วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2552

Postmodern


บทสำรวจแนวความคิดเกี่ยวกับหลังสมัยใหม่**

ธีรทัต ชูดำ*

บทคัดย่อ
ถ้าบริบทเป็นความจริงที่จำเป็นสำหรับการอธิบายหรือสร้างทฤษฎี สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับมนุษย์ไม่ว่าเป็นเหตุการณ์หรืออะไรก็ตามจึงไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นสิ่งเดียวกันหรือเหมือนกัน/สอดคล้องกันกับเนื้อหา/สาระสำคัญตามที่ทฤษฎีได้จัดลำดับเอาไว้ บริบทเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเลือกคำถามที่เป็นกุญแจสำคัญ คือ ทำไมการปฏิเสธหรือการละเลยบริบทจึงเป็นสาเหตุสำคัญแห่งการพังทะลายของทฤษฎีที่ "แนวคิดเกี่ยวกับหลังสมัยใหม่" ได้พูดถึงเกี่ยวกับการไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจครอบงำทางความคิด ไม่เห็นด้วยกับการใช้วิธีวิทยาแบบใดแบบหนี่งเพียงแบบเดียว ควร ให้ความสำคัญกับความหลากหลาย ทำให้เรารู้จักคิดแบบองค์รวม โดยเราต้องใช้วิธีวิพากษ์และอาศัยระบบความคิดและวิธีการวิเคราะห์ที่หลากหลายมากขึ้น

ความรู้ อำนาจและความจริงในทางวิทยาศาสตร์เป็นความรู้ที่ถูกจัดให้อยู่สูงสุดในความรู้ทั้งปวงในยุคสมัยใหม่ ซึ่งอ้างว่า ความรู้แบบวิทยาศาสตร์ คือ ความรู้ที่จริงที่สุด เพราะปลอดจากค่านิยม และเป็นอิสระจากอุดมการณ์ทางการเมือง แต่ยุคหลังสมัยใหม่นั้นความรู้ อำนาจและความจริงแบบวิทยาศาสตร์ไม่ได้เป็นความรู้ที่จริงที่สุด และไม่ได้ปลอดจากค่านิยมจริง เนื่องจากความรู้ อำนาจและความจริงนั้นมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับบริบทตลอดเวลา


บทนำ
ความแตกต่างระหว่างวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ดูเหมือนว่าดำรงอยู่และเป็นมาอย่างต่อเนื่อง และยังมีความกว้างขวางครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ มากมายหรือมากเกิน ที่จะเป็นเรื่องของความประจวบเหมาะ หรือเป็นความบังเอิญในทางประวัติศาสตร์[1] ความแตกต่างของศาสตร์ทั้งสองนี้มีอยู่เรื่องหนึ่งที่วิทยาศาสตร์ไม่สามารถยอมรับได้นั่นคือ การปลอดจากบริบท(context) แต่ในทางกลับกัน “บริบท” (Context) เป็นเรื่องที่มีความสำคัญในการทำความเข้าใจองค์ความรู้ทางสังคมศาสตร์ ทั้งนี้เนื่องจากบริบทมีบทบาทที่สำคัญในเรื่องปรัชญาของศาสตร์และที่มาของความรู้และทัศนะต่าง ๆ ของมนุษย์ ที่ปรากฏออกมาในรูปของความรู้ ความจริงและอำนาจ[2] นั้นเอง
มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากระหว่างวิทยาศาสตร์กับสังคมศาสตร์ ซึ่งวิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับวัตถุต่างๆ ในทางกายภาพ ขณะที่สังคมศาสตร์ศึกษาภาพสะท้อนตนเองของมนุษย์หรือศึกษามนุษย์ที่มีการสะท้อนภาพของตนเอง(Self-reflecting humans) และด้วยเหตุนี้เราจึงจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการตีความเกี่ยวกับสิ่งที่เราศึกษา หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ในทางสังคมศาสตร์นั้น วัตถุที่ศึกษาหรือสิ่งที่ได้รับการศึกษา (the object) กลับกลายเป็น ‘บุคคล’ หรือเป็น ‘ตัวตน’[3]
เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า การขึ้นต่อบริบทนั้นมิได้หมายถึงเพียงแค่การกระทำตามรูปแบบที่ถูกกำหนดไว้แล้วเท่านั้น หากมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังหมายถึงความสัมพันธ์แบบเปิดและเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่แน่นอนระหว่างบริบทต่างๆกับการกระทำหรือการปฏิบัติการต่าง ๆ และการตีความหรือการแปลความหมายด้วย[4] ทั้งนี้เป็นเพราะทักษะของมนุษย์นั้นเป็นเรื่องที่ขึ้นต่อบริบทเป็นเรื่องของความสัมพันธ์แบบเปิดและเป็นความสัมพันธ์ที่มีเงื่อนไขระหว่างบริบทต่างๆ กับการกระทำและการตีความ ซึ่งไม่สามารถที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ภายใต้ข้อกำหนดที่ขึ้นอยู่กับกฏเกณฑ์แบบวิทยาศาสตร์ได้ ความเป็นจริงที่เราเห็นได้อย่างชัดเจนที่ว่า “บริบท” จะต้องเป็นศูนย์กลางของสังคมศาสตร์มากขึ้นในยุคปัจจุบัน (ยุคหลังสมัยใหม่) และทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์หรือยุคความทันสมัย หรือ ความเป็นสมัยใหม่หรือสมัยใหม่นิยมจะต้องมีบทบาทน้อยลงหรือมีความเป็นศูนย์กลางน้อยลงกว่าเดิมในการอธิบายสังคมศาสตร์ (Social Science) เพราะฉะนั้นในการอธิบายปรากฏการณ์หรือการตีความหรือการปฏิบัติการทางสังคมศาสตร์ ก็ควรให้ทฤษฎีทางสังคมศาสตร์เป็นผู้อธิบายหรือเป็นผู้ตีความเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ควรที่จะละเลยวิธีการทางวิทยาศาสตร์เสียทีเดียว
จุดมุ่งหมายของบทความนี้เพื่อที่จะถอนอุดมคติในเชิงศาสตร์แบบเก่าของวิทยาศาสตร์ที่ให้ความสำคัญหรือเน้นย้ำถึงความสำคัญของทฤษฎีเชิงประจักษ์นิยม(Empirical) มากเกินไปจนละเลยในการอธิบายปรากฏการณ์หรือการตีความสังคมโดยไม่ให้ความสำคัญกับบริบท อย่างที่กล่าวแล้วว่า ความรู้ อำนาจและความจริงนั้นมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับบริบทตลอดเวลา
ดังนั้น บทความนี้เป็นการสำรวจแนวคิดเกี่ยวกับหลังสมัยใหม่เบื้องต้นเท่านั้น เพื่อเสนอว่าหลังสมัยใหม่พูดถึงอะไรบ้าง มีแนวคิดอย่างไรและช่วยเป็นแนวทาง/วิธีการหาความรู้และความเป็นจริงในการอธิบายหรือวิพากษ์ปรากฏการณ์ทางสังคมได้มากขึ้น ซึ่งอิทธิพลของความคิดสำนักหลังสมัยใหม่นิยมนี้ ได้กล่าวไว้อย่าง ท้าทายตามแบบฉบับและลีลาของสกุลนี้ว่า “ความรู้ทุกอย่างล้วนแล้วแต่เป็นวาทกรรม[5] ทั้งสิ้น”
ในช่วงระหว่างทศวรรษที่ 1960 ความหลากหลายของกระบวนทัศน์ทางทฤษฎีสังคมใหม่ ๆ ได้ปรากฏตัวขึ้นมามากมาย ซึ่งได้ทำให้เกิดข้อสงสัยในเรื่องของปริมาณและคุณภาพเกี่ยวกับทฤษฎีเหล่านี้ ในบรรดาทฤษฎีทางสังคมและงานวิจัยทางสังคมที่ผุดขึ้นมานี้รวมไปถึงแนวคิดทางด้านประสบการณ์นิยม[6]และปฏิฐานนิยม[7] (empiricist and positivist) ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดความไม่พอใจเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับระเบียบวิธีและทฤษฎีต่าง ๆ ที่ครอบงำอยู่ในช่วงเวลานั้น ทำให้มีการแสวงหาวิธีการที่เป็นทางเลือกและแนวคิดเกี่ยวกับทฤษฎีและการวิจัยทางสังคมไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่ของศาสตร์ต่างๆ เช่น ปรากฏการณ์วิทยา, วิธีการชาติพันธุ์วิทยา, โครงสร้างนิยม, มาร์กซิสม์, สตรีนิยม, ทฤษฎีวิพากษ์และลัทธิหลังสมัยใหม่ กระบวนทัศน์เหล่านี้ได้ให้แนวความคิดใหม่ ๆ ซึ่งอาจกล่าวว่าเพียงพอที่จะอธิบายคุณสมบัติของสังคมร่วมสมัย และพอที่จะให้แรงบันดาลใจและแนวทางสำหรับการเปลี่ยนแปลงมันได้
คำว่า หลังสมัยใหม่[8] (Post-modernity) มีใช้ในวงวิชาการของนักมนุษยศาสตร์และนักสังคมศาสตร์มาตั้งแต่คริสตทศวรรษที่ 1950 แต่ไม่มีใครกล้าหาญพอที่จะให้ความหมายและคำจำกัดความเชิงทฤษฎีอย่าง ชัดเจน [Nietzche, Hcidegger, Derida, Rorty, Lyotard, Foucault,] อย่างไรก็ตาม เนื้อหาที่พอสรุปได้ของกลุ่มหลังสมัยใหม่คือ การตั้งคำถามต่อวิธีการมองสรรพสิ่งในโลกนี้ ตามสายตาและการตีความของนักคิดสำนักทฤษฎีเก่า ๆ ว่าถูกต้องหรือไม่ สิ่งที่เรียกว่า “ความเป็นจริง” (reality) แท้จริงแล้ว คือ สิ่งที่เป็นจริงหรือไม่?[9] ดังนั้น ความรู้ ความจริงแบบวิทยาศาสตร์นั้นเป็นความจริงแท้หรือไม่ ?
อย่างไรก็ดี แนวคิดแบบหลังสมัยใหม่ในทางสังคมศาสตร์มิได้มีความสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่เป็นแนวคิดที่หลากหลาย โดยเราสามารถสืบค้นผลงานทางวิชาการหรือแนวคิดหลังสมัยใหม่นี้ได้จากงานเขียนของ Jean-Francois Lyotard, Richard Rorty, Jacques Derrida (ปรัชญา) Habermas, Jean Baudelaire (ปรัชญาการเมือง) Roland Barthes, Julia Kristeva (ทฤษฎีวรรณคดี) David Harvey, Perry Anderson (มาร์กซิสต์) Nancy Fracer (เฟมินิสต์) Charles Jencks, Robert Ventury (สถาปัตย์) John Cage (ดนตรี) ฯลฯ[10] ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่คิดค้น/ผลิตผลงานด้านหลังสมัยใหม่มาโดยตลอด
ผู้เขียนมีมุมมองที่แตกต่างจากความรู้แบบวิทยาศาสตร์ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น โดยเชื่อว่า ความรู้และความจริงมีบางอย่างที่เชื่อมสัมพันธ์กับบริบทอย่างแน่นอน[กล่าวคือ ที่ไม่มีอยู่เป็นอยู่ด้วยตนเอง แต่ขึ้นอยู่กับสิ่งอื่น และสัมพันธ์กับสิ่งอื่นโดยการเปรียบเทียบ] บริบทอาจจะเป็นสถานที่/เวลาหรือเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง/แนวคิดใดแนวคิดหนึ่ง คุณค่าหรือค่านิยมใดค่านิยมหนึ่ง ดังนั้น ความรู้และความจริงตามแบบวิทยาศาสตร์จึงไม่ได้เป็นความจริงที่สุดหรือเป็นความจริงที่สัมบูรณ์ (Absolute)[11] ตายตัว เนื่องจากความรู้และความจริงแบบวิทยาศาสตร์เกิดจากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ (Process of Scientific) ฉะนั้น บริบทอย่างหนึ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้อง/เชื่อมสัมพันธ์หรือสนับสนุนในกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ นั่นคือ สถานที่/เวลา/แนวคิดใดแนวคิดหนึ่งค่านิยม/คุณค่าและก่อให้เกิดผลลัพท์ออกมาเป็นวาทกรรมทางวิทยาศาสตร์(Science Discourse) จากแนวคิดของ ผู้เขียนที่กล่าวไว้ข้างต้นได้สอดคล้องกับแนวคิดของอานันท์ กาญจนพันธุ์[12]โดยให้ความสำคัญกับบริบทในการศึกษาทางสังคมศาสตร์
อย่างไรก็ตาม มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) ได้กล่าวถึง ลักษณะที่สำคัญของความจริงในสังคมสมัยใหม่ไว้ 5 ประการด้วยกัน คือ[13] ประการแรกความจริงกระจุกตัวอยู่ในแวดวงของวาทกรรมทางวิทยาศาสตร์ และสถาบันที่ผลิตความจริง ประการที่สองความจริงยังขึ้นอยู่กับความคงที่ทางเศรษฐกิจและการกระตุ้นเพื่อให้เกิด กิจกรรมทางการเมือง ประการที่สามความจริงเป็นวัตถุ (the object) ซึ่งแสดงออกในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีการบริโภคและเผยแพร่กัน ประการที่สี่ความจริงเป็นสิ่งที่ถูกผลิตและส่งผ่านต่อไปภายใต้ความควบคุมขององค์กรทางการเมืองและเศรษฐกิจเป็นหลัก (มหาวิทยาลัย, สื่อสารมวลชน, งานเขียน, กองทัพ) และประการสุดท้ายความจริงเป็นประเด็นปัญหาของการถกเถียงทางการเมืองและการเผชิญหน้าทางสังคม (การต่อสู้ทางอุดมการณ์) ทั้งหมด
การที่ Foucault ได้กล่าวถึงลักษณะที่สำคัญของความจริงในสังคมสมัยใหม่ไว้ข้างต้นนั้น แสดงให้เห็นว่าแนวคิดของ Foucault ยอมรับความรู้ อำนาจและความจริงอิงอยู่กับบริบทนั้นเอง อย่างไรก็ดี ผู้เขียนมีความคิด เช่นเดียวกับแนวคิดของ Foucault ในเรื่อง ความรู้ อำนาจและความจริงดังที่กล่าวมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดจากกระบวนการวิเคราะห์หรือสังเคราะห์จากระบบแนวคิดที่หลากหลายไม่ยึดติดกับแนวคิดใดแนวคิดหนึ่งเพียงแนวคิดเดียว เท่านั้น [ความคิดติดหล่ม] ผลลัพธ์ที่ออกมานั้นคือ ความรู้ อำนาจและความจริงที่หลากหลายหรือก่อให้เกิดวิธีการศึกษาที่หลากหลายมากกว่าวิธีการทางวิทยาศาตร์ ซึ่งวิธีการเหล่านี้มีอิทธิพลต่อปัจจัยอี่น ๆ ที่เกิดจากการรับรู้ของสมองและยอมรับการดำรงอยู่ของสภาวะหนึ่งและยอมที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่อีกสภาวะหนึ่งได้ เช่นเดียวกัน

