วันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

อัพยากตปัญหา

อัพยากตปัญหา

เรื่องที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์

ความหมายของอัพยากตปัญหา

อัพยากต แปลว่าไม่กระทำให้แจ้ง คือไม่ตอบ ดังนั้นอัพยากตปัญหาจึงหมายถึงปัญหาที่ไม่กระทำให้แจ้ง คือปัญหาธรรมที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ หรือไม่ทรงกล่าวตอบให้ชัดแจ้งนั่นเอง บางท่านกล่าวว่าอัพยากตปัญหา เป็นปัญหาโลกแตกที่ไม่ควรสนใจเพราะไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ แต่เป็นปัญหาอภิปรัชญาที่ละเอียดอ่อน เป็นธรรมประณีตลุ่มลึก ต้องใคร่ครวญอย่างดีจึงจะเข้าใจได้ และผู้มีความเพียรในทางอื่น(ฝักใฝ่ในลัทธิอื่น)ก็ยากที่หยั่งรู้ได้ ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทหาอ่านได้ในพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย ฉบับที่รวบรวมเฉพาะอัพยากตปัญหาคือพระสูตรเล่มที่ ๑๘ ( พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ) ซึ่งมี ๑๑ สูตร คือ
๑. เขมาเถรีสูตร ๒. อนุราธสูตร
๓. สารีปุตตโกฏฐิตสูตรที่ ๑ ๔. สารีปุตตโกฏฐิตสูตรที่ ๒
๕. สารีปุตตโกฏฐิตสูตรที่ ๓ ๖. สารีปุตตโกฏฐิตสูตรที่ ๔
๗. โมคคัลลานสูตร ๘. วัจฉะสูตร
๙. กุตุหลสาลาสูตร ๑๐. อนันทสูตร
๑๑. สภิยสูตร
นอกจากนั้นได้กล่าวถึงอัพยากตปัญหาในพระไตรปิฎกฉบับอื่นๆอีกมาก ดังเช่นพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยเล่มที่ ๑๓ (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์)ได้แก่ จูฬมาลุงโกยวาทสูตร อัคคิวัจฉโคตตสูตรอภัยราชกุมารสูตร พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยเล่มที่ ๒๔ (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต) ได้แก่ ทิฏฐิสูตร อุตติยสูตร และ โกกนุทสูตร พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยเล่มที่ ๒๓ ได้แก่ อัพยากตสูตร สุริยสูตร พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยเล่มที่ ๒๐ ได้แก่ จูฬนีสูตร เป็นต้น

ปัญหาอภิปรัชญาที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์นี้ ประกอบด้วยคำถาม ๑๐ ข้อ มีลักษณะเป็นรูปคำถาม ๒ แบบ คู่กันไป เช่น โลกเที่ยงหรือ โลกไม่เที่ยงหรือ
ซึ่งแบ่งเป็น ๓ กลุ่มย่อย คือ
กลุ่มที่ ๑ ซึ่งมี ๔ ข้อ เป็นเรื่องของโลก
กลุ่มที่ ๒ ซึ่งมี ๒ ข้อ เป็นเรื่องของชีวิต คือร่างกายกับจิตใจ
กลุ่มที่ ๓ มี ๔ ข้อ เป็นเรื่องของภพชาติ

อัพยากตปัญหา ๑๐ ข้อ

เรื่องโลก
๑. โลกเที่ยงหรือ
๒. โลกไม่เที่ยงหรือ
๓. โลกมีที่สุดหรือ
๔. โลกไม่มีที่สุดหรือ
เรื่องกายใจ
๕. ชีพอันนั้นสรีระก็อันนั้นหรือ
๖. ชีพอย่างหนึ่งสรีระก็อย่างหนึ่งหรือ
เรื่องตาย – เกิด
๗. สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่หรือ (สัตว์ตายแล้วเกิดอีกหรือ )
๘. สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่หรือ (สัตว์ตายแล้วไม่เกิดอีกหรือ )
๙. สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มีหรือ (สัตว์ตายแล้วเกิดอีกก็มี ไม่เกิดอีกก็มี หรือ)
๑๐. สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่หรือ (สัตว์ตายแล้วเกิดอีกก็มิใช่ ไม่ เกิดอีกก็มิใช่หรือ)

วิเคราะห์วัตถุประสงค์ของผู้ที่ถามอัพยากตปัญหา

ผู้ที่ถามปัญหานี้ บางพวกก็นำเอาปัญหากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาถาม บางพวกถามรวมไปทั้ง ๑๐ ข้อ วัตถุประสงค์ของผู้ถามคาดว่าน่าจะจำแนกได้เป็น ๒ พวก ดังนี้คือ

๑) ซักถามเพียงเพื่อเป็นธัมมาสากัจฉา อันเป็นมงคลประเภทหนึ่ง ซึ่งมักพบผู้ที่นำเรื่องเหล่านี้มาซักถามกันในชนทุกหมู่เหล่า พระอริยะสงฆ์ถามพระอริยะสงฆ์ด้วยกันเช่นพระสารีบุตรถามพระมหากัสสป บางทีพระสารีบุตรก็เป็นฝ่ายถูกพระรูปอื่นๆ ถาม เดียรถีย์ถามพระพุทธเจ้าหรือพระสาวก พระเจ้าปเสนทิโกศล ถามพระภิกษุณี (พระเขมาเถรีสูตร) เดียรถีย์โต้ตอบกันเองก็มีมาก
๒) อยากรู้มติของพระพุทธเจ้าในเรื่องพวกนี้ อยากรู้เพราะอยากรู้ ก็มี หรืออยากรู้เพื่อเอาเป็นพวกก็มี หรือบางพวกมีมิจฉาทิฏฐิ อยากรู้เพื่อคัดค้านก็มี


