง 3 ระดับ
๑. ข้อเท็จจริง (Fact) คือ ความจริงโดยประจักษ์เกิดจากประสาทสัมผัสทั้ง 5
๒. ความจริง (Truth) คือ ความจริงที่เป็นสากลสอดคล้องกับธรรมชาติ แก่ เจ็บ ตาย
๓. ความเป็นจริง (Reality) คือความจริงสูงสุดหรือความจริงสมบูรณ์ เป็นความจริงด้านศาสนา เช่น พระเจ้า นิพพาน พระพรหม

ทาเลส (Thales)
ความจริงในจักรวาลมีอย่างเดียว คือ น้ำ เรียกว่า ปฐมธาตุ
เดโมคริตุส (Democritus)
อะตอม คือ ความจริงเพียงอย่างเดียว เรียกว่า สสาร

๑. สมมติสัจจะ ความจริงโดยสมมติ คือ เป็นจริงในฐานะยอมรับร่วมกัน เช่น ชื่อ บทบาท ร่างกาย เป็นต้น ความจริงนี้เปลี่ยนแปลงได้
๒. ปรมัตถสัจจะ ความจริงอยู่เหนือสมมติ ปราศจากอัตตา
เช่นร่างกายแม้ว่าเป็นร่างกายของเราก็ตาม แต่เราบังคับบัญชาไม่ได้ พระพุทธศาสนาใช้คำว่า อนัตตาไม่มีตัวกู ของกู (ท่านพุทธทาสเน้นคำนี้) อย่างแท้จริง

วันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

อัพยากตปัญหา

อัพยากตปัญหา

เรื่องที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์

ความหมายของอัพยากตปัญหา

อัพยากต แปลว่าไม่กระทำให้แจ้ง คือไม่ตอบ ดังนั้นอัพยากตปัญหาจึงหมายถึงปัญหาที่ไม่กระทำให้แจ้ง คือปัญหาธรรมที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ หรือไม่ทรงกล่าวตอบให้ชัดแจ้งนั่นเอง บางท่านกล่าวว่าอัพยากตปัญหา เป็นปัญหาโลกแตกที่ไม่ควรสนใจเพราะไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ แต่เป็นปัญหาอภิปรัชญาที่ละเอียดอ่อน เป็นธรรมประณีตลุ่มลึก ต้องใคร่ครวญอย่างดีจึงจะเข้าใจได้ และผู้มีความเพียรในทางอื่น(ฝักใฝ่ในลัทธิอื่น)ก็ยากที่หยั่งรู้ได้ ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทหาอ่านได้ในพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย ฉบับที่รวบรวมเฉพาะอัพยากตปัญหาคือพระสูตรเล่มที่ ๑๘ ( พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ) ซึ่งมี ๑๑ สูตร คือ
๑. เขมาเถรีสูตร ๒. อนุราธสูตร
๓. สารีปุตตโกฏฐิตสูตรที่ ๑ ๔. สารีปุตตโกฏฐิตสูตรที่ ๒
๕. สารีปุตตโกฏฐิตสูตรที่ ๓ ๖. สารีปุตตโกฏฐิตสูตรที่ ๔
๗. โมคคัลลานสูตร ๘. วัจฉะสูตร
๙. กุตุหลสาลาสูตร ๑๐. อนันทสูตร
๑๑. สภิยสูตร
นอกจากนั้นได้กล่าวถึงอัพยากตปัญหาในพระไตรปิฎกฉบับอื่นๆอีกมาก ดังเช่นพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยเล่มที่ ๑๓ (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์)ได้แก่ จูฬมาลุงโกยวาทสูตร อัคคิวัจฉโคตตสูตรอภัยราชกุมารสูตร พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยเล่มที่ ๒๔ (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต) ได้แก่ ทิฏฐิสูตร อุตติยสูตร และ โกกนุทสูตร พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยเล่มที่ ๒๓ ได้แก่ อัพยากตสูตร สุริยสูตร พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยเล่มที่ ๒๐ ได้แก่ จูฬนีสูตร เป็นต้น

ปัญหาอภิปรัชญาที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์นี้ ประกอบด้วยคำถาม ๑๐ ข้อ มีลักษณะเป็นรูปคำถาม ๒ แบบ คู่กันไป เช่น โลกเที่ยงหรือ โลกไม่เที่ยงหรือ
ซึ่งแบ่งเป็น ๓ กลุ่มย่อย คือ
กลุ่มที่ ๑ ซึ่งมี ๔ ข้อ เป็นเรื่องของโลก
กลุ่มที่ ๒ ซึ่งมี ๒ ข้อ เป็นเรื่องของชีวิต คือร่างกายกับจิตใจ
กลุ่มที่ ๓ มี ๔ ข้อ เป็นเรื่องของภพชาติ

อัพยากตปัญหา ๑๐ ข้อ

เรื่องโลก
๑. โลกเที่ยงหรือ
๒. โลกไม่เที่ยงหรือ
๓. โลกมีที่สุดหรือ
๔. โลกไม่มีที่สุดหรือ
เรื่องกายใจ
๕. ชีพอันนั้นสรีระก็อันนั้นหรือ
๖. ชีพอย่างหนึ่งสรีระก็อย่างหนึ่งหรือ
เรื่องตาย – เกิด
๗. สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่หรือ (สัตว์ตายแล้วเกิดอีกหรือ )
๘. สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่หรือ (สัตว์ตายแล้วไม่เกิดอีกหรือ )
๙. สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มีหรือ (สัตว์ตายแล้วเกิดอีกก็มี ไม่เกิดอีกก็มี หรือ)
๑๐. สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่หรือ (สัตว์ตายแล้วเกิดอีกก็มิใช่ ไม่ เกิดอีกก็มิใช่หรือ)