หลังสมัยใหม่คืออะไร
อย่างไรก็ตาม เราคงไม่สามารถหาวันเวลาที่แน่ชัดของการกำเนิด “หลัง[14]สมัยใหม่” ว่าเกิดขึ้นเมื่อใด ประมาณว่าในช่วงระหว่างทศวรรษที่ 60 ถึง 70 ได้เริ่มมีการพูดถึงประเด็นในเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในแวดวงของวรรณกรรมและศิลปะ ในขณะที่ Habermas พยายามชี้ให้เห็นว่าจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ “ภาวะสมัยใหม่” อยู่ที่ Nietzsche แนวคิดหลายๆ เรื่องของเขาได้มีอิทธิพลต่อนักคิดในสมัยหลังไม่ว่าจะเป็น Foucault, Derrida, Heidegger หรือ Bataille[15] ตลอดจน Baudelaire และ Lyotard
คำว่า “Postmodern” เราสามารถแยกคำออกได้เป็นสองส่วน คือ “post” กับ “modern” คำว่า “post” นั้นโดยทั่วไปหมายความว่า “หลัง หรือ ล่วงเลย” ในบทความของ Lyotard ที่ชื่อ Note on the Meaning of “Post” ได้พยายามชี้ให้เห็นว่าคำว่า “post” ในที่นี้ [postmodern] ไม่ได้หมายถึง กระบวนการที่เกิดขึ้นซ้ำ(movement of repetition) แต่หมายถึงวิธีการ (Procedure)[16] อันเป็นการตอบโต้ข้อกล่าวหาของ Habermas ว่า postmodern ก็คือ พวก neoconservative ซึ่งได้ปฏิเสธภาวะสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นหรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การไม่ยอมรับโครงการยุคภูมิปัญญา/ยุคแห่งความรู้แจ้ง/ยุคแสงสว่าง(the Project of Enlightenment)[17] นั้นเอง
หลังสมัยใหม่นิยมเป็นคำที่มีหลายความหมาย ซึ่งไม่ได้มีขึ้นมาโดยตัวของมันเอง แต่มีขึ้นมาจากการเทียบเคียงกับสมัยใหม่ แต่พวกเขาก็ยอมรับการตีความหรือทัศนะของสังคมในปัจจุบันอยู่บ้าง และนักคิดในสกุลนี้ต่าง ๆ ก็เสนอแนวคิดที่แตกต่างกันโดยมีรายละเอียดดังนี้
ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ กล่าวว่าโดยรวมว่า “Postmodern” เป็นคำคุณศัพท์ แปลว่า “หลังสมัยใหม่” คำนี้ใช้พูดถึงเรื่อง 3 ประการที่แตกต่างกัน คือ[18] ประการแรกสภาพสังคม หมายความว่า สังคมร่วมสมัยทุกวันนี้ ตกอยู่ในสภาพที่เรียกว่า สภาวะหลังสมัยใหม่ (Postmodern condition) ซึ่งเกิดความแปรปรวนขึ้นในระบบคุณค่า เกิดความพร่าเลือนขึ้นในพรมแดนที่ใช้แยกแยะสิ่งต่างๆ เช่น วัฒนธรรมบริโภคนิยมร่วมสมัยที่ผูกมากับระบบ ทุนนิยม ประการที่สองแนวทางการสร้างสรรค์ศิลปะวรรณกรรม ซึ่งเป็นแนวคิดหนึ่งที่ลุกขึ้นมาท้าทายคติและ รสนิยมทางสุนทรีย์ของสังคมสมัยใหม่ เช่น เรื่องการแบ่งชั้นศิลปะเป็นสูงกับต่ำ และประการสุดท้าย แนวทางวิชาการด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ แนวนี้จะเรียกอย่างเคร่งครัดแล้ว คือ “หลังโครงสร้างนิยม” ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัวตรงที่มักจะเสนอมุมมองใหม่ๆ ที่เกิดจากการตั้งคำถามต่อพวกทฤษฎีและองค์ความรู้ทั้งหลายที่เชื่อถือกันมานานตั้งแต่ยุคแห่งความรู้แจ้ง (Enlightenment) และยังคงมีอิทธิพลอยู่ในปัจจุบันด้วย
Ihab Hassan ได้ให้คำจำกัดความ “หลังสมัยใหม่” ว่าเป็น “ยุคที่ไม่สามารถกำหนดได้” ซึ่งเขาหมายถึง “อาณาบริเวณที่วาทกรรม (discourse)” ต่างๆ ทำหน้าที่ของมัน โดยที่ความหลากหลายของแนวคิด (concept) จะช่วยให้เราตระหนักถึง “รหัส” (sign) ที่อยู่รอบๆ ตัวของเรา โดยเฉพาะที่ปรากฏอยู่ในภาษา (language) Hassan ได้พยายามรวบรวม “ลักษณะ” ของแนวคิดแบบหลังสมัยใหม่ที่ปรากฏอยู่ในงานด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้าน ภาษาศาสตร์ ทฤษฎีวรรณกรรม ปรัชญา มานุษยวิทยา รัฐศาสตร์ ตลอดจนเทววิทยา จากนักคิด นักเขียนหลายๆ กลุ่มทั้งจากยุโรป และอเมริกา โดยทำการเปรียบกับรูปแบบที่ปรากฏในงานของสมัยใหม่นิยม[19] จากการรวบรวมของ Hassan แนวคิดของหลังสมัยใหม่ มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดจากสมัยใหม่ ดังนี้

ตารางเปรียบเทียบสภาวะสมัยใหม่กับสภาวะหลังสมัยใหม่ตามแนวคิดของ Hassan ดังนี้
Modern (สมัยใหม่)
Postmodern (หลังสมัยใหม่)
Unity (ความเป็นหนึ่ง)
Difference (ความแตกต่าง)
Absolute (ความสัมบูรณ์)
Relative (ความสัมพัทธ์)
Continuity (ความต่อเนื่อง)
Discontinuity (ความไม่ต่อเนื่อง)
Stability (ความมั่นคง)
Dispersion (การกระจัดกระจาย)
Order (ระเบียบ)
Disorder/chaos (ไร้ระเบียบ)
จากตารางการเปรียบเทียบตามแนวคิดของ Hassan ดังกล่าว อาจสรุปได้ว่า ลักษณะของหลังสมัยใหม่มีลักษณะที่สำคัญ คือ เป็นลักษณะของความแตกต่าง, เป็นลักษณะของความสัมพัทธ์, เป็นลักษณะของความไม่ต่อเนื่อง, เป็นลักษณะของการกระจัดกระจายและเป็นลักษณะของความไร้ระเบียบนั้นเอง
ในงานเขียนของ Lyotard ที่ชื่อ The Postmodern Condition: A Report of Knowledge[20] Lyotard ได้อธิบายการใช้คำว่า “หลังสมัยใหม่” ของเขาว่า เป็นเรื่องของการตั้งคำถามและข้อสงสัยอย่างไม่หยุดยั้งต่อ “อภิพรรณนา” (metanarratives) ที่อยู่รอบ ๆ เสมือน “เกมทางภาษา” (Language games) [ไม่ว่าเราจะรับรู้การดำรงอยู่ของมันหรือไม่ก็ตาม] ซึ่งมีมาในสังคมแบบสมัยใหม่ (modern society) คำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ ทางการเมือง หรือทางศิลปะ ที่กำหนดความถูกและผิด การชอบหรือไม่ชอบด้วยเหตุผล ได้สูญเสียความชอบธรรม ในการตัดสินไปเสียแล้ว
แม้แต่ มิเชล ฟูโกต์(Michel Foucault) ได้กล่าวถึงความรู้สึกของเขาที่มีต่อหลังสมัยใหม่ไว้ แต่ก็ดูเหมือนว่าจะก่อให้เกิดความสับสนมากกว่า โดยกล่าวว่า “สิ่งที่เราเรียกว่า ภาวะหลังสมัยใหม่? ข้าฯ ก็คงพูดได้ว่าข้าฯ เองก็มีปัญหาในการตอบคำถามอยู่… เพราะว่าข้าฯ เองก็ยอมรับว่าไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ภาวะหลังสมัยใหม่ หมายความถึงอะไรกันแน่และยังไม่ค่อยชัดเจนนักว่ามันหมายถึงอะไร… โดยเฉพาะคำว่า “สมัยใหม่”[21]
Lyotard (เลียวทาร์) กล่าวว่า "หลัง" ของ "ลัทธิหลังสมัยใหม่" ไม่ต้องการสัญญานว่ามันได้มาถึง ณ จุดจบ แต่มันเป็นการได้มา ณ จุดเริ่มต้นของความเป็นสมัยใหม่. แล้วอะไรคือ ความเป็นสมัยใหม่อันใหม่ ที่เริ่มปรากฏตัวขึ้นมาจากการเมืองหลังสมัยใหม่อันนี้[22] และเขายังกล่าวอีกว่า ความหมายของคำว่า "หลัง" สำหรับสกุลหลังสมัยใหม่นั้นก็คือ แบบเดียวกับพวก “Ana” ในชุดของคำจำพวกการวิเคราะห์ (Analysis) การแตกส่วนทั้งหมดเป็นส่วน ๆ เพื่อเข้าไปตรวจสอบลักษณะ การทำหน้าที่ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน] การระลึกเหตุการณ์ในอดีตได้ (Anamnesis), การนำขึ้นมาให้เห็น (Anagogy), การจับรูปขึ้นมาใหม่ (Anamorphosis) ซึ่งเป็นการเสริมเติมให้กับ”การลืมจุดตั้งตั้น/การลืมสิ่งที่ผ่านมา” (Initial forgetting)[23] ไม่ว่าเราจะยอมรับในสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและกำลังจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่เป็นความรู้สึกที่ร่วมกันของคนทั้งหลายก็คือ ความสับสน ลังเล ไม่แน่ใจ ทางเลือกที่เราจะมีได้ก็คือ ปล่อยให้มันเป็นไป (Let anything go) หรือทำความเข้าใจกับสิ่งต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นและกำลังที่จะเกิดขึ้น โดยมีเป้าหมายที่ไม่ใช่การเข้าใจในทุก ๆ สิ่ง แต่เพื่อการทำความเข้าใจกับตนเอง[24]
อานันท์ กาญจนพันธุ์ กล่าวว่า ทฤษฎีหลังสมัยใหม่เขาไม่สนใจในคำตอบ คำตอบนั้นเองเป็นเรื่องของเรา ปัญหาอยู่ที่ว่าเรามีวิธีคิดและมีมุมมองที่จะสร้างความเข้าใจเหล่านั้นหรือเปล่า เพราะสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปมีความหลากหลายซับซ้อนมากมาย ถ้าเราให้คำตอบฟันธงลงไปก็อาจผิดที่ผิดทางได้ จึงกล่าวได้ว่า อานันท์ กาญ- จนพันธุ์ ได้เน้นในเรื่องของความหลากหลาย[25]
ไชยยันต์ ไชยพร ได้อธิบายว่า แนวคิดหลัง-สมัยใหม่นิยม คือ ภาพสำรวจโดยรวมของวิกฤตปัจจุบันที่กำลังสั่นคลอนรากฐานของความเป็นสมัยใหม่ในโลกตะวันตก เทคโนโลยีทันสมัยต่าง ๆ ในปลายยุคทุนนิยมได้เปลี่ยนทัศนะที่เรามีเกี่ยวกับโลกในเชิงเวลาและสถานที่ รวมทั้งแก้ไขความเข้าใจมโนทัศน์เรื่อง อัตลักษณ์และประวัติศาสตร์[26]
จากแนวคิดของนักวิชาการทั้งหมดที่กล่าวมา อาจสรุปได้ว่า หลังสมัยใหม่เป็นกระแสความคิดที่ยังคลุมเคลือและไม่ชัดเจนมากนักว่าเป็นการอธิบายถึงอะไรกันแน่แม้แต่มิเชล ฟูโกต์เองก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่ามันหมายถึงอะไร ความคลุมเคลือนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในระดับทฤษฎีหากแต่ยังรวมไปถึงการดำรงอยู่ของ ภาวะหลังสมัยใหม่ ในฐานะที่เป็นความจริงทางสังคมด้วย แต่ความคลุมเครือและกำกวมนี่เองที่ถือว่าเป็นคุณลักษณะสำคัญของหลังสมัยใหม่เอง เพราะหลังสมัยใหม่เป็นกระแสความคิดที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย, แยกย่อย, กระจัดกระจาย ไม่ได้มุ่งเสนอทฤษฎีที่เป็นระบบระเบียบในการอธิบายสังคม, ไม่มีระเบียบวิธีที่แจ่มชัด, ไม่มีอุดมการณ์เพื่อวันข้างหน้า, ไม่ได้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงโลก และยิ่งไม่ได้พูดถึงลักษณะของสังคมที่พึงปรารถนา แม้แต่จะบอกว่าหลังสมัยใหม่เกิดขึ้นเมื่อไร ก็ยังเป็นสิ่งที่นักคิดในกลุ่มนี้หลายรายปฏิเสธด้วยซ้ำไป[27]

การเปลี่ยนแปลงที่หลากหลายสู่ความเป็นหลังสมัยใหม่
ในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านจากยุคสมัยใหม่(Modern) สู่ยุคหลังสมัยใหม่ (postmodern) หรือในช่วงต้น ทตศวรรษที่ 1960 มีนักสังคมศาสตร์หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ภาวะทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม กำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ เป็นยุคที่ปัจเจกชนสูญเสียอัตลักษณ์ (Identity) ของตนไป เนื่องจากสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นักสังคมวิทยาบางคนตั้งข้อสังเกตว่า ยุคหลังสมัยใหม่ (Post-modernity) กำลังเข้ามาแทนที่ยุคสมัยใหม่(modern) อันเป็นยุคที่สมมติฐานเกี่ยวกับความสมานฉันท์ในค่านิยมว่าด้วย ความเป็นเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์ และอิสรภาพทางการเมืองกำลังถูกท้าทาย[28]
แนวความคิดสำนักหลังสมัยใหม่มีอิทธิพลกับสภาพเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรมที่เป็นกระแสสังคมในมุมกว้าง นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องโพสท์โมเดิร์นมักกล่าวอยู่เสมอว่า แนวคิดสำนักยุคหลังสมัยใหม่ เป็นรูปแบบทางวัฒนธรรมของยุคสมัยใหม่ หรืออาจกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า ยุคหลังสมัยใหม่ ก็คือ ภาวะที่ขัดแย้งกับกระแสของยุคสมัยใหม่นั้นเอง ซึ่งเป็นสภาวะสังคมทุนนิยมมีการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมจนเกิดสังคมอุตสาหกรรมขึ้นและพัฒนาข้ามพ้นสังคมก่อนยุคสมัยใหม่
ดังนั้น แนวความคิดของสำนักหลังสมัยใหม่มีผลกระทบอย่างยิ่งต่อความเชื่อมั่นในการศึกษาหาความรู้ทางสังคมศาสตร์(Social Science) ซึ่งมีลักษณะการเป็นแบบขี้สงสัย (Skeptical Post-modernism) ที่เชื่อว่าไม่มีความจริง (truth) และสิ่งที่เหลืออยู่คือ การเล่นคำและความหมาย[29] และการเป็นสำนักยุคหลังสมัยใหม่แบบพ่ายแพ้ (Defeatist Post-modernism) เห็นว่าการอ้างถึงความจริง ก็คือ มายาคติ (Myth) เรื่องหนึ่ง[30]เท่านั้นเอง หรือรวมไปถึงการอ้างความเป็นไปไม่ได้ของการมีสังคม เนื่องจากสังคมจะถูกสถาปนาผ่านทางวาทกรรม (Discourse) ที่มีความลื่นไหลอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น จึงทำให้เกิดการสั่นคลอนในการแสวงหาความรู้ทางสังคมศาสตร์อย่างมากเช่นกัน
Abercrombie, Hill and Turner ได้อธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงที่เข้าสู่สภาพของยุคหลังสมัยใหม่ไว้ 4 ด้าน ด้วยกัน คือ[31] ประการแรก ด้านสังคม (Social) พัฒนาการของทุนนิยมและอุตสาหกรรมในยุคหลังสมัยใหม่ ได้ก่อให้เกิดระบบชนชั้นทางสังคม ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดอันหนึ่งของโครงสร้างทางสังคม และในการแบ่งแยกกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมสำหรับยุคสมัยใหม่ แต่ยุคหลังสมัยใหม่นั้น ชนชั้นทางสังคมจะไม่มีความหมาย/สำคัญมากนัก เพราะโครงสร้างทางสังคมจะกระจัดกระจายและก็มีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้นและแบ่งแยกกลุ่มทางสังคมก็มีหลากหลายขึ้น เช่น ชนชั้น และยังมีการแบ่งตามเพศ ชาติพันธุ์ และอายุ เป็นต้น ประการต่อมาด้านวัฒนธรรม (Culture) โดยวัฒนธรรมจะมีบทบาทสำคัญในสังคมยุคหลังสมัยใหม่ชีวิตของปัจเจกบุคคล จะถูกมองว่ามีลักษณะที่เป็นสุนทรียศาสตร์หรือเป็นวัฒนธรรมมากขึ้น คือ เป็นการสร้างอัตลักษณ์ (Identity) ของปัจเจกบุคคล จะมีการสร้างตามทางเลือกของแต่ละบุคคลมากกว่า ประการที่สามเศรษฐกิจ ในสังคมสมัยใหม่จะอยู่ภายใต้การผลิตแบบสายพานที่ต้องมีจำนวนแรงงานที่ไม่มีความชำนาญในการผลิตที่จะทำการผลิตให้ได้มาก ๆ เพื่อที่จะมาสนองตอบต่อความต้องการของตลาดซึ่งระบบนี้ถูกเรียกว่า “Faradism” แต่ในยุคหลังสมัยใหม่ ระบบเศรษฐกิจจะเป็นแบบ Post-Fordism คือ การผลิตจะเป็นแบบมีวิธีการจัดกลุ่มแบบเฉพาะ ไม่ได้เป็นการผลิตโดยมวลชน (Mass Product) และจะมีการใช้แรงงานที่มีความชำนาญในหลาย ๆ ด้าน ตลอดจนเปลี่ยนเป็นตลาดที่มีการแบ่งส่วนความต้องการในการผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกันและเป็นแบบเฉพาะ และประการที่สี่ ด้านการเมือง สังคมสมัยใหม่จะมีรูปแบบการปกครองขนาดใหญ่ที่มีลักษณะเป็นรัฐสวัสดิการ (Welfare State) มีรัฐวิสาหกิจและมีการแทรกแซงทางเศรษฐกิจ ส่วนยุคหลังสมัยใหม่ รัฐ (State) จะมีการสิ่งเสริมการพึ่งตนเอง การแข่งขัน ระบบตลาด และรวมถึงวิสาหกิจส่วนตัวของเอกชน ผลคือ ระบบรัฐสวัสดิการจะลดลง รัฐวิสาหกิจจะถูกแปรรูป และรัฐบาลมีแนวโน้มที่จะปฎิเสธความรับผิดชอบในเรื่องเศรษฐกิจ
จากข้ออ้างข้างต้นชี้ให้เห็นได้ว่า ภาวะหลังสมัยใหม่นั้นได้มากับความเปลี่ยนแปลงในสังคมหลัง อุตสาหกรรม (Post-industrial Social) ดังในประเทศตะวันตกซึ่งก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวทางปัญญาและการสร้างสรรค์ด้านต่าง ๆ ในแนวทางที่เรียกว่า “หลังสมัยใหม่” (Post-modernism) นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีแนวทางและความคิด “หลัง” อื่นๆ อีกหลากหลายมากมายเช่น Post-Marxism, Post-Communism และPost-Colonialism ตามมาด้วย ความหลากหลายเหล่านี้สะท้อนโลกทรรศน์ทางความคิด อารมณ์และท่าทีที่มีต่อโลกในลักษณะที่ท้าทายความคิดและความเข้าใจที่เราเคยมีอยู่ในเรื่องต่าง ๆ เป็นอย่างมาก
จันทนี เจริญศรี กล่าวว่า ปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงสู่แบบหลังสมัยใหม่ คือ[32]ประการแรกปัจจัยความเปลี่ยนแปลงในภาวะทางสังคม และปัจจัยการเปลี่ยนแปลงในเชิงปรัชญาว่าด้วยความรู้ ซึ่งปัจจัยอิทธิพลทั้งสองนี้จะเกี่ยวข้องกันอย่างลึกซึ้งในเชิงอิทธิพลดังกล่าว เพราะการอ้างความเปลี่ยนแปลงในภาวะทางสังคมย่อมนำไปสู่การตั้งคำถามต่อการเปลี่ยนแปลงในเชิงปรัชญาความรู้ที่ว่า มีความจำเป็นหรือไม่เพียงใดที่ต้องเปลี่ยนแปลงตามและขณะเดียวกันปรัชญาว่าด้วยการแสวงหาความรู้ก็อาจจะส่งผลกระทบก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในความเข้าใจที่มีภาวะทางสังคมด้วยเช่นเดียวกัน
ดังนั้น ปัจจัยอิทธิพลต่อแนวความคิดหลังสมัยใหม่ตามแนวคิดของจันทนี เจริญศรีนั้นย่อมอยู่กับบริบท นั้นคือ บริบททางด้านสังคมและบริบททางด้านการเปลี่ยนแปลงในเชิงปรัชญาว่าด้วยความรู้ ซึ่งทั้งสองนี้เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดวาทกรรมว่าด้วยความจริงและความรู้ที่เรากำลังสำรวจอยู่

จุดเด่นของแนวคิดหลังสมัยใหม่
Lyotard (เลียวทาร์) เห็นว่า ลักษณะเด่นของแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยม คือ วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นกับความชอบธรรมของความรู้ในยุคหลัง-อุตสาหกรรม เงื่อนไขของความเป็นหลัง-สมัยใหม่ คือ การล่มสลายของเรื่องเล่าขนาดใหญ่หรืออภิมหาเรื่องเล่า[33] นั่นเอง แนวคิดหลังสมัยใหม่นิยม จะช่วยให้เรามองเห็น “ความแตกต่าง” ท่ามกลางภาพกว้างของกระแสหลัก ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เราเห็นความแตกต่างละทิ้งความซ้ำซากแล้วหลังสมัยใหม่นิยม มีพลังสูงพอสมควรในการเขย่ารากฐานและระบบความคิดที่แข็งทื่อ อย่างเช่นปรัชญา วัตถุนิยม จนเกิดการพังทลายและมีความว่างเกิดขึ้นนำไปสู่การสังเคราะห์ใหม่ระหว่างสสาร/ความคิด[34]และที่สำคัญคือ หลังสมัยใหม่สอนให้เรารู้จักคิดแบบองค์รวม[35] ซึ่งทำให้การศึกษาทางสังคมศาสตร์มีความถ่อมตัวมากขึ้น ในการอ้างถึงความรู้ที่ศึกษาวิจัยมา อย่างน้อยก็ลดระดับการอธิบายการอ้างถึงความสมบูรณ์ของความรู้ครอบคลุมไปหมด (Overgeneralization)
จุดเด่นของหลังสมัยใหม่ที่กล่าวมาย่อมแสดงให้เห็นแล้วว่า หลังสมัยใหม่เป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาและการท้าทายที่ทำให้การอ้างถึงความรู้ที่มีอยู่ในการศึกษาทางสังคมศาสตร์ไม่เป็นแบบเกินเลยและถ่อมตัว/ถ่อมตนมากขึ้น โดยถือว่าความรู้ทุกอย่างล้วนเป็นวาทกรรมทั้งสิ้น

จุดด้อยของแนวคิดหลังสมัยใหม่
อย่างไรก็ตามแม้ว่า หลังสมัยใหม่ไม่ได้เสนออะไรที่เด่นชัดมากนัก เพราะตัวหลังสมัยใหม่เองเป็นเพียง "กระแสความคิด" มากกว่าจะเป็น "สำนักคิด" ที่มีระเบียบวิธี, ปรัชญา และเป้าหมายในการศึกษาที่ชัดเจนตายตัว แต่อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่าหลังสมัยใหม่จะไม่มีอะไรเลย และไม่มีอะไรที่เป็นแก่นสารอยู่ข้างใน[36] สำหรับผู้เขียนแล้ว นี้ก็เป็นการกล่าวหากันเลื่อนลอยจนเกินไป

หลังสมัยใหม่ในบริบทสังคมไทย[37]
หลังสมัยใหม่เป็นคำที่โด่งดังและแพร่หลายมากที่สุดในวงการปัญญาชนไทยในทศวรรษที่ผ่านมา ไม่มีใครที่ไม่ได้อิทธิพลจากแนวคิดนี้ หรืออย่างน้อยก็ไม่มีใครที่จะปิดหูปิดตาและทำไม่รู้ไม่ชี้ต่อการมีอยู่ของคำ ๆ นี้ไปได้
หลังสมัยใหม่เป็นคำใหม่ในสังคมไทย[38] แต่ถึง พ.ศ.นี้ หลังสมัยใหม่ก็ไม่ได้เป็นศัพท์แสงที่จำกัดอยู่แต่ในวงการปัญญาชน และนักวิชาชีพตามมหาวิทยาลัยอีกต่อไปแล้ว อิทธิพลของหลังสมัยใหม่ต่อวงการศิลปะ-ภาพยนตร์-สถาปัตยกรรม-วรรณกรรม[39] ทำให้แม้แต่ชาวบ้านร้านตลาดก็เผชิญกับการหลอกหลอนของคำนี้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ปฏิกิริยาที่ปัญญาชนไทยมีต่อหลังสมัยใหม่นั้นมีหลายทาง คือ ประการแรกสุดการคลั่งไคล้อย่างไม่ลืมหูลืมตาในอะไรก็ได้ที่มีคำว่า "หลังสมัยใหม่" ปะหน้า ราวกับว่าภูมิปัญญามนุษยชาตินั้นได้มาถึงบทสุดท้ายพร้อมๆ กับการปรากฎกายของหลังสมัยใหม่ขึ้นมาอย่างง่ายๆ ว่าหลังสมัยใหม่ไม่มีอะไรใหม่ เป็นเรื่องเลอะเตอะเหลวไหล ไม่สนใจสังคม หรือกระทั่งเป็นของเล่นใหม่ทางภูมิปัญญา ประการที่สองฝ่ายที่พยายามอย่างเหลือเกินที่จะอธิบายหลังสมัยใหม่ให้มีลักษณะ "เพื่อสังคม" แล้วใช้วิธีคิดแบบนี้เป็นเครื่องมือในการสร้างปฏิบัติการทางวิชาการและการเมืองบางอย่างขึ้นมา จะเห็นได้ว่าปฏิกิริยาแบบแรกกับแบบที่สองนั้นขัดแย้งกันโดยตรง และเพราะเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่วิวาทะและการโต้เถียงเกี่ยวกับหลังสมัยใหม่ที่ชัดเจนที่สุดจะมาจากคนสองกลุ่มนี้
อย่างไรก็ดี การถกเถียงและโต้แย้งกันผ่านข้อเขียนเชิงวิวาทะอย่างเปิดเผยนั้น เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีอยู่ในประเพณีทางภูมิปัญญาแบบไทยๆ ของปัญญาชนไทยมานานแล้ว ความขัดแย้งระหว่างความคิดทั้งสองแบบจึงไม่ใช่เรื่องที่จะมองเห็นได้ง่ายๆ แต่ใครที่ติดตามความเคลื่อนไหวทางภูมิปัญญา ก็คงจะเล็งเห็นถึงความไม่ลงรอยข้อนี้ได้ไม่ยาก ถึงแม้จะไม่เคยมีวิวาทะและการเผชิญหน้ากันอย่างตรงไปตรงมาเกิดขึ้นจริงๆ เลยก็ตาม
ความเข้าใจนี้เป็นสาเหตุให้ปัญญาชนไทยบางรายโจมตีหลังสมัยใหม่อย่างง่ายๆ ว่า เพราะสังคมไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะสมัยใหม่ "หลังสมัยใหม่" จึงเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ทั้งที่หลังสมัยใหม่หมายความถึงปฏิกิริยาที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยมีต่อความคิด, ความเชื่อ, ความรู้, แบบแผนการปฏิบัติ, สถาบัน และอะไรต่อมิอะไรที่เป็นทั้งผลผลิตและเป็นไวพจน์ของภาวะสมัยใหม่ไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นความรู้, ความมีเหตุมีผล, ประชาธิปไตย, สังคมสมัยใหม่, โรงพยาบาล, สังคมข้อมูลข่าวสาร, ความเป็นตัวตน, เทคโนโลยี, การปลดปล่อย ฯลฯ ซึ่งในบางกรณีก็กินความไปถึงหลักสิทธิมนุษยชนสากล, ประชาธิปไตย, เสรีภาพสมบูรณ์ ฯลฯ ไปเลยด้วยซ้ำ[40]

บทสรุป
อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า ถ้าบริบทเป็นความจริงที่จำเป็นสำหรับการอธิบายหรือสร้างทฤษฎี ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับมนุษย์ไม่ว่าเป็นเหตุการณ์หรืออะไรก็ตามจึงไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นสิ่งเดียวกันหรือเหมือนกัน/สอดคล้องกันกับเนื้อหา/สาระสำคัญตามที่ทฤษฎีได้จัดลำดับเอาไว้ เรื่องนี้เป็นประเด็นที่สำคัญ เพราะ บริบทเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเลือก หรืออาจกล่าวได้ว่ามันคือ บริบทของการเกิดขึ้นของปรากฏการณ์ในแต่ละวันเหล่านั้น คำถามที่เป็นกุญแจสำคัญ ณ ที่นี้ก็คือ ทำไมการปฏิเสธหรือการละเลยบริบทจึงเป็นสาเหตุสำคัญแห่งการ พังทะลายของทฤษฎี[41]
จากที่กล่าวมา ผู้เขียนสรุปลักษณะที่สำคัญๆของแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยม ประการแรก ปฎิเสธความเป็นสากลนิยม หมายความว่า ปฎิเสธแนวคิด ทฤษฎีที่เชื่อมั่นว่าสามารถอธิบายโลกหรือสรรพสิ่งได้อย่างครอบคลุมตามแนวคิดของยุคสมัยใหม่อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากยุคแห่งความรู้แจ้ง (Enlightenment) ที่ยกย่อง เชิดชูความเป็นองค์ประธานที่สูงส่งของมนุษย์ เกิดการตั้งคำถามต่อการเสนอภาพตัวแทนที่มีความเชื่อพื้นฐานว่าสามารถเขียนอธิบายโลกได้ดังกระจกสะท้อนความจริง หรือการทำให้ความจริงได้ปรากฎขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง แนวคิดหลังสมัยใหม่มองว่าการเสนอภาพตัวแทนเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะการเสนอภาพตัวแทนหนึ่งๆต้องอาศัยขึ้นอยู่กับภาพตัวแทนอื่นด้วย ดังนั้นการเสนอภาพตัวแทนจึงไม่ใช่เป็นการสะท้อนความเป็นจริงประการใดแต่กลับเป็นภาพที่แสดงออกถึงความต้องการที่จะครอบงำทางอุดมการณ์ ประการต่อมาปฎิเสธจุดมุ่งหมายทางสังคม หมายความว่า จะปฎิเสธความคิดที่เชื่อว่าสังคมมีการเคลื่อนตัวไปอย่างมีจุดมุ่งหมายตามวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งการตั้งข้อสงสัยในแนวคิด ทฤษฎีต่างๆที่เชื่อว่าสามารถอธิบายและทำความเข้าใจโลกและจักรวาลได้ และสามารถดัดแปลง จัดการ ควบคุมได้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้เป็นไปในทิศทางที่มุ่งตอบสนองต่อความต้องการและความก้าวหน้าของมนุษย์ ประการที่สาม ปฎิเสธสังคมอุดมคติ หมายความว่า แนวคิดนี้จะตั้งข้อสงสัยและเคลือบแคลงต่อสังคมอุดมคติ เพราะเห็นว่ามนุษย์มีความศรัทธาต่อความก้าวหน้าวิวัฒนาการทางสังคม การต่อสู้ทางชนชั้น ทำให้มีคนจำนวนมากต้องเสียชีวิตลงในนามของความเสียสละ ความจงรักภักดี และอุดมคติ การมุ่งมันในจุดมุ่งหมายของประวัติศาตร์เพื่อสร้างสังคมอุดมคติจึงก่อให้เกิดสงครามและความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ ในระยะเวลาต่อมานั้นเอง
อาจกล่าวได้ว่า แนวคิดหลังสมัยใหม่ตั้งคำถามกับความเชื่อที่ว่า ความรู้นั้นเหมือนกระจก ส่วนโลกก็เหมือนวัตถุที่เราจะเอากระจกไปส่องให้เห็นได้อย่างถ้วนทั่ว สำหรับหลังสมัยใหม่แล้ว วัตถุนั้นอยู่ห่างไกลจนไม่มีทางที่กระจกบานใดจะส่องได้ทั่วถึง และการจ้องมองวัตถุนั้นก็สัมพันธ์อย่างมากกับตัวตนและตำแหน่งแห่งที่ของบุคคลผู้ถือกระจกเอง ภาพในกระจกเป็นเพียงภาพตัวแทนของความจริง แต่ก็เหมือนภาพตัวแทนทั่วๆ ไป คือ ถึงอย่างไรมันก็ไม่ใช่และไม่มีวันจะเป็นความจริงไปได้[42]แนวคิดหลังสมัยใหม่ได้เสนอให้ใช้พหุวิธี(Multiple methodologies) และมองปัญหาจากทัศนะภาพที่หลากหลาย (Multiple perspectives) ในการเข้าถึงความจริง และที่สำคัญต้องตระหนักด้วยว่า แม้จะทำเช่นนั้นแล้วก็ยังไม่อาจอ้างได้ว่า ผลของการศึกษาสามารถสะท้อนความเป็นจริงได้อย่างเท่าเทียม[43]
จากที่กล่าวมาข้างต้น อาจสรุปได้ว่า สิ่งต่างๆ ที่ "แนวคิดเกี่ยวกับหลังสมัยใหม่" ได้พูดถึงไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจครอบงำทางความคิด ไม่เห็นด้วยกับการใช้วิธีวิทยาแบบใดแบบหนี่งเพียงแบบเดียว นั้นคือ ให้ความสำคัญกับความหลากหลาย และเป็นการท้าทายความรู้ ความจริงในวิธีการหาความรู้แบบปฏิฐานนิยม วิทยาศาสตร์ และเหตุผลนิยมอีกด้วย อย่างไรก็ตาม แนวคิดหลักของหลังสมัยใหม่เป็นเรื่องการต่อต้านและการปฏิเสธระบบหรือสิ่งต่างๆทิ่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในสังคม อันเป็นผลผลิตของยุคสมัยใหม่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถาบันหรือเรื่องของระบบเปิด ซึ่งลักษณะที่สำคัญดังกล่าว เป็นเพียงวาทกรรมชุดหนึ่งเท่านั้นในการอธิบายปรากฎการณ์ทางสังคมตามแนวคิดหลังสมัยใหม่ แต่ผู้เขียนเชื่อว่ายังมีวาทกรรมอีกชุดหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังของวาทกรรมดังกล่าว อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า ในการอธิบายเรื่องความรู้(Knowledge) อัตลักษณ์(Identity)และความจริง(Reality)ทุกสิ่งทุกอย่างตามแนวคิดหลังสมัยใหม่ล้วนแล้วแต่เป็นวาทกรรมทั้งสิ้น และที่สำคัญ คือ หลังสมัยใหม่ทำให้เรารู้จักคิดแบบองค์รวม/หลากหลายมากขึ้น โดยเราต้องใช้วิธีวิพากษ์(Critical Method) และอาศัยระบบความคิดและวิธีการวิเคราะห์ (Method of Analysis) ที่หลากหลายมากขึ้นเช่นเดียวกัน

Abstract
if, context is real requisite illustration for or create theory . Happened real with humanness don't that be event or whatever . Essential don't that alike must coherence with content context at about selecting question at be important key is why declination or negligence . Context be important cause to fail to come off theory. Postmodern hind spoken to disagrees with masterdown using masterfully idea way . Disagrees with method using template remedy obese one . Ought to significance with assortment . Gives us recognizes think at holistic. by we us critical and idea method analyses system at very multiple up .

เอกสารอ้างอิง

จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร. 2546. Michel Foucault กับ Postmodernism ในวารสารสหวิทยาการ ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 (มกราคม-มิถุนายน).
จุมพฎ คำสนอง. 2540. หลังสมัยใหม่ (what is Postmodern?) ใน วารสารสังคมศาสตร์ ปีที่ 30 ฉบับที่ 2.
ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. 2543. วาทกรรมการพัฒนา: อำนาจ ความรู้ ความจริง เอกลักษณ์ และความเป็นอื่น. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิภาษา.
ไชยันต์ ไชยพร(แปล). 2548. Introducing หลัง-สตรีนิยม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก.
จันทนี เจริญศรี. 2544. โพส์โมเดรินส์และสังคมวิทยา. กรุงเทพฯ: วิภาษา.
นพพร ประชากุลและชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์. 2539. บทสัมภาษณ์: มองหลากมุมโพสต์โมเดิร์น ในเชิงอรรถวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิภาษา.
บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์. 2540. ปรัชญาสกุลหลังสมัยใหม่ [Postmodernism] ในวารสารร่มพฤษ์ ชุด”Postmodern” ปีที่ 15 เล่มที่ 2 (ตุลาคม 2539 - มกราคม 2540).
ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์. 2544. เศรษฐศาสตร์การเมือง: จากสุภา ศิริมานนท์ถึงวันพรุ่งนี้ รือถอนระบบคิดบนหนทาง Post-marxism/Post-modrenism/New Anarchism. ในวิถีทรรศน์ ชุด โลกาภิวัตน์: ทฤษฎีและความรู้ในยุคโลกาภิวัตน์. กรุงเทพฯ: อมรินพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.
พจนานุกรมศัพท์ปรัชญาฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2540.
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์. 2544. โพสต์โมเดิร์นคืออะไร: จากปฏิกิริยาแบบมาร์กซ์สู่การเมืองแบบปฏิบัตินิยม. ในวิถีทรรศน์ ชุด โลกาภิวัตน์: ทฤษฎีและความรู้ในยุคโลกาภิวัตน์. กรุงเทพฯ: อมรินพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.
อภิญญา เวชยชัยและศิริพร ยอดกมลศาสตร์. 2547. สวัสดิการสังคมฉบับชาวบ้าน: แนวคิด นโยบาย แนวทางปฎิบัต ในเศรษฐศาสตร์การเมือง (เพื่อชุมชน) ฉบับที่ 26. กรุงเทพฯ: เอดิสันเพรส โปรดักส์.
อรทัย อาจอ่ำ(แปล).2546. พื้นสังคมศาสตร์: ทำไมการวิจัยทางสังคมจึงล้มเหลวและจะทำให้ประสบความสำเร็จได้อย่างไร? กรุงเทพ: สำนักพิมพ์คบไฟ.
อานันท์ กาญจนพันธุ์. 2548. ทฤษฎีและวิธีวิทยาของการวิจัยวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: อมรินทร์.
Abercrombie, N. Hill, S. and Turner, B.S. 2000. The Penguin Dictionary of Sociology. London: Penguin Book.
Turner, Bryan S. 1990. Theories of Modernity and Postmodernity. London: Sage.
Lyotard,Jean-Francois. 1986. The Postmodern condition: A Report on Knowledge. Manchester: Manchester University Press.
Habermas, Jurgen. 1992. The Enty into Postmodernity: Nietzche as a Turning Point,” in The Philosophicai Discouse of Modernity, trans, frederick Lawrence. Cambridge: Polity Press.
Hassan, lhab. “Toward a Concept of postmodernism”, in Docherty.
Foucault, Michel. 1993. Quoted in Postmodernity,Barry,Smart. London:Routledge.
Rosenaw, D.M. 1992. Post-modernism and the Social Science: in Sights, in roads, and Intrusions, Princeton. New Jersey: Princeton University Press.
Stones,R .1996. Sociological Reasoning: Towards a Post-modern Sociology. London: Macmillan.
Sim, Stuart. 2001. The Rutledge Companion to Postmodernism. London and New York: Taylor & Francis Group.
Docherty, Thomas.1993. Jurgen Habermas, “Modernity – An incomplete Project,” In Postmodernism: A Reader, Cambridge: Harvester Wheatsheaf.
**บทความนำเสนอต่อที่ประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ในส่วนภูมิภาคประจำปี พ.ศ. 2549 (ภาคใต้) ในหัวข้อ “ก้าวข้ามพรมแดนแห่งความรู้: การเมือง ศาสนา วัฒนธรรมและพลังแห่งท้องถิ่นภาคใต้” จัดโดยสถาบันเครือข่ายวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้ ระหว่างวันที่ 7-8 กันยายน พ.ศ. 2549 ณ โรงแรมซีเอสปัตตานี จ. ปัตตานี และตีพิมพ์ในวารสารหาดใหญ่วิชาการปีที่ 6 ฉบับที่ 1 มกราคม – มิถุนายน 2551
*อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ สาขาวิชาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยหาดใหญ่
[1]อรทัย อาจอ่ำ(แปล).2546. พื้นสังคมศาสตร์:ทำไมการวิจัยทางสังคมจึงล้มเหลวและจะทำให้ประสบความสำเร็จได้อย่างไร? กรุงเทพ: สำนักพิมพ์คบไฟ. หน้า 73.
[2]การที่ผู้เขียนได้อรรถาธิบายเช่นนี้ เนื่องจากผู้เขียนมีแนวคิดเช่นเดียวกับ Nietzsche และ Lyotard ที่ว่า อำนาจ ความรู้ ความจริงนั้นย่อมขึ้นอยู่กับบริบทใดบริบทหนี่ง [คุณค่า/ค่านิยมต่างๆ ในการศึกษาทางสังคมและการเมือง] ดังนั้น การที่ผู้เขียนอธิบายเชิงเปรียบเทียบระหว่างความรู้สมัยใหม่กับความรู้หลังสมัยใหม่นั้นเพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาความรู้ อำนาจ และความจริงต่อไปว่า มีอะไรบ้างที่ก่อให้เกิดความแตกต่างเหล่านี้? และทั้งสองยุคแตกต่างกันอย่างไร? ซึ่ง็ก่อให้เกิดคำถามตามหลังมาว่า สิ่งที่มันเป็นจริงตามวิธีการทางวิทยาศาสตร์นั้นคุณแน่ใจแล้วหรือว่ามันเป็นความจริงแท้/สัจจะ(Truth)? มีเกณฑ์อะไรบ้างที่มาวัดความจริงเหล่านื้ อย่าลืมว่า ความจริงที่ไอสไตร์ได้ค้นพบนั้นขึ้นอยู่กับเวลาและสถานที่ ที่เรามอง[แสดงว่าความจริงที่ไอสไตร์ค้บพบขึ้นอยู่กับบริบทนั้นเอง] สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นแล้วว่า ในยุคปัจจุบัน[หลังสมัยใหม่] บริบท(Context) เป็นสิ่งที่สำคัญในการค้นหาความรู้ อำนาจและความจริง
[3]อรทัย อาจอ่ำ(แปล).2546. เพิ่งอ้าง. หน้า 74.
[4]อรทัย อาจอ่ำ(แปล).2546. เพิ่งอ้าง, หน้า 106.
[5]วาทกรรมมิได้มีความหมายเพียงภาษา คำพูดเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของอำนาจ ความรู้ ความจริงที่สังคมเป็นผู้สร้างขึ้นมา และกระทำการจริง โดยผ่านบริบท ระบบความคิด ความเชื่อ ค่านิยมและสถาบันต่างๆมากมายในสังคมเพื่อช่วงชิงตำแหน่งของการต่อสู้ในการสร้างความหมายและอุดมการณ์. โปรดอ่านเพิ่มเติมใน ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. 2543. วาทกรรมการพัฒนา: อำนาจ ความรู้ ความจริง เอกลักษณ์ และความเป็นอื่น.พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: วิภาษา, หน้า 19-20. ซึ่ง ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร ได้กล่าวถึงความหมายของวาทกรรมตามทัศนะของฟูโกต์ หมายถึง ระบบและกระบวนการในการสร้าง/การผลิต(Constitute) อัตลักษณ์ (Identity) และความหมาย (Significance) ให้กับสรรพสิ่งต่างๆ ในสังคมที่ห่อหุ้มเราอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ ความจริง อำนาจหรือตัวตนของเราเอง
[6]ตามพจนานุกรมศัพท์ปรัชญาฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2540. ให้คำจำกัดความ ประสบการณ์นิยม (empiricism) ในทางญานวิทยา หมายถึง ความรู้ที่เชื่อถือได้ มีอย่างเดียวเท่านั้นคือประสบการณ์(experience) ซึ่งหมายถึงความรู้ที่ผ่านประสาทสัมผัส ทัศนะนี้ไม่เชื่อว่ามีความรู้ก่อนประสบการณ์ จะมีก็แต่ความรู้หลังประสบการณ์เท่านั้น (ตรงกันข้ามกับ เหตุผลนิยม - rationalism)
[7]ตามพจนานุกรมศัพท์ปรัชญาฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2540. ให้คำจำกัดความ ปฏิฐานนิยม (positivism) ทัศนะนี้ถือว่า ความรู้ที่สูงที่สุด คือความรู้ที่ได้มาจากประสาทสัมผัส
[8] อ่านเพิ่มเติมแนวคิดเกี่ยวกับ Postmodern ได้ใน Turner, Bryan S. 1994. Theories of Modernity and Postmodernity.London: SAGE Pubilcations.,James N. Powell.1998. Postmodernism for Beginners. London: Writers and Readers Ltd., Madan Sarup.1988. An Introductory Guide to Post-Structuralism and Postmodernism. London: Harvester Wheatsheaf., David R. Dickens and Andrea Fontana. 1994. Postmodernism and Social Inquiry. New York: The Guilford Press.
[9] อภิญญา เวชยชัยและศิริพร ยอดกมลศาสตร์. 2547. สวัสดิการสังคมฉบับชาวบ้าน: แนวคิด นโยบาย แนวทางปฎิบัติ ในเศรษฐศาสตร์การเมือง (เพื่อชุมชน) ฉบับที่ 26. กรุงเทพฯ: เอดิสันเพรส โปรดักส์, หน้า 40.
[10] จุมพฎ คำสนอง. 2540. หลังสมัยใหม่ (what is Postmodern?) ใน วารสารสังคมศาสตร์ ปีที่ 30 ฉบับที่ 2, หน้า 116.
[11] ตามพจนานุกรมศัพท์ปรัชญาฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2540. ให้คำจำกัดความ สัมบูรณ์ (Absolute) ว่า “ที่มีอยู่เอง ที่เป็นอยู่เอง ที่มีอยู่เป็นอยู่ด้วยตนเอง เป็นอิสระไม่ขึ้นกับเหตุปัจจัยอื่นใด.
[12] ดูในอานันท์ กาญจนพันธุ์. 2548. ทฤษฎีและวิธีวิทยาของการวิจัยวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: อมรินทร์, หน้า 22-23.
[13] จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร. 2546. Michel Foucault กับ Postmodernism ในวารสารสหวิทยาการ ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 (มกราคม-มิถุนายน), หน้า 197.
[14] ธเนศ วงศ์ยานนาวา กล่าวว่า คำว่า “หลัง” อาจจะไม่ได้มีความหมายมากมายอะไรนักในภาษาไทย เพราะทำให้คิดถึงอะไรที่อยู่ตรงกันข้ามกับคำว่า “หน้า” หรือ “ส่วนที่อยู่ข้างหน้า” สำหรับอะไรที่อยู่หน้าก็ย่อมเป็นสิ่งที่โดดเด่น คำว่า “หลัง” จึงเป็นคำที่ไม่ค่อยจะมีความหมายที่ดีนักแต่ในที่นี้ความหมายของคำว่า “หลัง” ที่แปลจากคำภาษาอังกฤษ “Post” นั้นไม่ได้หมายถึงตำแหน่งทางกายภาพแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นตำแหน่งทางเวลา คำว่า “หลัง” จึงเป็นการบ่งบอกทางเวลา และคำว่า “หลัง” ยังแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยังไม่สามารถที่จะจัดหรือทำให้มีความชัดเจนได้ เพราะความชัดเจนต่างๆ เหล่านี้จะประเมินได้ด้วยกาลเวลาแห่งอนาคตเท่านั้น คำว่า “Post” หรือ “หลัง” จึงบ่งบอกถึงความไม่ชัดเชน จัดว่าเป็นยุคอะไรที่มีคุณลักษณะโดดเด่นไม่ได้ โดยทั่วๆไปแล้วย่อมหมายถึง อะไรที่มีลักษณะในทางลบ มีลักษณะของการปฏิเสธเพราะฉะนั้นอะไรที่ใช้คำว่า “หลัง” หรือ “Post” ในความหมายของตำแหน่งแสดงให้เห็นว่า ตกยุค พ้นสมัย ผ่านพ้นไปแล้ว แสดงว่าอะไรที่อยู่ก่อนหน้า ไม่ได้เป็นที่ยอมรับอีกต่อไป สถานะของ “Post” จึงเหมือนการส่งไปรษณีย์ไปที่อื่น สิ่งนั้นไม่ได้อยู่ที่ตรงนี้อีกต่อไป สิ่งนั้นไปอยู่ที่อื่นเสียแล้ว สิ่งนั้นไม่ได้อยู่ในปัจจุบันอีกต่อไป ดังจะเห็นได้จากคำว่า “หลัง-สมัยใหม่” (Postmodern) ก็มีนัยว่า สภาวะสมัยใหม่ได้หมดยุคไปเสียแล้ว หรือสภาวะสมัยใหม่ได้ตายไปแล้ว ในคำนิยมงานแปลของไชยันต์ ไชยพร. 2548. Introducing หลัง-สตรีนิยม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก, หน้า (4)-(5).
[15] ดู Jurgen Habermas, 1992. The Enty into Postmodernity: Nietzche as a Turning Point,” in The Philosophicai Discouse of Modernity, trans, frederick Lawrence. Cambridge: Polity Press, หน้า 83-105.
[16] จุมพฎ คำสนอง. 2540. เพิ่งอ้าง, หน้า 116.
[17]Thomas Docherty.1993. Jurgen Habermas, “Modernity – An incomplete Project,” In Postmodernism: A Reader, Cambridge: Harvester Wheatsheaf. p.108. ซึ่ง Habermas ได้ชี้ให้เห็นว่าภาวะสมัยใหม่นั้นมีรากฐานมาจากความคิดของนักปรัชญาในสมัยศตวรรษที่ 18 ที่รู้จักกันว่าเป็นยุคแห่งภูมิปัญญา/ยุคแห่งความรู้แจ้ง/ยุคสว่าง (The Enlightenment) ซึ่งได้พยายามพัฒนาศาสตร์ที่เป็นศาสตร์ที่มีลักษณะวัตถุวิสัย (objective science) สร้างศีลธรรมและกฏเกณฑ์ที่เป็นสากล (universal morality and law) และศิลปะที่เป็นอิสระในตัวเอง ไม่ขึ้นอยู่กับการประเมินจากสิ่งอื่น – ปรัชญา (autonomous art) ในขณะเดียวกันก็มีจุดมุ่งหมายในการปลดปล่อยศักยภาพการรับรู้ของมนุษย์ออกจากมายาคติเดิม (myth) เพื่อปลดปล่อยมนุษย์สู่กระบวนการของเหตุผลในชีวิตปกติในสังคม
[18] นพพร ประชากุลและชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์. 2539. บทสัมภาษณ์: มองหลากมุมโพสต์โมเดิร์น ในเชิงอรรถวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิภาษา. หน้า 167-168.
[19]lhab Hassan, “Toward a Concept of postmodernism” , in Docherty. p. 15-153.
[20]Jean-Francois Lyotard.1986. The Postmodern condition: A Report on Knowledge. Manchester: Manchester University Press, หน้า xxiii-iv.
[21] What are we calling post-modernity? I must say that I have trouble answering this ..because I’ve never clearly understood what was … by the word “modernity” . Michel Foucault, 1993. Quoted in Postmodernity,Barry Smart,
London: Routledge, P.5.
[22]Stuart Sim. 2001. The Rutledge Companion to Postmodernism. London and New York: Taylor & Francis Group, p. 40.
[23] บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์. 2540. ปรัชญาสกุลหลังสมัยใหม่ [Postmodernism] ในวารสารร่มพฤษ์ ชุด”Postmodern” ปีที่ 15 เล่มที่ 2 (ตุลาคม 2539 - มกราคม 2540) หน้า 90.และดูรายละเอียดเพิ่มใน Jean Francois Lyotard.1988. The postmodern explained. Minneapolis London: University of Minnesota Press. p. 80 และดูใน Thomas Docherty.1993. Jean Francois Lyotard, “Note on the Meaning of Post” In Postmodernism: A Reader, Cambridge: Harvester Wheatsheaf. p.50.
[24] จุมพฎ คำสนอง. 2540. เพิ่งอ้าง, หน้า 127.
[25] อานันท์ กาญจนพันธุ์. 2548. ทฤษฎีและวิธีวิทยาของการวิจัยวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: อมรินทร์, หน้า 18-19.
[26] ไชยันต์ ไชยพร(แปล). 2548. Introducing หลัง-สตรีนิยม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก, หน้า 83.
[27] ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์. 2544. โพสต์โมเดิร์นคืออะไร: จากปฏิกิริยาแบบมาร์กซ์สู่การเมืองแบบปฏิบัตินิยม. ในวิถีทรรศน์ ชุด โลกาภิวัตน์: ทฤษฎีและความรู้ในยุคโลกาภิวัตน์. กรุงเทพฯ: อมรินพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. หน้า 168.
[28]จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร. 2546. เพิ่งอ้าง, หน้า 200.
[29] Rosenaw, D.M. 1992. Post-modernism and the Social Science: In Sights, In roads, and Intrusions, Princeton, New Jersey: Princeton University Press.
[30] Stones, R, .1996. Sociological Reasoning: Towards a Post- modern Sociology, London: Macmillan.
[31] Abercrombie, N, Hill, S. and Turner, B.S. 2000. The Penguin Dictionary of Sociology. London: Penguin Book.
[32] สรุปแนวคิด ของฌอง ฟรองซัวส์ เลียวทาร์ ใน จันทนี เจริญศรี. 2544. โพส์โมเดรินส์และสังคมวิทยา. กรุงเทพฯ: วิภาษา, หน้า 2. ซึ่งเกี่ยวกับความรู้ในยุคหลังสมัยใหม่ด้วยเหตุผลความชอบธรรมของความรู้ 2 ประการ คือ ประการแรก ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ถูกมองว่าเป็นความรู้สูงสุดในยุคสมัยใหม่แต่ยังมีความรู้แบบอื่นๆอีกมากมายด้วยและประการที่สองเกณฑ์ในการตัดสินใจว่าอะไรเป็นหรือไม่เป็นความรู้ ซึ่งเป็นเกณฑ์เดียวกับที่ผู้ปกครองใช้ตัดสินว่า อะไรยุติธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย ดังนั้น ความรู้ทางวิทยาศาสตร์จึงไม่ใช่ความจริงบริสุทธิ์แต่เจือปนด้วยวิธีการทางการเมืองและจริยธรรม (Lyotard,1992) อยู่ด้วยเสมอ
[33] ไชยันต์ ไชยพร(แปล). 2548. เพิ่งอ้าง, หน้า 84.
[34] ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์. 2544. เศรษฐศาสตร์การเมือง: จากสุภา ศิริมานนท์ถึงวันพรุ่งนี้ รื้อถอนระบบคิดบนหนทาง Post-marxism/Post-modrenism/New Anarchism. ในวิถีทรรศน์ ชุด โลกาภิวัตน์: ทฤษฎีและความรู้ในยุคโลกาภิวัตน์. กรุงเทพฯ: อมรินพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. หน้า 156-157.
[35] ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์. 2544. เรื่องเดียวกัน,หน้า 160.
[36] ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์. 2544.เพิ่งอ้าง, หน้า 169.
[37] ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์. 2544. เพิ่งอ้าง, หน้า 165-166.
[38] สำหรับนักวิชาการในเมืองไทยที่ได้รับอิทธิพลหรือศึกษาแนวคิด Postmodern และได้นำเสนอแนวคิดแบบโพสต์โมเดิร์นนั้นน้อยมากซึ่งเราสามารถศึกษาค้นคว้าได้จากงานของธเนศ วงศ์ยานนาวา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ไชยันต์ ไชยพร คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นพพร ประชากุลและชูศักดิ์ ภัทรกุล-วณิชย์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, บุญส่ง ชัยสิงห์ขานานนท์ ภาควิชาปรัญชา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร,มารค ตามไท ปัจจุบันเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยพายัพ,
[39] นักเขียนด้านวรรณกรรมติดตามในผลงานของ ปราบดา หยุ่น
[40] ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์. 2544.เพิ่งอ้าง, หน้า 171.
[41] อรทัย อาจอ่ำ(แปล).2546. เพิ่งอ้าง, หน้า 96-97.
[42] ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์. 2544. เพิ่งอ้าง, หน้า 170.
[43] จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร. 2546. Michael Foucault กับ Postmodernism ในวารสารสหวิทยาการ ฉบับสหวิทยาการกับความหลากหลายเชิงการวิพากษ์. ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 (มกราคม-มิถุนายน), หน้า 204.

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

5555555555555555
กูเอง