วันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2551

พุทธวิธีในการบริหาร

พุทธวิธีในการบริหาร
(Buddhist Style in Management)
โดย นายภูมิกิติ จารุธนนนท์
บทนำ
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระคุณสมบัติยอดเยี่ยมหลายประการเช่นที่มีในพระไตรปิฎกกล่าวไว ๙ ประการ ที่เรียกว่า พุทธคุณ ๙ [๑] เช่น อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ พระองค์เป็นพระอรหันต์เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีพระคุณสมบัติอื่น ๆ อีกมากมายโดยเฉพาะพุทธวิธีในการบริหารและการปกครอง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระคุณสมบัติของนักบริหารและนักปกครองชั้นยอดของพระองค์ เพราะพระคุณสมบัติในด้านนี้ของพระองค์นั่นเอง จึงทำให้พระองค์สามารถประกาศพระพุทธศาสนาได้อย่างรวดเร็วและเป็นปึกแผ่นคงสืบทอดมาถึงเราทั้งหลายถึงทุกวันนี้
ความหมายของคำว่า บริหาร
คำว่า บริหาร ตรงกับภาษาบาลีว่า “ปริหร” เป็นคำแสดงความหมายถึง ลักษณะของการปกครองว่าเป็นการนำสังคมหรือหมู่คณะให้ดำเนินไปโดยสมบูรณ์ นำหมู่คณะให้พัฒนาไปพร้อมกัน “ปริหร"อาจบ่งถึงความหมายที่ว่า การแบ่งงาน การกระจายอำนาจ หรือการที่สมาชิกในสังคมมีส่วนร่วมในการปกครองหมู่คณะก็ได้ ในพระไตรปิฎกมักจะใช้คำว่า “ปริหร" กับกลุ่มสังคม เช่น “อหํ ภิกฺขุสงฺฆํ ปริหริสฺสามิ” เราจักปกครองภิกษุสงฆ์ [๒] เป็นต้น กิติ ตยัคคานนท์ กล่าวว่า “การบริหาร คืองานของผู้นำหรือของผู้บริหารที่กระทำเพื่อให้กลุ่มคนที่มาอยู่รวมกันทำงานให้สำเร็จบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ"หน้าที่ของนักบริหารปรากฏอยู่ในคำจำกัดความที่พระเมธีธรรมาภรณ์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) กล่าวไว้ว่า “ การบริหาร หมายถึง ศิลปะแห่งการทำงานให้สำเร็จโดยอาศัยคนอื่น” จากการให้ความหมายของคำว่า บริหารจะเห็นได้ว่า การบริหาร (Administration) เป็นคำที่มีความหมายคล้ายคลึงหรือเหมือนกับคำว่า การจัดการ (Management) นอกจากสองศัพท์นี้จะมีลักษณะใกล้เคียงกันแล้ว ยังมีศัพท์อื่น ๆ อีกมากที่นำมาใช้ผสมปนเปกันไป เช่น การบริหารรัฐกิจ สาธารณบริหาร หรือ รัฐประศาสนศาสตร์ซึ่งถือว่าเป็นสาขาหนึ่งของรัฐศาสตร์ กล่าวโดยสรุป การบริหารเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เพราะการบริหารสามารถเรียนรู้และฝึกฝนเพิ่มเติมได้ แต่ในขณะเดียวกันการบริหารงานก็ต้องใช้ความรู้อันเป็นระบบที่เชื่อถือได้ร่วมกับการใช้เทคนิควิธีการต่าง ๆ เพื่อให้งานบรรลุผลโดยได้ทั้งงานและได้ทั้งน้ำใจจากผู้ร่วมงานหลักการบริหารที่เราทั้งหลายมักจะนำมาใช้ในการบริหารงานนั้นมักจะนำแนวคิดหรือทฤษฎีของต่างประเทศมาใช้เป็นส่วนใหญ่ ดังที่กุลิคและเออร์วิค (Gulick and Urwick) จาก Management Theory and Practice ของเดล (Dale) ได้กล่าวถึงการบริหารงานให้ประสบผลสำเร็จผู้บริหารควรใช้กระบวนการบริหารงาน(Process of Management) ๗ ประการ (POSDCRB) คือ
๑. การวางแผน (Planning) เป็นการกำหนดลำดับกิจกรรมที่จะต้องกระทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่ต้องการขององค์การ หรือหน่วยงาน หรือการคาดการณ์ล่วงหน้าถึงความยุ่งยากหรืออุปสรรคที่พึงจะมี หรือการกำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้การกำหนดให้มีแผนงานเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการใช้ปัญญาของมนุษย์และใช้ความเพียรพยายามที่จะนำทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์การวางแผนที่ดีย่อมทำให้ประสบผลสำเร็จถึงครึ่งหนึ่งแล้วดังคัมภีร์ยุทธศาสตร์ของซุ่นวูที่ว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง"เป็นการกล่าวให้เห็นถึงความสำคัญในการวางแผนที่ดีของแม่ทัพหรือผู้บริหาร ย่อมทำให้รบชนะศัตรู อย่างไรก็ตาม การวางแผนงานที่ดีต้องอาศัยข้อเท็จจริง สถิติ ข้อมูลต่าง ๆ ทั้งอดีต และปัจจุบันนำมาร่วมพิจารณาประกอบการวางแผนด้วย ซึ่งการวางแผนเปรียบเสมือนการทำนายอนาคต จึงเป็นไปตามหลักจักขุมาของพระพุทธองค์
๒. การจัดองค์การ (Organizing) คือ การกำหนดตำแหน่งสายการบังคับบัญชาในองค์การ มีตำแหน่งอะไรบ้าง แต่ละตำแหน่งมีอำนาจหน้าที่อย่างไร ใครสั่งการใคร ซึ่งเป็นไปตามสายงาน
๓. การจัดอัตรากำลัง (Staffing) หมายถึง การสรรหาบุคคลเข้าทำงานในองค์การตามตำแหน่งหน้าที่ที่กำหนดไว้ โดยใช้หลักการใช้คนให้เหมาะกับงาน (Put the right man on the right job) เพื่อให้ทุกคนทำงานตามความสามารถและเกิดประโยชน์ต่อองค์การ ซึ่งคล้ายคลึงกับสัปปุริสธรรม ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านสอนว่า คนมีหลายประเภทมีจริตแตกต่างกัน ต้องใช้คนให้เหมาะกับจริตของแต่ละคน (จริตก็คือนิสัย)
๔. การอำนวยการ (Directing) หมายถึง การกำกับ สั่งการและมอบหมายงานให้แต่ละฝ่ายหรือแต่ละงานนำไปปฏิบัติตามแผนหรือเป้าหมายที่วางไว้
๕. การประสานงาน (Coordinating) เป็นการติดตามฝ่ายหรืองานต่าง ๆ ว่าได้ดำเนินการถึงไหน มีปัญหาอุปสรรคเกิดขึ้นที่ใดเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ร่วมงานละทิ้งงานหรือทุจริตต่อหน้าที่ซึ่งเป็นไปตามหลักอปริหานิธรรมโดยผู้บริหารต้องหมั่นประชุมผู้ร่วมงาน