วิเคราะห์พระพุทธทัศนะเกี่ยวกับอัพยากตปัญหา

การตอบปัญหาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงถือหลักการตอบ ๔ อย่างตามลักษณะของปัญหาและท่าทีของผู้ถามด้วย กล่าวคือ
๑. ทรงตอบด้วยปฏิปุจฉาพยากรณ์ กับปัญหาที่ควรย้อนถามเพื่อกำหนดความที่ถามของคำถามให้แน่ชัดเสียก่อน
๒. ทรงตอบด้วยวิภัชชพยากรณ์ กับปัญหาที่ควรแยกตอบแยกรับแยกปฏิเสธ ไม่ตอบแบบเหมาทั้งหมด.
๓. ทรงตอบด้วยเอกังคพยากรณ์ กับปัญหาที่ควรตอบ แน่ชัดลงไปส่วนเดียว ว่าใช่หรือไม่ใช่.
๔. ทรงตอบด้วยฐปนียพยากรณ์ กับปัญหาที่ไม่ควรตอบ ไม่ใช่ตอบไม่ได้ ปัญหาประเภทนี้เรียกว่า อัพยากตปัญหา คือปัญหาที่ไม่ทรงตอบ เป็นปัญหาที่ไม่กระทำให้แจ้ง คือ เป็นธรรมที่ไม่ทรงแสดงว่าเป็นกุศลธรรม หรือ อกุศลธรรม

การวิเคราะห์กลวิธีในการปฏิเสธอัพยากตปัญหา

จากการวิเคราะห์ในพระสูตรต่างๆ พบว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้กลวิธีในการปฏิเสธ กรณีมีผู้ถามอัพยากตปัญหา ดังต่อไปนี้คือ

๑ . ทรงกล่าวปฏิเสธโดยตรัสว่า “เราไม่พยากรณ์” หรือถ้าพระสาวกนำไปตอบก็จะกล่าวตอบว่า “ปัญหาข้อนี้พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์” ดังปรากฏในอัพยากตปัญหาหลายสูตร เช่น ครั้งหนึ่ง อุตติยปริพาชกได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ท่านโคดมผู้เจริญ โลกเที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่าหรือหนอ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอุตติยะ ข้อนี้เราไม่พยากรณ์ ฯ
อุ. ท่านโคดมผู้เจริญ ก็โลกไม่เที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่าหรือ ฯ
พ. ดูกรอุตติยะ แม้ข้อนี้เราก็ไม่พยากรณ์ ฯ
อุ. ท่านโคดมผู้เจริญ โลกมีที่สุด ... โลกไม่มีที่สุด ... ชีพอันนั้นสรีระอันนั้น ...
ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง ... สัตว์เมื่อตายแล้ว ย่อมเป็นอีก ... สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมไม่
เป็นอีก ... สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมเป็นอีกก็มีไม่เป็นอีกก็มี ... สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมเป็นอีก
ก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่าหรือ ฯ
พ. ดูกรอุตติยะ แม้ข้อนี้เราก็ไม่พยากรณ์ ฯ ( จากอุตติยสูตร)
กรณีพระสาวกนำไปตอบก็จะกล่าวตอบว่า “ปัญหาข้อนี้พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์” เช่นกรณี พระเจ้าปเสนทิโกศล ตรัสถามพระเขมาภิกษุณีปัญหาอัพยากตข้อที่ ๗-๑๐ พระเขมาภิกษุณีก็ตอบว่า ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ และเมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสถามถึงสาเหตุที่ไม่ทรงทรงพยากรณ์ พระเขมาเถรีได้กล่าวเปรียบเทียบว่า “มหาบพิตรมีคำนวณนักประเมิน หรือนักประมาณไดๆ จะสามารถจะคำนวณทรายในแม่น้ำคงคาว่า ทรายมีประมาณเท่านั้นเท่านี้เม็ด หรือจะคำนวณน้ำในมหาสมุทรว่า น้ำมีเท่านี้อาฬหกะ น้ำมีเท่านั้นอาฬหกะ ได้หรือฉันใด การที่จะบัญญัติตถาคต ว่าหลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก ไม่เกิดอีก เกิดอีกก็มีไม่เกิดอีกก็มี จะว่าเกิดอีกก็มิใช่ไม่เกิดอีกก็ไม่ใช่ ก็ล้วนไม่ถูกต้องทั้งสิ้นฉันนั้น เพราะจะบัญญัติตถาคตด้วยรูป เวทนา สัญญา สังขาร หรือ วิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่ง ตถาคตตละรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เช่นนั้นได้อย่างเด็ดขาด ไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้อีกแล้ว ในกาลต่อมา พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทูลถามปัญหาเหล่านี้กับพระพุทธเจ้าอีก พระพุทธองค์ก็ทรงตอบอย่างเดียวกัน (จากเขมาเถรีสูตร)

