วันเสาร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2551

ปรัชญาชีวิตตามพระสุตตันตปิฎก

ปรัชญาชีวิตเรื่องชีวิต ความรู้ ความจริง ความดีและความงาม
ความนำ
ในการดำเนินชีวิตตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นมีรูปแบบที่ดีมีความสัมพันธ์สอดคล้องกับธรรมชาติ เพราะคำสอนนั้นจะเน้นเรื่องของชีวิตที่เกี่ยวโยงกับความรู้ ความจริงซึ่งเป็นพื้นฐานของความดี และความดีนั้นเองจะเป็นลักษณะที่สะท้อนของความจริงเป็นเรื่องของคุณค่า และกลายเป็นผลของงามซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความดี ความจริง สิ่งเหล่านี้เป็นสาระสำคัญของการดำเนินชีวิตตามพุทธธรรมที่ปรากฏในพระสุตตันตปิฏก ธรรมะนั้นตามหลักความจริงแล้ว พระพุทธเจ้าจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ตาม ความจริงที่เรียกว่า ธาตุ เป็นกฎธรรมชาติที่มีอยู่แล้ว คือหลักไตรลักษณ์ ที่ว่าด้วยภาวะของสรรพสิ่งที่ถูกปรุงแต่งแล้วเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปตามเหตุปัจจัย เมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริงนั้น จึงนำมาเปิดเผยด้วยการบอกกล่าว แสดง จำแนก ให้เข้าใจได้โดยง่ายว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ทรงแสดงปัจจัยแห่งการเกิดทุกข์และการดับทุกข์ พร้อมทั้งอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นปฏิปทาเครื่องดำเนินไปสู่ความดับทุกข์เป็นการประกาศพระธรรมด้วยทศพลญาณ คือกำลัง ๑๐ ประการที่ทำให้พระพุทธองค์ทรงมั่นพระทัยยืนยันฐานะการบรรลุธรรมสูงสุด
ชีวิตในพุทธปรัชญา
ชีวิตคืออะไร พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน [๑]ให้คำนิยามว่า ชีวิต คือความเป็นอยู่ตรงข้ามกับความตาย ในอรรถกถาพระวินัยอธิบายว่า ภวนติ อาหุวนฺติ จาติ ภูตา . ชายนฺติ วฑฺฒนฺติ ชาตา วฑฺฒิตา วาติ อตฺโถ[๒] มีใจความว่าเพราะเกิด และเจริญเติบโตจึงชื่อว่าเป็นคือชีวิตจึงกล่าวได้ว่าชีวิตคือสิ่งที่มีการเกิด การเจริญเติบโต
ในคำสอนทางพระพุทธศาสนาได้แบ่งชีวิตเป็น ๒ ระดับคือ สิ่งมีชีวิตที่มีจิต อันได้แก่สัตว์ทั้งหลาย ตั้งแต่พรหม เทวดา มนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย สัตว์นรก และสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีจิต อันได้แก่พวกภูตคามหรือพีชคามทั้งหลาย ในที่นี้จะพูดถึงชีวิตของมนุษย์เท่านั้น กรณีชีวิตมนุษย์นั้นในธาตุวิภังคสูตรแสดงไว้ว่า ชีวิตประกอบไปด้วยธาตุ ๖ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาสธาตุ และวิญญาณธาตุ[๓] กล่าวโดยสรุปคือ รูปที่เรียก สสาร และนามที่เรียกว่า อสสาร ชีวิตเกิดขึ้นเพราะอาศัยองค์ประกอบ ๓ คือ มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน มารดามีระดู และมีสัตว์คือวิญญาณหรือจิตมาปฏิสนธิจึงก่อให้เกิดเป็นชีวิตขึ้นมาได้ จะเห็นได้ว่าชีวิตในทางพระพุทธศาสนานั้นไม่ได้เกิดจากการสร้างของพระเจ้าหรือเทพเจ้าอย่างที่ศาสนาที่เป็นเทวนิยมทั้งหลายสอนไว้ แต่เกิดจากกระบวนการของธรรมชาติ หรือเหตุปัจจัยนั่นเอง ชีวิตเมื่อเกิดมาแล้วจะมีความต้องการพื้นฐานเหมือนกันดังในเวฬุทวารสูตร [๔] คือ อยากมีชีวิตอยู่ (ชีวิตุกามะ) อยากไม่ตายหรือไม่อยากตาย (อมริตุกามะ) อยากมีความสุขหรือต้องการสุข ( สุขกามะ) และ รังเกียจความสุขหรือไม่ต้องการทุกข์ อาจกล่าวได้ว่าทุกชีวิตไม่ว่าคน สัตว์ พืช ล้วนรักสุขเกลียดทุกข์ อยากอยู่ไม่อยากตาย
ความรู้
เมื่อมีชีวิตอยู่แล้วอยู่ไปเพื่ออะไร อาจจะตอบได้ว่าเพื่อพัฒนาตนเอง เพื่อพัฒนาความรู้ เพื่อการทำความดี หรือเพื่อค้นหาความจริง แต่ทางพระพุทธศาสนาสรุปว่า ชีวิตที่ดีที่ประเสริฐนั้นต้องอยู่ด้วยปัญญา [๕] ก็จะเกี่ยวโยงกับความรู้ที่มาของความรู้หรือเรียกว่าญาณวิทยาหรือญาณปรัชญา มนุษย์จำเป็นต้องพัฒนาเรื่องของความรู้ ปัญญา เพื่อการพัฒนาชีวิตทั้งร่างกายและจิตใจ เครื่องมือในการแสวงหาความรู้สำหรับมนุษย์ก็คือสิ่งที่อยู่ภายในตนที่เรียกว่าประสาทสัมผัสทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ทำหน้าที่ในการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบ การทำหน้าที่ใน ๕ ส่วนนี้ก็จะส่งไปยังประสาทสัมผัสที่ ๖ คือ ใจจะทำหน้าที่รู้สึก(แยกแยะ) รู้จำ(จัดเก็บ) รู้คิด(ผสมผสาน)และรู้แจ้ง รู้ชัด ( ใช้งาน) ความรู้ที่ได้จากการรับรู้ทางอายตนะเหล่านี้ยังไม่เป็นความรู้อย่างแท้จริง แต่เรียกว่าเป็นการรับรู้เท่านั้น เพราะว่าการรับรู้เหล่านั้นเป็นความรู้ที่กระจัดกระจาย ยังไม่จัดให้เป็นระบบ ส่วนความรู้ที่แท้จริงหรือความรู้ที่เป็นระบบนั้นพระพุทธศาสนาได้แสดงว่าเกิดขึ้นจาก ๓ แหล่งหรือ ๓ วิธีด้วยกันคือ[๖]
๑. สุตะ คือการฟัง หมายถึงกระบวนการศึกษาหรือการเรียนรู้ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนี้ก็อาศัยกระบวนการรับรู้ของอายตนะนั่นเองในการเรียนรู้ หรือศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ แต่มิใช่เป็นเพียงการรับรู้ แต่มีการเรียนรู้สิ่งที่รับรู้นั้นอย่างเป็นระบบดังที่ท่านแสดงไว้ว่า “พหุสฺสุโต สุตธโร สุตสนฺนิจโย” [๗] ความว่า “ฟังมาก ทรงจำสิ่งที่ฟังได้ สั่งสมสิ่งที่ได้ฟังนั้นไว้” ซึ่งหมายความว่าต้องมีการเรียนรู้แล้วจดจำไว้และจดจำไว้อย่างเป็นระบบนั่นเอง ฉะนั้น ความรู้ในระดับนี้จึงมีลักษณะเป็นการรู้จำ หรือรู้แล้วจำไว้ (สัญญา) เรียกว่า สุตมยปัญญา
