วันเสาร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2551

ศาสตร์การตีความแนวพุทธศาสน์

อวณฺณญฺจ อกิตฺติญฺจ ทุสฺสีโล ลภเต นโร วณฺณํ กิตฺตึ ปสํสญฺจ สทา ลภติ สีลวา[๑]
คนผู้ทุศีลย่อมได้รับความติเตียน และความเสียชื่อเสียง ส่วนผู้มีศีลย่อมได้รับชื่อเสียง
และความยกย่องสรรเสริญทุกเมื่อ.
สุภาษิตข้างต้นนี้เป็นการแสดงให้เห็นโทษของการไม่มีศีล คือการได้รับการติเตียนและการเสียชื่อเสียง และได้แสดงคุณของการมีศีล คือการมีชื่อเสียงและการยกย่อง ซึ่งข้าพเจ้าจะได้อธิบายตามแนวเทศนาหาระตามลำดับไป

ศีลคืออะไร
คำว่า “ศีล” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน [๒] อธิบายว่า ข้อบัญญัติทางพระพุทธศาสนาที่กำหนดการปฏิบัติกายและวาจา เช่น ศีล ๕ ศีล ๘ , การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช,ป.ธ. ๙,ราชบัณฑิต)[๓] ได้อธิบายไว้ว่า สีล หรือ ศีล แปลว่าปกติ,สภาวะเดิม ,ธรรมชาติ โดยวิเคราะห์ศัพท์ในนัยต่าง ๆ คือ

จิตฺตํ สีลติ สมาทหติ เอเตนาติ สีลํ ธรรมเป็นเหตุสงบแห่งจิต (สีลในความหมายว่าสงบ)
สิโนติ จิตฺตํ เมเตนาติ สีลํ ธรรมเป็นเครื่องผูกจิตไว้
สีเลนฺติ กุสลธมฺเม อุปธาเรนฺติ เอเตนาติ สีลํ ธรรมเป็นเหตุให้ดำรงกุศลธรรมไว้ได้ (สีล ธาตุ ในความหมาย ว่าทรงไว้)
สีเลติ อุปธาเรติ ตํสมงฺคีปุคฺคลํ อปาเยสุ อุปฺปตฺตินิวารณวเสน ภูโส ธาเรตีติ สีลํ ธรรมที่ดำรงบุคคลผู้มีพร้อมไว้มิให้เกิดในอบาย(สีล ธาตุ ในความหมายว่าทรงไว้)

จะเห็นได้ว่าคำว่า สีล มีหลายความหมายขึ้นอยู่กับการอธิบายและการนำไปใช้ แต่สรุปได้ว่า คำว่า สีล
ตรงกับภาษาบาลีว่า “ สีล” แต่ภาษาสันสกฤตใช้คำว่า “ศีล” ตามศัพท์แปลว่า ปกติ ,ประเสริฐ ,เกษม ,สงบหมายความว่า คนที่มีจิตเป็นปกติ ไม่ถูกกิเลสคือ โลภะ โทสะ โมหะ ครอบงำ และชักไปทำชั่วทำผิด จิตเป็นปกติ เมื่อจะทำอะไรทางกายด้วยจิตที่เป็นปกติ ก็ไม่ทำกายทุจริต เมื่อจะพูดอะไรทางวาจา ก็ไม่พูดวจีทุจริตเมื่อคิดเรื่องราวอะไรทางใจ หรือทางมนะ ก็ไม่คิดเป็นมโนทุจริต เพราะฉะนั้น ใจจึงเป็นศีล ทำทางกาย กายก็เป็นศีล ทำทางวาจา วาจาก็เป็นศีล,คิดทางมนะ มนะก็เป็นศีล แต่ถ้า โลภะโทสะ โมหะ อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นครอบงำจิต ก็ทำให้คิดอยากได้ ให้คิดล้างผลาญ ให้หลงงมงาย ทีนี้เสียปกติจิตก็วิปริต เสียศีลภายในทางใจ เมื่อศีลทางใจเสียไปแล้ว ทำอะไรทางกายด้วยอำนาจ พูดทางวาจาก็เป็นวจีทุจริตคิดทางมนะก็เป็นมโนทุจริต โดยตรงเป็นเช่นนี้ แต่เมื่อมุ่งเอาอาการที่ปรากฏก็คือทางกาย ทางวาจา เพราะทางใจคนอื่นรู้ด้วยไม่ได้ รู้ได้แต่ตัวเอง คนที่เว้นจากทำชั่วทางกายก็เป็นศีลทางกาย เว้นชั่วทางวาจา ก็เป็นศีลทางวาจา คนที่รักษาศีลนั้นสามารถรักษาศีลเพียงทางกายและวาจาเท่านั้น แต่ศีลไม่สามารถควบคุมถึงจิตใจได้ ถึงแม้ว่าใจจะไม่เป็นปกติเป็นศีลแท้ แต่กายก็ไม่ทำทุจริต วาจาไม่พูดทุจริต ยังดีกว่าทำกายทุจริต พูดวจีทุจริต เมื่อรักษาศีลทางกาย ทางวาจา ไปจนเตือนใจ สะกิดใจ ให้ใจสงบจาก โลภะ โทสะ โมหะ ได้ แม้ชั่วครู่ชั่วขณะ นี่เป็นศีลทางใจ เป็นศีลแท้

