อัพยากตปัญหา
ความนำ
การตอบปัญหาต่าง ๆ เป็นเรื่องการแสดงความรู้ความสามารถเป็นพุทธประสงค์ที่สำคัญประการหนึ่ง เห็นได้จากการที่มารผู้มาทูลอาราธนาให้พระพุทธองค์ปรินิพพาน มารได้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้พระภาคเจ้าจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด ขอพระสุคตเจ้าจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด บัดนี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระพุทธเจ้าแล้ว”
พระพุทธเจ้าได้ตรัสตอบมารว่า
“ดูกรมารผู้มีบาป ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ผู้เป็นสาวกสาวิกาของเรา ยังไม่เฉียบแหลม ยังไม่ได้ฝึกฝน ยังไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เรียนกับอาจารย์แล้วยังบอกธรรมไม่ได้ ยังแสดงข่มขี่คำรุกรานของผู้อื่นไม่ได้เพียงใด เราจักยังไม่ปรินิพพานเพียงนั้น” (มหาปรินิพพานสูตร ที. มหา.๑๐/๙๕/๘๘)
ในพระสูตรนี้จะเห็นคำว่า “ข่มขี่คำรุกรานของผู้อื่น” ในที่นี่หมายถึงการตอบปัญหาต่าง ๆ ได้ เรื่องนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าความสามารถตอบปัญหาต่าง ๆ ได้นั้นไม่ได้มีความสำคัญเฉพาะพระพุทธเจ้าเท่านั้น แต่มีความสำคัญต่อพุทธบริษัททั้งปวง เพราะหมายถึงความมั่นคงอยู่รอดของพระพุทธศาสนา (สุวรรณ เพชรนิล, ๒๕๔๔: ๒๔๕) ในพระสูตรต่าง ๆ จะพบว่าพระพุทธเจ้าทรงสรงเสริมให้พระสาวกมีความสามารถในการตอบปัญหาอยู่เสมอ ๆ เมื่อพระสาวกนั่งสนทนาปัญหาเรื่องใด ๆ ก็ตามพระองค์เสด็จผ่านไปทางนั้น ก็มักจะรับสั่งถามว่า พวกเธอกำลังสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อพระภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบก็ทรงนำสู่รายละเอียดของเรื่องนั้น ๆ และตรัสหลักธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ การที่ทรงให้ความสนพระหฤทัยกับปัญหาต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ เป็นวิธีการให้ความรู้แก่พระสาวกตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่ปล่อยให้เหตุการณ์ล่วงเลยไปอย่างไม่มีความหมาย วิธีการตอบปัญหาของพระพุทธเจ้านั้นอาจแบ่งได้ ๔ แบบตามที่ปรากฏในปัญหาสูตร (อํ.จตุกฺก.๔๒/๓๙) ดังข้อความในพระสูตรว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัญหาพยากรณ์ ๔ อย่างนี้ ๔ อย่างเป็นไฉน คือ ปัญหาที่พึงพยากรณ์โดยส่วนเดียวมีอยู่ ๑ ปัญหาที่พึงจำแนกพยากรณ์มีอยู่ ๑ ปัญหาที่ต้องสอบถามแล้วพยากรณ์มีอยู่ ๑ ปัญหาที่ควรงดมีอยู่ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัญหาพยากรณ์ ๔ อย่าง นี้แล ฯ ๑. กล่าวแก้โดยส่วนเดียว ๒. จำแนกกล่าวแก้ ๓. ย้อนถามกล่าวแก้ ๔. การงดกล่าวแก้ อนึ่ง ภิกษุใดย่อมรู้ความสมควรแก่ธรรมในฐานะนั้น ๆ แห่งปัญญาเหล่านั้น บัณฑิตทั้งหลายกล่าวภิกษุอย่างนั้นว่า เป็นผู้ฉลาดต่อปัญหาทั้ง ๔ ภิกษุผู้ที่ใคร ๆ ไล่ปัญหาได้ยาก ครอบงำได้ยาก เป็นผู้ลึกซึ้ง ให้พ่ายแพ้ได้ยาก และเป็นผู้ฉลาดต่อประโยชน์ทั้ง ๒ คือทั้งในด้านเจริญและในด้านเสื่อม ย่อมเป็นผู้ฉลาดงดเว้น ทางเสื่อม ถือเอาทางเจริญ เป็นธีรชนเพราะรู้จักประโยชน์ ชาวโลกขนานนามว่า บัณฑิต ฯ
จากพระสูตรนี้สรุปเป็นแนวทางการตอบปัญหา ๔ ประเภทคือ
๑. เอกังสพยากรณียปัญหา คือปัญหาที่ตอบแบบตรงไปตรงมาหรือการตอบปัญหาแบบเชิงเดียว
๒. วิภัชชพยากรณียปัญหา คือการแยกตอบปัญหาหรือการแยกประเด็นตอบ
๓. ปฏิปุจฉาพยากรณียปัญหา คือย้อนถามก่อนจึงตอบหรือการตอบโดยการย้อนถาม
๔. อัพยากตปัญหาหรือฐปนียปัญหา คือปัญหาบางอย่างต้องตัดบทไปเลยไม่ตอบหรือปัญหาที่ไม่ทรงพยากรณ์ ( เสฐียรพงษ์ วรรณปก, ๒๕๔๐: ๕๗- ๕๘)
นอกจากวิธีตอบปัญหา ๔ ประการนี้แล้ว ยังมีวิธีปลีกย่อยอีกบางอย่างที่สังเกตได้จากการตอบปัญหาของพระพุทธเจ้าตามที่ปรากฏในพระสูตรบางแห่งคือ พระองค์ทรงตอบคำถามเท่าที่ตอบได้ และปัญหาร้ายส่วนบุคคลไม่ทรงตอบ (แสง จันทร์งาม,๒๕๒๖: ๑๒๑-๑๒๔)
ประเด็นที่น่าสนใจในการตอบคำถามคือในแบบที่ ๔ คืออัพยากตปัญหาคือปัญหาที่ไม่ทรงพยากรณ์หรือตอบแบบไม่ตอบนี้เองทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า
๑. ปัญหาอะไรที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงตอบ
๒. ทำไมจึงไม่ทรงตอบคำถามเหล่านั้น ซึ่งผู้เขียนจะได้นำเสนอต่อไป
ปัญหาอะไรที่ไม่ทรงตอบ
ปัญหาที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์หรือตอบนั้นมีปรากฏอยู่ในพระสูตรที่รู้จักกันดีคือจูฬมาลุงโกยวาทสูตร(ม.ม.๑๓/๑๔๗-๑๔๙/๑๑๗-๑๑๘) เนื้อความของพระสูตรมีอยู่ว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น ท่านพระมาลุงกยบุตรไปในที่ลับ เร้นอยู่ เกิดความดำริแห่งจิตอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ ทรงงด ทรงห้ามทิฏฐิเหล่านี้ คือ โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่ สัตว์เบื้องหน้า แต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ ข้อที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ทิฏฐิเหล่านั้นแก่เรานั้น เราไม่ชอบใจ ไม่ควรแก่เรา เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วทูลถามเนื้อความนั้น ถ้าพระผู้มีพระภาคจักทรงพยากรณ์แก่เรา ฯลฯ เราก็จักประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ถ้าพระผู้มีพระภาคจักไม่ทรงพยากรณ์ ฯลฯ เราก็จักลาสิกขามาเป็นคฤหัสถ์.
ครั้งนั้น เวลาเย็น ท่านพระมาลุงกยบุตรออกจากที่เร้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส เมื่อข้าพระองค์ ไปในที่ลับ เร้นอยู่ เกิดความดำริแห่งจิตอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ ทรงงดทรงห้ามทิฏฐิเหล่านี้ คือ โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ สัตว์เบื้องหน้า แต่ตายไปไม่มีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ ข้อที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ทิฏฐิเหล่านั้นแก่เรานั้น เราไม่ชอบใจ ไม่ควรแก่เรา เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคทูลถามเนื้อความนั้น ถ้าพระผู้มีพระภาคจักทรงพยากรณ์ ฯลฯ เราก็จักประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ถ้าพระผู้มีพระภาคจักไม่ทรงพยากรณ์ ฯลฯ เราจักลาสิกขามาเป็นคฤหัสถ์. ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าโลกมีที่สุดหรือโลกไม่มีที่สุด เมื่อไม่ทรงรู้ ไม่ทรงเห็น ก็ขอตรัสบอกตรงๆ เถิดว่า เราไม่รู้ เราไม่เห็น. ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า ชีพอันนั้นสรีระก็อันนั้น ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่า ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่า ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงทราบว่า ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่า ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง เมื่อไม่ทรงรู้ไม่ทรงเห็น ก็ขอตรัสบอกตรง ๆ เถิดว่า เราไม่รู้ไม่เห็น. ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ ขอจงทรงพยากรณ์ แก่ข้าพระองค์เถิดว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่ ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป ไม่มีอยู่ ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงทราบว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ หรือว่าสัตว์เบื้องหน้า แต่ตายไปไม่มีอยู่ เมื่อไม่ทรงรู้ ไม่ทรงเห็น ก็ขอตรัสบอกตรงๆ เถิดว่า เราไม่รู้ เราไม่เห็น. ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี ขอจงทรงพยากรณ์ แก่ข้าพระองค์เถิดว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงทราบว่า สัตว์ เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี หรือว่าสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ เมื่อไม่ทรงรู้ ไม่ทรงเห็น ก็ขอตรัสบอกตรงๆ เถิดว่า เราไม่รู้ เราไม่เห็น.
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมาลุงกยบุตร เราได้พูดไว้อย่างนี้กะเธอหรือว่า เธอจงมาประพฤติพรหมจรรย์ในเราเถิด เราจักพยากรณ์ทิฏฐิ ๑๐ แก่เธอ ฯลฯ ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
ก็หรือว่า ท่านได้พูดไว้กะเราอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักประพฤติ พรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ถ้าพระผู้มีพระภาคจักทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์ ฯลฯ
ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า. ดูกรมาลุงกยบุตร ได้ยินว่า เรามิได้พูดไว้กะเธอดังนี้ว่า เธอจงมาประพฤติพรหมจรรย์ ในเราเถิด เราจักพยากรณ์แก่เธอ ฯลฯ ได้ยินว่า แม้เธอก็มิได้พูดไว้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ถ้าพระผู้มีพระภาค จักทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์ ฯลฯ ดูกรโมฆบุรุษ เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอเป็นอะไร จะมาทวงกะใครเล่า
จากพระสูตรนี้จะพบว่าคำถามทั้ง ๑๐ ที่พระมาลุงกยบุตรได้ถามพระพุทธเจ้านั้นมีเรื่องสำคัญ ๆ เพียง ๓ เรื่องเท่านั้นคือ
๑. เรื่องโลก ได้แก่คำถามข้อที่ ๑-๔ คือ
๑.๑ โลกเที่ยง (คงอยู่อย่างนี้ตลอดกาล)
๑.๒. โลกไม่เที่ยง (คงอยู่อย่างนี้ชั่วคราว)
๑.๓. โลกมีที่สุด (จักรวาลมีขอบเขตจำกัด)
๑.๔. โลกไม่มีที่สุด (จักรวาลไม่มีขอบเขต)