๒ . ทรงบอกปัดโดยตรัสว่า “เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น” แม้ผู้ถามจะถามซ้ำอย่างไรก็ตรัสเช่นนั้น ทำให้คนถามโกรธบ้าง หมดศรัทธาบ้างก็มี เช่น อัคิวัจฉโคตรปริพาชก กล่าวต่อว่าพระพุทธองค์ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดมภิกษุผู้มีจิตพ้นวิเศษแล้ว อย่างนี้ จะเกิดในที่ไหน ก็ตรัสตอบว่า ดูกรวัจฉะ คำว่า “เกิด” ดังนี้ ไม่ควร(นำมาใช้ไม่ได้) อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ถ้าเช่นนั้นเกิดก็มิใช่ ไม่เกิดก็มิใช่หรือ ข้าแต่ท่านพระโคดมก็กล่าวว่า “เกิดก็มี ไม่เกิดก็มี” และ “จะว่าเกิดก็มิใช่ ไม่เกิดก็มิใช่” ในข้อนี้ข้าพเจ้าถึงความไม่รู้ถึงความหลงแล้ว แม้เพียงความเลื่อมใสของข้าพเจ้าที่ได้มีแล้ว เพราะพระวาจาที่ตรัสไว้ในเบื้องแรกของท่านพระโคดม บัดนี้ได้หายไปเสียแล้ว” ( ศรัทธาที่ฟักตัวในเบื้องต้นต้องสะดุดลงเพราะคำตอบเช่นนี้) (จากอัคิวัจฉโคตรสูตร)
๓ . ทรงเปลี่ยนเรื่องแสดงหลักธรรมเรื่องอื่น ที่ทำให้ระดับความสนใจของผู้เข้าถึงธรรมนั้นพ้นไปจากความติดใจในปัญหาที่ถาม ดังที่มัณฑิยกับซากิยปริพาชกเคยถามพระองค์กลับทรงทำไม่รู้ไม่ชี้ต่อคำถามของเขา ทรงแสดงเรื่องศีลสมาธิปัญญาโดยพิสดาร ตอนท้ายจึงทิ้งคำถามว่า “ผู้ที่รู้อย่างนี้เห็นอย่างนี้ ควรหรือจะกล่าวว่า ชีพอันนั้นสรีระอันก็นั้น หรือชีพอย่างหนึ่งสรีระก็อย่างหนึ่ง” ผู้ถามจึงรับว่าไม่ควร

๔ . ทรงนิ่งเฉยเหมือนกับจนแต้มหมดปฏิภาณ เช่นที่ทรงปฏิบัติต่อวัจฉปริพาชก ดังปรากฏในอานันทสูตร วัจฉโคตรปริพาชกได้ทูลถามอย่างนี้แล้วพระผู้มีพระภาคได้ทรงดุษณีเสีย วัจฉโคตรปริพาชกได้ทูลถามอีกว่า ข้าแต่พระ---โคดมผู้เจริญ ก็อัตตาไม่มีหรือ แม้ครั้งที่สอง พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงดุษณีเสียเหมือนกัน ครั้นแล้ว วัจฉโคตรปริพาชกก็ได้ลุกขึ้นจากที่นั่งหลีกไป ฯ
เมื่อวัจฉโคตรปริพาชกหลีกไปแล้วไม่นาน ท่านพระอานนท์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะเหตุอะไรหนอพระผู้มีพระภาคอันวัจฉโคตร ปริพาชกทูลถามปัญหาแล้ว จึงไม่ทรงพยากรณ์พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ เราอันวัจฉโคตรปริพาชกถามว่า อัตตามีอยู่หรือ ถ้าจะพึงพยากรณ์ว่า อัตตามีอยู่ไซร้ คำพยากรณ์นั้นก็จักไปร่วมกับลัทธิของพวกสมณพราหมณ์ผู้เป็นสัสสตทิฐิ ดูกรอานนท์ เราอันวัจฉโคตรปริพาชกถามว่าอัตตาไม่มีหรือ ถ้าจะพึงพยากรณ์ว่า อัตตาไม่มีไซร้ คำพยากรณ์นั้นก็จักไปร่วมกับลัทธิของพวกสมณพราหมณ์ผู้เป็นอุจเฉททิฐิ ดูกรอานนท์ เราอันวัจฉโคตรปริพาชกถามว่า อัตตามีอยู่หรือ ถ้าจะพึงพยากรณ์ว่า อัตตามีอยู่ไซร้ คำพยากรณ์ของเรานั้น จักอนุโลมเพื่อความบังเกิดขึ้นแห่งญาณว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตาบ้างหรือหนอ ฯ
อา. หามิได้ พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรอานนท์ ถ้าหากเราอันวัจฉโคตรปริพาชกถามว่า อัตตาไม่มีหรือ จะพึงพยากรณ์ว่า อัตตาไม่มีไซร้ คำพยากรณ์นั้นคงจักเป็นไปเพื่อความหลงงมงายแก่วัจฉโคตรปริพาชกผู้งมงายอยู่แล้วว่า เมื่อก่อนอัตตาของเราได้มีแล้วแน่นอนบัดนี้ อัตตานั้นไม่มี ดังนี้ ฯ