อีกนัยหนึ่ง[๔] เจตนาที่รักษากายกรรม วจีกรรม ให้ตั้งเป็นปกติดี เว้นจากประพฤติชั่วทุจริต ชื่อว่า ศีล ศีลในทางปกครอง คือการประพฤติตามกฎหมายจารีตประเพณีอันดีงาม ศีลนั้นอาจ แบ่งออกได้เป็น ๒ คือ เป็น อาการอย่างหนึ่ง เป็นตัวศีลอย่างหนึ่ง อาการคือ เมื่อตั้งใจรักษา ระวังไม่ให้ประพฤติล่วง นี่เรียกว่ารักษาอาการของศีล ตั้งใจรักษาอาการของศีลจนไม่คิดประพฤติล่วง จิตสงบเป็นปกติ หรือเห็นโทษของการล่วงศีล แล้วจิตสงบเป็นปกติไม่คิดล่วง นี่ได้ชื่อว่าตัวศีล เพราะฉะนั้น การตั้งใจรักษาอาการไม่ให้ประพฤติชั่ว เป็นอาการของศีล ตั้งใจรักษาไปจนจิตเป็นปกติไม่คิดล่วงเป็นตัวศีล

ส่วนที่แปลว่า ประเสริฐนั้น หมายถึงผู้ที่มีศีลเป็นผู้ประเสริฐ เพราะเขาไม่ละเมิดสิทธิชีวิตของสัตว์อื่น ไม่ละเมิดสิทธิทรัพย์สินผู้อื่น ไม่ละเมิดสิทธิคู่ครองของคนอื่น ไม่ละเมิดสิทธิการสื่อสารของผู้อื่น และที่สำคัญที่สุดเป็นผู้ประเสริฐ เพราะมีสติสัมปชัญญะไม่เมามัวเพราะการเสพดื่มสิ่งเสพติดทุกประเภท หรือกล่าวโดยสรุปก็คือ การมีศีล ๕ นั้นเอง ผู้ที่รักษาศีล ๕ เป็นผู้ประเสริฐ เพราะเป็นผู้มีจิตใจสูงที่เรียกว่า เป็นมนุษย์ เพราะมีมนุษยธรรม ธรรมะที่ทำคนให้เป็นมนุษย์ ได้แก่ศีล ๕ ข้อ คนที่มีศีล ๕ เป็นผู้ประเสริฐโดยแท้

โทษของการไม่มีศีล
ในสุภาษิตนี้ได้แสดงโทษ(อาทีนวะ) ของผู้ทุศีลก่อนแล้วจึงแสดงคุณ (อัสสาทะ) ทีหลัง ผู้ทุศีล คือผู้ที่ไม่มีเจตนาจะงดเว้นจากการรักษาศีล ๕ ข้อข้างต้นชื่อว่าผู้ทุศีล ย่อมได้รับโทษคือ การติเตียน และการเสียชื่อเสียง ติเตียนอย่างไร ติเตียนว่าผู้นั้นเป็นคนชอบฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ผิดลูกผิดเมียคนอื่น ชอบพูดโกหกหลอกลวง พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ เป็นคนติดเหล้าติดยาเป็นคนเมา เป็นต้น และทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง เสียชื่อเสียงอย่างไร เสียชื่อว่าคนนี้เป็นคนใจร้ายไม่มีเมตตากรุณาชอบฆ่าคนฆ่าสัตว์ ชอบลักปล้นจี้ขโมยของคนอื่นเป็นคนส่ำส่อนชอบผิดลูกเมียคนอื่น เป็นคนเชื่อถือไม่ได้ชอบโกหกหลอกลวงพูดจาไม่สุภาพ และเป็นขี้เมาขี้เหล้า ไม่มีใครอยากคบหาสมาคมด้วย พระพุทธเจ้าได้ตรัสโทษของการทุศีลไว้ในสีสสูตร อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาตถึง ๕ ประการคือ

๑. ทำให้เสื่อมโภคทรัพย์
๒. ทำให้ไม่กล้าหาญเมื่อเข้าสู่ที่ประชุม
๓. ทำให้วิญญูชนติเตียน
๔. ใกล้ตายก็หลง
๕. เมื่อตายแล้วไปบังเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต[๕]
นอกจากโทษทั้ง ๕ อย่างแล้วผู้ทุศีลนั้นไม่เป็นที่ชอบใจของเทวดาและมนุษย์ เป็นผู้ตักเตือนไม่ได้ เป็นผู้ถึงความทุกข์เพราะถูกติเตียน จะเห็นได้ว่าการไม่มีศีลมีแต่โทษมีทุกข์มากมายเกินบรรยาย

ประโยชน์หรือคุณค่าของการมีศีล
ผู้มีศีลนั้นท่านกล่าวว่ามีความไม่เดือดร้อนเป็นผล ได้รับการยกย่องสรรเสริญ ชื่อเสียงย่อมฟุ้งขจรไปตามนัยสุภาษิตข้างต้นนั้น นอกจากนั้นอานิสงส์ของการมีศีลนั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในสีสสูตร อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาตตรงข้ามกับการทุศีลมี ๕ ประการคือ
๑. ทำให้ได้รับโภคทรัพย์สมบัติมาก
๒. เกียรติศัพท์อันดีย่อมฟุ้งขจรไป
๓. เป็นผู้องอาจกล้าหาญในการเข้าสู่ที่ประชุม
๔. เมื่อใกล้ตายก็ไม่หลงตาย
๕. เมื่อตายไปแล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์[๖]

ศีลนี้เองเป็นเหตุทำให้ผู้รักษาปฏิบัติตามย่อมก้าวสู่ทางแห่งพระนิพพานหรือการทำลายกิเลสทั้งหลายได้เป็นเหตุก่อให้เกิดสมาธิและปัญญาและทำให้พ้นจากกิเลสทั้งหลายได้ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในมหาปรินิพพานสูตร[๗]ว่า
“สีลปริภาวิโต สมาธิ มหปฺผโล โหติ มหานิสํโส
สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา
ปญฺญาปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ”

แปลว่า สมาธิที่ศีลอบรมแล้วย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ปัญญาที่สมาธิอบรมแล้วย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก จิตที่ปัญญาอบรมแล้วย่อมพ้นจากกิเลสทั้งหลายโดยชอบทีเดียว จากพระพุทธดำรัสนี้แสดงให้เห็นว่าการมีศีลหรือผู้มีศีลนั้นสามารถเข้าสู่ความพ้นทุกข์ได้เป็นทางออกแห่งทุกข์ได้