๒. เรื่องจิตกับกายหรือเรื่องชีวะกับสรีระ ได้แก่คำถามข้อที่ ๕-๖ คือ
๒.๑. ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น (กายกับจิตเป็นอันเดียวกัน)
๒.๒. ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง (กายกับจิตเป็นคนละอย่างกัน)
๓. เรื่องตายเกิด-ตายสูญหรือเรื่องภาวะหลังความตายของมนุษย์ ได้แก่คำถามข้อที่ ๗-๑๐ คือ
๓.๑ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ (ตายแล้วไม่สูญ)
๓.๒ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่ (ตายแล้วสูญ)
๓.๓ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มีไม่มีอยู่ก็มี (ตายแล้วสูญก็มี ไม่สูญก็มี)
๓.๔ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็หามิได้ ไม่มีอยู่ก็หามิได้ (ตายแล้วสูญก็ไม่ใช่ ไม่สูญก็ไม่ใช่)
แต่เมื่อวิเคราะห์คำถามทั้ง ๑๐ ข้อนั้น สรุปได้ว่าปัญหาที่ถามมีเพียง ๒ ประเด็นเท่านั้นคือ
๑. มี
๒. สูญ
นอกจากในจูฬมาลุงโกยวาทสูตรแล้วยังมีปัญหาที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงแนะนำให้คิดหรือศึกษาอีก ดังปรากฏในอจินติตสูตร (อํ.จตุกฺก.๒๑/๗๗/๖๘) เนื้อหาต่อไปนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ ประการนี้ อันบุคคลไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิดพึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า เดือดร้อน อจินไตย ๔ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ๑ ฌานวิสัยของผู้ได้ฌาน ๑ วิบากแห่งกรรม ๑ ความคิดเรื่องโลก ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลายอจินไตย ๔ ประการนี้แล ไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิด พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า เดือดร้อน
อจินไตยคือสิ่งที่ไม่ควรคิดมี ๔ อย่างคือ
๑. พุทธวิสัย
๒. ฌานวิสัย
๓. กรรมวิบาก
๔. โลกจินตา
อจินไตยคืออะไร พระธรรรมปิฎก(ประยุทธ์ ปยุตฺโต) (๒๕๔๖: ๑๙๔-๑๙๕) ได้อธิบายไว้ว่า
อจินไตยคือสิ่งที่ไม่พึงคิด ท่านว่าถ้าขืนครุ่นคิดก็มีส่วนที่จะอัดอั้นเป็นบ้า ที่ท่านว่าอย่างนี้มิใช่หมายความว่า พระพุทธเจ้าทรงห้ามไม่ให้เราคิด เพียงแต่ทรงแสดงความจริงไปตามธรรมดาว่าเรื่องนี้คิดเอาไม่ได้หรือไม่อาจจะเข้าใจได้สำเร็จด้วยการคิดหาเหตุผลและเมื่อคิดไปจะเกิดเป็นบ้าขึ้นก็มิใช่เพราะพระพุทธเจ้าหรือใครลงโทษหรือทำให้บ้า แต่ผู้คิดเป็นบ้าตามธรรมดาของเขาเองเพราะคิดอัดอั้นวุ่นไป
ส่วนในคำถามที่ ๒ ที่ว่าทำไมพระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์หรือตอบปัญหาเหล่านี้ ก็มีคำตอบชัดเจนอยู่ในจูฬมาลุงโกวาทสูตร(ม.ม.๑๓/๑๕๒/๑๒๐)ดัง เนื้อความของพระสูตรว่า
ดูกรมาลุงกยบุตร เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายจงทรงจำปัญหาที่เราไม่ พยากรณ์ โดยความเป็นปัญหาที่เราไม่พยากรณ์ และจงทรงจำปัญหาที่เราพยากรณ์ โดยความเป็นปัญหาที่เราพยากรณ์เถิด. ดูกรมาลุงกยบุตร อะไรเล่าที่เราไม่พยากรณ์ ดูกรมาลุงกยบุตร ทิฏฐิว่า โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ก็หามิได้ ไม่มีอยู่ก็หามิได้ ดังนี้ เราไม่พยากรณ์. ดูกรมาลุงกยบุตร ก็เพราะเหตุไร ข้อนั้นเราจึงไม่พยากรณ์ เพราะข้อนั้นไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เหตุนั้นเราจึงไม่พยากรณ์ข้อนั้น.
ดูกรมาลุงกยบุตร อะไรเล่า ที่เราพยากรณ์ ดูกรมาลุงกยบุตร ความเห็นว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ดังนี้ เราพยากรณ์. ก็เพราะเหตุไร เราจึงพยากรณ์ข้อนั้น เพราะข้อนั้น ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เหตุนั้นเราจึงพยากรณ์ ข้อนั้น. เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายจงทรงจำปัญหาที่เราไม่พยากรณ์ โดยความเป็นปัญหาที่เราไม่พยากรณ์ และจงทรงจำปัญหาที่เราพยากรณ์ โดยความเป็นปัญหาที่เราพยากรณ์เถิด. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระมาลุงกยบุตร ยินดีชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล.