วิเคราะห์วัตถุประสงค์ของผู้ที่ถามอัพยากตปัญหา

ผู้ที่ถามปัญหานี้ บางพวกก็นำเอาปัญหากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาถาม บางพวกถามรวมไปทั้ง ๑๐ ข้อ วัตถุประสงค์ของผู้ถามคาดว่าน่าจะจำแนกได้เป็น ๒ พวก ดังนี้คือ

๑) ซักถามเพียงเพื่อเป็นธัมมาสากัจฉา อันเป็นมงคลประเภทหนึ่ง ซึ่งมักพบผู้ที่นำเรื่องเหล่านี้มาซักถามกันในชนทุกหมู่เหล่า พระอริยะสงฆ์ถามพระอริยะสงฆ์ด้วยกันเช่นพระสารีบุตรถามพระมหากัสสป บางทีพระสารีบุตรก็เป็นฝ่ายถูกพระรูปอื่นๆ ถาม เดียรถีย์ถามพระพุทธเจ้าหรือพระสาวก พระเจ้าปเสนทิโกศล ถามพระภิกษุณี (พระเขมาเถรีสูตร) เดียรถีย์โต้ตอบกันเองก็มีมาก
๒) อยากรู้มติของพระพุทธเจ้าในเรื่องพวกนี้ อยากรู้เพราะอยากรู้ ก็มี หรืออยากรู้เพื่อเอาเป็นพวกก็มี หรือบางพวกมีมิจฉาทิฏฐิ อยากรู้เพื่อคัดค้านก็มี


วิเคราะห์พระพุทธทัศนะเกี่ยวกับอัพยากตปัญหา

การตอบปัญหาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงถือหลักการตอบ ๔ อย่างตามลักษณะของปัญหาและท่าทีของผู้ถามด้วย กล่าวคือ
๑. ทรงตอบด้วยปฏิปุจฉาพยากรณ์ กับปัญหาที่ควรย้อนถามเพื่อกำหนดความที่ถามของคำถามให้แน่ชัดเสียก่อน
๒. ทรงตอบด้วยวิภัชชพยากรณ์ กับปัญหาที่ควรแยกตอบแยกรับแยกปฏิเสธ ไม่ตอบแบบเหมาทั้งหมด.
๓. ทรงตอบด้วยเอกังคพยากรณ์ กับปัญหาที่ควรตอบ แน่ชัดลงไปส่วนเดียว ว่าใช่หรือไม่ใช่.
๔. ทรงตอบด้วยฐปนียพยากรณ์ กับปัญหาที่ไม่ควรตอบ ไม่ใช่ตอบไม่ได้ ปัญหาประเภทนี้เรียกว่า อัพยากตปัญหา คือปัญหาที่ไม่ทรงตอบ เป็นปัญหาที่ไม่กระทำให้แจ้ง คือ เป็นธรรมที่ไม่ทรงแสดงว่าเป็นกุศลธรรม หรือ อกุศลธรรม

การวิเคราะห์กลวิธีในการปฏิเสธอัพยากตปัญหา

จากการวิเคราะห์ในพระสูตรต่างๆ พบว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้กลวิธีในการปฏิเสธ กรณีมีผู้ถามอัพยากตปัญหา ดังต่อไปนี้คือ

๑ . ทรงกล่าวปฏิเสธโดยตรัสว่า “เราไม่พยากรณ์” หรือถ้าพระสาวกนำไปตอบก็จะกล่าวตอบว่า “ปัญหาข้อนี้พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์” ดังปรากฏในอัพยากตปัญหาหลายสูตร เช่น ครั้งหนึ่ง อุตติยปริพาชกได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ท่านโคดมผู้เจริญ โลกเที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่าหรือหนอ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอุตติยะ ข้อนี้เราไม่พยากรณ์ ฯ
อุ. ท่านโคดมผู้เจริญ ก็โลกไม่เที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่าหรือ ฯ
พ. ดูกรอุตติยะ แม้ข้อนี้เราก็ไม่พยากรณ์ ฯ
อุ. ท่านโคดมผู้เจริญ โลกมีที่สุด ... โลกไม่มีที่สุด ... ชีพอันนั้นสรีระอันนั้น ...
ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง ... สัตว์เมื่อตายแล้ว ย่อมเป็นอีก ... สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมไม่
เป็นอีก ... สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมเป็นอีกก็มีไม่เป็นอีกก็มี ... สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมเป็นอีก
ก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่าหรือ ฯ
พ. ดูกรอุตติยะ แม้ข้อนี้เราก็ไม่พยากรณ์ ฯ ( จากอุตติยสูตร)
กรณีพระสาวกนำไปตอบก็จะกล่าวตอบว่า “ปัญหาข้อนี้พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์” เช่นกรณี พระเจ้าปเสนทิโกศล ตรัสถามพระเขมาภิกษุณีปัญหาอัพยากตข้อที่ ๗-๑๐ พระเขมาภิกษุณีก็ตอบว่า ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ และเมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสถามถึงสาเหตุที่ไม่ทรงทรงพยากรณ์ พระเขมาเถรีได้กล่าวเปรียบเทียบว่า “มหาบพิตรมีคำนวณนักประเมิน หรือนักประมาณไดๆ จะสามารถจะคำนวณทรายในแม่น้ำคงคาว่า ทรายมีประมาณเท่านั้นเท่านี้เม็ด หรือจะคำนวณน้ำในมหาสมุทรว่า น้ำมีเท่านี้อาฬหกะ น้ำมีเท่านั้นอาฬหกะ ได้หรือฉันใด การที่จะบัญญัติตถาคต ว่าหลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก ไม่เกิดอีก เกิดอีกก็มีไม่เกิดอีกก็มี จะว่าเกิดอีกก็มิใช่ไม่เกิดอีกก็ไม่ใช่ ก็ล้วนไม่ถูกต้องทั้งสิ้นฉันนั้น เพราะจะบัญญัติตถาคตด้วยรูป เวทนา สัญญา สังขาร หรือ วิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่ง ตถาคตตละรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เช่นนั้นได้อย่างเด็ดขาด ไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้อีกแล้ว ในกาลต่อมา พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทูลถามปัญหาเหล่านี้กับพระพุทธเจ้าอีก พระพุทธองค์ก็ทรงตอบอย่างเดียวกัน (จากเขมาเถรีสูตร)

