วันพุธที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2552

บทความปรัชญาและศาสนา

ศาสนาคือฝิ่นของประชาชน?
ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
คาร์ล มาร์กซ์ ( Karl Marx : 1818 - 1883) นักปรัชญาสังคม ผู้เป็นต้นตำรับของแนวความคิดเรื่อง "สังคมนิยม" ( Socialism) และทฤษฎีการปฏิวัติระหว่างชนชั้น อันสั่นสะเทือนโลกเป็นเวลานานกว่าครึ่งศตวรรษ โดยมีประชากรที่อยู่ภายใต้การปกครองระบอบสังคมนิยมกว่า 1 ใน 3 ของประชากรโลก และประชากรที่เหลือทั้งหมดต่างก็ได้รับผลกระทบจากแนวคิดและทฤษฎีดังกล่าวทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่ผ่านมาได้แสดงทรรศนะที่เกี่ยวกับศาสนาไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง
คาร์ล มากซ์ เริ่มต้นวิเคราะห์ศาสนาด้วยคำพูดที่ว่า "การวิพากษ์วิจารณ์ศาสนา เป็นจุดเริ่มต้นของการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งมวล" ตามทรรศนะของมากซ์ ศาสนาคือรากเหง้าของวัฒนธรรมในสังคม ๆ หนึ่งเลยทีเดียว ถ้าหากว่าเราต้องการวิพากษ์วิจารณ์สังคมไม่ว่าเรื่องใด เราจะต้องรู้จักรากเหง้าของสังคมเสียก่อน และวิพากษ์วิจารณ์ศาสนาจึงเป็นภารกิจแรกของการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งปวง ในความเห็นของมาร์กซ์ ถ้าเราต้องการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เราจะต้องเปลี่ยนแปลงทรรศนะของผู้คนเกี่ยวกับศาสนาเสียก่อนเป็นอันดับแรก
มาร์กซ์ให้ความเห็นต่อไปว่า “มนุษย์เป็นผู้ที่สร้างศาสนา ศาสนามิได้เป็นผู้สร้างมนุษย์” ตามทรรศนะของมาร์กซ์ สังคมมนุษย์เป็นสังคมที่มีการกดขี่ทางชนชั้นมาตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ไม่ว่าจะเป็นสังคมทาสที่มีนายทาสกดขี่ทาส หรือสังคมศักดินาที่เจ้าขุนมูลนายกดขี่บ่าวไพร่ หรือสังคมทุนนิยมที่นายทุนกดขี่คนงานและกรรมกร แน่นอนว่าผู้ที่ถูกกดขี่ย่อมมีความทุกข์ และพยายามหาวิธีการเพื่อให้พ้นจากภาวะที่ถูกกดขี่นั้น ซึ่งมาร์กซ์เห็นว่าทางออกก็คือการปฏิวัติทางชนชั้น ผู้คนหาทางออกชั่วคราวไปพลาง ๆ ก่อน และศาสนาก็ยื่นมือเข้ามาเป็นทางออกชั่วคราวนั้น เพราะทุกศาสนาล้วนกล่าวถึง และอาสาพาคนออกจากความทุกข์ (อย่างน้อยในทางนามธรรม) ทั้งสิ้น จึงตอบสนองต่อความต้องการในส่วนลึกที่จะออกจากทุกข์ที่เป็นจริง (ทุกข์ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง) ของผู้คนได้เป็นอย่างดี ในแง่นี้ศาสนาจึงเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วงต่อทุกข์ที่เป็นจริงของผู้คน (จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม) ในยามที่ยังไม่มีทางออกที่ดีกว่านั้น แล้ว คาร์ล มาร์กซ์ ก็กล่าวคำที่สั่นสะเทือนศาสนจักรไปทั่วโลกด้วยคำพูดที่ว่า “ศาสนาคือฝิ่นของประชาชน” (Religion is the opium of the people) ในงานเขียนอันมากมายของเขานั้นมาร์กซ์ได้เอ่ยถึงประโยคดังกล่าวเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น แต่เป็นประโยคที่ถูกเอ่ยอ้างมากที่สุดประโยคหนึ่ง แม้เขาจะไม่ได้ขยายความประโยคนี้อย่างชัดเจนก็ตาม คำว่า “ฝิ่น” (opium) ในที่นี้อาจตีความได้สองอย่าง
อย่างแรกฝิ่นอาจหมายถึง ยาระงับปวด ที่แม้แต่ในวงการแพทย์ก็ใช้สำหรับระงับความเจ็บปวดเป็นการชั่วคราว ในแง่นี้ศาสนาคือยาระงับปวดซึ่งผู้คนที่ถูกกดขี่ใช้บริโภคเพื่อระงับความทุกข์ที่เป็นจริงเพียงชั่วครั้งชั่วคราว แต่ไม่อาจระงับความทุกข์ที่เป็นจริง (ทางสังคมการเมือง) ได้อย่างถาวร
อย่างที่สองฝิ่นอาจหมายถึง ยาเสพติด ที่ผู้คนใช้เสพเพื่อให้ลืมความทุกข์ที่เป็นอยู่จริงของตน และมีความสุขชั่วคราวไปในโลกแห่งอารมณ์และจินตนาการของตน แต่เมื่อเสพไปนาน ๆ ก็จะเป็นอันตรายต่อบุคคลนั้น และกลับจะเพิ่มทุกข์ให้มากขึ้นอีก ในแง่นี้ศาสนาคือยาเสพติด ที่ผู้ปกครองรัฐใช้มอมเมาประชาชน เพื่อให้ลืมความทุกข์ยากจากการถูกกดขี่เป็นการชั่วคราว (เช่น ทุกครั้งที่ไปวัด โบสถ์ หรือสุเหร่า ก็จะรู้สึกเพลิดเพลินชั่วคราว เพราะถูกชักจูงให้จินตนาการไปถึงโลกหน้า แต่เมื่อกลับมาก็ต้องเผชิญกับความทุกข์ที่เป็นจริงทางสังคมอีก) และลืมการปฏิวัติทางชนชั้นอันเป็นการแก้ปัญหาที่รากเหง้าของการกดขี่อย่างแท้จริง ตามทรรศนะของมาร์กซ์แล้วศาสนาจึงเป็นปัจจัยที่ทำให้เงื่อนไขของการปฎิวัติต้องถูกเลื่อนออกไป การวิพากษ์ศาสนาจึงเป็นภารกิจแรกที่ต้องทำในงานปฏิวัติทางชนชั้น
ในความคิดเห็นของมาร์กซ์ “การเป็น radical คือ การลงลึกถึงรากเหง้าของสิ่งทั้งหลาย แต่สำหรับมนุษย์แล้ว รากเหง้าก็คือตัวมนุษย์เอง” ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากเหง้า (radical) จะต้องเป็นผู้ที่เข้าใจและเข้าถึงรากเหง้านั้น ในความคิดเห็นของมาร์กซ์ รากเหง้าของมนุษย์มิใช่ ”พระเจ้า” หรือสวรรค์ หรืออำนาจศักดิ์สิทธิ์จากที่ไหน แต่รากเหง้าของมนุษย์ก็คือตัวมนุษย์เอง มาร์กซ์กล่าวต่อไปว่า “มนุษย์คือสิ่งสูงสุดสำหรับมนุษย์เอง” (Human is the supreme being for human) มนุษย์เป็นผู้ที่แสวงหาสติปัญญาและความจริงด้วยตัวมนุษย์เอง ไม่มีอำนาจดลบันดาลจาก “พระเจ้า” หรือสวรรค์ที่ไหนที่จะมาช่วยมนุษย์ได้ มนุษย์ต่างหากที่เป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของมนุษย์เอง ในแง่นี้มาร์กซ์จึงได้ชื่อว่าเป็นนักมนุษยนิยม (humanist หรือ secular humanist) เพราะเชื่อว่ามนุษย์เป็นศูนย์กลางของภารกิจและเป้าหมายทั้งหลาย
มาร์กซ์สรุปว่า “ปรัชญาคือมันสมอง และชนชั้นกรรมาชีพคือหัวใจของการปลดปล่อยมนุษย์” ปรัชญาคือการคิดวิเคราะห์ไปหาที่รากเหง้าของปัญหา วิพากษ์วิจารณ์ด้วยจิตใจที่อิสระ และให้โลกทรรศน์ที่เป็นระบบ จึงเปรียบเสมือนมันสมอง ส่วนชนชั้นกรรมาชีพคือผู้ที่ถูกกดขี่ภายใต้ระบบทุนนิยม เป็นคู่กรณีโดยตรงกับนายทุนที่กดขี่ จึงเป็นหัวใจของการปฏิวัติทางชนชั้นและการปลดปล่อยมนุษย์ออกจากระบบที่กดขี่นั้น
ส่วนศาสนาประเภท “เอกเทวนิยม” (Monotheism) ที่เชื่อในการมีอยู่ของพระเจ้าองค์เดียว เช่น ศาสนายูดาย ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม เป็นต้น และศาสนาประเภท “ พหุเทวนิยม ” (Polytheism) ที่เชื่อในการมีอยู่ของพระเจ้าหลายองค์ เช่น ศาสนาขงจื้อ ศาสนาชินโต และศาสนาพราหมณ์ฮินดู เป็นต้น อาจจะหวั่นไหวต่อคำวิพากษ์วิจารณ์อันสั่นสะเทือนโลกของ คาร์ล มาร์กซ์ เพราะเขาโจมตีแนวคิดในเรื่อง “ พระเจ้า ” โดยตรงว่าเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง และถูกผู้มีอำนาจนำไปใช้มอมเมาประชาชน ศาสนาจึงเป็นเครื่องมือของรัฐในการปกครองประชาชน
ที่มา: http://www.duangden.com/Buddhism/religion_opium.html
6/พ.ย./2550
พุทธศาสนาไม่ใช่จิตนิยม
จิตนิยม” (Idealism) เป็นแนวคิดทางปรัชญาที่มีมาแต่โบราณ เชื่อกันว่าเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยที่มนุษย์ค้นพบไฟ สามารถขับไล่สัตว์ใหญ่ให้ออกจากถ้ำ และยึดเอาถ้ำเป็นที่อยู่อาศัยโดยก่อไฟไว้ที่ปากถ้ำ ทำให้มนุษย์รู้สึกปลอดภัยและนอนหลับได้สนิท เมื่อนอนหลับสนิทมนุษย์ก็เห็นความฝันชัดเจน จึงเข้าใจเอาเองว่า “จิต” หรือ “วิญญาณ” ของตนออกไปท่องเที่ยวขณะที่ตนเองนอนหลับ
แนวคิดเรื่อง “จิตนิยม” ได้รับการพัฒนาต่อมาโดยนักปรัชญาทั้งในกรีซและอินเดีย และต่อมาได้มีอิทธิพลต่อศาสนาทั้งในตะวันตกและตะวันออก “จิตนิยม” เริ่มต้นจากแนวความคิดที่ว่า “สิ่งที่เป็นจริงจะต้องแน่นอนตายตัว เที่ยงแท้ นิรันดร ตลอดกาล สิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอนเป็นสิ่งที่ไม่จริง” เมื่อเป็นเช่นนี้โลกที่เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้จึงเป็นโลกที่ไม่จริงแท้ เพราะเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
โลกที่จริงแท้จะต้องเป็น “โลกแห่งนามธรรม” เท่านั้น เพราะ “นามธรรม” อยู่เหนือกฎเกณฑ์ทั้งปวงของวิชาฟิสิกส์ ทันทีที่เป็นรูปธรรมทุกสิ่งจะต้องตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของฟิสิกส์ทั้งสิ้น ซึ่งเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
“โลกแห่งนามธรรม” นี้ เพลโต (Plato) นักปรัชญากรีกเรียกว่า “โลกแห่งแบบ (Form)” ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูเรียกว่า “พรหมัน” หรือ “ปารมาตมัน” ส่วนศาสนาที่เชื่อเรื่องพระเจ้าเรียกว่า “อาณาจักรของพระเจ้า”
ตามทรรศนะของ “จิตนิยม” ชีวิตมนุษย์แบ่งออกเป็น ๒ ส่วนคือ ร่างกายและจิตใจ ร่างกายเป็นสมาชิกของโลกแห่งสสารวัตถุ ส่วนจิตใจเป็นสมาชิกของโลกแห่งนามธรรม
จิตใจทำหน้าที่ควบคุมบังคับบัญชาร่างกายให้แสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ไปตามที่จิตใจต้องการ ดังคำกล่าวที่ว่า “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” เมื่อร่างกายตายลงจิตหาได้ตายตามไม่ จิตซึ่งเป็นตัวตนที่แท้จริงของมนุษย์จะเป็นอิสระจากร่างกาย และออกจากร่างกายซึ่งเสื่อมสลายไป
ปัญหาต่อมาก็คือว่าเมื่อออกจากร่างกายแล้วจิตจะไปที่ไหน “จิตนิยมตะวันตก”เช่น ศาสนาที่เชื่อพระเจ้าองค์เดียว (Monotheism) ทั้งหลาย อธิบายว่าจิตจะตรงดิ่งไปยังที่ที่พระเจ้ากำหนดไว้ และรออยู่ที่นั้นจนกว่าจะถึง “วันสิ้นโลก” แล้วพระเจ้าจะทรงลงมาตัดสิน ใครทำดีก็ขึ้นสวรรค์ ใครทำชั่วก็ลงนรก
ในทางดาราศาสตร์แล้ว ดวงอาทิตย์จะมีเชื้อเพลิงเผาไหม้ตัวเองไปอีกประมาณ ๕,๐๐๐ ล้านปีก็จะดับ เมื่อถึงเวลานั้นโลกก็จะถึงกาลอวสาน ถ้าหาก “วันสิ้นโลก” หมายถึงวันดังกล่าวแล้ว จิตของคนตายจะต้องรอแกร่วอยู่นานโขทีเดียวกว่าจะได้รับการพิพากษา
สำหรับ “จิตนิยมตะวันออก” เช่น ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู อธิบายว่า จิตจะล่องลอยไปหาร่างกายใหม่ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลากลางคืนที่มีการปฏิสนธิ จิตจะวิ่งตรงเข้าสวมร่างกายใหม่นั้นทันที) พวกพราหมณ์เปรียบร่างกายเหมือนกับเสื้อผ้า เมื่อเราใส่จนเก่าขาดแล้วก็ทิ้งไป และหาเสื้อผ้าใหม่มาสวมใส่แทน แนวคิดเช่นนี้เรียกว่าทฤษฎี “จิตอมตะ” (อาตมัน) และเป็นที่มาของทฤษฎี “การกลับชาติมาเกิดใหม่” (rebirth) โดยต้นตอของทฤษฎีเกิดที่อินเดียก่อน แล้วต่อมาก็แพร่หลายไปยังดินแดนที่ได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมอินเดีย เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย เป็นต้น
เมื่อพุทธศาสนาเกิดขึ้นในอินเดีย พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธทฤษฎี “จิตอมตะ” ของพวกพราหมณ์ โดยชี้ให้เห็นว่าทฤษฎีดังกล่าวไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในธรรมชาติ และเสนอทฤษฎี “อนัตตา” ขึ้นมาแทน โดยทรงอธิบายว่า ร่างกายไม่สามารถตั้งอยู่ได้โดยปราศจากจิตใจ และจิตใจก็ไม่สามารถตั้งอยู่ได้โดยปราศจากร่างกาย ทั้งร่างกายและจิตใจนั้นสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออกพุทธศาสนายอมรับว่า จิตนั้นมีอยู่ แต่มีอยู่อย่างไม่เป็นตัวไม่เป็นตน เป็น “อนัตตา” (ความไม่มีตัวตนที่แท้จริง) ดังนั้นพุทธศาสนาจึงมิใช่ “จิตนิยม” ในความหมายที่กล่าวมาทั้งหมด
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๙๓๐๕. คอลัมน์หน้าต่างครอบครัว, หน้า ๖.

พุทธศาสนากับสสารนิยม
ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
สสารนิยม (Materialism) เป็นแนวคิดทางปรัชญาที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เนื่องจากมนุษย์ได้สัมผัสกับสสารวัตถุอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ต่อมาแนวคิดนี้ได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบทั้งในจีน อินเดีย และกรีซ โดยปรัชญา “สสารนิยม” ของจีนเห็นพ้องกับปรัชญา “สสารนิยม” (จารวาก) ของอินเดียที่ว่าโลกแห่งสสสารวัตถุที่เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้เป็นโลกที่จริงเพียงโลกเดียว
ส่วนปรัชญา “สสารนิยม” ของกรีซนั้น มุ่งแสวงหาสิ่งที่เรียกว่า “ปฐมธาตุ” (First Element) กล่าวคือ ตัวร่วมของสรรพสิ่งทั้งหลายในจักรวาล ทาเสส (Thales) บิดาแห่งปรัชญากรีกเห็นว่า “น้ำ คือปฐมธาตุ เพราะสามารถดำรงอยู่ได้ทั้งสถานะที่เป็นของแข็ง ของเหลว และก๊าซ” นักปรัชญากรีกท่านอื่น ๆ เห็นว่า ปฐมธาตุคือ ดินบ้าง ลมบ้าง หรือ ดิน น้ำ ลม ไฟ รวมกันบ้าง แต่นักปรัชญากรีกที่สำคัญอีกท่านหนึ่งคือ เดโมคลีตุส (Democretus) เห็นว่า “ปฐมธาตุ คือ อะตอม (atom)” ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกย่อยต่อไปอีกได้ แต่ทรรศนะเรื่อง “สสารนิยม” ก็ไม่อาจไปไกลได้มากกว่านี้นานนับสหัสวรรษ เนื่องจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของมนุษย์ยังมีอยู่อย่างจำกัด
หลังยุค “การฟื้นฟูศิลปวิทยาการ” (Renaissance) และ “การปฏิวัติอุตสาหกรรม” ในยุโรป นับตั้งแต่การค้นพบ “กฎแห่งแรงโน้มถ่วง” ของนิวตั้น (Newton) เป็นต้นมา วิทยาศาสตร์ได้เจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ปรัชญา “สสารนิยม” เจริญรุ่งเรือง แต่ก็ยังอยู่ในกรอบของ “ฟิสิกส์แบบนิวตั้น” (Newtonian Physics) กล่าวคือ เชื่อว่าอะตอมเป็นสิ่งที่แข็งตัวและอยู่นิ่งอยู่กับที่ อะตอมและสิ่งที่ประกอบขึ้นด้วยอะตอมจะเคลื่อนที่ไปก็ต่อเมื่อมีแรงภายนอกมากระทบมันเท่านั้น (Determinism) สรรพสิ่งเคลื่อนไหวไปอย่างเป็นระบบจักรกล (Machanism) และสรรพสิ่งสามารถทอนลงเป็นหน่วยย่อยได้ (Reductionism) ปรัชญาด้าน “สสารนิยม” ดังกล่าวมีอิทธิพลต่อวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแพทย์และสาธารณสุข และต่อวิชาการด้านสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐศาสตร์แม้กระทั่งในปัจจุบัน
“สสารนิยม” ตั้งต้นจากทรรศนะที่ว่า “สิ่งที่เป็นจริงจะต้องสัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย สิ่งที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่สามารถสัมผัสได้เป็นสิ่งที่ไม่จริง” เมื่อเป็นเช่นนี้โลกที่เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้จึงเป็นโลกที่จริงแท้เพียงโลกเดียว โลกแห่งนามธรรมมีเพียงในความคิด หรือความฝันของมนุษย์เท่านั้น มันจึงไม่มีอยู่จริง
ชีวิตของมนุษย์มีเพียงความจริงทางด้านสรีระร่างกายเท่านั้น สิ่งที่เรียกว่า “จิต” ไม่มีอยู่จริง จิตเป็นเพียงปฏิกิริยาทางชีวเคมีที่เกิดจากความสลับซับซ้อนของร่างกายเท่านั้น สรีระร่างกายของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างทางสมอง มีความละเอียดอ่อนและสลับซับซ้อนมาก มันซับซ้อนมากจากระทั่งเราคิดว่าเรามี “จิต” แต่จิตก็หามีอยู่ไม่ ความจริงของมนุษย์ก็คือความจริงทางด้านร่างกายเท่านั้น ดังนั้น ในแง่นี้มนุษย์จึงเป็นหุ่นยนต์ชนิดหนึ่ง แต่เป็นหุ่นยนต์ทางชีวเคมี ซึ่งอาจผ่าตัดเปลี่ยน “อะไหล่” ได้
แม้ว่าพุทธศาสนาจะมีทฤษฎีความรู้ (Epistemology) ที่ใกล้เคียงกับปรัชญา “สสารนิยม” กล่าวคือ พุทธศาสนายอมรับว่ามนุษย์สัมผัสและรับรู้โลกภายนอกโดยผ่านทางประสาทสัมผัส (หรือ “อายตนะ”) คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย (ที่รับรู้รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส) แต่พุทธศาสนาก็ยอมรับอีกเช่นกันว่ามนุษย์มีอายตนะที่ ๖ คือ “ใจ” (ที่รับรู้ “ความรู้สึกนึกคิด”) และ “ใจ” ของมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่สามารถพัฒนาให้สูงส่งได้จนกระทั่งสามารถพ้นทุกข์ได้
หลัก “ไตรลักษณ์” ของพุทธศาสนาข้อหนึ่ง คือ อนิจจัง (ความไม่เที่ยง) นับเป็นการปฏิเสธทฤษฎี “ฟิสิกส์แบบนิวตั้น” โดยสิ้นเชิง ในโลกทัศน์ของพุทธศาสนาทุกสิ่งเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่เหมือน “อะตอม” ของนิวตั้น ซึ่งจะเคลื่อนไหวก็ต่อเมื่อมีแรงผลักจากภายนอกเท่านั้น ตามทรรศนะของพุทธศาสนาทุกสิ่งจึงมิได้เคลื่อนไปอย่างจักรกล (Non-Mechanism) มิได้เคลื่อนไปเมื่อเกิดแรงกระทบจากภายนอกแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น (Non-Determinism) แต่อาจเคลื่อนที่ไปจากการเคลื่อนไหวภายใน หรือจากแรงจูงใจของ “จิตใจ” ได้ ดังนั้น “จิตใจ” จึงไม่สามารถทอนลงเป็นวัตถุหรือร่างกายได้ Non-Reductionism) ดังนั้น พุทธศาสนาจึงแตกต่างไปจากปรัชญา “สสารนิยม” อย่างเด่นชัด.
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๖ ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๙๓. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า ๖.

พุทธศาสนากับธรรมชาตินิยม
ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ธรรมชาตินิยม" (Naturalism) เป็นแนวคิดทางปรัชญาที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง ภายหลังจากการค้นพบทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ ๓ ทฤษฎี กล่าวคือ ทฤษฎี "มหากัมปนาท" (Big Bang Theory) ของเอ็ดวิน ฮับเบิ้ล (Edwin Hubbles) ทฤษฎี "วิวัฒนาการ" (Evolution Theory) ของชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) และทฤษฎี "ควอนตั้มฟิสิกส์" (Quantum Physics) ของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) นับเป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) ครั้งสำคัญทั้งในโลกของปรัชญาและวิทยาศาสตร์
ปรัชญา "ธรรมชาตินิยม" ตั้งต้นจากทรรศนะที่ว่า "สิ่งที่เป็นจริงซึ่งเรียกว่า สิ่งธรรมชาติ (natural object) จะต้องอยู่ภายใต้อวกาศและเวลา (space and time) เกิดขึ้นและดับลงโดยมีสาเหตุ และสาเหตุนั้นจะต้องเป็นสิ่งธรรมชาติด้วย" หมายความว่า นอกจากสสารแล้ว สิ่งที่มิใช่สสาร เช่น ปรากฏการณ์ (phenomenon) ที่เรียกว่า "จิต" ของมนุษย์ หากอยู่ภายใต้ระบบอวกาศและเวลาแล้ว ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นจริงด้วย นับเป็นการทลายข้อจำกัดของปรัชญา "สสารนิยม" (Materialism) ซึ่งยอมรับแต่เพียง "สสาร" (matter) ที่สัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เท่านั้น
ตามทฤษฎี "มหากัมปนาท" ต้นกำเนิดของจักรวาลเกิดจากการระเบิดครั้งใหญ่ (Big Bang) เมื่อประมาณ ๑๕,๐๐๐ ล้านปีที่แล้ว อันก่อให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่กลายเป็น "มวลสาร" (matter) ปริมาณมหาศาล แรงระเบิดได้ก่อให้เกิด "ช่องว่าง" หรือ "อวกาศ" (space) ขึ้น มวลสาร อวกาศ และความเร็ว ได้ก่อให้เกิด "เวลา" (time) ขึ้น จักรวาลได้ขยายตัวออกกลายเป็น "กาแล็กซี" (Galaxy) ซึ่งมีจำนวนกว่า ๑ ล้านล้านกาแล็ซี แต่ละกาแล็กซีประกอบด้วยดาวฤกษ์ (เช่น ดวงอาทิตย์) จำนวนกว่า ๑ ล้านล้านดวง "สุริยระบบ" (Solar System) ของเราอยู่ชายขอบ "กาแล็กซีทางช้างเผือก" (Milky Way Galaxy) ซึ่งอยู่ชายขอบของจักรวาลใหญ่อีกทีหนึ่ง เราจึงมิได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาลไม่ว่าในความหมายใด
ตามทฤษฎี "วิวัฒนาการ" หลังจากโลกได้เย็นตัวลงแล้ว ปฏิกิริยาทางเคมีบนผิวโลกทำให้เกิดไอน้ำ ไอน้ำที่ลอยขึ้นสูงถูกแรงดึงดูดของโลกดูดไว้ ก่อให้เกิดชั้นบรรยากาศและเมฆขึ้น ในที่สุดเมฆก็ตกลงมาเป็นฝน ทำให้เกิดลำคลอง แม่น้ำ ทะเล และมหาสมุทร เมื่ออนินทรียสาร (non-organic matter) ทำปฏิกิริยากับน้ำปริมาณมหาศาลในเวลาที่ยาวนานเพียงพอ สิ่งมหัศจรรย์คือ อินทรียสาร (organic matter) หรือ "ชีวิต" (life) ก็เกิดขึ้น จากโครงสร้างที่เรียบง่าย (เช่น สัตว์เซลล์เดียว) ชีวิตได้วิวัฒนาการสู่ความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยแยกเป็นทั้งอาณาจักรพืชและอาณาจักรสัตว์
ในอาณาจักรสัตว์ชีวิตได้วิวัฒนาการจากหนอนทะเล มาเป็นปลา สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์บก กระทั่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในที่สุด เมื่อชีวิตมีวิวัฒนาการที่ยาวนานเพียงพอ สิ่งอัศจรรย์ยิ่งกว่านั้นคือ "จิต" (mind) ก็เกิดขึ้น นักชีววิทยาสังเกตว่า รูปแบบของชีวิตนับตั้งแต่ปลาเป็นต้นมาล้วนแต่มีปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "จิต" เกิดขึ้นแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นปลาโลมาที่สามารถฝึกได้ สุนัขที่ซื่อสัตย์ต่อเจ้าของ ลิงที่เริ่มเรียนรู้การใช้เครื่องมือ และที่สำคัญที่สุดก็คือมนุษย์ "จิต" ของมนุษย์จึงเป็นสุดยอดของวิวัฒนาการของจักรวาลนี้ จากการคำนวณของนักธรณีวิทยา โลกมีอายุประมาณ ๕,๐๐๐ ล้านปี สิ่งมีชีวิตมีอยู่ในโลกนี้ประมาณ ๕๐๐ ล้านปี และมนุษย์เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ ๒ ล้านปีมานี้เอง
ทฤษฎี "วิวัฒนาการแบบก้าวกระโดด" (Emergent Evolution) บ่งบอกว่า เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านปริมาณมาถึงจุดหนึ่ง จะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านคุณภาพขึ้นอย่างฉับพลัน และในวิวัฒนาการของจักรวาลและโลก ได้เกิดวิวัฒนาการแบบก้าวกระโดดขึ้นอย่างน้อยที่สุด ๔ ครั้งใหญ่ๆ คือ การเกิดขึ้นของมวลสาร น้ำ ชีวิต และ "จิตใจ" พุทธศาสนาเห็นพ้องกับปรัชญา "ธรรมชาตินิยม" ที่ว่า "จิตใจ" ของมนุษย์มีอยู่ แต่มิใช่ "สิ่ง" (object) แต่เป็น "ปรากฏการณ์" (phenomenon) ที่ไม่เป็นตัวไม่เป็นตน เป็น "อนัตตา" (non-self) ร่างกายกับจิตใจจึงเป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน และอิงอาศัยกันอย่างแยกไม่ออก
ตามทฤษฎี "ควอนตั้มฟิสิกส์" หน่วยที่เล็กที่สุดที่เรียกว่า "อะตอม" (atom) นั้นมิใช่สิ่งที่แข็งตันและหยุดนิ่งอยู่กับที่ ดังคำอธิบายของ "ฟิสิกส์แบบนิวตัน" (Newtonian Physics) แต่กลับประกอบด้วยโปรตอน นิวตรอน อิเล็กตรอน และช่องว่างมหาศาลระหว่างประจุไฟฟ้าเหล่านั้น และอิเล็กตรอนก็วิ่งรอบนิวตรอนด้วยความเร็วสูง ทุกสิ่งจึงเคลื่อนที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่มีสิ่งใดหยุดนิ่งอยู่กับที่ สรรพสิ่งจึงเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงด้วยตัวของมันเองได้ ไม่จำเป็นต้องเกิดจากแรงผลักจากภายนอกแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ทรรศนะนี้นับเป็นการทลายข้อจำกัดของปรัชญา "สสารนิยม" ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ "ฟิสิกส์แบบนิวตัน" ซึ่งมองว่าสรรพสิ่งอยู่ภายใต้ระบบจักรกล (Mechanism) จะเคลื่อนไหวก็ต่อเมื่อมีแรงผลักจากภายนอกเท่านั้น (Determinism) และทุกสิ่งสามารถทอนลงเป็นหน่วยย่อยได้ (Reductionism) "สสารนิยม" จึงปฏิเสธการมีอยู่ของ "จิต" ว่าเป็นเพียงปฏิกิริยาทางชีวเคมีของร่างกายเท่านั้น มนุษย์จึงไม่แตกต่างไปจากหุ่นยนต์ นับเป็นข้อจำกัดของปรัชญา "สสารนิยม" ที่นำเอาระบบกลไกทางฟิสิกส์มาใช้อธิบายเรื่องของชีวิตซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ละเอียดอ่อนทางชีววิทยา การเกิดขึ้นของปรัชญา "ธรรมชาตินิยม" จึงทำให้ความรู้ทางปรัชญาและวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ มาประสานสอดคล้องเข้ากับพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งทฤษฎี "อนิจจัง" และ "อนัตตา" อย่างน่า ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๙๓๖๑. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า ๖.