จากพระสูตรนี้ตอบคำถามได้ว่าเหตุผลที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงตอบคำถามทั้ง ๑๐ ข้อนั้นสรุปได้ว่าที่ไม่ทรงตอบเพราะ
๑. ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
๒. ไม่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์
๓. ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย
๔. ไม่เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด
๕. ไม่เป็นไปเพื่อความดับ
๖. ไม่เป็นไปเพื่อความสงบ
๗. ไม่เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง
๘. ไม่เป็นไปเพื่อความตรัสรู้
๙. ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
พระ ดร.ดับบลิว ราหุล (W.Rahula) (๒๕๓๒:๔๕) ได้อธิบายว่า พระพุทธเจ้าไม่ตอบคำถามเหล่านี้ เพราะคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นมุ่งหมายจะนำมนุษย์ไปสู่ความปลอดภัย ความสงบ ความสุข ความเยือกเย็น และการบรรลุซึ่งพระนิพพาน พระพุทธองค์มิได้ตรัสสิ่งทั้งหลายเพียงเพื่อสนองความอยากรู้อยากเห็นตามสติปัญญาของมนุษย์เลย พระพุทธเจ้าทรงเป็นศาสดาที่เป็นนักปฏิบัติ และทรงสั่งสอนเฉพาะแต่สิ่งทั้งหลายที่จะนำมาเฉพาะซึ่งความสงบ (สันติ) และความสุขแก่มนุษย์ทั้งหลาย
มีนักคิดชาวอินเดียคือ T.R.V.Murati ได้พยายามอธิบายเพิ่มในประเด็นนี้โดยอ้างเหตุผล ๓ ทางคือ
๑. Practical คือเน้นเป้าหมายของพระพุทธศาสนาเป็นหลัก พระพุทธองค์ทรงต้องการสอนให้พ้นทุกข์ คำสอนอะไรที่นอกเหนือจากนั้น พระองค์ไม่ทรงยุ่งโดยถือว่าสิ่งนั้นไม่มีประโยชน์ เพราะไม่ตรงกับเป้าหมายของศาสนาพุทธ
๒. Agnostic คือการที่ทรงไม่ตอบ เพราะไม่รู้ว่ามีหรือไม่มีคืออาจมีหรือไม่มีก็ได้ที่ไม่ตอบเพราะไม่แน่ใจว่าคำตอบนั้นจะใช่หรือไม่ ยังไม่ประกาศตัวเข้าข้างใด เพราะไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริง มีหรือไม่มีนั่นเอง ในข้อนี้ T.R.V.Murati ได้ให้ทัศนะว่า พระพุทธองค์ไม่ได้เป็น Agnostic เพราะทรงเป็นพระสัพพัญญูคือรู้แจ้งเห็นจริงในทุกอย่าง
๓. Nagative หรือ Nihilism คือการที่ทรงไม่ตอบเพราะทรงเป็นบุคคลชอบทำลายล้างทฤษฎี ไม่เชื่ออะไรสักอย่างเชื่อแต่เรื่องการทำลาย Nagative หมายถึงพระพุทธองค์นิ่ง เพราะเป็นคนชอบขัด ทำลายไปทุกอย่าง ในแง่นี้ไม่น่าจะใช่ เพราะพระพุทธองค์ไม่ได้ทรงเป็นนักทำลาย (Nihilism) แต่พระองค์ทรงช่วยให้คนพ้นทุกข์ด้วยการควบคุมกิเลส พระองค์ต้องการสอนให้คนบรรลุเป้าหมายที่ทรงวางไว้ โดยทรงใช้คำว่า หยุด คือการไม่ทำต่อไป ไม่ได้ใช้คำว่าทำลาย (พินิจ รัตนกุล, ๒๕๔๒:๑๑)
อีกอย่างหนึ่ง ปัญหาเหล่านี้ไม่ว่าคำตอบจะออกมาในรูปใดก็ไม่พ้นการโต้แย้ง เนื่องจากอยู่นอกวิสัยของประสบการณ์ซึ่งไม่ชี้ชัดได้ว่าเป็นจริงอย่างไร (เดือน คำดี, ๒๕๕๐: ๑๒๘)
ในจูฬมาลุงโกวาทสูตรนี้เอง พระพุทธเจ้านอกจากไม่ทรงตอบปัญหาทั้ง ๑๐ เหล่านั้นแล้วยังได้ตรัสเตือนพระมาลุงกยบุตรให้เลิกสนใจปัญหาที่ต้องการถามแล้วมาสนใจสิ่งที่พระองค์จะตรัสให้ฟังที่ก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่า พระองค์ทรงต้องการให้พระลุงกยบุตรตระหนักถึงปัญหาที่จำเป็นและสำคัญและควรเร่งแก้อย่างรีบด่วน ปัญหานั้นคือการดับทุกข์นั้นเอง พระองค์ได้ทรงอุปมาอุปไมยไว้อย่างน่าสนใจอย่างยิ่ง ดังข้อความที่ว่า
ดูกรมาลุงกยบุตร บุคคลใดแลจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคจักไม่ทรง พยากรณ์แก่เรา ฯลฯ เพียงใด เราจักไม่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพียงนั้น ตถาคตไม่พึงพยากรณ์ข้อนั้นเลย และบุคคลนั้นพึงทำกาละไปโดยแท้. ดูกรมาลุงกยบุตร เปรียบเหมือนบุรุษต้องศรอันอาบยาพิษที่ฉาบทาไว้หนา มิตรอมาตย์ ญาติสาโลหิตของบุรุษนั้น พึงไปหานายแพทย์ผู้ชำนาญในการผ่าตัดมาผ่า. บุรุษผู้ต้องศรนั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เรายังไม่รู้จักบุรุษ ผู้ยิงเรานั้นว่าเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ หรือศูทร ... มีชื่อว่าอย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ ... สูงต่ำหรือปานกลาง ... ดำขาวหรือผิวสองสี ... อยู่บ้าน นิคม หรือนครโน้น เพียงใดเราจักไม่นำลูกศรนี้ออกเพียงนั้น บุรุษผู้ต้องศรนั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เรายังไม่รู้จักธนูที่ใช้ยิงเรานั้น เป็นชนิดมีแหล่งหรือเกาทัณฑ์ ... สายที่ยิงเรานั้นเป็นสายทำด้วยปอผิวไม้ไผ่ เอ็น ป่านหรือ เยื่อไม้ ลูกธนูที่ยิงเรานั้น ทำด้วยไม้ที่เกิดเองหรือไม้ปลูก หางเกาทัณฑ์ที่ยิงเรานั้น เขาเสียบด้วย ขนปีกนกแร้ง นกตะกรุม เหยี่ยว นกยูงหรือนกชื่อว่า สิถิลหนุ (คางหย่อน) ... เกาทัณฑ์นั้นเขาพันด้วยเอ็นวัว ควาย ค่างหรือลิง ... ลูกธนูที่ยิงเรานั้น เป็นชนิดอะไร ดังนี้ เพียงใด เราจักไม่นำลูกศรนี้ออกเพียงนั้น ดูกรมาลุงกยบุตร บุรุษนั้นพึงรู้ข้อนั้นไม่ได้เลย โดยที่แท้ บุรุษนั้นพึงทำกาละไป ฉันใด ดูกรมาลุงกยบุตร บุคคลใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคจักไม่ทรงพยากรณ์ทิฏฐิ ๑๐ นั้น ฯลฯ แก่เราเพียงใด เราจักไม่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพียงนั้น ข้อนั้นตถาคตไม่พยากรณ์เลย โดยที่แท้ บุคคลนั้นพึงทำกาละไป ฉันนั้น. (ม.ม.๑๓/๑๕๐/๑๑๘-๑๑๙)
จากพระพุทธพจน์นี้ชี้ให้เห็นว่า พระพุทธองค์ไม่ทรงตอบ เพราะเป็นปัญหาที่ไม่ควรสนใจ เพราะไม่ช่วยให้มนุษย์พ้นทุกข์ งานเฉพาะหน้าของมนุษย์คือการดับทุกข์ เหมือนกับบุรุษผู้ถูกลูกศรอาบยาพิษยิง สิ่งที่ต้องรีบทำก่อนคือการเยียวยารักษาให้มีชีวิตรอด ไม่ใช่มัวแต่ไปเสียเวลาหาคำตอบว่าใครเป็นผู้ยิงหรือลูกศรทำด้วยอะไรเป็นต้น
ถ้ามองในเชิงของความรู้ในโลกนี้มีมากมาย แต่พระพุทธองค์เน้นสอนกับความรู้ที่เกี่ยวกับการดับทุกข์เท่านั้น ไม่จำเป็นที่มนุษย์ต้องรู้ไปทุก ๆ เรื่อง ดังพุทธพจน์ที่ปรากฏในสีสปาสูตร (สํ.มหา.๑๙/๑๗๑๒-๑๗๑๓/๔๓๔)ที่ว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ สีสปาวัน ใกล้เมืองโกสัมพี ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงถือใบประดู่ลาย ๒-๓ ใบด้วยฝ่าพระหัตถ์ แล้วตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมา แล้วตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ใบประดู่ลาย ๒-๓ ใบที่เราถือด้วยฝ่ามือกับใบที่บนต้น ไหนจะมากกว่ากัน ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใบประดู่ลาย ๒-๓ ใบที่พระผู้มีพระภาคทรงถือด้วยฝ่าพระหัตถ์มีประมาณน้อย ที่บนต้นมากกว่าพระเจ้าข้า. พ. อย่างนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เรารู้แล้วมิได้บอกเธอทั้งหลายมีมาก ก็เพราะเหตุไรเราจึงไม่บอก เพราะสิ่งนั้นไม่ประกอบด้วยประโยชน์ มิใช่พรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับ ความสงบ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ นิพพาน เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่บอก.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งอะไรเราได้บอกแล้ว เราได้บอกแล้วว่า นี้ทุกข์ ... นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ก็เพราะเหตุไรเราจึงบอก เพราะสิ่งนั้นประกอบด้วยประโยชน์ เป็นพรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่าย ... นิพพาน เพราะฉะนั้น เราจึงบอก ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.