๒ . ทรงบอกปัดโดยตรัสว่า “เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น” แม้ผู้ถามจะถามซ้ำอย่างไรก็ตรัสเช่นนั้น ทำให้คนถามโกรธบ้าง หมดศรัทธาบ้างก็มี เช่น อัคิวัจฉโคตรปริพาชก กล่าวต่อว่าพระพุทธองค์ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดมภิกษุผู้มีจิตพ้นวิเศษแล้ว อย่างนี้ จะเกิดในที่ไหน ก็ตรัสตอบว่า ดูกรวัจฉะ คำว่า “เกิด” ดังนี้ ไม่ควร(นำมาใช้ไม่ได้) อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ถ้าเช่นนั้นเกิดก็มิใช่ ไม่เกิดก็มิใช่หรือ ข้าแต่ท่านพระโคดมก็กล่าวว่า “เกิดก็มี ไม่เกิดก็มี” และ “จะว่าเกิดก็มิใช่ ไม่เกิดก็มิใช่” ในข้อนี้ข้าพเจ้าถึงความไม่รู้ถึงความหลงแล้ว แม้เพียงความเลื่อมใสของข้าพเจ้าที่ได้มีแล้ว เพราะพระวาจาที่ตรัสไว้ในเบื้องแรกของท่านพระโคดม บัดนี้ได้หายไปเสียแล้ว” ( ศรัทธาที่ฟักตัวในเบื้องต้นต้องสะดุดลงเพราะคำตอบเช่นนี้) (จากอัคิวัจฉโคตรสูตร)
๓ . ทรงเปลี่ยนเรื่องแสดงหลักธรรมเรื่องอื่น ที่ทำให้ระดับความสนใจของผู้เข้าถึงธรรมนั้นพ้นไปจากความติดใจในปัญหาที่ถาม ดังที่มัณฑิยกับซากิยปริพาชกเคยถามพระองค์กลับทรงทำไม่รู้ไม่ชี้ต่อคำถามของเขา ทรงแสดงเรื่องศีลสมาธิปัญญาโดยพิสดาร ตอนท้ายจึงทิ้งคำถามว่า “ผู้ที่รู้อย่างนี้เห็นอย่างนี้ ควรหรือจะกล่าวว่า ชีพอันนั้นสรีระอันก็นั้น หรือชีพอย่างหนึ่งสรีระก็อย่างหนึ่ง” ผู้ถามจึงรับว่าไม่ควร

๔ . ทรงนิ่งเฉยเหมือนกับจนแต้มหมดปฏิภาณ เช่นที่ทรงปฏิบัติต่อวัจฉปริพาชก ดังปรากฏในอานันทสูตร วัจฉโคตรปริพาชกได้ทูลถามอย่างนี้แล้วพระผู้มีพระภาคได้ทรงดุษณีเสีย วัจฉโคตรปริพาชกได้ทูลถามอีกว่า ข้าแต่พระ---โคดมผู้เจริญ ก็อัตตาไม่มีหรือ แม้ครั้งที่สอง พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงดุษณีเสียเหมือนกัน ครั้นแล้ว วัจฉโคตรปริพาชกก็ได้ลุกขึ้นจากที่นั่งหลีกไป ฯ
เมื่อวัจฉโคตรปริพาชกหลีกไปแล้วไม่นาน ท่านพระอานนท์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะเหตุอะไรหนอพระผู้มีพระภาคอันวัจฉโคตร ปริพาชกทูลถามปัญหาแล้ว จึงไม่ทรงพยากรณ์พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ เราอันวัจฉโคตรปริพาชกถามว่า อัตตามีอยู่หรือ ถ้าจะพึงพยากรณ์ว่า อัตตามีอยู่ไซร้ คำพยากรณ์นั้นก็จักไปร่วมกับลัทธิของพวกสมณพราหมณ์ผู้เป็นสัสสตทิฐิ ดูกรอานนท์ เราอันวัจฉโคตรปริพาชกถามว่าอัตตาไม่มีหรือ ถ้าจะพึงพยากรณ์ว่า อัตตาไม่มีไซร้ คำพยากรณ์นั้นก็จักไปร่วมกับลัทธิของพวกสมณพราหมณ์ผู้เป็นอุจเฉททิฐิ ดูกรอานนท์ เราอันวัจฉโคตรปริพาชกถามว่า อัตตามีอยู่หรือ ถ้าจะพึงพยากรณ์ว่า อัตตามีอยู่ไซร้ คำพยากรณ์ของเรานั้น จักอนุโลมเพื่อความบังเกิดขึ้นแห่งญาณว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตาบ้างหรือหนอ ฯ
อา. หามิได้ พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรอานนท์ ถ้าหากเราอันวัจฉโคตรปริพาชกถามว่า อัตตาไม่มีหรือ จะพึงพยากรณ์ว่า อัตตาไม่มีไซร้ คำพยากรณ์นั้นคงจักเป็นไปเพื่อความหลงงมงายแก่วัจฉโคตรปริพาชกผู้งมงายอยู่แล้วว่า เมื่อก่อนอัตตาของเราได้มีแล้วแน่นอนบัดนี้ อัตตานั้นไม่มี ดังนี้ ฯ

