วันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ที่มาของคำว่า ‘ในหลวง’

คำบางคำเราได้ยินบ่อย แต่ไม่รู้ที่มาที่ไปเช่นเดียวกันคำถามนี้ก็เกิดขึ้นกับนักศึกษาคือนายสุเมธ ตันติอธิมงคล สาขาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการ ต้องการรู้ในฐานะเป็นนักปรัชญาคือรักปัญญาอยากรู้ที่มาของคำว่า"ในหลวง" ซึ่งข้าพเจ้าได้ไปค้นและพบที่มาของคำว่า ‘ในหลวง’ จากหนังสือ สาส์นสมเด็จ ซึ่งข้าพเจ้าขอนำมาใส่ไว้ดังต่อไปนี้
"ตอบคำถามที่ 4 ว่า คำ “ใน” นั้น หมายความตรงข้ามกับคำ “นอก” คำว่า “หลวง” นั้น โดยลำพังคำชั้นเดิมหมายความว่า “ใหญ่โต” ดูเหมือนคำภาษาอังกฤษว่า Great เป็นคุณศัพท์ Adjective สำหรับประกอบกับคำที่เป็นนามศัพท์ ยกตัวอย่างดัง “เขาหลวง” หมายความว่าภูเขาที่ใหญ่กว่าเพื่อน “บางหลวง” หมายความว่าคลองต้นที่ใหญ่ยาวยิ่งกว่าเพื่อน “เมืองหลวง” หมายความว่าเมืองใหญ่ที่เป็นราชธานี “วังหลวง” หมายความว่าวังที่เป็นใหญ่ (อันเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน)
คำ “กรม” นั้น หมายความคนหมู่หนึ่งซึ่งจัดให้มีผู้บังคับบัญชาต่างหาก เช่น “กรมมหาดเล็ก” “กรมช่างสิบหมู่” และ “กรมอาลักษณ์” เป็นต้น คล้ายกับคำ Department หรือ Regiment ในภาษาอังกฤษ แต่ไทยเรียกว่า “กรม” ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ถึงกระทรวงเสนาบดี แต่โบราณก็เรียกว่า “กรม เช่น “กรมเมือง” “กรมวัง” “กรมคลัง” และ “กรมนา” เพิ่งเรียกว่า “กระทรวง” ในรัชกาลที่ 5
แต่ที่เอาคำ “หลวง” ประกอบกับคำ “ใน” เป็นนามศัพท์ เรียก “พระเจ้าแผ่นดิน” และเอาคำ “กรม” ประกอบกับคำ “ใน” เป็นนามศัพท์เรียก “เจ้านาย” ซึ่งมียศเป็นเจ้ากรมต่างหาก เคยเห็นแต่ในหนังสือแต่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้
มูลที่เกิดคำ “ในหลวง” และ “ในกรม” มีเงื่อนอยู่ในพงศาวดารพอจะคิดวินิจฉัยได้บ้าง
จะกล่าวอธิบายคำ “ในหลวง” ก่อน
ดูเหมือนมูลจะมาแต่วิธีปกครองของไทยตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ เอาสกุล Family เป็นหน่วย เรียกว่า “ครัว” อันเป็นที่ทำอาหารมาเรียก ก็พอคิดเห็นได้ คงเป็นเพราะแต่ละสกุลมากบ้างน้อยบ้างเอาเป็นกำหนดยาก แต่สกุล 1 คงต้องมีเรือนครัวไฟหลังหนึ่งสำหรับทำอาหารกินด้วยกัน จึงเอาครัวเป็นหน่วยด้วยประการฉะนี้ ก็การปกครองสกุลหรือครัว พ่อย่อมปกครองเป็นธรรมดา จึงเรียกผู้ปกครองขั้นต้นว่า “พ่อครัว” (คนภายหลังเอาคำพ่อครัวไปเรียกหัวหน้าพนักงานทำอาหาร Cook นั้นเป็นด้วยเข้าใจผิด)
ต่อมาถึงขั้นที่ 2 อาศัยเหตุที่สกุลต่างๆ อันตั้งบ้านเรือนอยู่ในท้องที่อันเดียวกัน มักเป็นญาติพี่น้องเกี่ยวดองกัน จึงให้พ่อครัวคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ปกครองสกุลทั้งหลาย รวมกันเรียกว่า “พ่อบ้าน”
ต่อมาอีกขั้น 1 หลายบ้านเช่นนั้นรวมกันเป็น “เมือง” มีกำหนดที่แผ่นดินเป็นอาณาเขตปกครองคั่นต้น (ในเอกสารต้นฉบับสะกดตามที่ให้ไว้ว่า คั่นต้น) เรียกผู้ปกครองว่า “พ่อเมือง” คงเป็นคนเกิดในเมืองนั้นเอง
แต่เมืองชั้นนี้เป็นเมืองน้อย ต้องขึ้นต่อเมืองใหญ่ต่อขึ้นไป จึงเรียกกันว่า “เมืองขึ้น”ต่อไปอีกขั้น 1 ถึงเมืองใหญ่ จะเรียกว่า “เมืองออก” หรืออย่างไรไม่ทราบแน่ แต่พระเจ้าแผ่นดินให้มีผู้มาอยู่ปกครอง ผู้ปกครองนั้นเรียกว่า “ขุน” เช่น ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด ได้บังคับบัญชาเหล่าเมืองน้อยที่เป็นเมืองขึ้นอย่างประเทศราชขึ้นต่อเมืองหลวงต่อขึ้นไปก็ถึงเมืองหลวงที่พระเจ้าแผ่นดินปกครอง เดิมเรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า “พ่อขุน” เช่น พ่อขุนรามคำแหง แต่สังเกตในศิลาจารึกสุโขทัย เรียกพระเจ้าแผ่นดินว่าพ่อขุน เพียงรัชกาลพระเจ้ารามคำแหง รัชกาลต่อมาจารึกเรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า “พระญา” หรือคำอื่น หาเรียกว่าพ่อขุนไม่
เหตุใดจึงเลิกใช้คำว่าพ่อขุน ก็ดูเหมือนจะพอคิดได้ ด้วยคำว่า พ่อขุน หมายความว่า “เป็นใหญ่ในสกุล” หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่งเป็นแต่ไทยด้วยกัน เมื่อขยายราชอาณาเขตออกไปปกครองถึงบ้านเมืองของชนชาติอื่นๆ มีพระเกียรติยศสูงกว่าพ่อขุน น่าสันนิษฐานว่าจะใช้คำ “ขุนหลวง” หมายความเป็นขุนใหญ่กว่าขุนอื่นทุกชาติทุกภาษา คือ “ราชาธิราช” ก็เป็นได้
แต่ไม่พบใช้คำ “ขุนหลวง” ในจารึกสุโขทัย ก็ไม่กล้ายืนยันว่าคำนี้ จะเกิดขึ้นในสมัยสุโขทัย เพราะเหตุนั้นแต่เมื่อถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา คำที่คนพูดกันเรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า “ขุนหลวง” ถ้าคำนั้นเกิดขึ้นสมัยสุโขทัย อาจจะเอาใช้ในกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อรวมเมืองเหนือกับเมืองใต้เข้าเป็นอันเดียวกันก็เป็นได้
แต่อย่างไรก็ตาม ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า “ขุนหลวง” กันแพร่หลายมาจนตลอดสมัย เรียกพระเจ้าแผ่นดินที่ยังเสวยราชย์อยู่ว่า “ขุนหลวง” เรียกพระเจ้าแผ่นดินที่ล่วงลับไปแล้ว ด้วยเอาคำอื่นประกอบเข้าข้างท้ายให้รู้ว่าองค์ไหน เช่น เรียกว่า “ขุนหลวงเสือ” “ขุนหลวงท้ายสระ” “ขุนหลวงบรมโกศ” “ขุนหลวงหาวัด” และ “ขุนหลวงพระที่นั่งสุริยามรินทร” แม้พระเจ้ากรุงธนบุรีก็เรียกกันว่า “ขุนหลวงตาก” เป็นที่สุด
คำว่า “ขุนหลวง” นี้เป็นมูลที่ตัดเอาคำ “หลวง” ข้างท้ายไปประกอบ ใช้หมายความว่า เนื่องด้วยพระเจ้าแผ่นดิน เช่นว่า “คนหลวง” “ช้างหลวง” “เรือหลวง” หมายความว่า คน ช้างและเรือ อันเป็นของขุนหลวง แล้วพูดลดคำ “ขุน” ให้คงเหลือเพียง 2 พยางค์โดยสะดวกปาก เลยเกิดคำ “ของหลวง” หมายความสรรพสิ่งบรรดาซึ่งเป็นของพระเจ้าแผ่นดิน แล้วใช้เลยไปโดยไม่สังเกตความ ถึงเรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า “ของหลวง”
คำนี้มีอยู่ในตำรากระบวนเสด็จประพาส ซึ่งพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้ประชุมข้าราชการครั้งกรุงศรีอยุธยา 20 คน ประชุมกันแต่งขึ้น (หอพระสมุดฯ พิมพ์ไว้ในหนังสือลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ภาคที่ 19) ในตำรานั้นเรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า “ของหลวง” เช่นว่า “ปลูกพลับพลารับเสด็จของหลวง” ดังนี้ เห็นจะใช้เรียกกันมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว
คำว่า “ในหลวง” ก็อยู่ในคำพวกเดียวกัน เห็นจะมาแต่ “ในวังขุนหลวง” หรือ “ในกิจการของขุนหลวง” แล้วก็เลยเรียกหมายความต่อไปถึงพระองค์พระเจ้าแผ่นดินตามสะดวกปากว่า “ในหลวง” อย่างเดียวกับคำว่า “ของหลวง”
แต่สังเกตเห็นใน “หนังสือลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ภาคที่ 19” ซึ่งกล่าวมาแล้วอย่างหนึ่ง ที่ใช้คำเรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า ‘ของหลวง” มีแต่ในตำราที่แต่งครั้งกรุงธนบุรี ถึงตำราที่แต่งในรัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์ ใช้คำว่า “ในหลวง” ทั้งนั้น หาใช้คำของหลวงไม่ อาจจะเป็นเพราะสั่งให้เลิกใช้คำ “ของหลวง” และใช้คำ “ในหลวง” แทนเมื่อสมัยนั้นก็เป็นได้
แหล่งอ้างอิง: http://www.thaigoodview.com/node/2826