๕ . ทรงตอบแบบอุปมา เช่น ดูกรวัจฉะ ถ้าเช่นนั้น เราจักย้อนถามท่านในข้อนี้ ท่านเห็นควรอย่างใด ก็พึงพยากรณ์อย่างนั้น ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ถ้าไฟลุกโพลงอยู่ต่อหน้าท่าน ท่านจะพึงรู้หรือว่า ไฟนี้ลุกโพลงต่อหน้าเรา.
ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าไฟลุกโพลงต่อหน้าข้าพเจ้า ข้าพเจ้าพึงรู้ว่า ไฟนี้ลุกโพลงอยู่ ต่อหน้าเรา.
ดูกรวัจฉะ ถ้าใครๆ พึงถามท่านอย่างนี้ว่า ไฟที่ลุกโพลงอยู่ต่อหน้าท่านนี้ อาศัยอะไรจึงลุกโพลง ท่านถูกถามอย่างนี้แล้วจะพึงพยากรณ์ว่าอย่างไร?
ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าใครๆ ถามข้าพเจ้าอย่างนี้ว่า ไฟที่ลุกโพลงต่อหน้าท่านนี้ อาศัยอะไรจึงลุกโพลง ข้าพเจ้าถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ไฟที่ลุกโพลงอยู่ต่อหน้าเรานี้ อาศัยเชื้อ คือหญ้าและไม้จึงลุกโพลงอยู่.
ดูกรวัจฉะ ถ้าไฟนั้นพึงดับไปต่อหน้าท่าน ท่านพึงรู้หรือว่า ไฟนี้ดับไปต่อหน้าเราแล้ว?
ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าไฟนั้นดับไปต่อหน้าข้าพเจ้า ข้าพเจ้าพึงรู้ว่าไฟนี้ดับไปต่อหน้าเราแล้ว.
ดูกรวัจฉะ ถ้าใครๆ พึงถามท่านอย่างนี้ว่า ไฟที่ดับไปแล้วต่อหน้าท่านนั้น ไปยังทิศ ไหนจากทิศนี้ คือทิศบูรพา ทิศปัจจิม ทิศอุดร หรือทิศทักษิณ ท่านถูกถามอย่างนี้แล้ว จะพึงพยากรณ์ว่าอย่างไร?
ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้อนั้นไม่สมควร เพราะไฟนั้นอาศัยเชื้อ คือหญ้าและไม้จึงลุก แต่เพราะเชื้อนั้นสิ้นไป และเพราะไม่มีของอื่นเป็นเชื้อ ไฟนั้นจึงถึงความนับว่าไม่มีเชื้อ ดับไปแล้ว.
“พระอรหันต์หลังจากสิ้นชีวิตแล้วอุปมากับไฟที่หมดเชื้อแล้ว ทรงแสดงให้วัจฉโคตรปริพาชกยอมรับว่าไฟที่ลุกโพลงอยู่ตรงหน้านั้น เราอาจรู้ได้ เพราะอาศัยเชื้อเพลิง ไฟจึงลุกโพลง และเมื่อไฟดับลงไปตรงหน้า เราก็สามารถรู้ได้แต่ไม่อาจกล่าวได้ว่า ไฟที่ดับไปแล้วนั้นไปยังทิศใด กล่าวแต่เพียงว่า เมื่อเชื้อเพลิงนั้นถูกไฟเผาหมดแล้วและไม่มีเชื้อเพลิงอื่นมาเพิ่มเติมอีก ไฟก็ดับ ในทำนองเดียวกัน บุคคลบัญญัติสัตว์ทั้งหลายด้วยรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณใด พระอรหันต์ละสิ่งนั้นได้อย่างถอนรากถอนโคน ไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้อีก พ้นแล้วจากการเรียกว่าขันธ์ 5 มีคุณอันลึกซึ้ง หยั่งถึงได้ยากเหมือนมหาสมุทร จึงไม่ควรกล่าวว่า เกิด ไม่เกิด เกิดก็มี ไม่เกิดก็มี และจะว่าเกิดก็มิใช่ ไม่เกิดก็มิใช่ (จากวัจฉะสูตร ) และอีกเรื่องหนึ่ง จากจูฬมาลุงโกยวาทสูตร ได้ทรงอุปมาตรัสตอบว่า มนุษย์แต่ละคนเปรียบเสมือนผู้ถูกลูกศรอาบยาพิษ สิ่งที่เขาควรทำโดยเร่งด่วนคือให้แพทย์ถอนลูกศรออกแล้วรีบเยียวยารักษาแผลให้หายแทนที่จะมัวแต่ถามว่าลูกศรนั้นใครยิงมา เป็นลูกศรชนิดใดและทำด้วยอะไร มิฉะนั้นเขาอาจจะตายไปเสียก่อน เมื่อเขาถอนลูกศรออกมารักษาแผลให้หายดีแล้ว การสืบหาตัวผู้ยิงและรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับลูกศรก็อาจทำได้ไม่ยาก ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อบุคคลกระทำทุกข์ให้ถึงที่สุดแล้วความสงสัยในปัญหาอภิปรัชญาที่พระพุทธองค์ไม่ทรงตอบเหล่านี้ก็จะหมดไปเอง
๖. ทรงตรัสตอบปัญหาที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน ดังได้ทรงตรัสทรงให้เหตุผลแก่
พระมาลุงกยบุตรว่า (จากจูฬมาลุงโกยวาทสูตร) “ปัญหาเหล่านี้ไม่เป็นประโยชน์ในการดับทุกข์ ไม่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์” (จึงไม่ทรงตอบ)

วิเคราะห์สาเหตุที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์อัพยากตปัญหา
หลายท่านอาจจะเสียดายว่าทำไมพระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ปัญหาเหล่านี้ คาดว่าพระพุทธองค์จะต้องทรงทราบ และชี้แจงว่าพวกไหนถูก พวกไหนผิดได้อย่างแน่นอน ซึ่งพระมาลุงกยรู้สึกขัดใจอยากรู้มากๆ และเคยกล่าวว่าจะต้องรู้ให้ได้ ถ้าพระพุทธองค์ไม่ทรงตอบให้รู้เรื่องไปเลย ท่านก็จะลาสิกขาไปเป็นคฤหัสถ์ พระมาลุงกยจึงได้เซ้าซี้ถามพระพุทธองค์ตรงๆเลยว่า “ถ้าพระพุทธองค์ไม่รู้ก็ขอให้ทรงตอบมาตรงๆเถิดว่าไม่รู้ ถ้ารู้ก็จงพยากรณ์เถิด” และในที่สุดพระพุทธองค์ก็ยังคงปฏิเสธการพยากรณ์ (จูฬมาลุงโกยวาทสูตร)
จากการศึกษาอัพยากตปัญหาจากที่พระสาวกและพระพุทธองค์ทรงตรัส ดังความที่บอกไว้ในพระสูตรต่างๆ ดังกล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น จึงพอจะสรุปสาเหตุที่พระพุทธองค์ไม่ทรงพยากรณ์อัพยากตปัญหาได้ว่าน่าจะเป็นเพราะเหตุดังต่อไปนี้ คือ เพราะเป็นปัญหาที่
๑. เป็นธรรมประณีตลุ่มลึก ผู้มีความเพียรในทางอื่น ยากที่หยั่งรู้ได้ ดังเช่น
๑.๑ ทรงกล่าวในวัจฉสูตร “ดูกรวัจฉะ ควรแล้วที่ท่านจะไม่รู้ ควรแล้วที่ท่านจะหลง เพราะว่าธรรมนี้เป็นธรรมลุ่มลึก ละเอียด สงบระงับ ประณีต ยากที่จะเห็น ยากที่จะรู้ ไม่ใช่ธรรมที่จะหยั่งถึงได้ด้วย ความตรึก บัณฑิตจึงจะรู้ได้ ธรรมนั้นอันท่านผู้มีความเห็นเป็นอย่างอื่น มีความพอใจ เป็นอย่างอื่น มีความชอบใจเป็นอย่างอื่น มีความเพียรในทางอื่น อยู่ในสำนักของอาจารย์อื่น (ฝักใฝ่ในลัทธิอื่น) ก็ยากที่จะหยั่งรู้ได้ ”
๑.๒ แต่ทั้งนี้ขอให้เข้าใจว่าพุทธศาสนามิใช่จะไม่พูดเรื่องตายเกิด พุทธศาสนาถือว่าตายแล้วเกิด แต่การตายเกิดเป็นเรื่องธรรมชาติมิใช่สัตว์อัตตาเป็นตัวตนเวียนไปมา อย่างที่พระสาติกล่าวและถูกตำหนิมาแล้ว บางคนเกิด บางคนไม่เกิด แล้วแต่ปัจจัยคือ ตัณหาอุปาทาน ดังที่ตรัสไว้ใน พระกุตุหลสาลาสูตร
๑.๓ โกกนุทปริพาชก ได้ถามพระอานนท์ว่า พระเถระมีความเห็นว่า “โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง...ฯลฯ หรือไม่” พระอานนท์ตอบว่า ท่านมิได้มีความเห็นอย่างนั้นและกล่าวว่า ความเห็นที่ว่า “โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง ฯลฯ...” นี้เป็นทิฏฐิอย่างหนึ่งในทิฏฐิ ๖๒ ประการ (ในยุคนั้น) และท่านรู้จักทิฏฐิ บ่อเกิดแห่งทิฏฐิ ผลของทิฏฐิที่ทำให้คนหลงยึดถือ และวิธีเพิกถอนทิฏฐิเหล่านั้นเป็นอย่างดี (โกกนุทสูตร)
๒. เป็นการเห็นผิดว่าขันธ์ ๕ ทั้งหลายเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นอัตตาตัวตน ดังที่พระสาวกทั้งหลายชี้แจง คือ
๒. ๑ พระโมคคลานชี้แจงแก่วัจฉโคตรปริพาชกว่า ผู้ที่มีความเห็นข้องอยู่ในทุกข์ ๑๐ นั้นก็เพราะเห็นอายตนภายใน ๖ ว่าเป็นของเรา เป็นเรา เป็นตัวตนของเรา หมายความว่าพวกทิฏฐิ ๑๐ นั้นจะกล่าวเบื้องปลายแตกแยกกันอย่างไรใน ๑๐ ก็ตาม แต่เขาอยู่บนพื้นฐานแห่งอัตตาตัวตนที่สำคัญผิดจากอายตน ๖ คือขันธ์ ๕ นั่นแหละ (จากโมคคัลลานสูตร)
๒. ๒ พระอนุราธะชี้แจงแก่พวกปริพาชกว่าสัตว์มิใช่ขันธ์ ๕ สัตว์ไม่มีอยู่ในขันธ์ ๕ สัตว์ไม่อื่นจากขันธ์ ๕ หมายความว่า คนสัตว์นั้นแท้จริงคือที่ชุมนุมแห่งขันธ์ ๕ เท่านั้น สัตว์มิใช่เป็นขันธ์ใดขันธ์หนึ่งใน ๕ ขันธ์ และมิได้ซุกซ่อนอยู่ในกองขันธ์ ๕ คนสัตว์เป็นแต่เพียงการบัญญัติคลุมธรรมชาติไว้เท่านั้นดุจเรียกกองไม้กอง กองเหล็กว่ารถ สัตว์จึงไม่อื่นไปจากขันธ์ ๕ เสียทีเดียว จะไปชี้ว่าที่ว่างเปล่าว่านี่คนนี่เสือก็ไม่ได้(จากอนุราธสูตร)
๒.๓ พระเขมาภิกษุณีชี้แจงแก่พระเจ้าปเสนทิโกศลว่า ปุถุชนบัญญัติสัตว์โดยอาศัยขันธ์ ๕ พระพุทธองค์ทรงละขันธ์ ๕ แล้ว หมายความว่าปุถุชนเราสำคัญเอาจากขันธ์ เพราะรักใคร่ยึดถือขันธ์จนฝังหัว แต่พระพุทธเจ้ามิได้ยึดมั่นในขันธ์ แล้วจึงไม่เห็นผิดว่าสัตว์บุคคลไปเวียนตาย – เกิด (จากเขมาเถรีสูตร)
๒.๔ พระสารีบุตรชี้แจงแก่พระโกฎฐิตว่า ความเห็นอย่างนี้ย่อมมีแก่ผู้ที่ไม่เห็นขันธ์ ๕ โดยอาการแห่งอริยสัจ ๔ คือ ไม่รู้จักขันธ์ ๕ ไม่รู้เหตุเกิดของขันธ์ ๕ ไม่รู้ความดับของขันธ์ ๕ ไม่รู้หนทางดับขันธ์ ๕ หมายความว่า ไม่รู้แจ้งสภาพขันธ์ตามสภาพของมัน จึงสำคัญว่าเป็นสัตว์บุคคลอย่างเป็นจริงเป็นจัง เมื่อตั้งต้นผิดจะแถลงอย่างไรต่อไปก็ผิดทั้งนั้น (จากสารีปุตตโกฏฐิตสูตรที่ ๒)