๕ . ทรงตอบแบบอุปมา เช่น ดูกรวัจฉะ ถ้าเช่นนั้น เราจักย้อนถามท่านในข้อนี้ ท่านเห็นควรอย่างใด ก็พึงพยากรณ์อย่างนั้น ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ถ้าไฟลุกโพลงอยู่ต่อหน้าท่าน ท่านจะพึงรู้หรือว่า ไฟนี้ลุกโพลงต่อหน้าเรา.
ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าไฟลุกโพลงต่อหน้าข้าพเจ้า ข้าพเจ้าพึงรู้ว่า ไฟนี้ลุกโพลงอยู่ ต่อหน้าเรา.
ดูกรวัจฉะ ถ้าใครๆ พึงถามท่านอย่างนี้ว่า ไฟที่ลุกโพลงอยู่ต่อหน้าท่านนี้ อาศัยอะไรจึงลุกโพลง ท่านถูกถามอย่างนี้แล้วจะพึงพยากรณ์ว่าอย่างไร?
ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าใครๆ ถามข้าพเจ้าอย่างนี้ว่า ไฟที่ลุกโพลงต่อหน้าท่านนี้ อาศัยอะไรจึงลุกโพลง ข้าพเจ้าถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ไฟที่ลุกโพลงอยู่ต่อหน้าเรานี้ อาศัยเชื้อ คือหญ้าและไม้จึงลุกโพลงอยู่.
ดูกรวัจฉะ ถ้าไฟนั้นพึงดับไปต่อหน้าท่าน ท่านพึงรู้หรือว่า ไฟนี้ดับไปต่อหน้าเราแล้ว?
ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าไฟนั้นดับไปต่อหน้าข้าพเจ้า ข้าพเจ้าพึงรู้ว่าไฟนี้ดับไปต่อหน้าเราแล้ว.
ดูกรวัจฉะ ถ้าใครๆ พึงถามท่านอย่างนี้ว่า ไฟที่ดับไปแล้วต่อหน้าท่านนั้น ไปยังทิศ ไหนจากทิศนี้ คือทิศบูรพา ทิศปัจจิม ทิศอุดร หรือทิศทักษิณ ท่านถูกถามอย่างนี้แล้ว จะพึงพยากรณ์ว่าอย่างไร?
ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้อนั้นไม่สมควร เพราะไฟนั้นอาศัยเชื้อ คือหญ้าและไม้จึงลุก แต่เพราะเชื้อนั้นสิ้นไป และเพราะไม่มีของอื่นเป็นเชื้อ ไฟนั้นจึงถึงความนับว่าไม่มีเชื้อ ดับไปแล้ว.
“พระอรหันต์หลังจากสิ้นชีวิตแล้วอุปมากับไฟที่หมดเชื้อแล้ว ทรงแสดงให้วัจฉโคตรปริพาชกยอมรับว่าไฟที่ลุกโพลงอยู่ตรงหน้านั้น เราอาจรู้ได้ เพราะอาศัยเชื้อเพลิง ไฟจึงลุกโพลง และเมื่อไฟดับลงไปตรงหน้า เราก็สามารถรู้ได้แต่ไม่อาจกล่าวได้ว่า ไฟที่ดับไปแล้วนั้นไปยังทิศใด กล่าวแต่เพียงว่า เมื่อเชื้อเพลิงนั้นถูกไฟเผาหมดแล้วและไม่มีเชื้อเพลิงอื่นมาเพิ่มเติมอีก ไฟก็ดับ ในทำนองเดียวกัน บุคคลบัญญัติสัตว์ทั้งหลายด้วยรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณใด พระอรหันต์ละสิ่งนั้นได้อย่างถอนรากถอนโคน ไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้อีก พ้นแล้วจากการเรียกว่าขันธ์ 5 มีคุณอันลึกซึ้ง หยั่งถึงได้ยากเหมือนมหาสมุทร จึงไม่ควรกล่าวว่า เกิด ไม่เกิด เกิดก็มี ไม่เกิดก็มี และจะว่าเกิดก็มิใช่ ไม่เกิดก็มิใช่ (จากวัจฉะสูตร ) และอีกเรื่องหนึ่ง จากจูฬมาลุงโกยวาทสูตร ได้ทรงอุปมาตรัสตอบว่า มนุษย์แต่ละคนเปรียบเสมือนผู้ถูกลูกศรอาบยาพิษ สิ่งที่เขาควรทำโดยเร่งด่วนคือให้แพทย์ถอนลูกศรออกแล้วรีบเยียวยารักษาแผลให้หายแทนที่จะมัวแต่ถามว่าลูกศรนั้นใครยิงมา เป็นลูกศรชนิดใดและทำด้วยอะไร มิฉะนั้นเขาอาจจะตายไปเสียก่อน เมื่อเขาถอนลูกศรออกมารักษาแผลให้หายดีแล้ว การสืบหาตัวผู้ยิงและรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับลูกศรก็อาจทำได้ไม่ยาก ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อบุคคลกระทำทุกข์ให้ถึงที่สุดแล้วความสงสัยในปัญหาอภิปรัชญาที่พระพุทธองค์ไม่ทรงตอบเหล่านี้ก็จะหมดไปเอง
๖. ทรงตรัสตอบปัญหาที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน ดังได้ทรงตรัสทรงให้เหตุผลแก่
พระมาลุงกยบุตรว่า (จากจูฬมาลุงโกยวาทสูตร) “ปัญหาเหล่านี้ไม่เป็นประโยชน์ในการดับทุกข์ ไม่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์” (จึงไม่ทรงตอบ)

วิเคราะห์สาเหตุที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์อัพยากตปัญหา
หลายท่านอาจจะเสียดายว่าทำไมพระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ปัญหาเหล่านี้ คาดว่าพระพุทธองค์จะต้องทรงทราบ และชี้แจงว่าพวกไหนถูก พวกไหนผิดได้อย่างแน่นอน ซึ่งพระมาลุงกยรู้สึกขัดใจอยากรู้มากๆ และเคยกล่าวว่าจะต้องรู้ให้ได้ ถ้าพระพุทธองค์ไม่ทรงตอบให้รู้เรื่องไปเลย ท่านก็จะลาสิกขาไปเป็นคฤหัสถ์ พระมาลุงกยจึงได้เซ้าซี้ถามพระพุทธองค์ตรงๆเลยว่า “ถ้าพระพุทธองค์ไม่รู้ก็ขอให้ทรงตอบมาตรงๆเถิดว่าไม่รู้ ถ้ารู้ก็จงพยากรณ์เถิด” และในที่สุดพระพุทธองค์ก็ยังคงปฏิเสธการพยากรณ์ (จูฬมาลุงโกยวาทสูตร)
จากการศึกษาอัพยากตปัญหาจากที่พระสาวกและพระพุทธองค์ทรงตรัส ดังความที่บอกไว้ในพระสูตรต่างๆ ดังกล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น จึงพอจะสรุปสาเหตุที่พระพุทธองค์ไม่ทรงพยากรณ์อัพยากตปัญหาได้ว่าน่าจะเป็นเพราะเหตุดังต่อไปนี้ คือ เพราะเป็นปัญหาที่
๑. เป็นธรรมประณีตลุ่มลึก ผู้มีความเพียรในทางอื่น ยากที่หยั่งรู้ได้ ดังเช่น
๑.๑ ทรงกล่าวในวัจฉสูตร “ดูกรวัจฉะ ควรแล้วที่ท่านจะไม่รู้ ควรแล้วที่ท่านจะหลง เพราะว่าธรรมนี้เป็นธรรมลุ่มลึก ละเอียด สงบระงับ ประณีต ยากที่จะเห็น ยากที่จะรู้ ไม่ใช่ธรรมที่จะหยั่งถึงได้ด้วย ความตรึก บัณฑิตจึงจะรู้ได้ ธรรมนั้นอันท่านผู้มีความเห็นเป็นอย่างอื่น มีความพอใจ เป็นอย่างอื่น มีความชอบใจเป็นอย่างอื่น มีความเพียรในทางอื่น อยู่ในสำนักของอาจารย์อื่น (ฝักใฝ่ในลัทธิอื่น) ก็ยากที่จะหยั่งรู้ได้ ”
๑.๒ แต่ทั้งนี้ขอให้เข้าใจว่าพุทธศาสนามิใช่จะไม่พูดเรื่องตายเกิด พุทธศาสนาถือว่าตายแล้วเกิด แต่การตายเกิดเป็นเรื่องธรรมชาติมิใช่สัตว์อัตตาเป็นตัวตนเวียนไปมา อย่างที่พระสาติกล่าวและถูกตำหนิมาแล้ว บางคนเกิด บางคนไม่เกิด แล้วแต่ปัจจัยคือ ตัณหาอุปาทาน ดังที่ตรัสไว้ใน พระกุตุหลสาลาสูตร
๑.๓ โกกนุทปริพาชก ได้ถามพระอานนท์ว่า พระเถระมีความเห็นว่า “โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง...ฯลฯ หรือไม่” พระอานนท์ตอบว่า ท่านมิได้มีความเห็นอย่างนั้นและกล่าวว่า ความเห็นที่ว่า “โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง ฯลฯ...” นี้เป็นทิฏฐิอย่างหนึ่งในทิฏฐิ ๖๒ ประการ (ในยุคนั้น) และท่านรู้จักทิฏฐิ บ่อเกิดแห่งทิฏฐิ ผลของทิฏฐิที่ทำให้คนหลงยึดถือ และวิธีเพิกถอนทิฏฐิเหล่านั้นเป็นอย่างดี (โกกนุทสูตร)
๒. เป็นการเห็นผิดว่าขันธ์ ๕ ทั้งหลายเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นอัตตาตัวตน ดังที่พระสาวกทั้งหลายชี้แจง คือ
๒. ๑ พระโมคคลานชี้แจงแก่วัจฉโคตรปริพาชกว่า ผู้ที่มีความเห็นข้องอยู่ในทุกข์ ๑๐ นั้นก็เพราะเห็นอายตนภายใน ๖ ว่าเป็นของเรา เป็นเรา เป็นตัวตนของเรา หมายความว่าพวกทิฏฐิ ๑๐ นั้นจะกล่าวเบื้องปลายแตกแยกกันอย่างไรใน ๑๐ ก็ตาม แต่เขาอยู่บนพื้นฐานแห่งอัตตาตัวตนที่สำคัญผิดจากอายตน ๖ คือขันธ์ ๕ นั่นแหละ (จากโมคคัลลานสูตร)
๒. ๒ พระอนุราธะชี้แจงแก่พวกปริพาชกว่าสัตว์มิใช่ขันธ์ ๕ สัตว์ไม่มีอยู่ในขันธ์ ๕ สัตว์ไม่อื่นจากขันธ์ ๕ หมายความว่า คนสัตว์นั้นแท้จริงคือที่ชุมนุมแห่งขันธ์ ๕ เท่านั้น สัตว์มิใช่เป็นขันธ์ใดขันธ์หนึ่งใน ๕ ขันธ์ และมิได้ซุกซ่อนอยู่ในกองขันธ์ ๕ คนสัตว์เป็นแต่เพียงการบัญญัติคลุมธรรมชาติไว้เท่านั้นดุจเรียกกองไม้กอง กองเหล็กว่ารถ สัตว์จึงไม่อื่นไปจากขันธ์ ๕ เสียทีเดียว จะไปชี้ว่าที่ว่างเปล่าว่านี่คนนี่เสือก็ไม่ได้(จากอนุราธสูตร)
๒.๓ พระเขมาภิกษุณีชี้แจงแก่พระเจ้าปเสนทิโกศลว่า ปุถุชนบัญญัติสัตว์โดยอาศัยขันธ์ ๕ พระพุทธองค์ทรงละขันธ์ ๕ แล้ว หมายความว่าปุถุชนเราสำคัญเอาจากขันธ์ เพราะรักใคร่ยึดถือขันธ์จนฝังหัว แต่พระพุทธเจ้ามิได้ยึดมั่นในขันธ์ แล้วจึงไม่เห็นผิดว่าสัตว์บุคคลไปเวียนตาย – เกิด (จากเขมาเถรีสูตร)
๒.๔ พระสารีบุตรชี้แจงแก่พระโกฎฐิตว่า ความเห็นอย่างนี้ย่อมมีแก่ผู้ที่ไม่เห็นขันธ์ ๕ โดยอาการแห่งอริยสัจ ๔ คือ ไม่รู้จักขันธ์ ๕ ไม่รู้เหตุเกิดของขันธ์ ๕ ไม่รู้ความดับของขันธ์ ๕ ไม่รู้หนทางดับขันธ์ ๕ หมายความว่า ไม่รู้แจ้งสภาพขันธ์ตามสภาพของมัน จึงสำคัญว่าเป็นสัตว์บุคคลอย่างเป็นจริงเป็นจัง เมื่อตั้งต้นผิดจะแถลงอย่างไรต่อไปก็ผิดทั้งนั้น (จากสารีปุตตโกฏฐิตสูตรที่ ๒)

๓. บุคคลสิ้นอวิชชา สิ้นทิฏฐิแล้วย่อมหยั่งรู้ได้เอง ผู้สิ้นอวิชชา สิ้นทิฏฐิแล้วจะไม่เห็น
ว่าขันธ์เป็นสัตว์บุคคลจริงๆ เพราะว่าบุคคลไม่รู้สภาพความเป็นจริงของขันธ์ ๕ ยังยินดีในขันธ์ ๕ ( จึงไม่ต้องตอบ ) ดังตัวอย่างดังต่อไปนี้คือ
๓. ๑ พระพุทธองค์ตรัสชี้แจงแก่วัจฉโคตรว่า มิจฉาทิฏฐิ ๑๐ นั้น เกิดขึ้นบนรากฐานคือเห็นขันธ์ ๕ ว่าเป็นตน เห็นตนมีขันธ์ ๕ เห็นขันธ์ ๕ ในตน เห็นตนในขันธ์ ๕ รวมเรียกว่าสักกายทิฏฐิ ๒๐ จะเป็นสัสสตหรืออุจเฉกทิฏฐิก็ได้ “ตถาคตละได้แล้ว มีมูลรากอันขาดแล้ว ทำให้เป็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา ตถาคตพ้นจากการนับว่ารูปมีคุณอันลึก อันใครๆ ประมาณ ไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก. เปรียบเหมือนมหาสมุทรฉะนั้น ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิด ไม่ควรจะ กล่าวว่าไม่เกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิดก็มี ไม่เกิดก็มี ไม่ควรจะกล่าวว่า เกิดก็หามิได้ ไม่เกิดก็หามิได้. บุคคลเมื่อบัญญัติว่าเป็นสัตว์ พึงบัญญัติเพราะเวทนาใด...เพราะสัญญาใด...เพราะสังขารเหล่าใด ... เพราะวิญญาณใด ...วิญญาณนั้น ตถาคตละได้แล้ว มีมูลรากอันขาดแล้วทำให้ดุจเป็นตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา ตถาคตพ้นจากการนับว่าวิญญาณ มีคุณอันลึก อันใครๆ ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก. เปรียบเหมือนมหาสมุทรฉะนั้น ไม่ควรกล่าวว่าเกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าไม่เกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิดก็มี ไม่เกิดก็มี ไม่ควรจะกล่าวว่า เกิดก็หามิได้ ไม่เกิดก็หามิได้ (จากวัจฉะสูตร)
๓.๒ พระสารีบุตรชี้แจงแก่พระโกฎฐิตว่าสัตว์หมายถึงขันธ์ ๕ หมายความว่า สัตว์มิได้มีโดยเอกเทศด้วยตนเอง แต่เพียงสมมุติเรียกเอาโดยอาศัยขันธ์ ๕ เป็นที่ตั้ง อัตตาตัวตนจึงไม่มี จึงกล่าวโดยปรมัตถ์ไม่ได้ว่าสัตว์เกิด (จากสารีปุตตโกฏฐิตสูตรที่ ๑)
๓. ๓ พระสารีบุตรชี้แจงแก่พระโกฎฐิตว่า เป็นเพราะผู้นั้นมีความยินดีในขันธ์ ในภพ ในอุปาทาน ตัณหา และไม่เห็นความดับสลายของขันธ์ ภพ อุปาทาน ตัณหา หมายความว่าเพราะสัตว์รักตัวและชาติภพและยินดีในคราบตัวเองได้รักตัวเองนั้นด้วย จึงอยากจะให้มีตัวให้เป็นตัวตนอยู่จริงเพื่อเป็นที่ยึดถือ อย่าว่าแต่พวกอื่นที่เขาไม่รู้เรื่องคำสอนที่ว่าด้วยอนัตตาเลย แม้แต่ชาวพุทธก็ยังอยากจะให้มีตัวตนเพื่อไปสวรรค์ ไปนิพพาน เป็นผู้หลุดพ้น ความรู้สึกเช่นนี้เป็นปกติของปุถุชน (จากสารีปุตตโกฏฐิตสูตรที่ ๔)

๔. เพราะไม่ทำให้เกิดธรรมทัสสนะ และอาจทำให้เกิดความงมงาย เพราะ
๔. ๑ การไม่ทรงพยากรณ์เรื่องอัตตา เนื่องจาก ถ้าทรงพยากรณ์ว่า อัตตามีอยู่ ก็เข้ากับลัทธิสัสสตทิฎฐิ ถ้าทรงพยากรณ์ว่า อัตตาไม่มีอยู่ ก็เข้ากับลัทธิอุจเฉททิฎฐิ การพยากรณ์ว่า อัตตามีอยู่ ไม่ทำให้เกิดธรรมทัสสนะว่าธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา การพยากรณ์ว่า อัตตาไม่มีอยู่ ก็ทำให้คนที่เคยเชื่อเรื่องอัตตาเกิดความงมงายว่าอัตตาของเราไม่มีเสียแล้ว (การเวียนว่ายหรือตายเกิดหรือความเป็นไปต่างๆ ของชีวิตนั้น เป็นเรื่องกระแสธรรมชาติที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยมิใช่อัตตาตัวตน) (จากอานนทสูตร)
๔. ๒ เป็นความเห็นที่รกชัฏเป็นความเห็นอย่างกันดาร เป็นเสี้ยนหนาม เป็นความเห็นที่กวัดแกว่ง เป็นความเห็นเครื่องผูกสัตว์ไว้ เป็นไปกับด้วยทุกข์ กับด้วยความลำบาก กับด้วยความคับแค้น เร่าร้อน
๔. ๓ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ประกอบด้วยธรรม ไม่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

๕. คำถามเป็นมิจฉาทิฏฐิทั้งหมด บางคนอยากรู้เพื่อคัดค้านขัดขวาง หากตอบไปก็ค้านกับมิจฉาทิฏฐิของคนทั่วไป จึงไม่ทรงตอบ คือเป็นมิจฉาทิฏฐิ ดังตัวอย่าง
๕. ๑ ที่เรียกว่าโลก ว่าสัตว์ ว่าชีวะ ว่าสรีระ หรือว่าด้วยโวหารในที่อื่นว่า บุคคล มานวนรก็ดี เป็นมิจฉาทิฏฐิ ผิดตั้งแต่ต้น โวหารเหล่านี้ลัทธินอกศาสนาพุทธครั้งนั้นหมายถึงอัตตาตัวตน อันเป็นสารในตัวของสัพพสัตว์ แต่พุทธศาสนาถือว่าคนเราเป็นเพียงการรวมตัวกันของธรรมชาติกลุ่มหนึ่งๆ เท่านั้นเรียกว่าขันธ์ ๕ หรืออายตนะ ๑๒ มิใช่ตัวตนคนสัตว์ ถึงพระพุทธเจ้าจะใช้โวหารว่าบุคคลหรือตนด้วย แต่ทรงเรียกตามโวหารโลกไปเท่านั้น มิได้ยึดถือว่ามีจริงโดยปรมัตถ์ดังพวกลักธิอื่นเชื่อกัน เมื่อคนสัตว์ไม่มีจริงดังนี้ จะกล่าวว่าสัตว์ตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด นั้นไม่ได้ หากตอบไปก็ค้านกับมิจฉาทิฏฐิของคนทั่วไป เพราะ คนทั่วไปเข้าใจว่า สัตว์คือขันธ์ 5 อันที่จริงแล้วสัตว์ไม่ใช่ขันธ์ 5 ขันธ์ 5 ไม่ใช่สัตว์ แต่ก็ไม่ใช่อื่นไปจากขันธ์ 5 เมื่อคนทั่วไปพูดถึงสัตว์ ย่อมหมายถึงขันธ์ 5 เพราะมีอวิชชาในขันธ์จึงมีตัณหาอุปาทานในขันธ์ เพราะมีอุปาทานในขันธ์จึงเกิด มิจฉาทิฏฐิในขันธ์ เพราะมิจฉาทิฏฐิในขันธ์จึงเห็นว่าขันธ์เป็นสัตว์บุคคลโดยแท้จริง เมื่อเห็นขันธ์เป็นสัตว์บุคคลจึงเห็นไปต่างๆกันว่าสัตว์ตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด
๕. ๑ ดูกรภิกษุ ตถาคตย่อมแสดงธรรมโดยสายกลาง ไม่ข้องแวะส่วนสุด(สุดโต่ง)ทั้งสอง หมายความว่า คนที่เป็นทิฏฐิ ๑๐ นั้นแล้ว เป็นสัสสตทิฏฐิบ้าง อุจเฉกทิฏฐิบ้าง ขวางต่อการปฏิบัติธรรมทางศาสนาทั้งคู่ แต่ถ้าเข้าใจตามคำสอนว่าคนสัตว์ที่จะเกิดที่จะสูญไม่มีเป็นแต่นามรูป จุติ บุคคลผู้ข้องแวะทิฏฐินี้จะเห็นผิดไปจากความเป็นจริง และมีผลเสียที่เกิดขึ้นจากทิฏฐิเหล่านี้คือ ความอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ย่อมไม่มี
๕.๒ พระสภิยชี้แจงกับวัจฉโคตรว่า เพราะสิ้นเหตุปัจจัยที่จะทำให้บัญญัติเป็นสัตว์ สัตว์เป็นอย่างไร ๆ แล้ว คำว่าเหตุปัจจัยก็คือตัณหาและทิฎฐิ ซึ่งเป็นตัวก่อความวิปลาศเพราะอาศัยขันธ์นั่นเอง (จากสภิยสูตร)
๕.๓ ทิฏฐิไม่ว่าชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นข้าศึก ทิฏฐิทั้งสิ้นอันอริยะสาวกนั้นละได้แล้ว
ตัดรากขาดแล้ว กระทำให้เป็นดังตาลยอดด้วน ถึงความไม่มีอันไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา เพราะอวิชชาดับด้วยสำรอกไม่เหลือ หมายความว่าสิ้นอวิชชาแล้วก็ไม่เห็นผิดไปต่างๆ เช่นนั้น
๖ . ทรงตอบธรรมที่เป็นประโยชน์เพื่อความรู้ยิ่ง(ตรัสรู้)เพื่อบรรลุพระนิพพาน พระพุทธองค์ทรงเลือกบุคคลที่จะตอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตรัสตอบกับสาวก สมมติสงฆ์ หรืออริยะสงฆ์ ที่ทรงเห็นแล้วว่าจะเกิดประโยชน์กับผู้ฟังนั้น ซึ่งก็เป็นไปตามหลักการแสดงธรรมของพระพุทธองค์ที่ทรงให้ไว้ ดังเช่น
๖.๑ ครั้งหนึ่งที่ อุตติยะต่อว่าพระพุทธองค์ว่า “ท่านถูกเราถามว่า ท่านโคดมผู้เจริญ โลกเที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริงสิ่งอื่นเปล่าหรือหนอ ก็ตรัสตอบว่า ดูกรอุตติยะ ข้อนี้เราไม่พยากรณ์ เมื่อถูกถามว่า ท่านโคดมผู้เจริญ ก็โลกไม่เที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่าหรือก็ตรัสตอบว่า ดูกรอุตติยะ ข้อนี้เราก็ไม่พยากรณ์ เมื่อถูกถามว่า ท่านโคดมผู้เจริญ โลกมีที่สุด ... โลกไม่มีที่สุด ... ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น ... ชีพอย่างหนึ่ง สรีระก็อย่างหนึ่ง ... สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมเป็นอีก ... สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมไม่เป็นอีก ... สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมเป็นอีกก็มี ย่อมไม่เป็นอีกก็มี ... สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมเป็นอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่าหรือหนอ ก็ตรัสตอบว่า ดูกรอุตติยะ แม้ข้อนี้เราก็ไม่พยากรณ์ เมื่อเป็นเช่นนี้ท่านโคดมผู้เจริญจะพยากรณ์ในทางไหน ฯ
พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ดูกรอุตติยะ เราย่อมแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายเพื่อความรู้ยิ่งเพื่อความหมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงเสียซึ่งความโศกและความร่ำไรเพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ฯ ( อุตติยสูตร)
๖.๒ ทรงกล่าวกับพระมาลุงกย ว่า ปัญหาเหล่านี้ไม่เป็นประโยชน์ในการดับทุกข์ ไม่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ งานเฉพาะหน้าของมนุษย์คือการปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ มิใช่การค้นหาความจริงทางด้านอภิปรัชญา ได้ทรงอุปมาว่า มนุษย์แต่ละคนเปรียบเสมือนผู้ถูกลูกศรอาบยาพิษ สิ่งที่เขาควรทำโดยเร่งด่วนคือให้แพทย์ถอนลูกศรออกแล้วรีบเยียวยารักษาแผลให้หายแทนที่จะมัวแต่ถามว่าลูกศรนั้นใครยิงมา เป็นลูกศรชนิดใดและทำด้วยอะไร มิฉะนั้นเขาอาจจะตายไปเสียก่อน เมื่อเขาถอนลูกศรออกมารักษาแผลให้หายดีแล้ว การสืบหาตัวผู้ยิงและรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับลูกศรก็อาจทำได้ไม่ยาก ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อบุคคลกระทำทุกข์ให้ถึงที่สุดแล้วความสงสัยในปัญหาเหล่านี้ก็จะหมดไปเอง ( จูฬมาลุงโกยวาทสูตร )
๗. เมื่อบุคคลละตัณหาอุปาทานได้โดยสิ้นเชิง คลายความยึดติดในขันธ์ 5 ก็จะรู้แจ้งอัพยกตปัญหาทั้ง ๑๐ ข้อนี้ได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องไปถามใคร ผู้ที่ยังมีความลังเลสงสัยในอัพยากตปัญหา ได้แก่ ผู้ที่ยังมีความชื่นชมยินดีในขันธ์ 5 ยังยึดถือขันธ์ 5 ว่าเป็นเรา เป็นของเรา จึงไม่สามารถพิจารณาเห็นขันธ์ 5 โดยความเป็นไตรลักษณ์ ตอบไปก็ไม่สามารถทำให้คนเหล่านั้นรู้แจ้งไปได้ (สาริปุตตโกฏฐิตสูตร )
๘. เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือประสบการณ์ของมนุษย์ คำถามเหล่านั้นเป็นคำถามที่แพร่หลายในวงกว้าง ผู้ที่มีความ ฝักใฝ่ในลัทธิอื่น ไม่ว่าจะตอบอย่างไรซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นคำตอบที่ถูกต้อง แต่ก็เป็นข้อยุติของเจ้าลัทธิต่างๆได้ เพราะเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือประสบการณ์ของมนุษย์ ดังนั้น คำพูดนั้นแม้จริง แต่ไม่เกิดประโยชน์ ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจ พระพุทธองค์จะไม่ทรงตรัส และตรัสสอนสาวกไว้ด้วยแล้วว่าไม่ควรพูดคำพูดใดที่ไม่เกิดประโยชน์ ฯลฯ (จากอภัยราชกุมารสูตร )


สรุป
อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงตอบธรรมเฉพาะที่เป็นประโยชน์ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อการตรัสรู้ เพื่อบรรลุพระนิพพาน
ดังนั้นสาเหตุที่ไม่ทรงพยากรณ์อัพยากตปัญหา เพราะว่าเป็นปัญหาที่ลุ่มลึกตอบไปแล้วคนไม่เข้าใจก็ยิ่งจะงมงาย และไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด(ราคะกิเลส) ไม่เป็นไปเพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน และทรงกล่าวข้อธรรมอีกว่า งานเฉพาะหน้าของมนุษย์แต่ละคน ควรทำโดยเร่งด่วนคือการปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ มิใช่การค้นหาความจริงด้านอภิปรัชญา เมื่อบุคคลกระทำทุกข์ให้ถึงที่สุดแล้วความสงสัยในปัญหาเหล่านี้ก็จะหมดไปเอง























เอกสารอ้างอิง

กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง. กรุงเทพมหานคร:
กรมการศาสนา, ๒๕๒๕.
แถม กิตติเผ่า. (๒๕๒๘).อพยากตปัญหาปัญหาที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์เอกลักษณ์ดีไซน์.
สุชีพ ปุญญานุภาพ. พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน. พิมพ์ครั้งที่ ๑๕. กรุงเทพมหานคร:
มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, ๒๕๓๗.
สุเชาวน์ พลอยชุม รศ. เรื่องที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ บรรยายแก่นักศึกษาศาสนศาสตร
ดุษฎีบัณฑิต (รุ่นที่ ๒ ) วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๐ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ศูนย์การศึกษาวัดอาวุธวิกสิตาราม: กรุงเทพมหานคร.