จากพระสูตรนี้จะพบว่าความรู้ที่พระพุทธองค์นำมาสอนนั้นเปรียบได้กับใบไม้ในกำพระหัตถ์ของพระองค์เท่านั้น ความรู้นั้นมีเพียงจำนวนน้อยนิดแต่มีความสำคัญต่อการแก้ปัญหาชีวิตของมนุษย์ ข้อนี้ตรงกับนักประสบการณ์นิยมท่านหนึ่งคือ จอห์น ลอค(John Lock) ที่ได้กล่าวไว้ว่า เราไม่จำเป็นต้องรู้ว่ามหาสมุทรลึกเท่าใด รู้เพียงว่าลึกกว่าเรือของเราก็ใช้ได้ เราไม่อาจรู้ทุกสิ่ง รู้เพียงเพื่อให้ชีวิตดำเนินไปได้ก็พอ (เดือน คำดี, ๒๕๕๐.๑๒๘) พระพุทธองค์ทรงเน้นสอนเรื่องทุกข์ สาเหตุของทุกข์ ความดับทุกข์ และวิธีการดับทุกข์ เพราะคำสอนเหล่านี้เป็นไปเพื่อประโยชน์และที่สำคัญนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดคือพระนิพพานนั่นเอง
สรุปจากการนำเสนอมา ก็สามารถตอบคำถามที่ว่าปัญหาอะไรที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงตอบ ทำไมจึงไม่ทรงตอบปัญหาเหล่านั้นได้ แต่ก็คงฝากให้ท่านผู้รู้ทั้งหลายได้อภิปรายหรือแสดงเหตุผลในประเด็นนี้ต่อไปอีก
บรรณานุกรม
กรมการศาสนา. พระไตรปิฎกฉบับหลวง. ๔๕ เล่ม. กรุงเทพมหานคร: ๒๕๔๖.
เดือน คำดี. เอกสารประกอบการสอน พ ๒๐๕ ระเบียบวิธีวิจัยบูรณาการ. กรุงเทพมหานคร:๒๕๕๐. (เอกสารอัดสำเนา)
พระธรรมปิฎก(ประยุทธ์ ปยุตฺโต).พุทธธรรมฉบับขยายความ. พิมพ์ครั้งที่ ๑๑.กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๖.
พินิจ รัตนกุล.รวบรวมคำบรรยายพุทธปรัชญา. นครปฐม: มหาวิทยาลัยมหิดล, ๒๕๔๒. (เอกสารอัดสำเนา)
สุวรรณ เพชรนิล. พุทธปรัชญาเบื้องต้น. พิมพ์ครั้งที่ ๘. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ๒๕๔๔.
เสฐียรพงษ์ วรรณปก. พุทธวิธีสอนจากพระไตรปิฎก.กรุงเทพมหานคร: เพชรรุ่งการพิมพ์, ๒๕๔๐.
แสง จันทร์งาม. วิธีสอนของพระพุทธเจ้า. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์บรรณาคาร, ๒๕๒๖.
Walpola Sri Rahula. What The Buddha Taught. แปลโดย ชูศักษ์ ทิพย์เกษรและคณะ. กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์มหาจุฬา
ลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๒.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น