๒. จินตา คือการคิด หมายถึงกระบวนการของการคิดหรือการใช้เหตุผลเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องมาจากสุตะนั่นเอง ซึ่งหมายความว่าการเรียนรู้ในระดับนี้ไม่หยุดอยู่แค่จำสิ่งที่เรียนรู้ไว้เท่านั้น แต่นำเอาสิ่งที่จำไว้นั้นเข้ามากระบวนการคิดหรือการใช้เหตุผลอีกทีหนึ่งเพื่อให้เกิดความเข้าใจหรือรู้ความหมายของสิ่งนั้นชัดเจนยิ่งขึ้น ดังที่ท่านแสดงไว้ว่า “ พหุสฺสุตา ธตา วจสา มนสานุปฺขิตา ทิฎฐิยา สุปฺปฏิวิทฺธา” [๘] ความว่า “ ฟังมาก จำได้คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยทิฏฐิ (คือเข้าใจทะลุปรุโปร่ง)” ความรู้ในระดับนี้จึงมิใช่เพียงจำได้เท่านั้น แต่มีความเข้าใจในสิ่งที่จำได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ความรู้ในระดับนี้เป็นความรู้ที่ละเอียดอ่อนหรือประณีตขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งและความรู้ลักษณะนี้จะประมวลไว้ในจิตในแบบที่เรียกว่าทิฏฐิ (ความเข้าใจ, ความเห็น, ความเชื่อ) เรียกว่า จินตามยปัญญา
๓. ภาวนา คือการให้มีขึ้น หรือการพัฒนา หมายถึง กระบวนการของการพัฒนาจิตหรืออบรมจิตเพื่อทำจิตให้สงบนิ่ง พร้อมทั้งกำจัดหรือขับไล่สิ่งที่ทำให้จิตเศร้าหมองคือ กิเลสออกไปจากจิต จิตก็สงบใสบริสุทธิ์ ปัญญาญาณหรือความสามารถในการหยั่งรู้ก็เกิดขึ้น ความรู้ที่ได้จากญาณนี้ พระพุทธศาสนาถือว่าเป็นความรู้ที่ถูกต้องหรือตรงตามความเป็นจริง เพราะการรู้ด้วยญาณนั้น พระพุทธศาสนาถือว่าเป็น การรู้สิ่งนั้น ๆ ตามที่เป็นจริง ดังพุทธพจน์ว่า สมาหิเต จิตฺเต ธมฺมา ปาตุภวนฺติ[๙] ความว่า เมื่อจิตเป็นสมาธิ ความจริงย่อมปรากฏ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ยถาภูตญาณทัสสนะ แปลว่า เห็นด้วยญาณตามเป็นจริง ความรู้ในระดับนี้เป็นความรู้ที่ไม่ขึ้นอยู่กับตัวกลางหรือสื่อใด ๆ แต่เป็นการรู้ตรงของจิต มีลักษณะเป็นการหยั่งรู้(ญาณ) หรือเป็นความรู้ระดับเหนือประสบการณ์และเหนือเหตุผล เรียกว่า ภาวนามยปัญญา
ในความรู้ทั้ง ๓ คือ ความรู้ระดับสุตะ และจินตาเป็นความรู้ขั้นสามัญ ส่วนความรู้จากภาวนา เป็นความรู้ขั้นวิสามัญ หรือเหนือธรรมดา ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า อภิญญา ความรู้ทั้งสองนี้จะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อนำความรู้ไปเพื่อช่วยเหลือตนเองหรือป้องกันตนเองได้ที่เรียกว่านิปกปัญญา หรือ เนปักกปัญญา คือ ปัญญารักษาตนหรือรักษาตัวรอด[๑๐] ความรู้ที่มีคุณค่าต่อชีวิตคือรู้ว่าอะไรดี รู้ว่าอะไรชั่ว และรู้วิธีที่จะช่วยให้ทำดีเว้นชั่วได้อย่างสมบูรณ์ แต่ความรู้ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นก็ยังถือว่าไม่ใช่สุดยอดแห่งความรู้ทางพระพุทธศาสนา เพราะสุดยอดของความรู้ก็คือ ความรู้ที่ทำให้สิ้นทุกข์ดังพุทธพจน์ที่ว่า “พรหมจรรย์นี้...มิใช่มีความถึงพร้อมแห่งสมาธิเป็นอานิสงส์.....มิใช่มีความถึงพร้อมแห่งญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์... (แต่) มีเจโตวิมุติอันไม่กำเริบเป็นประโยชน์เป็นสาระเป็นผลสุดท้าย”[๑๑] และอีกพระสูตรหนึ่งกล่าวไว้ตรง ๆ ว่า “ ปรมา อริยา ปญฺญา ยทิทํ สพฺพทุกฺขขเย ญาณํ”[๑๒] แปลว่า สุดยอดของปัญญาคือ ความรู้ในความสิ้นทุกข์
เพราะฉะนั้น ในการใช้ชีวิตเพื่อแสวงหาความรู้ในทางพระพุทธศาสนานั้นจะต้องเป็นความรู้ที่แท้จริงคือความรู้ที่ถูกต้อง แท้จริงถูกต้องอย่างไร คือเมื่อความรู้เกิดขึ้นความชั่วต้องลดลงหรือรู้มากเท่าไรความชั่วยิ่งลดลงเท่านั้น ถ้าเป็นไปได้ต้องรู้ถึงขั้นขจัดทุกข์ที่เป็นต้นตอของปัญหาได้คือ การเกิด แก่ และตาย นั้นคือสุดยอดของความรู้ที่มนุษย์ควรแสวงหาในหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา
ความจริง
เมื่อชีวิตมีความรู้ที่ดี ถูกต้องแล้วก็ต้องรู้มากขึ้น รู้อะไร รู้ความจริง ความจริงในทางพระพุทธศาสนานั้นเราเรียกว่าอริยสัจ คือความจริงอันประเสริฐ สามารถทำให้ผู้รู้เป็นผู้ประเสริฐที่เรียกว่าเป็นพระอริยบุคคลนั่นเอง ความจริงในอริยสัจ ๔ นั้นกล่าวโดยสรุปแล้วคือการรู้ความจริง ๒ ประการคือความจริงเกี่ยวกับทุกข์ และความจริงเกี่ยวกับการดับทุกข์ หรือถ้าให้สั้นกว่านั้นคือการรู้ความจริงเกี่ยวกับขันธ์ ๕ ที่เป็นนามรูป ว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์และ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา[๑๓] การรู้ความจริงในพุทธปรัชญาจะเน้นเรื่องการรู้ภายในคือเรื่องของขันธ์ ๕ และจะไม่ให้ความสำคัญกับความรู้ภายนอก เช่นเรื่องโลก จักรวาล เป็นต้น เพราะไม่ใช่เป้าหมายของความรู้คือ ความรู้เหล่านั้นไม่อาจนำมนุษย์พ้นทุกข์ได้
ความดี
การรู้ความจริงนั้นเป็นพื้นฐานของความดี ความดีคืออะไร ในพระพุทธศาสนามีคำที่ใช้เรียกหรือใช้แทนที่หมายถึงความดีหลายคำ คือ บุญ กุศล ธัมมจริยา สมจริยา สุจริต กรณียะ[๑๔] คำเหล่านี้ในความหมายรวมหมายถึงความดี ความดีอาจแบ่งได้ ๒ ลักษณะ[๑๕]คือ ความดีในเชิงเหตุได้แก่คุณธรรมและการกระทำที่ดีทั้งหลายซึ่งเป็นเหตุให้ได้มาซึ่งผลดีหรือผลที่ดี ความดีส่วนนี้อาจเรียกว่า เป็นความดีเชิงอุปกรณ์ และความดีเชิงผล ได้แก่วิบาก หรือผลดีที่เกิดจากการประพฤติธรรมหรือการทำดีในลักษณะต่าง ๆ การทำความดีอาจแบ่งเป็น ๓ ระดับคือ ความดีขั้นต้น ความดีขั้นกลาง และความดีขั้นสูง

ความงาม
ความดีทั้งสามขั้นนี้จะเกี่ยวโยงกับความงามในทางพระพุทธศาสนาด้วย เพราะว่า พระพุทธเจ้าทรงประทานวิธีการประกาศพระศาสนาที่เรียกว่า พรหมจรรย์ แก่พระอรหันต์ ๖๐ องค์ ก็เน้นเรื่องความดีและความงาม งามอย่างไร ในพระพุทธพจน์ที่ตรัสว่าจงประกาศพรหมจรรย์ซึ่งงามในเบื้องต้น (อาทิกลฺยาณํ) งามในท่ามกลาง (มชฺเฌฺกลฺยาณํ) และงามในที่สุด (ปริโยสานกลฺยาณํ) ความดีหรือความงามในเบื้องต้นได้แก่ความดีระดับวัตถุด้วยการมีทรัพย์สมบัติ และมีเบญจศีลซึ่งถือว่าเป็นคนดีคนงาม ที่เรียกว่า ดีแบบปุถุชน ความดีหรือความงามในท่ามกลางได้แก่การมีศีลมีธรรม มีสมาธิที่ช่วยแก้ปัญหาชีวิตได้ในระดับหนึ่งคนดีระดับนี้อาจเรียกว่า กัลยาณชน ความดีหรือความงามในที่สุด ได้แก่ความดีความงามที่เกิดจากการพัฒนาชีวิตมีศีล สมาธิ ปัญญา ดำเนินตามทางสายกลางที่เป็นส่วนเหตุทำให้ผู้นั้นสามารถทำลายกิเลสตามระดับต่าง ๆ (สังโยชน์ ๑๐)[๑๖] จนทำให้ผู้นั้นกลายเป็นคนดีคนงามที่เรียกว่า อารยชน หรือ อริยบุคคล ความงามที่แสดงออกผ่านคนดีแสดงให้เห็นว่า ความงามเป็นการปรากฏของความดีนั่นเอง




สรุป
แนวคิดในการดำเนินชีวิตตามคำสอนทางพระพุทธศาสนาต้องพัฒนาความรู้ที่สามารถลดละหรือกำจัดกิเลสความชั่ว หรือที่เรียกว่า รู้เพื่อทำดีและรู้เพื่อละชั่ว ความรู้ที่ต้องค้นหาศึกษาคือเรื่องของความจริงที่เกี่ยวกับตนเอง ศึกษาเรื่องภายในตนเป็นความจริงที่นำไปสู่ความดีที่เป็นส่วนเหตุคือกุศลกรรม การทำความดี และจะได้รับผลที่ เรียกว่า กุศลวิบาก เมื่อทำความดีและได้รับผลของความดีจะทำให้เกิดความงามที่เป็นปรากฏการณ์ของการทำความดี งามทั้งภายใน ที่เรียกว่าคุณงามความดี งามทั้งภายนอก ที่เรียกว่างามด้วยกิริยาท่าทาง จะเห็นได้ว่าเรื่องของชีวิต ความรู้ ความจริง ความดี และความงามเป็นความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในฐานะเป็นปรัชญาชีวิตซึ่งจะก่อให้เกิดความดีความงามแก่ชีวิตตามสมควรแก่การประพฤติปฏิบัติต่อไป
[๑] ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ (กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์พับบิเคชั่นส์, ๒๕๔๖), หน้า ๓๖๖.
[๒] สมนฺต. ทุติย. ๓๕๔.
[๓] ๑๔/ ๖๗๙ /๔๓๖.
[๔] สํ. มหา. ๑๙/ ๑๔๕๙/ ๔๔๓.
[๕] สํ. สคา. ๑๕/ ๒๐๓ /๕๘.
[๖] สุเชาวน์ พลอยชุม, พุทธปรัชญาในสุตตันตปิฎก (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ๒๕๕๑), หน้า ๑๐๗-๑๑๐.
[๗] อํ. ปญฺจก. ๒๒/ ๘๗ /๑๒๙.
[๘] อํ. ปญฺจก. ๒๒/ ๘๗ /๑๒๙.
[๙] สํ. ส ฬา . ๑๘ /๑๔๔/ ๙๘.
[๑๐] ขุ.มหา.๒๙/๙๒๑/๕๘๗; อภิ.วิ. ๓๕/๕๙๙/๓๒๘;๓๕/๑๑๐๗/๕๗๒.
[๑๑] ม.มู ๑๒/๓๕๒/๓๗๓.
[๑๒] ม.อุ.๑๔/๖๙๒/๔๔๕.
[๑๓] อํ ติก. ๒๐/๓๖๘/๕๗๖.
[๑๔] อํ. ทุก. ๒๐/๒๖๒-๒๖๕/๗๑.
[๑๕] สุเชาวน์ พลอยชุม, พุทธปรัชญาในสุตตันตปิฎก (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ๒๕๕๑) , หน้า ๑๖๗.

[๑๖] สังโยชน์ ๑๐ คือกิเลสอันผูกใจสัตว์,ธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์หรือผูกกรรมไว้กรรมผล ได้แก่ สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวของตน วิจิกิจฉา ความสงสัยความลังเลไม่แน่ใจ สีลัพพตปรามาส ความถือมั่นศีลพรตโดยสักว่าทำตาม ๆ กันไปอย่างงมงายเห็นว่าจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ด้วยเพียงศีลและวัตร กามราคะ ความกำหนัดในกาม, ความติดใจในกามคุณ ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งในใจ, ความงดหงิดขัดเคือง รูปราคะ ความติดใจในอารมณ์แห่งรูปฌานหรือในรูปธรรมอันประณีต , ความปรารถนาในรูปภพ อรูปราคะ ความติดใจในอารมณ์แห่งอรูปฌานหรือในอรูปธรรม,ความปรารถนาในอรูปภพ มานะ ความสำคัญตนคือถือตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่ อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน และ อวิชชา ความไม่รู้จริง,ความหลง (พระเทพเวที(ประยุทธ์ ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลธรรม ( พิมพ์ครั้งที่ ๗ , กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,๒๕๓๕) หน้า๒๘๙-๒๙๐.

ศาสตร์การตีความแนวพุทธศาสน์

อวณฺณญฺจ อกิตฺติญฺจ ทุสฺสีโล ลภเต นโร วณฺณํ กิตฺตึ ปสํสญฺจ สทา ลภติ สีลวา[๑]
คนผู้ทุศีลย่อมได้รับความติเตียน และความเสียชื่อเสียง ส่วนผู้มีศีลย่อมได้รับชื่อเสียง
และความยกย่องสรรเสริญทุกเมื่อ.
สุภาษิตข้างต้นนี้เป็นการแสดงให้เห็นโทษของการไม่มีศีล คือการได้รับการติเตียนและการเสียชื่อเสียง และได้แสดงคุณของการมีศีล คือการมีชื่อเสียงและการยกย่อง ซึ่งข้าพเจ้าจะได้อธิบายตามแนวเทศนาหาระตามลำดับไป

ศีลคืออะไร
คำว่า “ศีล” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน [๒] อธิบายว่า ข้อบัญญัติทางพระพุทธศาสนาที่กำหนดการปฏิบัติกายและวาจา เช่น ศีล ๕ ศีล ๘ , การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช,ป.ธ. ๙,ราชบัณฑิต)[๓] ได้อธิบายไว้ว่า สีล หรือ ศีล แปลว่าปกติ,สภาวะเดิม ,ธรรมชาติ โดยวิเคราะห์ศัพท์ในนัยต่าง ๆ คือ

จิตฺตํ สีลติ สมาทหติ เอเตนาติ สีลํ ธรรมเป็นเหตุสงบแห่งจิต (สีลในความหมายว่าสงบ)
สิโนติ จิตฺตํ เมเตนาติ สีลํ ธรรมเป็นเครื่องผูกจิตไว้
สีเลนฺติ กุสลธมฺเม อุปธาเรนฺติ เอเตนาติ สีลํ ธรรมเป็นเหตุให้ดำรงกุศลธรรมไว้ได้ (สีล ธาตุ ในความหมาย ว่าทรงไว้)
สีเลติ อุปธาเรติ ตํสมงฺคีปุคฺคลํ อปาเยสุ อุปฺปตฺตินิวารณวเสน ภูโส ธาเรตีติ สีลํ ธรรมที่ดำรงบุคคลผู้มีพร้อมไว้มิให้เกิดในอบาย(สีล ธาตุ ในความหมายว่าทรงไว้)

จะเห็นได้ว่าคำว่า สีล มีหลายความหมายขึ้นอยู่กับการอธิบายและการนำไปใช้ แต่สรุปได้ว่า คำว่า สีล
ตรงกับภาษาบาลีว่า “ สีล” แต่ภาษาสันสกฤตใช้คำว่า “ศีล” ตามศัพท์แปลว่า ปกติ ,ประเสริฐ ,เกษม ,สงบหมายความว่า คนที่มีจิตเป็นปกติ ไม่ถูกกิเลสคือ โลภะ โทสะ โมหะ ครอบงำ และชักไปทำชั่วทำผิด จิตเป็นปกติ เมื่อจะทำอะไรทางกายด้วยจิตที่เป็นปกติ ก็ไม่ทำกายทุจริต เมื่อจะพูดอะไรทางวาจา ก็ไม่พูดวจีทุจริตเมื่อคิดเรื่องราวอะไรทางใจ หรือทางมนะ ก็ไม่คิดเป็นมโนทุจริต เพราะฉะนั้น ใจจึงเป็นศีล ทำทางกาย กายก็เป็นศีล ทำทางวาจา วาจาก็เป็นศีล,คิดทางมนะ มนะก็เป็นศีล แต่ถ้า โลภะโทสะ โมหะ อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นครอบงำจิต ก็ทำให้คิดอยากได้ ให้คิดล้างผลาญ ให้หลงงมงาย ทีนี้เสียปกติจิตก็วิปริต เสียศีลภายในทางใจ เมื่อศีลทางใจเสียไปแล้ว ทำอะไรทางกายด้วยอำนาจ พูดทางวาจาก็เป็นวจีทุจริตคิดทางมนะก็เป็นมโนทุจริต โดยตรงเป็นเช่นนี้ แต่เมื่อมุ่งเอาอาการที่ปรากฏก็คือทางกาย ทางวาจา เพราะทางใจคนอื่นรู้ด้วยไม่ได้ รู้ได้แต่ตัวเอง คนที่เว้นจากทำชั่วทางกายก็เป็นศีลทางกาย เว้นชั่วทางวาจา ก็เป็นศีลทางวาจา คนที่รักษาศีลนั้นสามารถรักษาศีลเพียงทางกายและวาจาเท่านั้น แต่ศีลไม่สามารถควบคุมถึงจิตใจได้ ถึงแม้ว่าใจจะไม่เป็นปกติเป็นศีลแท้ แต่กายก็ไม่ทำทุจริต วาจาไม่พูดทุจริต ยังดีกว่าทำกายทุจริต พูดวจีทุจริต เมื่อรักษาศีลทางกาย ทางวาจา ไปจนเตือนใจ สะกิดใจ ให้ใจสงบจาก โลภะ โทสะ โมหะ ได้ แม้ชั่วครู่ชั่วขณะ นี่เป็นศีลทางใจ เป็นศีลแท้

อีกนัยหนึ่ง[๔] เจตนาที่รักษากายกรรม วจีกรรม ให้ตั้งเป็นปกติดี เว้นจากประพฤติชั่วทุจริต ชื่อว่า ศีล ศีลในทางปกครอง คือการประพฤติตามกฎหมายจารีตประเพณีอันดีงาม ศีลนั้นอาจ แบ่งออกได้เป็น ๒ คือ เป็น อาการอย่างหนึ่ง เป็นตัวศีลอย่างหนึ่ง อาการคือ เมื่อตั้งใจรักษา ระวังไม่ให้ประพฤติล่วง นี่เรียกว่ารักษาอาการของศีล ตั้งใจรักษาอาการของศีลจนไม่คิดประพฤติล่วง จิตสงบเป็นปกติ หรือเห็นโทษของการล่วงศีล แล้วจิตสงบเป็นปกติไม่คิดล่วง นี่ได้ชื่อว่าตัวศีล เพราะฉะนั้น การตั้งใจรักษาอาการไม่ให้ประพฤติชั่ว เป็นอาการของศีล ตั้งใจรักษาไปจนจิตเป็นปกติไม่คิดล่วงเป็นตัวศีล

ส่วนที่แปลว่า ประเสริฐนั้น หมายถึงผู้ที่มีศีลเป็นผู้ประเสริฐ เพราะเขาไม่ละเมิดสิทธิชีวิตของสัตว์อื่น ไม่ละเมิดสิทธิทรัพย์สินผู้อื่น ไม่ละเมิดสิทธิคู่ครองของคนอื่น ไม่ละเมิดสิทธิการสื่อสารของผู้อื่น และที่สำคัญที่สุดเป็นผู้ประเสริฐ เพราะมีสติสัมปชัญญะไม่เมามัวเพราะการเสพดื่มสิ่งเสพติดทุกประเภท หรือกล่าวโดยสรุปก็คือ การมีศีล ๕ นั้นเอง ผู้ที่รักษาศีล ๕ เป็นผู้ประเสริฐ เพราะเป็นผู้มีจิตใจสูงที่เรียกว่า เป็นมนุษย์ เพราะมีมนุษยธรรม ธรรมะที่ทำคนให้เป็นมนุษย์ ได้แก่ศีล ๕ ข้อ คนที่มีศีล ๕ เป็นผู้ประเสริฐโดยแท้

โทษของการไม่มีศีล
ในสุภาษิตนี้ได้แสดงโทษ(อาทีนวะ) ของผู้ทุศีลก่อนแล้วจึงแสดงคุณ (อัสสาทะ) ทีหลัง ผู้ทุศีล คือผู้ที่ไม่มีเจตนาจะงดเว้นจากการรักษาศีล ๕ ข้อข้างต้นชื่อว่าผู้ทุศีล ย่อมได้รับโทษคือ การติเตียน และการเสียชื่อเสียง ติเตียนอย่างไร ติเตียนว่าผู้นั้นเป็นคนชอบฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ผิดลูกผิดเมียคนอื่น ชอบพูดโกหกหลอกลวง พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ เป็นคนติดเหล้าติดยาเป็นคนเมา เป็นต้น และทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง เสียชื่อเสียงอย่างไร เสียชื่อว่าคนนี้เป็นคนใจร้ายไม่มีเมตตากรุณาชอบฆ่าคนฆ่าสัตว์ ชอบลักปล้นจี้ขโมยของคนอื่นเป็นคนส่ำส่อนชอบผิดลูกเมียคนอื่น เป็นคนเชื่อถือไม่ได้ชอบโกหกหลอกลวงพูดจาไม่สุภาพ และเป็นขี้เมาขี้เหล้า ไม่มีใครอยากคบหาสมาคมด้วย พระพุทธเจ้าได้ตรัสโทษของการทุศีลไว้ในสีสสูตร อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาตถึง ๕ ประการคือ

๑. ทำให้เสื่อมโภคทรัพย์
๒. ทำให้ไม่กล้าหาญเมื่อเข้าสู่ที่ประชุม
๓. ทำให้วิญญูชนติเตียน
๔. ใกล้ตายก็หลง
๕. เมื่อตายแล้วไปบังเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต[๕]
นอกจากโทษทั้ง ๕ อย่างแล้วผู้ทุศีลนั้นไม่เป็นที่ชอบใจของเทวดาและมนุษย์ เป็นผู้ตักเตือนไม่ได้ เป็นผู้ถึงความทุกข์เพราะถูกติเตียน จะเห็นได้ว่าการไม่มีศีลมีแต่โทษมีทุกข์มากมายเกินบรรยาย

ประโยชน์หรือคุณค่าของการมีศีล
ผู้มีศีลนั้นท่านกล่าวว่ามีความไม่เดือดร้อนเป็นผล ได้รับการยกย่องสรรเสริญ ชื่อเสียงย่อมฟุ้งขจรไปตามนัยสุภาษิตข้างต้นนั้น นอกจากนั้นอานิสงส์ของการมีศีลนั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในสีสสูตร อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาตตรงข้ามกับการทุศีลมี ๕ ประการคือ
๑. ทำให้ได้รับโภคทรัพย์สมบัติมาก
๒. เกียรติศัพท์อันดีย่อมฟุ้งขจรไป
๓. เป็นผู้องอาจกล้าหาญในการเข้าสู่ที่ประชุม
๔. เมื่อใกล้ตายก็ไม่หลงตาย
๕. เมื่อตายไปแล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์[๖]

ศีลนี้เองเป็นเหตุทำให้ผู้รักษาปฏิบัติตามย่อมก้าวสู่ทางแห่งพระนิพพานหรือการทำลายกิเลสทั้งหลายได้เป็นเหตุก่อให้เกิดสมาธิและปัญญาและทำให้พ้นจากกิเลสทั้งหลายได้ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในมหาปรินิพพานสูตร[๗]ว่า
“สีลปริภาวิโต สมาธิ มหปฺผโล โหติ มหานิสํโส
สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา
ปญฺญาปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ”

แปลว่า สมาธิที่ศีลอบรมแล้วย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ปัญญาที่สมาธิอบรมแล้วย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก จิตที่ปัญญาอบรมแล้วย่อมพ้นจากกิเลสทั้งหลายโดยชอบทีเดียว จากพระพุทธดำรัสนี้แสดงให้เห็นว่าการมีศีลหรือผู้มีศีลนั้นสามารถเข้าสู่ความพ้นทุกข์ได้เป็นทางออกแห่งทุกข์ได้

อานิสงส์ของการมีศีล
ผู้มีศีลได้รับประโยชน์มากหลายประการดังกล่าวแล้วข้างต้น ประโยชน์ระดับพื้นฐานคือความสุขความเจริญ มีทรัพย์สมบัติ ได้รับการยกย่อง มีชื่อเสียง ในระดับกลาง คือความสุขในอนาคตเช่นการมีสุคติคือไปสู่สถานที่ดี หรือแม้ชีวิตหลังความตามก็ได้สุคติโลกสวรรค์เป็นผลของการมีศีลนั่นเอง ส่วนประโยชน์สูงสุด คือพระนิพพานก็จะได้รับเพราะการมีศีลเป็นเหตุ นี่แสดงให้เห็นว่าผู้มีศีลนั้นได้รับผลอานิสงส์ทั้ง ๓ ระดับดังกล่าวแล้ว กล่าวโดยสรุปผลหรืออานิสงส์ของศีลท่านจะสรุปไว้ในตอนท้ายศีล ๓ ประการคือ

๑. สีเลน สุคตึ ยนฺติ ศีลทำให้คนไปสุคติ คำว่า “สุคติ” อาจอธิบายได้ ๒ นัย คือ นัยที่ ๑ แปลว่าไปดี คือคนที่มีศีลนั้นจะไปที่ไหนก็ไปดี เกินทางไปที่ไหนก็ดีปลอดภัย ไม่มีอันตราย เพราะว่าไม่เป็นอันตรายต่อคนอื่น เป็นอันตรายต่อสังคม ได้ชื่อว่าไปดี เพราะไปสู่ที่ดีได้ ที่ประเสริฐได้ คนที่มีศีลเขาก็ยกย่องให้มีฐานะ มีตำแหน่ง มีที่อยู่ มีอะไรที่ดี ๆ เพราะศีลนี้ส่งไปสู่สุคติ คือส่งให้ไปสู่ที่ดี นัยที่ ๒ สุคติหมายถึงภูมิที่ไปเกิดในที่ดี สุคติหรือภูมิที่ไปเกิดในทางพระพุทธศาสนานั้น ท่านแยกเป็น ๒ คือ สวรรค์ และมนุษย์ มนุษย์นี้จัดเป็นสุคติภูมิอย่างหนึ่ง อย่างคนที่ตาย ญาติมิตรเห็นเข้าเห็นเข้าก็พูดว่า ขอให้ไปที่ชอบ ๆ เถอะ คำว่าที่ชอบนั้นคือสุคตินั้นเอง ดังนั้น คำว่าสุคติจึงหมายถึงทั้งมนุษย์และสวรรค์ คนที่ไปสู่สุคติอาจจะเกิดเป็นมนุษย์อีก เพราะการเกิดในโลกมนุษย์ถือว่าเป็นสุคติภูมิ ถ้าไปเกิดบนสวรรค์ก็เป็นสุคติภูมิชั้นสูง ฉะนั้น เราควรมั่นใจควรพอใจว่าแม้เพียงศีลอย่างเดียวเราก็ไปสวรรค์ได้ ถ้าไม่ถึงสวรรค์ก็เป็นมนุษย์ ในขณะที่ยังเป็นมนุษย์อยู่จะไปในที่ใดก็ไปดี ไปประเสริฐ ดังนั้น การมีศีลจึงถือว่าเป็นเหตุให้ไปสู่สุคติภูมิ

๒. สีเลน โภคสมฺปทา ศีลทำให้คนได้รับทรัพย์สมบัติ ข้อนี้ถ้าพิจารณาไม่ชัดอาจจะทำให้เข้าใจผิด คำว่า ศีลทำให้ได้รับทรัพย์สมบัตินั้น คือว่า คนที่มีศีลจะทำมาหากินอะไรก็ได้ยั่งยืน เพราะไม่โกงเขา ไม่ฆ่าเขา ไม่หลอกลวงเขา คนก็เชื่อถือ จะทำมาค้าขายติดต่อก็ทำงานได้ผลดี ถ้าทำราชการก็ยั่งยืน แต่ถ้าไปโกงไปกินไปคอรัปชั่นก็ถูกไล่ออก ถูกติดคุก หรือบางทีก็ถูกทำร้ายถูกฆ่าตาย ทรัพย์สมบัติจะเกิดก็เกิดขึ้นไม่ได้ เช่น พ่อค้าส่งของไปต่างประเทศ แต่ปลอมปนสินค้าเข้าไป ในที่สุดต่างประเทศเขาก็จับได้ก็งดสั่งสินค้า ทางรัฐบาลก็ไม่ให้บุคคลนั้นหรือบริษัทนั้นเป็นตัวแทนในการส่งออกต่อไป ทรัพย์สมบัติจะเกิดก็เกิดไม่ได้ ส่วนคนมีศีล เช่น พระสงฆ์ท่านจะมีคนถวายข้าวของมากมาย เพราะท่านมีศีลตรงกันข้ามพระรูปไหนไม่มีศีลก็จะไม่ได้รับการกราบการไหว้ไม่มีข้าวของจะฉัน เพราะฉะนั้น จึงถือว่าศีลทำให้บุคคลให้ได้รับทรัพย์สมบัติ ถ้าจะยกตัวอย่างง่าย ๆ คนที่ไม่ดื่มเหล้าก็สามารถทำให้เก็บทรัพย์สมบัติได้มากไม่ต้องเสียเงินเพราะเหล้า เพราะถ้าดื่มเหล้าเมามายแล้วจะทำให้ทรัพย์สมบัติฉิบหายไปทั้งของตนและของคนอื่นด้วย

๓. สีเลน นิพฺพุตึ ยนฺติ ศีลทำให้คนดับทุกข์ความเดือดร้อนเข้าสู่นิพพานได้ คำว่า นิพฺพุตึ[๘] แปลว่าดับ คือดับความทุกข์ความเดือดร้อนได้ อย่างสูงคือดับเข้าสู่นิพพานได้ คนมีศีลนั้นจะดับทุกข์ความเดือดร้อนได้ เดือดร้อนเพราะขาดศีล แต่มีความสุขเพราะการมีศีล ในปัจจุบันนี้เห็นชัดเจนว่าคนมีศีลดับทุกข์ความเดือดร้อนได้มากประสพความสุขได้มาก เมื่อจิตขึ้นสู่สมาธิแล้วก็เกิดความสงบเกิดความเยือกเย็นเพราะมีศีลเป็นพื้นฐาน คนที่ไม่มีศีลแล้วมาทำสมาธิ สมาธิก็ไม่ดีหรือทำไม่ได้ แต่ถ้ามีศีลเป็นพื้นฐานแล้วยกจิตสู่สมาธิ ศีลก็ยังยกขึ้นสู่ปัญญาในที่สุดได้ด้วย เพราะฉะนั้น ศีลก็หมายถึงการทำให้เกิดความสงบขึ้น เพราะศีลทำบุคคลให้ดับทุกข์ความเดือดร้อนได้และเพราะศีลทำให้บุคคลให้ดับทุกข์ความเดือดร้อนถึงขั้นพระนิพพาน บุคคลจะได้พระนิพพานนั้นต้องมีศีลเป็นพื้นฐาน แม้พระพุทธเจ้าบำเพ็ญบารมีเพื่อบรรลุพระนิพพานก็ต้องมีศีล เพราะศีลนี้เป็นบารมีข้อหนึ่งเรียกว่า ศีลบารมี

อุบายวิธีรักษาศีล
ในการรักษาศีลนั้นมีวิธีการ คือต้องมีวิรัติเจตนา คือเจตนาในการงดเว้นจากการทำความผิดที่เป็นข้อห้าม เช่น ศีล ๕ เป็นต้น อาจแบ่งย่อยเป็น ๓ ประเภทคือ
๑. สมาทานวิรัติ งดเว้นด้วยการสมาทาน คือสมาทานหรือรับเอาด้วยตนเองก็ได้ ด้วยการรับจากผู้อื่นก็ได้ เช่น การสมาทานหรือรับศีล ๕ จากพระภิกษุ เป็นต้น
๒. สัมปัตตวิรัติ งดเว้นด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ได้แก่ การรักษาศีลของผู้ไม่ได้ตั้งใจไว้ก่อนว่าจะรักษาศีล แต่มาประสบเหตุการณ์ที่จะทำให้ตนประพฤติล่วงศีล ก็ตั้งใจงดเว้นขึ้นในทันทีทันใดนั้นก็เป็นศีลเช่นกัน
๓. สมุทเฉทวิรัติ งดเว้นได้เด็ดขาด คือการรักษาศีลของพระอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป ท่านงดเว้นจากการประพฤติผิดศีล ๕ อย่างเด็ดขาด โดยไม่ต้องสมาทาน เพราะจิตของท่านเห็นโทษของการขาดศีลอย่างแท้จริง ไม่ยอมประพฤติล่วงศีล แม้จะสิ้นชีวิตก็ไม่ยอมผิดศีล เหมือนคนกลัวตายไม่ยอมดื่มยาพิษ

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าการรักษาศีลนั้นไม่ยุ่งยาก สำคัญคือต้องมีเจตนาในการงดเว้นนั่นเอง การรักษาศีลนี้แม้จะเป็นเพียงเบื้องต้นของการปฏิบัติแต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการนำตนเข้าสู่กระบวนการพัฒนาตนเพื่อไปสู่เป้าหมายที่สูงสุด คือพระนิพพานในอนาคต

ดังนั้น เมื่อเราทราบว่าผู้ที่ไม่มีศีลหรือผู้ทุศีลนั้นจะได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนทั้งในปัจจุบัน เช่น การติเตียนและการเสียชื่อเสียง ดังที่กล่าวไว้ในสุภาษิตข้างต้นนั้น และในอนาคตก็จะมีทุคติคือไปไม่ดีสู่สถานที่ไม่ดี เช่น เปรต อสุรกาย สัตว์นรก เป็นต้น ส่วนผู้รักษาศีลผู้มีศีลนั้นได้รับผลตรงข้ามกันคือการยกย่องสรรเสริญและมีชื่อเสียงในปัจจุบัน ในอนาคตก็จะได้รับสุคติ คือการไปสู่สถานที่ดี เช่น การเป็นเทวดาและมนุษย์ เป็นต้น และสามารถทำให้ได้รับประโยชน์สูงสุด คือพระนิพพานซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดสำหรับผู้นับถือพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น ผู้ฉลาดเมื่อรู้โทษของการไม่มีศีลและรู้คุณของการมีศีลแล้วก็ควรจะรักษาศีลกันเถิด



[๑] พระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทยฉบับสยามรัฏฐ สุตฺต.ขุ. ๒๖/๓๗๘/๓๕๗.
[๒] ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ( กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, ๒๕๔๖), หน้า ๑๑๐๓.
[๓] พระธรรมกิตติวงศ์(ทองดี สุรเตโช,ป,ธ,๙,ราชบัณฑิต), ศัพท์วิเคราะห์. (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เลี่ยงเชียง, ๒๕๕๐), หน้า ๗๑๐.
[๔] สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์, พระโอวาทธรรมบรรยายเล่ม ๑. (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๘), หน้า ๑๔๖-๑๔๗.

[๕] พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับสยามรัฏฐ, ๑๔/๒๑๓/๒๒๖-๒๒๗ .
[๖] พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับสยามรัฏฐ, ๑๔/๒๑๓/๒๒๖-๒๒๗ .
[๗] พระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทยฉบับสยามรัฏฐ, สุตฺต.ที.มหา. ๑๐/๑๑๑/๑๔๓ .

[๘] พระราชวิสุทธิกวี (พิจิตร ฐิตวณฺโณ), การสั่งสมบุญด้วยการรักษาศีล.( กรุงเทพฯ: สุทธิสารการพิมพ์, ๒๕๓๖), หน้า ๒๘-๒๙.