๖. การรายงาน (Reporting) เป็นการรายงานผลงานที่ได้ดำเนินการไปแล้วว่าประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด มีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง ซึ่งเป็นการควบคุมการทำงานอย่างมีหลักฐาน (การรายงาน) เพื่อการปรับปรุงงานให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นไปตามหลักอปริหานิยธรรม[๓]เช่นกัน
๗. การงบประมาณ (Budgeting) เป็นการจัดทำรายงานการใช้เงินในการดำเนินงานต่าง ๆ และรายงานเงินที่คงเหลือ เพื่อการวางแผนทางการเงิน (Fiscal Planning) และการควบคุมการใช้เงิน ซึ่งเป็นไปตามหลักจักขุมาและหลักวิธูโร

คุณลักษณะของนักบริหาร
นักบริหารจะทำหน้าที่ทั้ง ๗ ประการดังกล่าวได้สำเร็จ นักบริหารจะต้องเป็นผู้มีคุณลักษณะดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในทุติยปาปณิกสูตร[๔]ดังนี้
๑. จกฺขุมา หมายถึง ต้องมีปัญญามองการณ์ไกล ต้องเป็นผู้ฉลาดสามารถในการวางแผนและฉลาดในการใช้คนคุณลักษณะข้อนี้ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Conceptual Skill
๒. วิธูโร หมายถึง ต้องเป็นผู้มีความสามารถในการจัดการธุระต่าง ๆ หรือกิจการทั้งปวงได้ดีมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ข้อนี้ตรงกับคำว่า Technical Skill
๓. นิสฺสยสมฺปนฺโน หมายถึง เป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์ดีกับเพื่อนร่วมงาน และบุคคลอื่น ซึ่งเป็นทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์ ข้อนี้ตรงกับคำว่า Human Relation Skillคุณลักษณะทั้ง ๓ ประการนี้มีความสำคัญมากน้อยต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับความแตกต่างของนักบริหารถ้าเป็นนักบริหารระดับสูงต้องรับผิดชอบในการวางแผนแลควบคุมคนเป็นจำนวนมาก คุณลักษณะข้อที่ ๑ (จกฺขุมา) และข้อที่ ๓ (นิสฺสยสมฺปนฺโน) สำคัญมาก ส่วนข้อที่ ๒ (วิธูโร) มีความสำคัญน้อยลงมา เพราะผู้บริหารระดับสูงสามารถมอบหมายงานด้านเทคนิค หรือวิชาการให้ผู้ร่วมงานไปดำเนินการแทนได้ตามความสามารถและความเหมาะสมของผู้นั้นสำหรับผู้บริหารระดับกลาง คุณลักษณะทั้ง ๓ ข้อ (จกฺขุมา วิธูโรและนิสฺสยสมฺปนฺโน) มีความสำคัญเท่า ๆ กัน กล่าวคือ ผู้บริหารระดับกลางจะต้องมีความชำนาญเฉพาะด้าน และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้ร่วมงาน ในขณะเดียวกันก็ต้องมีปัญญาที่จะมองการณ์ไกลหรือการวางแผนงานในอนาคตและวางแผนตัวเองเพื่อที่จะเป็นผู้บริหารระดับสูงต่อไปสำหรับผู้บริหารระดับต้น จะต้องเป็นผู้มีคุณลักษณะข้อ ๒ (วิธูโร)และข้อ ๓ (นิสฺสยสมฺปนฺโน) เพราะต้องลงมือปฏิบัติงานร่วมกับผู้ร่วมงานหรือทีมงานอย่างใกล้ชิด แต่อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารระดับต้นจำเป็นต้องพัฒนาคุณลักษณะข้อ ๑ (จกฺขุมา) ไปด้วย ก็คือ การพัฒนาปัญญาเพื่อเตรียมพร้อมเลื่อนขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารระดับกลางต่อไปจากคุณลักษณะและทักษะของผู้บริหารระดับต่าง ๆ ตามที่ได้กล่าวถึงนั้น
หลักธรรมสำหรับการบริหาร
ในทางพระพุทธศาสนามีหลักธรรมที่เป็นข้อปฏิบัติสำหรับนักบริหารหรือนักปกครองที่มีอำนาจหน้าที่ในการปกครองหมู่คณะ บริหารกิจการของหมู่คณะหรือประเทศชาติไว้อย่างมากมาย เพื่อให้ผู้ปกครองหรือผู้บริหารนั้นได้ใช้อำนาจหน้าที่ เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง พระพุทธเจ้าทรงเน้นถึงความสำคัญของผู้ปกครองหรือผู้บริหารเป็นอย่างมากว่าจะต้องประพฤติให้เป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่นหรือผู้ใต้บังคับบัญชา ฉะนั้นหลักในการบริหารตามแนวพุทธศาสนาสามารถสรุปลงได้ ๓ ประการ คือ
๑. การบริหารตน เป็นหลักการที่ว่าผู้บริหารที่ดี ต้องสามารถบริหารควบคุมตนเองให้ดีเสียก่อน จึงจะสามารถบริหารคนอื่นได้ดี
๒. บริหารคน เมื่อผู้บริหารสามารถบริหารตนได้ดีแล้ว ก็จะพัฒนาไปสู่การบริหารบุคคลหรือผู้ใต้บังคับบัญชา
๓. บริหารงาน คนกับงานเป็นสิ่งที่คู่กัน ถ้านักบริหารสามารถจัดการกับตนเอง คนได้ดีก็จะนำไปสู่ความสำเร็จของการบริหารงานอย่างแน่นอนหลักธรรมสำคัญที่ผู้บริหารหรือผู้ที่เตรียมตัว เพื่อเป็นผู้บริหารควรจะพัฒนาทั้ง ๓ ด้าน คือ พัฒนาตน พัฒนาคน และพัฒนางาน เพราะการพัฒนาทั้ง ๓ ด้านนั้น จะสร้างความสุขให้แก่ตนเองและสังคม ทำอย่างไรจะพัฒนาได้ทั้ง ๓ ด้าน พระพิพิธธรรมสุนทร วัดสุทัศน์เทพวรารามได้นำเสนอหลักธรรมในการบริหาร ซึ่งจะทำให้การบริหารตน บริหารคนและบริหารงาน บรรลุความสำเร็จสมความประสงค์ไว้ ๑๑ ประการ คือ
๑. ส่งเสริมความรู้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนบริษัทของพระองค์ให้ทุกคนมีความรู้ การสอนคนนั้นต้องจัดทำเป็นบัว ๔เหล่า[๕] คือให้ความรู้ตามลักษณะภูมิปัญญา ดังนี้
๑.๑ บัวพ้นน้ำ (อุคฆติตัญญู) เป็นคนมีปัญญาเพียงยกหัวข้อธรรมะขึ้นแสดงก็บรรลุแล้ว หรือเพียงแต่ยกหัวข้อเรื่องก็เข้าใจแล้วไม่ต้องอธิบายมาก
๑.๒ บัวปริ่มน้ำ (วิปจิตัญญู) เมื่ออธิบายความหัวข้อนั้นก็บรรลุแล้ว
๑.๓ บัวใต้น้ำ (เนยยะ) ต้องอธิบายเนื้อหาให้ละเอียดก็เข้าใจ สามารถแนะนำให้เป็นคนดีได 
๑.๔ บัวใต้น้ำ (ปทปรมะ) อธิบายอย่างไรก็ไม่เข้าใจก็ต้องปล่อยเขาไป ให้เลิกสั่งสอนผู้บริหารคนใดที่พัฒนาแต่ความรู้ของตนเอง โดยไม่พัฒนาความรู้ของผู้ใต้บังคับบัญชาและผู้อยู่ในความปกครอง ย่อมไปไม่รอด เหมือนมีแต่สมอง แต่อวัยวะทุกส่วนเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต การทำงานย่อมสำเร็จได้ยาก
๒. อยู่อย่างเสียสละ ผู้บริหารต้องรู้สึกเสียสละให้กับลูกน้อง เช่นต้องมีสังคหวัตถุ ๔[๖] คือ ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา และสมานัตตตา
๒.๑ ทาน โดยการเอื้อเฟื้อเจือจานแก่ลูกน้องด้วยวัตถุมากน้อยตามแต่สถานการณ์
๒.๒ ปิยวาจา โดยการพูดจากับลูกน้องให้ถูกใจ ผูกจิตผูกใจรัดรึงดึงใจไว้ถูกสถานการณ์และถูกกับอารมณ์ของคน (ปิยวาจานี้ไม่จำเป็นต้องพูดครับพูดขาเสมอไป มึงกูก็ได้ แต่ต้องตรงกับคนและสถานการณ์ และ
ที่สำคัญต้องมีเจตนาที่ดี)
๒.๓ อัตถจริยา โดยการลงไปบำเพ็ญประโยชน์ร่วมกับผู้น้อยโดยไม่เกี่ยงงอน เช่น ประธานงานศพ งานสวด งานบวช งานแต่งงานไปเยี่ยมยามป่วย ถามข่าว ให้ชื่อ สกุลของเราไปร่วมในงานของลูกน้อง
๒.๔ สมานัตตตา โดยการวางตนสม่ำเสมอการเสียสละกำลังกาย กำลังใจ กำลังความรู้ กำลังความคิด และกำลังทรัพย์เรียกว่าร่วมด้วยช่วยกันในฐานะผู้บริหารและผู้ร่วมงานควรจะมีการเสียสละทั้งสองฝ่ายจึงจะเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด
๓. กระจายตำแหน่งงาน อำนาจของงานนั้นไม่ใช่อยู่ที่รวมอำนาจผู้บริหารหลายคนประสบความล้มเหลว เพราะไม่ยอมแบ่งอำนาจลงไปการกระจายอำนาจภารกิจ เป็นสิ่งจำเป็นในการบริหารนโยบายแบบTQC ก็เน้นการกระจายนโยบาย (Policy Deployment) โดยการกระจายงาน กระจายอำนาจ และกระจายภารกิจ การไม่กระจายงานทำให้งานไม่ทัน เพราะมีงานมาก ต้องใช้หลาย ๆ คนช่วยกันและทำงานเป็นทีมลองมาพิจารณาต้นไม้ ต้นไม้ มีลำต้น มีราก มีกิ่งก้านสาขา และมีหน้าที่ต่างกัน และสร้างความสมดุลด้วย มิเช่นนั้นต้นจะเอียงจะล้มในที่สุดสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงกระจายตำแหน่งงานมี ๘๐ พระอรหันต์เอก เรียกว่า เอตทัคคะ หรือ อสีติมหาสาวก ที่มีความเป็นเลิศในด้านต่าง ๆ เช่น พระโมคคัลลานะ ทรงยกย่องว่ามีฤทธิ์เสมอด้วยพระองค์พระสารีบุตร ทรงยกย่องว่ามีปัญญาเสมอด้วยพระองค์ จำไว้เสมอว่า “งานกระจุก ผู้บริหารตาย งานกระจาย ผู้บริหารรอด"
๔. ประสานสามัคคี งานทุกอย่างทุกชนิดมีปัญหาด้านการทะเลาะเบาะแว้ง แก่งแย่งชิงดี และมีความเข้าใจ คลาดเคลื่อนผู้บริหารที่ดีต้องประสานสามัคคีให้ได้ การประสานสามัคคีนั้นผู้บริหารที่ใหญ่ที่สุด ต้องประชุมโต๊ะกลม ต้องมีใจกล้า เผชิญหน้ากล้าเรียกประชุมก่อนการประชุมต้องหาข้อมูลจากแต่ละคนก่อน เพื่อหาเหตุที่ถูกต้องไม่ฟังความข้างเดียว แล้วนำมาตัดสิน ไม่ควรไล่โทษกัน หรือไล่บี้กัน จะสร้างความขัดแย้งบางท่านอาจเคยอ่านหนังสือ “การบริหารความขัดแย้ง” ก็พอจะเข้าใจปัญหาได้ดี การบริหารแบบไทย ๆ ที่ผิดพลาดคือ จับผิดและลงโทษทำให้ขาดการประสานสามัคคี ไม่ค่อยปรับความเข้าใจซึ่งกันและกันแต่ชอบปรับทุกข์กัน ปรับโทษกัน การบริหารอย่างมีแต่ล้มเหลวในที่สุด เพราะจะเกิดอาการ “คนแตกความสามัคคี" เพราะฉะนั้นควรระลึกไว้ว่าความพร้อมเพรียงของหมู่คณะในหน่วยงานนั้น ๆ ให้สำเร็จประโยชน์ได้ดังใจปรารถนา
๕. ไม่เอาดีแต่เพียงตัว คือ ไม่เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่ผู้อื่น เหยียบย่ำผู้อื่น แล้วเอาความดีมาใส่ตัวคนเดียว ย่อมเป็นไปไม่ได้ การบริหารที่ประสบความสำเร็จนั้นจะเกิดจากทีมงาน ดังนั้นการบริหารงานจะต้องช่วยกันต้องมีการยกย่องให้กำลังใจ มีการมอบของขวัญรางวัลให้เกียรติกัน ยกย่องเชิดชูแม้ผู้บริหารไม่มีอะไรจะให้ก็หัดพูดคำว่า “ขอบคุณ”ให้มันติดปากลูกน้องก็จะดีใจ ผู้บริหารยกย่องลูกน้อง ลูกน้องก็มีส่วนเกื้อกูลผู้บริหาร ศรัทธาผู้บริหาร ทำให้ผู้บริหารดูดีขึ้นไม่ได้ตกต่ำแต่อย่างใด ในการกล่าวคำว่า “ขอบคุณ" กับลูกน้อง
๖. ไม่เมาเรื่องเงิน “เขาให้เงินก็อย่า งง อย่าไปหลงจนสุดขีด เงินก็เหมือนพวงมาลัย อาจจะกลายเป็นพวงหรีด”เราจะต้องพิจารณาว่าเงินเป็นเพียงปัจจัยอย่างหนึ่งที่จะทำให้เกิดปัจจัย ๔ คือ ข้าว ผ้า ยา บ้าน เงินเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความสะดวก การบริหารงานถ้าผู้บริหารเห็นแก่เงินก็จะใช้พนักงานอย่างทาส เอาเปรียบลูกน้อง หรือกินใช้จ่ายจนเพลิดเพลินเจริญใจ คนระดับล่าง ระดับปฏิบัติการก็อย่าโลภเงินจนถึงกับโกงเงินบริษัท พระพุทธเจ้าเสด็จไปพบถุงใส่เงิน ยังตรัสกับพระอานนท์ว่า นั้นเป็นงูเห่า เป็นอสรพิษที่จะกัดคนเสมอ การจะทำอะไรก็ตามต้องระวังเรื่องเงิน
๗. ไม่ใหญ่เกินผู้บังคับบัญชา ผู้บังคับบัญชาคือ นายจ้างของเราเราคือลูกน้องของท่าน บางคนชอบแอบอ้างนายไปหากินทางทุจริตหรือไปอ้างกับคนอื่น เพื่อจะได้อะไรบางอย่าง เลขาบางคนซึ่งใกล้ชิดผู้บังคับบัญชา มักทำตัวใหญ่เกินผู้บังคับบัญชา พระอานนท์เถระใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้ามากที่สุด พระอานนท์ขอพรจากพระพุทธเจ้า คือ ขออย่าให้รับเข้านิมนต์ ขออย่าส่งไปในที่นิมนต์ ขออย่าให้อะไรกับท่านเป็นพิเศษ เป็นต้นท่านปฏิบัติงานไม่ใหญ่เกินผู้บังคับบัญชา และมีความอ่อนน้อมถ่อมตน
๘. ตั้งเมตตาไว้เป็นนิจ ผู้บริหารต้องมีเมตตาต่อผู้ใต้ปกครอง ผู้ใต้ปกครองต้องมีเมตตาต่อผู้บังคับบัญชา คำว่า “เมตตา" นี้ อาจตีความหมายถึง ความรัก ความเคารพ ความนับถือ การบูชา การเทิดทูน จนถึงความจงรักภักดี เทิดทูนเหนือเศียรเกล้า ผู้บริหารควรมีหลัก ๓ ประการในเรื่องความเมตตา คือ มือเอื้อม ปากอ้า และหน้ายิ้ม
มือเอื้อม คือ เอื้อมไปแตะไปจับผู้ใต้ปกครองเป็นลักษณะอาการทางกายที่สร้างความเป็นกันเองเป็นห่วงเป็นใย แต่ต้องระวังอย่าให้เป็นการกระทำอนาจารต่อลูกน้อง
ปากอ้า คือ เป่า ปลอบ ปลุก เป็นลักษณะทางวาจาในการให้กำลังใจลูกน้องทางวาจา
หน้ายิ้ม คือการให้กำลังใจเป็นเรื่องของใจที่แสดงออกทางใบหน้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ทรงปฏิบัติอย่างนี้ต่อพระสงฆ์ต่อพุทธบริษัทของพระองค์เช่นเดียวกัน ส่วนผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาก็ต้องไปเยี่ยมเยือนถามข่าว หมอบราบกราบไหว้ต่อผู้บังคับบัญชาบ้าง เราทุกคนจะอยู่ได้อย่างมีความสุข
๙. ใครทำผิดต้องเด็ดขาด ผู้บริหารงานต้องใจเพชรเด็ดขาด ผู้ใต้บังคับบัญชาจึงจะยอมรับกฎเกณฑ์ ผู้บริหารต้องเดินทางสายกลาง คือ ใช้ทั้งพระเดชพระคุณใครทำดีต้องให้รางวัล ใครทำชั่วต้องลงโทษ ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า นิคฺคณฺเห นิคฺคหารหํ กำราบคนที่ควรกำราบ ปคฺคณฺเห ปคฺคหารหํ ยกย่องคนที่ควรยกย่อง[๗]
๑๐. ไม่ประมาทมัวเมา สิ่งที่ไม่ควรประมาทมีการทำงาน ร่างกายที่แข็งแรงของเรา ความรู้ของเราที่มีอยู่ในขณะนี้ บริษัทจะยั่งยืนตลอดไปโรคภัยไข้เจ็บ อุบัติเหตุ เงินทองที่มีอยู่ในขณะนี้ คู่แข่งทางการค้า ความไม่ประมาทในการบริหารงานนั้นจะต้องแข่งขันกับเวลา แข่งขันกับบุคคลและแข่งขันกับพื้นฐานของการพัฒนาและสามัคคี
๑๑. ประมาณตัวทุกเวลา คือ การรู้จักประมาณตน ประมาณการและประมาณสถานการณ์นั่นเอง การประมาณในธุรกิจ เช่น บริษัทเรามีคนครบหรือไม่ แต่ละคนมีความรู้ครบไหม เงินทุนครบไหม คู่แข่งเป็นอย่างไรเป็นต้น และที่สำคัญผู้บริหารต้องประมาณเหตุการณ์ประมาณสถานการณ์ด้วย ดังนั้น จำเป็นต้องมีการประชุมกัน “เอาความคิดมารวมกัน”ดูตัวเอง บริษัทที่เราทำธุรกิจอยู่ หน้าที่การงานที่ทำอยู่ ต้องประชุมวิเคราะห์สถานการณ์เสมอ ๆ เมื่อวิเคราะห์แล้วฟังเหตุฟังผลหาเหตุรากเหง้า แล้วตัดสินใจแก้ไขปัญหาและหาทางปรับปรุงพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นต่อไปพุทธวิธีในการบริหารที่กล่าวมานั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการนำพุทธธรรมมาประยุกต์ใช้ในการบริหารตน บริหารคน และบริหารงาน แต่ก็ถือว่าเป็นทฤษฎีที่ท้าท้ายต่อนักบริหาร และผู้ที่เตรียมตัวจะเป็นนักบริหาร
ดังนั้น ถ้าท่านคิดว่าทฤษฎีที่นำเสนอมาทั้งหมด จะทำให้การบริหารนั้นประสบความสำเร็จแล้วไซร้ ท่านจะต้องลงมือปฏิบัติด้วยเพราะหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าประกาศไว้ดีแล้วนั้น รอการพิสูจน์จากท่านทั้งหลาย เมื่อใดที่ท่านลงมือปฏิบัติได้แล้ว เมื่อนั้น ท่านจะเป็นผู้บริหารที่ดีที่สุด เพราะจะได้หัวใจของผู้ตาม เพราะผู้มีธรรมอยู่ในหัวใจย่อมเป็นศูนย์รวมใจของคนร่วมงานและสามารถจัดการให้งานในหน้าที่สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

FAME is a vapour
POPULARITY an accident
RICHES take wings
Those who cheer to-day
Will curse to-morrow
One thing endures
CHARACTER
ชื่อเสียงนั้นอันตรธานได้เหมือนไอน้ำ
สูงแล้วต่ำร่ำกันไปในสรรเสริญ
คนนิยมชมเปาะเพราะบังเอิญ
สมบัติเหินสิ้นไปได้เหมือนบิน
บางคนชมเราไว้ในวันนี้
รุ่งอีกทีสบประมาทสาดเสียสิ้น
จะชั่วดีมีไว้ให้อาจิณ
คือ ถวิล คุณธรรมประจำใจ

บรรณานุกรม
กรมการศาสนา, กระทรวงศึกษาธิการ.พระไตรปิฎกฉบับหลวง.เล่มที่ ๑๐, ๑๑, ๑๒, ๒๑,๒๒,๒๗,๓๔. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา.๒๕๒๕.
กิติ ตยัคคานนท์. นักบริหารทันสมัย. พิมพ์ครั้งที่ ๕. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์บัตเตอรฟ์ลาย.๒๕๓๘.
ชนุตรา อิทธิธรรมวินิจ.การบริหารงานด้วยหลักธรรม.เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่อง วิสัยทัศน์การศึกษาศาสนาในศตวรรษหน้า จัดโดยบัณฑิตศึกษา สาขาศาสนาเปรียบเทียบ มหาวิทยาลัยมหิดล.๒๕๔๐.
พระเมธีธรรมาภรณ์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต).คุณธรรมสำหรับนักบริหาร.พิมพ์ครั้งที่ ๒.กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มูลนิธิพุทธธรรม.๒๕๔๑.
สร้อยตระกูล (ติวยานนท์) อรรถมานะ.สาธารณบริหารศาสตร์.พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพ ฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร.๒๕๔๐.
โอสถ โกศิน. ๒๕๓๖. ธรรมนูญแห่งชีวิต. กรุงเทพฯ : หอรัตนชัยการพิมพ์.
Dale, Earnest. Management : Theory and Practice.New York : McGraw-Hill Book Company. ๑๙๖๕.
http://budmgt.topcities.com/budman/bm๐๑/principle.html
[๑] ม.ม. ๑๒ / ๙๕ /๔๙
[๒] ที.ม. ๑๐/ ๙๓ /๘๖
[๓] อปริหานิยธรรม คือธรรมอันเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อม ๗ ประการ รายละเอียดศึกษาได้ที่ องฺ สตฺตก. ๒๓/ ๑๕
[๔] องฺ ติก. ๒๐/ ๔๕๘/ ๑๓๓-๑๓๔
[๕] องฺ.จตุกฺ ๒๑/ ๑๘๓/ ๑๓๓
[๖] องฺ.จตุกฺ ๒๑/ ๔๒/ ๓๒
[๗] เตสกุณชาดก. ๓๔/ ๒๔๒๒/ ๓๔๗