๓. บุคคลสิ้นอวิชชา สิ้นทิฏฐิแล้วย่อมหยั่งรู้ได้เอง ผู้สิ้นอวิชชา สิ้นทิฏฐิแล้วจะไม่เห็น
ว่าขันธ์เป็นสัตว์บุคคลจริงๆ เพราะว่าบุคคลไม่รู้สภาพความเป็นจริงของขันธ์ ๕ ยังยินดีในขันธ์ ๕ ( จึงไม่ต้องตอบ ) ดังตัวอย่างดังต่อไปนี้คือ
๓. ๑ พระพุทธองค์ตรัสชี้แจงแก่วัจฉโคตรว่า มิจฉาทิฏฐิ ๑๐ นั้น เกิดขึ้นบนรากฐานคือเห็นขันธ์ ๕ ว่าเป็นตน เห็นตนมีขันธ์ ๕ เห็นขันธ์ ๕ ในตน เห็นตนในขันธ์ ๕ รวมเรียกว่าสักกายทิฏฐิ ๒๐ จะเป็นสัสสตหรืออุจเฉกทิฏฐิก็ได้ “ตถาคตละได้แล้ว มีมูลรากอันขาดแล้ว ทำให้เป็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา ตถาคตพ้นจากการนับว่ารูปมีคุณอันลึก อันใครๆ ประมาณ ไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก. เปรียบเหมือนมหาสมุทรฉะนั้น ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิด ไม่ควรจะ กล่าวว่าไม่เกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิดก็มี ไม่เกิดก็มี ไม่ควรจะกล่าวว่า เกิดก็หามิได้ ไม่เกิดก็หามิได้. บุคคลเมื่อบัญญัติว่าเป็นสัตว์ พึงบัญญัติเพราะเวทนาใด...เพราะสัญญาใด...เพราะสังขารเหล่าใด ... เพราะวิญญาณใด ...วิญญาณนั้น ตถาคตละได้แล้ว มีมูลรากอันขาดแล้วทำให้ดุจเป็นตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา ตถาคตพ้นจากการนับว่าวิญญาณ มีคุณอันลึก อันใครๆ ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก. เปรียบเหมือนมหาสมุทรฉะนั้น ไม่ควรกล่าวว่าเกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าไม่เกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิดก็มี ไม่เกิดก็มี ไม่ควรจะกล่าวว่า เกิดก็หามิได้ ไม่เกิดก็หามิได้ (จากวัจฉะสูตร)
๓.๒ พระสารีบุตรชี้แจงแก่พระโกฎฐิตว่าสัตว์หมายถึงขันธ์ ๕ หมายความว่า สัตว์มิได้มีโดยเอกเทศด้วยตนเอง แต่เพียงสมมุติเรียกเอาโดยอาศัยขันธ์ ๕ เป็นที่ตั้ง อัตตาตัวตนจึงไม่มี จึงกล่าวโดยปรมัตถ์ไม่ได้ว่าสัตว์เกิด (จากสารีปุตตโกฏฐิตสูตรที่ ๑)
๓. ๓ พระสารีบุตรชี้แจงแก่พระโกฎฐิตว่า เป็นเพราะผู้นั้นมีความยินดีในขันธ์ ในภพ ในอุปาทาน ตัณหา และไม่เห็นความดับสลายของขันธ์ ภพ อุปาทาน ตัณหา หมายความว่าเพราะสัตว์รักตัวและชาติภพและยินดีในคราบตัวเองได้รักตัวเองนั้นด้วย จึงอยากจะให้มีตัวให้เป็นตัวตนอยู่จริงเพื่อเป็นที่ยึดถือ อย่าว่าแต่พวกอื่นที่เขาไม่รู้เรื่องคำสอนที่ว่าด้วยอนัตตาเลย แม้แต่ชาวพุทธก็ยังอยากจะให้มีตัวตนเพื่อไปสวรรค์ ไปนิพพาน เป็นผู้หลุดพ้น ความรู้สึกเช่นนี้เป็นปกติของปุถุชน (จากสารีปุตตโกฏฐิตสูตรที่ ๔)

๔. เพราะไม่ทำให้เกิดธรรมทัสสนะ และอาจทำให้เกิดความงมงาย เพราะ
๔. ๑ การไม่ทรงพยากรณ์เรื่องอัตตา เนื่องจาก ถ้าทรงพยากรณ์ว่า อัตตามีอยู่ ก็เข้ากับลัทธิสัสสตทิฎฐิ ถ้าทรงพยากรณ์ว่า อัตตาไม่มีอยู่ ก็เข้ากับลัทธิอุจเฉททิฎฐิ การพยากรณ์ว่า อัตตามีอยู่ ไม่ทำให้เกิดธรรมทัสสนะว่าธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา การพยากรณ์ว่า อัตตาไม่มีอยู่ ก็ทำให้คนที่เคยเชื่อเรื่องอัตตาเกิดความงมงายว่าอัตตาของเราไม่มีเสียแล้ว (การเวียนว่ายหรือตายเกิดหรือความเป็นไปต่างๆ ของชีวิตนั้น เป็นเรื่องกระแสธรรมชาติที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยมิใช่อัตตาตัวตน) (จากอานนทสูตร)
๔. ๒ เป็นความเห็นที่รกชัฏเป็นความเห็นอย่างกันดาร เป็นเสี้ยนหนาม เป็นความเห็นที่กวัดแกว่ง เป็นความเห็นเครื่องผูกสัตว์ไว้ เป็นไปกับด้วยทุกข์ กับด้วยความลำบาก กับด้วยความคับแค้น เร่าร้อน
๔. ๓ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ประกอบด้วยธรรม ไม่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

๕. คำถามเป็นมิจฉาทิฏฐิทั้งหมด บางคนอยากรู้เพื่อคัดค้านขัดขวาง หากตอบไปก็ค้านกับมิจฉาทิฏฐิของคนทั่วไป จึงไม่ทรงตอบ คือเป็นมิจฉาทิฏฐิ ดังตัวอย่าง
๕. ๑ ที่เรียกว่าโลก ว่าสัตว์ ว่าชีวะ ว่าสรีระ หรือว่าด้วยโวหารในที่อื่นว่า บุคคล มานวนรก็ดี เป็นมิจฉาทิฏฐิ ผิดตั้งแต่ต้น โวหารเหล่านี้ลัทธินอกศาสนาพุทธครั้งนั้นหมายถึงอัตตาตัวตน อันเป็นสารในตัวของสัพพสัตว์ แต่พุทธศาสนาถือว่าคนเราเป็นเพียงการรวมตัวกันของธรรมชาติกลุ่มหนึ่งๆ เท่านั้นเรียกว่าขันธ์ ๕ หรืออายตนะ ๑๒ มิใช่ตัวตนคนสัตว์ ถึงพระพุทธเจ้าจะใช้โวหารว่าบุคคลหรือตนด้วย แต่ทรงเรียกตามโวหารโลกไปเท่านั้น มิได้ยึดถือว่ามีจริงโดยปรมัตถ์ดังพวกลักธิอื่นเชื่อกัน เมื่อคนสัตว์ไม่มีจริงดังนี้ จะกล่าวว่าสัตว์ตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด นั้นไม่ได้ หากตอบไปก็ค้านกับมิจฉาทิฏฐิของคนทั่วไป เพราะ คนทั่วไปเข้าใจว่า สัตว์คือขันธ์ 5 อันที่จริงแล้วสัตว์ไม่ใช่ขันธ์ 5 ขันธ์ 5 ไม่ใช่สัตว์ แต่ก็ไม่ใช่อื่นไปจากขันธ์ 5 เมื่อคนทั่วไปพูดถึงสัตว์ ย่อมหมายถึงขันธ์ 5 เพราะมีอวิชชาในขันธ์จึงมีตัณหาอุปาทานในขันธ์ เพราะมีอุปาทานในขันธ์จึงเกิด มิจฉาทิฏฐิในขันธ์ เพราะมิจฉาทิฏฐิในขันธ์จึงเห็นว่าขันธ์เป็นสัตว์บุคคลโดยแท้จริง เมื่อเห็นขันธ์เป็นสัตว์บุคคลจึงเห็นไปต่างๆกันว่าสัตว์ตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด
๕. ๑ ดูกรภิกษุ ตถาคตย่อมแสดงธรรมโดยสายกลาง ไม่ข้องแวะส่วนสุด(สุดโต่ง)ทั้งสอง หมายความว่า คนที่เป็นทิฏฐิ ๑๐ นั้นแล้ว เป็นสัสสตทิฏฐิบ้าง อุจเฉกทิฏฐิบ้าง ขวางต่อการปฏิบัติธรรมทางศาสนาทั้งคู่ แต่ถ้าเข้าใจตามคำสอนว่าคนสัตว์ที่จะเกิดที่จะสูญไม่มีเป็นแต่นามรูป จุติ บุคคลผู้ข้องแวะทิฏฐินี้จะเห็นผิดไปจากความเป็นจริง และมีผลเสียที่เกิดขึ้นจากทิฏฐิเหล่านี้คือ ความอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ย่อมไม่มี
๕.๒ พระสภิยชี้แจงกับวัจฉโคตรว่า เพราะสิ้นเหตุปัจจัยที่จะทำให้บัญญัติเป็นสัตว์ สัตว์เป็นอย่างไร ๆ แล้ว คำว่าเหตุปัจจัยก็คือตัณหาและทิฎฐิ ซึ่งเป็นตัวก่อความวิปลาศเพราะอาศัยขันธ์นั่นเอง (จากสภิยสูตร)
๕.๓ ทิฏฐิไม่ว่าชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นข้าศึก ทิฏฐิทั้งสิ้นอันอริยะสาวกนั้นละได้แล้ว
ตัดรากขาดแล้ว กระทำให้เป็นดังตาลยอดด้วน ถึงความไม่มีอันไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา เพราะอวิชชาดับด้วยสำรอกไม่เหลือ หมายความว่าสิ้นอวิชชาแล้วก็ไม่เห็นผิดไปต่างๆ เช่นนั้น
๖ . ทรงตอบธรรมที่เป็นประโยชน์เพื่อความรู้ยิ่ง(ตรัสรู้)เพื่อบรรลุพระนิพพาน พระพุทธองค์ทรงเลือกบุคคลที่จะตอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตรัสตอบกับสาวก สมมติสงฆ์ หรืออริยะสงฆ์ ที่ทรงเห็นแล้วว่าจะเกิดประโยชน์กับผู้ฟังนั้น ซึ่งก็เป็นไปตามหลักการแสดงธรรมของพระพุทธองค์ที่ทรงให้ไว้ ดังเช่น
๖.๑ ครั้งหนึ่งที่ อุตติยะต่อว่าพระพุทธองค์ว่า “ท่านถูกเราถามว่า ท่านโคดมผู้เจริญ โลกเที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริงสิ่งอื่นเปล่าหรือหนอ ก็ตรัสตอบว่า ดูกรอุตติยะ ข้อนี้เราไม่พยากรณ์ เมื่อถูกถามว่า ท่านโคดมผู้เจริญ ก็โลกไม่เที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่าหรือก็ตรัสตอบว่า ดูกรอุตติยะ ข้อนี้เราก็ไม่พยากรณ์ เมื่อถูกถามว่า ท่านโคดมผู้เจริญ โลกมีที่สุด ... โลกไม่มีที่สุด ... ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น ... ชีพอย่างหนึ่ง สรีระก็อย่างหนึ่ง ... สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมเป็นอีก ... สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมไม่เป็นอีก ... สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมเป็นอีกก็มี ย่อมไม่เป็นอีกก็มี ... สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมเป็นอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่าหรือหนอ ก็ตรัสตอบว่า ดูกรอุตติยะ แม้ข้อนี้เราก็ไม่พยากรณ์ เมื่อเป็นเช่นนี้ท่านโคดมผู้เจริญจะพยากรณ์ในทางไหน ฯ
พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ดูกรอุตติยะ เราย่อมแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายเพื่อความรู้ยิ่งเพื่อความหมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงเสียซึ่งความโศกและความร่ำไรเพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ฯ ( อุตติยสูตร)
๖.๒ ทรงกล่าวกับพระมาลุงกย ว่า ปัญหาเหล่านี้ไม่เป็นประโยชน์ในการดับทุกข์ ไม่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ งานเฉพาะหน้าของมนุษย์คือการปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ มิใช่การค้นหาความจริงทางด้านอภิปรัชญา ได้ทรงอุปมาว่า มนุษย์แต่ละคนเปรียบเสมือนผู้ถูกลูกศรอาบยาพิษ สิ่งที่เขาควรทำโดยเร่งด่วนคือให้แพทย์ถอนลูกศรออกแล้วรีบเยียวยารักษาแผลให้หายแทนที่จะมัวแต่ถามว่าลูกศรนั้นใครยิงมา เป็นลูกศรชนิดใดและทำด้วยอะไร มิฉะนั้นเขาอาจจะตายไปเสียก่อน เมื่อเขาถอนลูกศรออกมารักษาแผลให้หายดีแล้ว การสืบหาตัวผู้ยิงและรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับลูกศรก็อาจทำได้ไม่ยาก ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อบุคคลกระทำทุกข์ให้ถึงที่สุดแล้วความสงสัยในปัญหาเหล่านี้ก็จะหมดไปเอง ( จูฬมาลุงโกยวาทสูตร )
๗. เมื่อบุคคลละตัณหาอุปาทานได้โดยสิ้นเชิง คลายความยึดติดในขันธ์ 5 ก็จะรู้แจ้งอัพยกตปัญหาทั้ง ๑๐ ข้อนี้ได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องไปถามใคร ผู้ที่ยังมีความลังเลสงสัยในอัพยากตปัญหา ได้แก่ ผู้ที่ยังมีความชื่นชมยินดีในขันธ์ 5 ยังยึดถือขันธ์ 5 ว่าเป็นเรา เป็นของเรา จึงไม่สามารถพิจารณาเห็นขันธ์ 5 โดยความเป็นไตรลักษณ์ ตอบไปก็ไม่สามารถทำให้คนเหล่านั้นรู้แจ้งไปได้ (สาริปุตตโกฏฐิตสูตร )
๘. เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือประสบการณ์ของมนุษย์ คำถามเหล่านั้นเป็นคำถามที่แพร่หลายในวงกว้าง ผู้ที่มีความ ฝักใฝ่ในลัทธิอื่น ไม่ว่าจะตอบอย่างไรซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นคำตอบที่ถูกต้อง แต่ก็เป็นข้อยุติของเจ้าลัทธิต่างๆได้ เพราะเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือประสบการณ์ของมนุษย์ ดังนั้น คำพูดนั้นแม้จริง แต่ไม่เกิดประโยชน์ ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจ พระพุทธองค์จะไม่ทรงตรัส และตรัสสอนสาวกไว้ด้วยแล้วว่าไม่ควรพูดคำพูดใดที่ไม่เกิดประโยชน์ ฯลฯ (จากอภัยราชกุมารสูตร )


สรุป
อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงตอบธรรมเฉพาะที่เป็นประโยชน์ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อการตรัสรู้ เพื่อบรรลุพระนิพพาน
ดังนั้นสาเหตุที่ไม่ทรงพยากรณ์อัพยากตปัญหา เพราะว่าเป็นปัญหาที่ลุ่มลึกตอบไปแล้วคนไม่เข้าใจก็ยิ่งจะงมงาย และไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด(ราคะกิเลส) ไม่เป็นไปเพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน และทรงกล่าวข้อธรรมอีกว่า งานเฉพาะหน้าของมนุษย์แต่ละคน ควรทำโดยเร่งด่วนคือการปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ มิใช่การค้นหาความจริงด้านอภิปรัชญา เมื่อบุคคลกระทำทุกข์ให้ถึงที่สุดแล้วความสงสัยในปัญหาเหล่านี้ก็จะหมดไปเอง























เอกสารอ้างอิง

กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง. กรุงเทพมหานคร:
กรมการศาสนา, ๒๕๒๕.
แถม กิตติเผ่า. (๒๕๒๘).อพยากตปัญหาปัญหาที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์เอกลักษณ์ดีไซน์.
สุชีพ ปุญญานุภาพ. พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน. พิมพ์ครั้งที่ ๑๕. กรุงเทพมหานคร:
มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, ๒๕๓๗.
สุเชาวน์ พลอยชุม รศ. เรื่องที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ บรรยายแก่นักศึกษาศาสนศาสตร
ดุษฎีบัณฑิต (รุ่นที่ ๒ ) วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๐ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ศูนย์การศึกษาวัดอาวุธวิกสิตาราม: กรุงเทพมหานคร.

ไม่มีความคิดเห็น: