วันอาทิตย์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2551

การตีความตามกระบวนท้ศน์ ๕

การตีความยัญญสูตรด้วยกระบวนทัศน์ ๕
ความนำ
ในการศึกษาศาสนาทุก ๆ ศาสนานั้นจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องอาศัยเครื่องมือในการศึกษาการศึกษาในศาสนาเหล่านั้นอาจจะศึกษาในองค์ประกอบของศาสนาทั้ง ๕ อย่าง คือ ศาสดา ศาสนธรรม ศาสนทายาท ศาสนพิธี และศาสนสถาน ที่เรียกว่า ๕ ศ หรืออาจศึกษาจำเพาะเจาะจงองค์ประกอบใดประกอบหนึ่งก็ได้ เครื่องมือที่จำเป็นเบื้องต้นคือ การใช้ศรัทธา ความเชื่อที่มีต่อสิ่งเหล่านั้น แต่ถ้ามีแต่ความเชื่ออย่างเดียวอาจนำไปสู่ปัญหาก็ได้ถ้าเป็นความเชื่อที่ผิด ก็จะนำไปสู่การปฏิบัติที่ผิดด้วย
ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ศึกษาจะต้องมีเครื่องมืออีกอย่างหนึ่งในการคอยกำกับความเชื่อนั้นก็คือ ปรัชญาหรือปัญญา การตั้งคำถามการคิดวิเคราะห์จะช่วยให้ผู้ศึกษามีความรู้ความเข้าใจในศาสนาเหล่านั้นได้อย่างถูกต้องและมีเหตุมีผลไม่เป็นความเชื่อที่งมงาย ไร้เหตุผล และจะทำให้ศาสนามีคุณค่าต่อผู้ศึกษาและผู้ปฏิบัติมากยิ่งขึ้น การศึกษาศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศาสนธรรมคือหลักคำสอนทางศาสนานั้นจำเป็นจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในกระบวนทัศน์
กระบวนทัศน์ (Paradigm) คืออะไร กีรติ บุญเจือ[๑] อธิบายว่า คือ ความเชื่อพื้นฐานที่มีอยู่ในจิตใจของมนุษย์หรือ กระแสความคิดของคนในยุค ๆ หนึ่ง ณ ภัทรดิศ สุริยกมลจินดา[๒] อธิบายว่า คือ ความเชื่อพื้นฐานที่มีในจิตใจของมนุษย์ทุกคน แตกต่างกันตามเพศ วัย สิ่งแวดล้อม การศึกษาอบรม และการตัดสินใจเลือกของแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นตัวกำหนดให้แต่ละคนชอบอะไรและไม่ชอบอะไร พอใจแค่ไหน และอย่างไร สรุปได้ว่า กระบวนทัศน์ คือ ความคิดความเชื่อของคนแต่ละยุคแต่ละสมัยที่ต่อโลกและชีวิต ดังนั้น ถ้าผู้ศึกษาเข้าใจในความคิดความเชื่อของคนแต่ละยุคแต่ละสมัยแล้วก็จะช่วยให้การศึกษาหลักคำสอนเหล่านั้นมีประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน เช่น ทำให้รู้และสามารถอ่านใจคนได้ ทำให้เห็นความสัมพันธ์ของสาขาวิชาต่าง ๆ อาจจะโยงกับหลักคำสอนได้ ช่วยให้เห็นวิวัฒนาการความคิดของมนุษย์อย่างสืบเนื่องตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์จนถึงยุคปัจจุบัน และที่สำคัญก็คือสามารถนำมาสู่การตีความหลักคำสอนได้อย่างมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น การตีความหลักคำสอนนั้นจำเป็นต้องพยายามล้วงลึกเจตนารมณ์ของผู้แสดง ผู้แต่ง หรือผู้เขียน ข้อความนั้น ๆ ไว้ โดยแยกแยะประเด็นออกมาอธิบายขยายความให้เห็นประจักษ์ชัด แล้วกำหนดความหมายอันแท้จริงของข้อความนั้นตามความเข้าใจของผู้ตีความ ซึ่งข้าพเจ้าในฐานะเป็นผู้ศึกษาในวิชาศาสตร์แห่งการตีความแนวพุทธศาสน์นี้จะนำแนวคิดนี้ไปใช้ในการตีความพระสูตรคือ ยัญญสูตร ต่อไป
กระบวนทัศน์ทั้ง ๕
๑. กระบวนทัศน์ดึกดำบรรพ์ (Primitive Paradigm ) แนวคิดแบบนี้เกิดขึ้นกับมนุษย์ดึกดำบรรพ์ทันทีที่มนุษย์เกิดขึ้นในโลกนี้ จึงสันนิษฐานได้ว่า แนวคิดแบบดึกดำบรรพ์นี้มีมาประมาณ ๒ ล้านปีแล้ว[๓] ความคิดความเชื่อของคนยุคนี้เชื่อว่าโลกไม่มีกฎเกณฑ์ ความคิดทางปรัชญาเกิดจากสติปัญญาของมนุษย์ เหตุการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นคนยุคนี้เชื่อว่าเป็นไปด้วยฤทธิ์อำนาจลึกลับในธรรมชาติ อุดมการณ์สูงสุดในระยะนี้ก็คือทำตามประเพณี ผิดอะไรผิดได้ แต่อย่าผิดประเพณี ประเพณีเป็นมาตรฐานการตัดสินการกระทำทุกอย่าง รูปแบบการดำเนินชีวิตเน้น ปลอดภัยไว้ก่อน
๒. กระบวนทัศน์โบราณ(Ancient Paradigm) แนวคิดของคิดของคนยุคนี้เชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีกฎเกณฑ์แน่นอนตายตัว ที่ไม่มีกรณียกเว้นใด ๆ ทั้งสิ้น โลกมีกฎเกณฑ์และมนุษย์ควรรู้กฎเกณฑ์เพื่อใช้แสวงหาความสุขบนโลกนี้ อุดมการณ์สูงสุดของคนยุคนี้คือ ทำตามกฎหมายที่ผู้มีอำนาจกำหนดขึ้น ผิดอะไรผิดได้ แต่อย่าผิดกฎหมาย รูปแบบการดำเนินชีวิตเน้น แสวงหากฎเกณฑ์
๓. กระบวนทัศน์ยุคกลาง (Medieval Paradigm) แนวคิดของคนยุคกลางเชื่อว่า โลกมีกฎเกณฑ์ แต่กฎเกณฑ์ไม่อาจให้ความสุขแท้แก่มนุษย์ได้ ความสุขที่แท้จริงหรือสุขถาวรมีอยู่ในโลกหน้า เพราะเห็นความอนิจจังของโลกนี้ว่า แม้จะรู้กฎเกณฑ์ของโลกและปฏิบัติตามอย่างไม่บกพร่อง ก็ไม่อาจพบความสุขแท้ได้ จึงต้องใช้ชีวิตอันจำกัดและสั้นในโลกนี้เพื่อแสวงหาความสุขถาวรในโลกหน้า อุดมการณ์สูงสุดของคนยุคนี้คือ มโนธรรมที่ได้รับจากศาสนา ผิดอะไรก็ผิดได้ แต่อย่าผิดหลักธรรมของศาสนา รูปแบบการดำเนินชีวิตเน้น ความสุขโลกหน้า
๔. กระบวนทัศน์ยุคใหม่ (Modern Paradigm) ตั้งแต่ประมาณ ค.ศ.๑,๕๐๐ เป็นต้นมาวิทยาศาสตร์เจริญขึ้น มนุษย์หวังกันว่า วิทยาศาสตร์จะแก้ปัญหาทุกอย่างของมนุษย์ได้ แนวคิดความเชื่อของคนยุคนี้เชื่อว่า โลกมีกฎเกณฑ์และวิธีการทางวิทยาศาสตร์เป็นทางพบกฎของโลก มนุษย์จะมีความสุขสมบูรณ์แบบในโลกนี้ได้โดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ อุดมการณ์ของคนยุคนี้ คือ เหตุผลจะทำอะไรก็อ้างว่ามีเหตุผล ตัดสินใจอะไรก็ด้วยเหตุผล รูปแบบการดำเนินชีวิตเน้น ความสงบสุขในสังคม
๕. กระบวนทัศน์หลังยุคใหม่หรือ หลังนวยุค (Post Modern Paradigm) แนวคิดของคนยุคนี้เป็นกระบวนทัศน์ที่ข้ามพ้นกระบวนทัศน์ทั้ง ๔ นั้นซึ่งล้วนแต่มีประเด็นเอื้อให้เกิดสงครามต่อกันคือ เกิดความยึดมั่น (Attachment) ซึ่งนำไปสู่การแบ่งพรรคแบ่งพวก การแข่งขัน ความไม่ไว้วางใจกัน การทำลายกัน สุดท้ายเกิดสงคราม สุวิญ รักสัตย์[๔] กล่าวว่า กระบวนทัศน์ที่ ๕ นี้ มีลักษณะเป็นองค์รวม (Holistic Paradigm) หรือการคิดเชิงบูรณาการคือ การนำหลาย ๆ สิ่งมาใช้ประโยชน์ในบางสิ่ง และใช้ประโยชน์จากบางสิ่งกับหลาย ๆ สิ่ง ( To apply everything for something and to apply something for everything) หรือมีลักษณะ “ไม่ทิ้งอะไร แต่ทบทวนใหม่หมด” (Reject non Reread all) เป็นกระแนวคิดอนุรักษ์และแนวคิดการเปลี่ยนแปลง คิดใหม่ทำใหม่ เปลี่ยนจากการต่อต้านเป็นการต่อเติม เปลี่ยนจากคู่แข่ง (Competition) มาเป็นคู่คิด (Cooperation) เปลี่ยนจากการแตกแยก (Diversion) มาเป็นความแตกต่าง (Differrentiation) แนวคิดเหล่านี้สามารถแก้จุดบกพร่องของกระบวนทัศน์ในอดีตได้โดยต้องแก้ไขประเด็นที่เอื้อสงคราม และสนับสนุนประเด็นที่ส่งเสริมสันติภาพแทนด้วยลัทธิรื้อสร้างใหม่ (Reconstructionism) ที่เน้นการสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดสัมพันธภาพและความร่วมมือ รูปแบบการดำเนินชีวิตเน้น คุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ๆ
เมื่อเข้าใจในกระบวนทัศน์ทั้ง ๕ แล้ว ต่อไปจะได้นำแนวคิดทั้ง ๕ เหล่านี้ไปวิเคราะห์ในหลักคำสอนที่เลือกไว้คือ ยัญญสูตร[๕]ดังข้อความที่ปรากฏในพระไตรปิฎกดังนี้
ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามแห่งท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี สมัยนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ตระเตรียมการบูชามหายัญโคผู้ ๕๐๐ ตัว ลูกโคผู้ ๕๐๐ ตัว ลูกโคตัวเมีย ๕๐๐ แพะ ๕๐๐ ตัว และแกะ ๕๐๐ ตัว ถูกนำไปผูกไว้ที่หลักเพื่อบูชายัญ แม้ชนบางคนของพระเจ้าปเสนทิโกศลนั้น เป็นทาส คนใช้หรือกรรมกรที่มีอยู่ แม้ชนเหล่านั้นก็ถูกอาชญา ถูกภัยคุกคาม มีหน้านองด้วยน้ำตาร้องไห้พลาง กระทำบริกรรมไปพลาง ครั้งนั้นแล พวกภิกษุหลายรูปครองผ้าเรียบร้อยแล้วในเวลาเช้าถือบาตรและจีวรเข้าไปสู่กรุงสาวัตถี เพื่อบิณฑบาต กลับจากบิณฑบาตในเวลาหลังภัตแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ได้นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ภิกษุเหล่านั้น ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญวันนี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ตระเตรียมการบูชามหายัญ โคผู้ ๕๐๐ ตัว ลูกโคผู้ ๕๐๐ ตัว ลูกโคตัวเมีย ๕๐๐ ตัว แพะ ๕๐๐ ตัว และแกะ ๕๐๐ ตัว ถูกนำไปผูกไว้ที่หลักเพื่อบูชายัญ แม้ชนบางคนของพระเจ้าปเสนทิโกศลนั้น เป็นทาสคนใช้หรือกรรมกรที่มีอยู่ ชนแม้เหล่านั้นก็ถูกอาชญา ถูกภัยคุกคาม มีหน้านองด้วยน้ำตาร้องไห้พลาง กระทำบริกรรมไปพลาง ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ในเวลานั้นว่า
มหายัญที่มีการตระเตรียมมาก มีการฆ่าแพะ แกะ โค และสัตว์ชนิดต่าง ๆ คือ อัศวเมธ ปุริสเมธ สัมมาปาสะ วาชเปยยะ นิรัคคฬะ มหายัญเหล่านั้นเป็นยัญไม่มีผลมาก (เพราะ) พระพุทธเจ้าเป็นต้นผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้ดำเนินปฏิปทาอันชอบ ย่อมไม่แนะนำยัญนั้น.
ส่วนยัญใด มีการตระเตรียมน้อยไม่มีการฆ่า แพะ แกะ โค และสัตว์ชนิดต่าง ๆ ซึ่งบุคคลบูชาสืบตระกูลคุณอันพระพุทธเจ้าเป็นต้นผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้ดำเนินปฏิปทาอันชอบ ย่อมแนะนำยัญนั้น.ผู้มีปัญญาควรบูชายัญนั้น ยัญนั้นเป็นยัญมีผลมาก เมื่อบุคคลบูชายัญนั้นนั่นแหละ ย่อมมีแต่ความดี ไม่มีความชั่วช้าเลวทราม ยัญก็เป็นยัญอย่างไพบูลย์และเทวดาย่อมเลื่อมใส.

ก่อนที่จะนำพระสูตรนี้ไปวิเคราะห์ในกระบวนทัศน์ทั้ง ๕ ขออธิบายคำว่า “ ยัญ” ยัญคืออะไร ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอธิบายว่า[๖] การเซ่น, การบูชา, การเซ่นสรวงโดยมีการฆ่าสัตว์หรือฆ่าคนเป็นเครื่องบูชาเรียกว่า บูชายัญ เป็นยัญกรรม คือ การเซ่นสรวงบูชาของพราหมณ์

จากข้อความในยัญญสูตรนี้ จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิรูปและทรงปฏิวัติคำสอนเดิมซึ่งเกี่ยวกับการบูชายัญในศาสนาพราหมณ์เสียใหม่โดยใช้การตีความจากความหมายเดิมเป็นแนวคิดหรือกระบวนทัศน์ใหม่ พระองค์ทรงปฏิรูปคำสอนเรื่องการฆ่าสัตว์ หรือฆ่ามนุษย์บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยใช้คำหรือศัพท์เดิมของศาสนาพราหมณ์นั่นแหละ แต่เปลี่ยนแปลงรูปแบบวิธีการใหม่ หรืออธิบายใหม่ นี้เป็นการปฏิรูปคำสอน หรือตีความคำสอนเสียใหม่โดยไม่มีการฆ่าทำร้ายใครเลย

วิเคราะห์โดยการตีความตามกระบวนทัศน์ทั้ง ๕
กระบวนทัศน์ทั้ง ๕ นั้นได้อธิบายไว้แล้วข้างต้น ต่อไปจะได้วิเคราะห์ในยัญญสูตรตามกระบวนทัศน์ทั้ง ๕
๑. กระบวนทัศน์ดึกดำบรรพ์ (Primitive Paradigm ) ในพระสูตรนี้จะเห็นว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลจะทำการบูชายัญ ๕ อย่าง เหตุผลที่กล่าวไว้ในอรรถกถา เพราะว่าทรงฝันร้ายตื่นบรรทมขึ้นมาก็ตกพระทัยกลัวจึงให้ปุโรหิตเข้ามาทำนายทายทัก ปุโรหิตก็ทำนายว่าจะมีภัย จะต้องมีการบูชายัญเพื่อความสุขสวัสดีแด่พระราชา จะเห็นได้ว่าแนวคิดแบบนี้เป็นกระบวนทัศน์ที่ ๑ คือ ความเชื่อที่ว่า โลกไม่มีกฎเกณฑ์ มีอำนาจสิ่งลึกลับที่คอยให้คุณหรือให้โทษ จึงต้องมีการบูชายัญเพื่อเอาใจอำนาจหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พระองค์ ปุโรหิตและคนในสมัยเชื่อว่าอยู่เบื้องหลังของปรากฏการณ์ต่าง ๆ เป็นประเพณีที่ทำสืบต่อกันมา จะเห็นว่าเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับกับกระบวนทัศน์ที่ ๑ ที่ว่า ทำตามประเพณี ผิดอะไรผิดได้ แต่อย่าผิดประเพณี การตีความก็เป็นการตีความตามตัวอักษร ตีความอย่างไร คำว่า การบูชามหายัญ ๕ อย่างคือ อัศวเมธ ปุริสเมธ สัมมาปาสะ วาชเปยยะ นิรัคคฬะ ทั้ง ๕ วิธีนี้ตีความตามศัพท์ตามตัวอักษร (Literal Interpretation) คือ

๑.อัศวเมธะ ได้แก่การฆ่าม้าบูชายัญ แต่ชื่อนี้หมายความกว้างกว่านั้น คือ หมายถึงยัญที่บูชาด้วยสมบัติทุกอย่าง เว้นที่ดินแลคน ซึ่งเขาตั้งเสายัญ ๒๑ เสา สำหรับผูกปศุสัตว์ที่จะต้องฆ่าประมาณ ๕๙๗ ชนิด เพื่อบูชายัญ แล้วทำการบูชาอยู่หลายวันกว่าจะเสร็จพิธี
๒.ปุรสเมธะ ได้แก่การฆ่าคนบูชายัญ แต่ความจริงหมายเฉพาะยัญที่บูชาด้วยสมบัติต่าง ๆ อย่างอัศวเมธนั้น แต่รวมที่ดินเข้าด้วย
๓. สัมมาปาสะ ได้แก่การผูกสัตว์บูชายัญ โดยเขาทำพิธีเหวี่ยงท่อนไม้สำหรับต้อนสัตว์เข้าไปที่หลักบูชาเพลิงทั้งคู่ แล้วร่ายเวทตรงที่ท่อนไม้นั้นตก ทำการบูชาตามพิธีผู้บูชาต้องเป็นคนได้เดินทางย้อนไปตามแม่น้ำสวัสดีแล้วด้วย จึงจะเข้าพิธี
๔. วาชเปยยะ ได้แก่ยัญอีกชนิดหนึ่งซึ่งเขาผูกปศุสัตว์ ๗ ชนิดบูชา
๕. นิรัคคฬะ ได้แก่ยัญที่ไม่ต้องมีหลัก ยัญสำหรับบูชา หมายถึง พิธีชนิดเดียวกับอัศวเมธ แต่บูชาด้วยสมบัติทุกอย่าง ไม่มียกเว้นอะไร ฉะนั้น จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สรรพเมธ คือ ฆ่าทุกอย่าง

นี่คือการตีความตามกระบวนทัศน์ที่ ๑ หากว่าเมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลรับสั่งให้เตรียมการเพื่อทรงทำการบูชายัญพร้อมแล้ว ถ้าทรงสั่งให้กระทำจริง ๆ ผลก็คือ การฆ่า การทำร้ายทั้งคนและสัตว์มากมายเหลือเกิน
๒.กระบวนทัศน์โบราณ(Ancient Paradigm) แนวคิดเชื่อว่าโลกมีกฎเกณฑ์การแก้ปัญหาหรือขจัดทุกข์ก็มีกฎมีเกณฑ์จะเห็นในพระสูตรนี้ ตอนที่พระเจ้าปเสนทิโกศลได้รับสั่งให้ตระเตรียมการบูชายัญพร้อมแล้ว แต่ภิกษุได้ยินได้ฟังเสียงทั้งคนและสัตว์ที่ร้องห่มร้องให้เพราะความกลัวตาย จึงไปกราลทูลพระพุทธเจ้า พระองค์ได้เสด็จไปเพื่อทรงสั่งสอนพระเจ้าปเสนทิโกศลและช่วยเหลือคนและสัตว์ที่เตรียมไว้สำหรับการบูชายัญให้พ้นจากความตายได้ โดยทรงชี้ให้เห็นว่าโลกนี้มีกฎเกณฑ์ และการแก้ปัญหานั้นไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงหรือการฆ่า จะเห็นได้จากพระพุทธดำรัสที่ว่า
“ ยัญใด มีการตระเตรียมน้อยไม่มีการฆ่า แพะ แกะ โค และสัตว์ชนิดต่าง ๆ ซึ่งบุคคลบูชาสืบตระกูลคุณอันพระพุทธเจ้าเป็นต้นผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้ดำเนินปฏิปทาอันชอบ ย่อมแนะนำยัญนั้น.ผู้มีปัญญาควรบูชายัญนั้น ยัญนั้นเป็นยัญมีผลมาก เมื่อบุคคลบูชายัญนั้นนั่นแหละ ย่อมมีแต่ความดี ไม่มีความชั่วช้าเลวทราม ยัญก็เป็นยัญอย่างไพบูลย์และเทวดาย่อมเลื่อมใส”

คำว่า “ปฏิปทา” ในพระคาถานี้เป็นการชี้แนวทางคือกฎเกณฑ์นั่นเอง จนทำให้พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเลื่อมใสและรับสั่งให้ปล่อยคนและสัตว์เหล่านั้นในที่สุด ถึงแม้ว่าพระองค์สามารถทำการบูชายัญได้ เพราะความถูกความผิดที่เรียกว่า กฎหมายนั้น พระองค์สามารถใช้ได้อย่างเต็มที่เพราะเป็นการปกครองแบบราชาธิปไตยหรือแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่พระองค์ไม่ทรงกระทำ เพราะเชื่อในกฎเกณฑ์ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอน และได้ทรงค้นพบกฎเกณฑ์ที่ดีที่สุดด้วย การตีความก็ตรงข้ามกับกระบวนทัศน์ที่ ๑ ที่ตีตามตัวอักษร แต่พระพุทธเจ้าได้ทรงตีความใหม่ (Reinterpretation) ในเชิงสัญลักษณ์เน้นการบูชายัญที่ไม่มีการฆ่าการทำร้ายคนและสัตว์ทุกประเภท และทรงสรรเสริญว่าเป็นการบูชาที่มีผลมาก มีแต่ความดีอย่างเดียว การบูชายัญด้วยวิธีการทั้ง ๕ นั้นพระพุทธศาสนาได้อธิบายใหม่ดังที่ อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ[๗]อธิบายไว้ว่า

๑. อัสสเมธะ หรือ สัสสเมธะ ประเพณีของศาสนาพราหมณ์คือการบูชายัญโดยวิธีฆ่าม้าเป็นเรื่องการบูชาเทวดา ๓ องค์คือ พระอินทร์ พระยม พระวรุณ และในทางการเมืองถือว่าเป็นการแผ่อาณาเขตโดยถือเอาพิธีทางศาสนาเป็นข้ออ้าง ส่วนในทางศาสนาเชื่อว่าเมื่อบูชาครบ ๑๐๐ ครั้ง จะได้ไปเป็นพระอินทร์ผู้มีอำนาจอยู่ในสวรรค์ ในข้อว่า “อัศวเมธะ” ทางพระพุทธศาสนาดัดแปลงใหม่ ใช้คำว่า สัสสเมธะ แปลว่า ฉลาดในการบำรุงข้าวกล้า พูดง่าย ๆ ก็คือแทนที่จะฆ่าม้ามาสนใจในเกษตรกรรมเร่งให้เกิดผลิตผลดีกว่า คำว่า “เมธะ” ที่แปลว่า ฆ่า นั้น แปลว่า ฉลาด ก็ได้ คำว่า อัสสะ หรือ อัศวะ ที่แปลว่าม้าทางพระพุทธศาสนาเปลี่ยนคำเป็น สัสสะ แปลว่า ข้าวกล้า เป็นการดัดแปลงความหมายให้ถูกต้องด้วยเหตุผลและหลักธรรมยิ่งขึ้น

๒. ปุริสเมธะ วิธีดั้งเดิมเรียก นรเมธะ แปลว่า การบูชายัญโดยการฆ่าคน พระพุทธศาสนาแปลคำว่า เมธะ ใหม่ว่า ฉลาด จึงแปล ปุริสเมธะ ว่าฉลาดในการบำรุงคน คือการสร้างบุคลากรและการสงเคราะห์คน


๓. สัมมาปาสะ วิธีดั้งเดิมต้องโยนไม้ให้ลอดบ่วง ไม้ตกตรงไหนก็สร้างเวทีขึ้นตรงนั้น แล้วตั้งเครื่องบูชาบนเวทีนั้น โดยทำให้เป็นเวทีเคลื่อนที่ได้ หรือเป็นแพ ผู้บูชาดำน้ำลงไปในแม่น้ำสรัสสดีโผล่ขึ้นมาตรงไหนให้ทำพิธีบูชาทวนกระแสน้ำขึ้นไปจากตรงนั้น พระพุทธศาสนาเห็นว่าจะยุ่งด้วยเรื่องโยนไม้เข้าบ่วงไม่มีประโยชน์ จึงแปลใหม่ว่าวิธีการสงเคราะห์คนยากจน หรือประชาชนพลเมืองชนิดที่คล้ายบ่วงคล้องใจคน คือดูแลความทุกข์สุขของคนยากจนหรือคนส่วนรวม เป็นการทำให้จิตใจของประชาชนเลื่อมใสในรัฐบาลหรือผู้ปกครอง ไม่จำเป็นต้องไปโยนไม้เข้าบ่วงอาบน้ำดำหัวอย่างแบบพราหมณ์
๔. วาชเปยยะ ตามแบบพราหมณ์ต้องฆ่าสัตว์ ๑๗ ชนิด ตั้งเสาไม้มะตูมเป็นหลักสำหรับผูกสัตว์ ๑๗ ชนิดนั้นแล้วฆ่าบูชาเทพเจ้า มีการดื่มน้ำศักดิ์สิทธิ์ในพิธีนั้นด้วย ทางพระพุทธศาสนาดัดแปลงใหม่โดยแปล วาชเปยยะ ซึ่งแปลว่า ดื่มน้ำ มาเป็น ดื่มน้ำคำ คือให้รู้จักพูดจาไพเราะต่อกัน ซึ่งเป็นที่ดื่มด่ำในอัธยาศัยไมตรีและในรสแห่งไมตรีจิตนั้น ไม่จำเป็นต้องฆ่าสัตว์ถึง ๑๗ ชนิดดังกล่าวเลย

๕. นิรัคคฬะ เป็นการบูชายัญที่ฆ่าหมดทั้งสัตว์และคน ถ้าจะแปลตามศัพท์ก็ว่า เป็นการบูชายัญชนิดนี้จะทำลายอุปสรรคทุกชนิด กล่าวคือ ในการแก้ไข หรือฝ่าฟันอุปสรรคนั้น ผู้บูชาต้องฆ่าทั้งมนุษย์และสัตว์สังเวยเทพเจ้า เพื่อให้เห็นอกเห็นใจจะได้ช่วยให้พ้นอุปสรรคนั้น ๆ เมื่อจะกล่าวโดยวิธีก็นับว่าใหญ่ยิ่งกว่ายัญแบบอัศวเมธ เพราะยัญแบบนี้มีคำเรียกรวมว่า สรรพเมธ คือ ฆ่าหมดทุกชนิด ทางพระพุทธศาสนาแปลความหมายใหม่อีกตามเคย คือ คำนี้อาจแยกเป็น นิร (ไม่มี) อัคคฬะ (ลิ่มหรือกลอน) จึงแปลความว่า ได้แก่การปกครองแผ่นดินให้อยู่เย็นเป็นสุขปราศจากโจรผู้ร้าย บ้านเรือนไม่ต้องลงลิ่มลงกลอนเปิดประตูทิ้งไว้ก็ไม่มีขโมย
พระเทพเวที(ป.อ.ปยุตฺโต)[๘] อธิบายว่า ยัญข้อที่ ๕ นี้เป็นผลของราชสังคหะ ๔ ข้อแรก หมายความว่าบ้านเมืองจะสงบสุขปราศจากโจรผู้ร้าย ไม่ต้องระแวงภัย บ้านเรือนไม่ต้องลงกลอน การแปลความหมายอย่างนี้ เมื่อแปลไปแล้วแทนที่จะถือว่าเป็นเกียรติที่ได้แปลใหม่ ทางพระพุทธศาสนากลับถือว่า ความหมายดั้งเดิมในโบราณกาลไม่ได้หมายให้เบียดเบียนกัน แต่พราหมณ์ชั้นหลังแปลความหมายผิดไปเอง กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ พระพุทธศาสนายกเกียรตินี้ให้แก่คนโบราณ[๙]
จะเห็นได้ว่าการบูชามหายัญทั้ง ๕ นั้นทางพระพุทธศาสนาก็ได้ใช้การตีความเรียกว่าการตีความโดยอรรถ (Idiomatic Interpretation) ไม่ตีความตามตัวอักษรหรือตามพยัญชนะตามศาสนาพราหมณ์เดิมที่ใช้กันอยู่ และได้ใช้การบูชายัญเดิมของศาสนาพราหมณ์ทั้ง ๕ วิธีนั้นมาเป็นหลักการสังคมสงเคราะห์ของทางราชการซึ่งผู้เป็นผู้ปกครองหรือเป็นผู้นำหมู่คณะจะพึงถือปฏิบัติเพื่อสงเคราะห์ผู้คนให้มีความร่มเย็นเป็นสุข เรียกว่าหลักราชสังหคหะ ๔ [๑๐]ประการคือ
๑. สัสสเมธัง บำรุงรักษาพืชพันธุ์ธัญญาหาร ส่งเสริมเกษตรกรรม ช่วยเหลือเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
๒. ปุริสเมธัง สงเคราะห์ผู้คนให้อยู่ดีมีสุข รู้จักสร้างคน รู้จักส่งเสริมสนับสนุนคน รู้จักใช้คนที่มีความรู้สามารถให้มาช่วยการงาน โดยถือคติ “ข่มคนที่ควรข่ม ยกย่องคนที่ควรยกย่อง”
๓. สัมมาปาสัง ผูกน้ำใจคนทั้งหลายไว้ด้วยไมตรี ด้วยการสงเคราะห์อนุเคราะห์ ด้วยการส่งเสริมอาชีพ
๔. วาจาเปยยัง พูดจาไพเราะ มีวาจาน่าประใจและน่าเชื่อถือ พูดแต่คำสมานสามัคคี เว้นคำที่จะเป็นชนวนให้เกิดความบาดหมางทะเลาะวิวาทกัน หรือคำที่ทำให้แตกสามัคคีกัน
๓. กระบวนทัศน์ยุคกลาง (Medieval Paradigm) แนวคิดของคนในยุคนี้เชื่อว่า โลกมีกฎเกณฑ์ แต่กฎเกณฑ์ไม่อาจให้ความสุขแท้แก่มนุษย์ได้ ความสุขที่แท้จริงหรือสุขถาวรมีอยู่ในโลกหน้า ในพระสูตรนี้จะพบว่า เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลได้รับการสั่งสอนหรือเรียกว่าการโปรดจากพระพุทธเจ้าแล้วก็ทำให้พระองค์เปลี่ยนพระดำริเดิมที่ทรงเชื่อโหราจารย์เรื่องการบูชามหายัญ ๕ แต่เชื่อในเรื่องกฎเกณฑ์คือกฎแห่งกรรมแทน และทรงเชื่อความสุขในโลกหน้าด้วย จะเห็นได้จากพระพุทธดำรัสที่ตรัสตอนท้ายว่า
“ ส่วนยัญใด มีการตระเตรียมน้อยไม่มีการฆ่า แพะ แกะ โค และสัตว์ชนิดต่าง ๆ ซึ่งบุคคลบูชาสืบตระกูลคุณอันพระพุทธเจ้าเป็นต้นผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้ดำเนินปฏิปทาอันชอบ ย่อมแนะนำยัญนั้น.ผู้มีปัญญาควรบูชายัญนั้น ยัญนั้นเป็นยัญมีผลมาก เมื่อบุคคลบูชายัญนั้นนั่นแหละ ย่อมมีแต่ความดี ไม่มีความชั่วช้าเลวทราม ยัญก็เป็นยัญอย่างไพบูลย์และเทวดาย่อมเลื่อมใส.

ความเชื่อเรื่องความดีความชั่วตามหลักพระพุทธศาสนาเรียกว่า กัมมสัทธา คือ เชื่อกรรม กฎแห่งกรรม กัมมวิบากสัทธา คือ เชื่อผลของกรรม เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนให้เห็นว่าการบูชายัญที่ดีถูกต้องนั้นต้องไม่มีการฆ่าการทำร้ายใครเลย นี้คือกฎเกณฑ์ใหม่ที่พระทรงแนะนำพระเจ้าปเสนทิโกศล ซึ่งสอดคล้องกับกระบวนทัศน์ยุคกลาง และพระองค์ทรงสั่งสอนว่า การบูชายัญแบบนี้ เทวดา ก็เลื่อมใสยินดีด้วย คำว่า “เทวดา” ในพระคาถานี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าความสุขที่สูงกว่าโลกนี้ยังมีอยู่อีก คือการไปเกิดเป็นเทวดาซึ่งเป็นสุคติภูมิตามหลักพระพุทธศาสนา เป็นความสุขที่ดีกว่าสูงกว่าการเป็นมนุษย์ เป็นการสะท้อนถึงเป้าหมายคือความสุขโลกหน้า

๔. กระบวนทัศน์ยุคใหม่ (Modern Paradigm) แนวคิดของคนยุคนี้เชื่อกฎเกณฑ์ และเหตุผล ในพระสูตรนี้ก็จะเห็นว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลเมื่อยอมรับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบูชายัญแบบเดิม เพราะพระองค์มีเหตุผล ทรงเชื่อในเหตุผล ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้คำว่า “ผู้มีปัญญา” ก็คือ คนที่มีเหตุผลนั้นเอง การบูชายัญเดิมเป็นการทำโดยไม่มีเหตุผลแต่เกิดจากความเชื่อความงมงาย ไม่ได้เกิดจากปัญญาจึงก่อให้เกิดปัญหาต่อคนและสัตว์จำนวนมาก แต่เมื่อพระองค์ทรงมีปัญญามีเหตุผลการกระทำ การตัดสินพระทัยในการกระทำก็มีเหตุผล ผลของการกระทำก่อให้เกิดความสงบสุขต่อพระองค์เองและต่อสังคมส่วนรวม

๕. กระบวนทัศน์หลังยุคใหม่หรือ หลังนวยุค (Post Modern Paradigm) แนวคิดของคนยุคนี้เป็นกระบวนทัศน์ที่ข้ามพ้นกระบวนทัศน์ทั้ง ๔ ดังกล่าวแล้ว ในพระสูตรนี้เป็นเหตุการณ์ถึงแม้ว่าผ่านมาสองพันห้าร้อยกว่าปีแล้วก็ตาม แต่เมื่อวิเคราะห์แล้วก็พบว่าสอดคล้องกับนวยุคนี้ เพราะอะไร เพราะว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทรงละทิ้งความเชื่อเดิมไม่ยึดมั่นถือมั่นในรูปแบบที่ถือปฏิบัติกันมาช้านานคือการบูชายัญที่นำไปสู่ความแตกแยก การฆ่าการทำลาย การฆ่ากันเพื่อสนองความสุขส่วนพระองค์เอง แต่รับรูปแบบการบูชายัญแบบใหม่เป็นการรื้อถอนที่ไม่ทิ้งของเดิม(ใช้ศัพท์หรือคำเดิม) แต่เปลี่ยนรูปแบบวิธีการใหม่ตามที่พระพุทธศาสนาได้สอนไว้ถือได้ว่าเป็นการส่งเสริมให้เกิดสันติภาพ สัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้บริหารผู้ปกครองกับประชาชนและสัตว์เดรัจฉานทั้งหลายด้วย พัฒนารูปแบบการปกครองและรูปแบบการดำเนินชีวิตใหม่ที่ดียิ่งกว่าเดิม
สรุป การตีความ “ยัญญสูตร” ด้วยกระบวนทัศน์ทั้ง ๕ ดังที่อธิบายมาข้างต้นนั้นเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการศึกษาหลักคำสอนด้วยการตีความ คือ ความพยายามล้วงลึกไปถึงเจตนารมณ์ของผู้แสดงข้อความนั้นๆ ไว้(พระพุทธองค์) โดยแยกแยะประเด็นออกมาอธิบาย ขยายความให้เห็นประจักษ์ชัด แล้วกำหนดความหมายอันแท้จริงของข้อความนั้นตามความเข้าใจของข้าพเจ้าโดยอาศัยการศึกษาค้นหาจากท่านผู้อื่นด้วย เป้าหมายสำคัญคือ มุ่งให้เกิดปัญญาและแก้ข้อกังขาเป็นรูปแบบหนึ่งของการรักษาคำสอนไว้ด้วย ส่วนผลอาจจะเกิดตามมาคือความศรัทธาที่เรียกว่า ตถาคตโพธิสัทธา คือ ความศรัทธาเลื่อมใสในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งถือว่าตรงกับวัตถุประสงค์ของการศึกษาวิชา ศาสตร์แห่งการตีความตามแนวพุทธศาสน์


[๑] ศาสตราจารย์ กีรติ บุญเจือ, “บทบาทของกระบวนทัศน์ในการสอนปรัชญา”ราชบัณฑิตยสถาน,ปีที่ ๓๐ ฉบับที่ ๑. (มกราคม-มีนาคม,๒๕๔๘), หน้า ๒๕๘.
[๒]ณ ภัทรดิศ สุริยกมลจินดา,“บทบาทของกระบวนทัศน์ในการสอนปรัชญา”ราชบัณฑิตยสถาน,ปีที่ ๓๐ ฉบับที่ ๑. (มกราคม-มีนาคม,๒๕๔๘), หน้า ๒๕๘.

[๓] ศาสตราจารย์ กีรติ บุญเจือ , พื้นฐานจริยศาสตร์วิชาชีพ (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ, ๒๕๓๘), หน้า๑๑.
[๔] ดร.สุวิญ รักสัตย์, “สาส์นจากบก.” บัณฑิตศาส์น มมร,ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๙(พฤษภาคม-ตุลาคม,๒๕๔๘), หน้า ๖.
[๕] ยัญญสูตร .สังยุตตนิกาย สคาถวรรค, ๑๕/๓๔๙-๓๕๑/๙๕-๙๗.
[๖] ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒. (กรุงเทพฯ:นานมีบ๊คส์พับลิเคชั่นส์, ๒๕๔๖), หน้า๘๙๗.
[๗] สุชีพ ปุญญานุภาพ,คุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนา (กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย,๒๕๓๓), หน้า ๗๘-๗๙.
[๘] พระเทพเวที(ประยุทธ์ ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลธรรม. (พิมพ์ครั้งที่ ๗.กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๕), หน้า๑๖๙.
[๙] รายละเอียดเนื้อหาทั้งหมดผู้สนใจอ่านได้จาก สุชีพ ปุญญานุภาพ,คุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนา (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๓), หน้า ๖๘-๘๑.
[๑๐] พระธรรมกิตติวงศ์(ทองดี สุรเตโช,ป.ธ.๙,ราชบัณฑิต). จริยธรรมสำหรับผู้บริหาร(หลักการและคำสอนทางพระพุทธศาสนากับการปกครองท้องถิ่น) . (กรุงเทพฯ: เอ๊กซเปอร์เน็ท, ๒๕๕๑), หน้า ๑๖๖.