อานิสงส์ของการมีศีล
ผู้มีศีลได้รับประโยชน์มากหลายประการดังกล่าวแล้วข้างต้น ประโยชน์ระดับพื้นฐานคือความสุขความเจริญ มีทรัพย์สมบัติ ได้รับการยกย่อง มีชื่อเสียง ในระดับกลาง คือความสุขในอนาคตเช่นการมีสุคติคือไปสู่สถานที่ดี หรือแม้ชีวิตหลังความตามก็ได้สุคติโลกสวรรค์เป็นผลของการมีศีลนั่นเอง ส่วนประโยชน์สูงสุด คือพระนิพพานก็จะได้รับเพราะการมีศีลเป็นเหตุ นี่แสดงให้เห็นว่าผู้มีศีลนั้นได้รับผลอานิสงส์ทั้ง ๓ ระดับดังกล่าวแล้ว กล่าวโดยสรุปผลหรืออานิสงส์ของศีลท่านจะสรุปไว้ในตอนท้ายศีล ๓ ประการคือ

๑. สีเลน สุคตึ ยนฺติ ศีลทำให้คนไปสุคติ คำว่า “สุคติ” อาจอธิบายได้ ๒ นัย คือ นัยที่ ๑ แปลว่าไปดี คือคนที่มีศีลนั้นจะไปที่ไหนก็ไปดี เกินทางไปที่ไหนก็ดีปลอดภัย ไม่มีอันตราย เพราะว่าไม่เป็นอันตรายต่อคนอื่น เป็นอันตรายต่อสังคม ได้ชื่อว่าไปดี เพราะไปสู่ที่ดีได้ ที่ประเสริฐได้ คนที่มีศีลเขาก็ยกย่องให้มีฐานะ มีตำแหน่ง มีที่อยู่ มีอะไรที่ดี ๆ เพราะศีลนี้ส่งไปสู่สุคติ คือส่งให้ไปสู่ที่ดี นัยที่ ๒ สุคติหมายถึงภูมิที่ไปเกิดในที่ดี สุคติหรือภูมิที่ไปเกิดในทางพระพุทธศาสนานั้น ท่านแยกเป็น ๒ คือ สวรรค์ และมนุษย์ มนุษย์นี้จัดเป็นสุคติภูมิอย่างหนึ่ง อย่างคนที่ตาย ญาติมิตรเห็นเข้าเห็นเข้าก็พูดว่า ขอให้ไปที่ชอบ ๆ เถอะ คำว่าที่ชอบนั้นคือสุคตินั้นเอง ดังนั้น คำว่าสุคติจึงหมายถึงทั้งมนุษย์และสวรรค์ คนที่ไปสู่สุคติอาจจะเกิดเป็นมนุษย์อีก เพราะการเกิดในโลกมนุษย์ถือว่าเป็นสุคติภูมิ ถ้าไปเกิดบนสวรรค์ก็เป็นสุคติภูมิชั้นสูง ฉะนั้น เราควรมั่นใจควรพอใจว่าแม้เพียงศีลอย่างเดียวเราก็ไปสวรรค์ได้ ถ้าไม่ถึงสวรรค์ก็เป็นมนุษย์ ในขณะที่ยังเป็นมนุษย์อยู่จะไปในที่ใดก็ไปดี ไปประเสริฐ ดังนั้น การมีศีลจึงถือว่าเป็นเหตุให้ไปสู่สุคติภูมิ

๒. สีเลน โภคสมฺปทา ศีลทำให้คนได้รับทรัพย์สมบัติ ข้อนี้ถ้าพิจารณาไม่ชัดอาจจะทำให้เข้าใจผิด คำว่า ศีลทำให้ได้รับทรัพย์สมบัตินั้น คือว่า คนที่มีศีลจะทำมาหากินอะไรก็ได้ยั่งยืน เพราะไม่โกงเขา ไม่ฆ่าเขา ไม่หลอกลวงเขา คนก็เชื่อถือ จะทำมาค้าขายติดต่อก็ทำงานได้ผลดี ถ้าทำราชการก็ยั่งยืน แต่ถ้าไปโกงไปกินไปคอรัปชั่นก็ถูกไล่ออก ถูกติดคุก หรือบางทีก็ถูกทำร้ายถูกฆ่าตาย ทรัพย์สมบัติจะเกิดก็เกิดขึ้นไม่ได้ เช่น พ่อค้าส่งของไปต่างประเทศ แต่ปลอมปนสินค้าเข้าไป ในที่สุดต่างประเทศเขาก็จับได้ก็งดสั่งสินค้า ทางรัฐบาลก็ไม่ให้บุคคลนั้นหรือบริษัทนั้นเป็นตัวแทนในการส่งออกต่อไป ทรัพย์สมบัติจะเกิดก็เกิดไม่ได้ ส่วนคนมีศีล เช่น พระสงฆ์ท่านจะมีคนถวายข้าวของมากมาย เพราะท่านมีศีลตรงกันข้ามพระรูปไหนไม่มีศีลก็จะไม่ได้รับการกราบการไหว้ไม่มีข้าวของจะฉัน เพราะฉะนั้น จึงถือว่าศีลทำให้บุคคลให้ได้รับทรัพย์สมบัติ ถ้าจะยกตัวอย่างง่าย ๆ คนที่ไม่ดื่มเหล้าก็สามารถทำให้เก็บทรัพย์สมบัติได้มากไม่ต้องเสียเงินเพราะเหล้า เพราะถ้าดื่มเหล้าเมามายแล้วจะทำให้ทรัพย์สมบัติฉิบหายไปทั้งของตนและของคนอื่นด้วย

๓. สีเลน นิพฺพุตึ ยนฺติ ศีลทำให้คนดับทุกข์ความเดือดร้อนเข้าสู่นิพพานได้ คำว่า นิพฺพุตึ[๘] แปลว่าดับ คือดับความทุกข์ความเดือดร้อนได้ อย่างสูงคือดับเข้าสู่นิพพานได้ คนมีศีลนั้นจะดับทุกข์ความเดือดร้อนได้ เดือดร้อนเพราะขาดศีล แต่มีความสุขเพราะการมีศีล ในปัจจุบันนี้เห็นชัดเจนว่าคนมีศีลดับทุกข์ความเดือดร้อนได้มากประสพความสุขได้มาก เมื่อจิตขึ้นสู่สมาธิแล้วก็เกิดความสงบเกิดความเยือกเย็นเพราะมีศีลเป็นพื้นฐาน คนที่ไม่มีศีลแล้วมาทำสมาธิ สมาธิก็ไม่ดีหรือทำไม่ได้ แต่ถ้ามีศีลเป็นพื้นฐานแล้วยกจิตสู่สมาธิ ศีลก็ยังยกขึ้นสู่ปัญญาในที่สุดได้ด้วย เพราะฉะนั้น ศีลก็หมายถึงการทำให้เกิดความสงบขึ้น เพราะศีลทำบุคคลให้ดับทุกข์ความเดือดร้อนได้และเพราะศีลทำให้บุคคลให้ดับทุกข์ความเดือดร้อนถึงขั้นพระนิพพาน บุคคลจะได้พระนิพพานนั้นต้องมีศีลเป็นพื้นฐาน แม้พระพุทธเจ้าบำเพ็ญบารมีเพื่อบรรลุพระนิพพานก็ต้องมีศีล เพราะศีลนี้เป็นบารมีข้อหนึ่งเรียกว่า ศีลบารมี

อุบายวิธีรักษาศีล
ในการรักษาศีลนั้นมีวิธีการ คือต้องมีวิรัติเจตนา คือเจตนาในการงดเว้นจากการทำความผิดที่เป็นข้อห้าม เช่น ศีล ๕ เป็นต้น อาจแบ่งย่อยเป็น ๓ ประเภทคือ
๑. สมาทานวิรัติ งดเว้นด้วยการสมาทาน คือสมาทานหรือรับเอาด้วยตนเองก็ได้ ด้วยการรับจากผู้อื่นก็ได้ เช่น การสมาทานหรือรับศีล ๕ จากพระภิกษุ เป็นต้น
๒. สัมปัตตวิรัติ งดเว้นด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ได้แก่ การรักษาศีลของผู้ไม่ได้ตั้งใจไว้ก่อนว่าจะรักษาศีล แต่มาประสบเหตุการณ์ที่จะทำให้ตนประพฤติล่วงศีล ก็ตั้งใจงดเว้นขึ้นในทันทีทันใดนั้นก็เป็นศีลเช่นกัน
๓. สมุทเฉทวิรัติ งดเว้นได้เด็ดขาด คือการรักษาศีลของพระอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป ท่านงดเว้นจากการประพฤติผิดศีล ๕ อย่างเด็ดขาด โดยไม่ต้องสมาทาน เพราะจิตของท่านเห็นโทษของการขาดศีลอย่างแท้จริง ไม่ยอมประพฤติล่วงศีล แม้จะสิ้นชีวิตก็ไม่ยอมผิดศีล เหมือนคนกลัวตายไม่ยอมดื่มยาพิษ

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าการรักษาศีลนั้นไม่ยุ่งยาก สำคัญคือต้องมีเจตนาในการงดเว้นนั่นเอง การรักษาศีลนี้แม้จะเป็นเพียงเบื้องต้นของการปฏิบัติแต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการนำตนเข้าสู่กระบวนการพัฒนาตนเพื่อไปสู่เป้าหมายที่สูงสุด คือพระนิพพานในอนาคต

ดังนั้น เมื่อเราทราบว่าผู้ที่ไม่มีศีลหรือผู้ทุศีลนั้นจะได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนทั้งในปัจจุบัน เช่น การติเตียนและการเสียชื่อเสียง ดังที่กล่าวไว้ในสุภาษิตข้างต้นนั้น และในอนาคตก็จะมีทุคติคือไปไม่ดีสู่สถานที่ไม่ดี เช่น เปรต อสุรกาย สัตว์นรก เป็นต้น ส่วนผู้รักษาศีลผู้มีศีลนั้นได้รับผลตรงข้ามกันคือการยกย่องสรรเสริญและมีชื่อเสียงในปัจจุบัน ในอนาคตก็จะได้รับสุคติ คือการไปสู่สถานที่ดี เช่น การเป็นเทวดาและมนุษย์ เป็นต้น และสามารถทำให้ได้รับประโยชน์สูงสุด คือพระนิพพานซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดสำหรับผู้นับถือพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น ผู้ฉลาดเมื่อรู้โทษของการไม่มีศีลและรู้คุณของการมีศีลแล้วก็ควรจะรักษาศีลกันเถิด



[๑] พระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทยฉบับสยามรัฏฐ สุตฺต.ขุ. ๒๖/๓๗๘/๓๕๗.
[๒] ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ( กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, ๒๕๔๖), หน้า ๑๑๐๓.
[๓] พระธรรมกิตติวงศ์(ทองดี สุรเตโช,ป,ธ,๙,ราชบัณฑิต), ศัพท์วิเคราะห์. (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เลี่ยงเชียง, ๒๕๕๐), หน้า ๗๑๐.
[๔] สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์, พระโอวาทธรรมบรรยายเล่ม ๑. (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๘), หน้า ๑๔๖-๑๔๗.

[๕] พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับสยามรัฏฐ, ๑๔/๒๑๓/๒๒๖-๒๒๗ .
[๖] พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับสยามรัฏฐ, ๑๔/๒๑๓/๒๒๖-๒๒๗ .
[๗] พระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทยฉบับสยามรัฏฐ, สุตฺต.ที.มหา. ๑๐/๑๑๑/๑๔๓ .

[๘] พระราชวิสุทธิกวี (พิจิตร ฐิตวณฺโณ), การสั่งสมบุญด้วยการรักษาศีล.( กรุงเทพฯ: สุทธิสารการพิมพ์, ๒๕๓๖), หน้า ๒๘-๒๙.

ไม่มีความคิดเห็น: