วันเสาร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2551

ปรัชญาชีวิตตามพระสุตตันตปิฎก

ปรัชญาชีวิตเรื่องชีวิต ความรู้ ความจริง ความดีและความงาม
ความนำ
ในการดำเนินชีวิตตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นมีรูปแบบที่ดีมีความสัมพันธ์สอดคล้องกับธรรมชาติ เพราะคำสอนนั้นจะเน้นเรื่องของชีวิตที่เกี่ยวโยงกับความรู้ ความจริงซึ่งเป็นพื้นฐานของความดี และความดีนั้นเองจะเป็นลักษณะที่สะท้อนของความจริงเป็นเรื่องของคุณค่า และกลายเป็นผลของงามซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความดี ความจริง สิ่งเหล่านี้เป็นสาระสำคัญของการดำเนินชีวิตตามพุทธธรรมที่ปรากฏในพระสุตตันตปิฏก ธรรมะนั้นตามหลักความจริงแล้ว พระพุทธเจ้าจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ตาม ความจริงที่เรียกว่า ธาตุ เป็นกฎธรรมชาติที่มีอยู่แล้ว คือหลักไตรลักษณ์ ที่ว่าด้วยภาวะของสรรพสิ่งที่ถูกปรุงแต่งแล้วเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปตามเหตุปัจจัย เมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริงนั้น จึงนำมาเปิดเผยด้วยการบอกกล่าว แสดง จำแนก ให้เข้าใจได้โดยง่ายว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ทรงแสดงปัจจัยแห่งการเกิดทุกข์และการดับทุกข์ พร้อมทั้งอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นปฏิปทาเครื่องดำเนินไปสู่ความดับทุกข์เป็นการประกาศพระธรรมด้วยทศพลญาณ คือกำลัง ๑๐ ประการที่ทำให้พระพุทธองค์ทรงมั่นพระทัยยืนยันฐานะการบรรลุธรรมสูงสุด
ชีวิตในพุทธปรัชญา
ชีวิตคืออะไร พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน [๑]ให้คำนิยามว่า ชีวิต คือความเป็นอยู่ตรงข้ามกับความตาย ในอรรถกถาพระวินัยอธิบายว่า ภวนติ อาหุวนฺติ จาติ ภูตา . ชายนฺติ วฑฺฒนฺติ ชาตา วฑฺฒิตา วาติ อตฺโถ[๒] มีใจความว่าเพราะเกิด และเจริญเติบโตจึงชื่อว่าเป็นคือชีวิตจึงกล่าวได้ว่าชีวิตคือสิ่งที่มีการเกิด การเจริญเติบโต
ในคำสอนทางพระพุทธศาสนาได้แบ่งชีวิตเป็น ๒ ระดับคือ สิ่งมีชีวิตที่มีจิต อันได้แก่สัตว์ทั้งหลาย ตั้งแต่พรหม เทวดา มนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย สัตว์นรก และสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีจิต อันได้แก่พวกภูตคามหรือพีชคามทั้งหลาย ในที่นี้จะพูดถึงชีวิตของมนุษย์เท่านั้น กรณีชีวิตมนุษย์นั้นในธาตุวิภังคสูตรแสดงไว้ว่า ชีวิตประกอบไปด้วยธาตุ ๖ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาสธาตุ และวิญญาณธาตุ[๓] กล่าวโดยสรุปคือ รูปที่เรียก สสาร และนามที่เรียกว่า อสสาร ชีวิตเกิดขึ้นเพราะอาศัยองค์ประกอบ ๓ คือ มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน มารดามีระดู และมีสัตว์คือวิญญาณหรือจิตมาปฏิสนธิจึงก่อให้เกิดเป็นชีวิตขึ้นมาได้ จะเห็นได้ว่าชีวิตในทางพระพุทธศาสนานั้นไม่ได้เกิดจากการสร้างของพระเจ้าหรือเทพเจ้าอย่างที่ศาสนาที่เป็นเทวนิยมทั้งหลายสอนไว้ แต่เกิดจากกระบวนการของธรรมชาติ หรือเหตุปัจจัยนั่นเอง ชีวิตเมื่อเกิดมาแล้วจะมีความต้องการพื้นฐานเหมือนกันดังในเวฬุทวารสูตร [๔] คือ อยากมีชีวิตอยู่ (ชีวิตุกามะ) อยากไม่ตายหรือไม่อยากตาย (อมริตุกามะ) อยากมีความสุขหรือต้องการสุข ( สุขกามะ) และ รังเกียจความสุขหรือไม่ต้องการทุกข์ อาจกล่าวได้ว่าทุกชีวิตไม่ว่าคน สัตว์ พืช ล้วนรักสุขเกลียดทุกข์ อยากอยู่ไม่อยากตาย
ความรู้
เมื่อมีชีวิตอยู่แล้วอยู่ไปเพื่ออะไร อาจจะตอบได้ว่าเพื่อพัฒนาตนเอง เพื่อพัฒนาความรู้ เพื่อการทำความดี หรือเพื่อค้นหาความจริง แต่ทางพระพุทธศาสนาสรุปว่า ชีวิตที่ดีที่ประเสริฐนั้นต้องอยู่ด้วยปัญญา [๕] ก็จะเกี่ยวโยงกับความรู้ที่มาของความรู้หรือเรียกว่าญาณวิทยาหรือญาณปรัชญา มนุษย์จำเป็นต้องพัฒนาเรื่องของความรู้ ปัญญา เพื่อการพัฒนาชีวิตทั้งร่างกายและจิตใจ เครื่องมือในการแสวงหาความรู้สำหรับมนุษย์ก็คือสิ่งที่อยู่ภายในตนที่เรียกว่าประสาทสัมผัสทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ทำหน้าที่ในการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบ การทำหน้าที่ใน ๕ ส่วนนี้ก็จะส่งไปยังประสาทสัมผัสที่ ๖ คือ ใจจะทำหน้าที่รู้สึก(แยกแยะ) รู้จำ(จัดเก็บ) รู้คิด(ผสมผสาน)และรู้แจ้ง รู้ชัด ( ใช้งาน) ความรู้ที่ได้จากการรับรู้ทางอายตนะเหล่านี้ยังไม่เป็นความรู้อย่างแท้จริง แต่เรียกว่าเป็นการรับรู้เท่านั้น เพราะว่าการรับรู้เหล่านั้นเป็นความรู้ที่กระจัดกระจาย ยังไม่จัดให้เป็นระบบ ส่วนความรู้ที่แท้จริงหรือความรู้ที่เป็นระบบนั้นพระพุทธศาสนาได้แสดงว่าเกิดขึ้นจาก ๓ แหล่งหรือ ๓ วิธีด้วยกันคือ[๖]
๑. สุตะ คือการฟัง หมายถึงกระบวนการศึกษาหรือการเรียนรู้ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนี้ก็อาศัยกระบวนการรับรู้ของอายตนะนั่นเองในการเรียนรู้ หรือศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ แต่มิใช่เป็นเพียงการรับรู้ แต่มีการเรียนรู้สิ่งที่รับรู้นั้นอย่างเป็นระบบดังที่ท่านแสดงไว้ว่า “พหุสฺสุโต สุตธโร สุตสนฺนิจโย” [๗] ความว่า “ฟังมาก ทรงจำสิ่งที่ฟังได้ สั่งสมสิ่งที่ได้ฟังนั้นไว้” ซึ่งหมายความว่าต้องมีการเรียนรู้แล้วจดจำไว้และจดจำไว้อย่างเป็นระบบนั่นเอง ฉะนั้น ความรู้ในระดับนี้จึงมีลักษณะเป็นการรู้จำ หรือรู้แล้วจำไว้ (สัญญา) เรียกว่า สุตมยปัญญา
๒. จินตา คือการคิด หมายถึงกระบวนการของการคิดหรือการใช้เหตุผลเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องมาจากสุตะนั่นเอง ซึ่งหมายความว่าการเรียนรู้ในระดับนี้ไม่หยุดอยู่แค่จำสิ่งที่เรียนรู้ไว้เท่านั้น แต่นำเอาสิ่งที่จำไว้นั้นเข้ามากระบวนการคิดหรือการใช้เหตุผลอีกทีหนึ่งเพื่อให้เกิดความเข้าใจหรือรู้ความหมายของสิ่งนั้นชัดเจนยิ่งขึ้น ดังที่ท่านแสดงไว้ว่า “ พหุสฺสุตา ธตา วจสา มนสานุปฺขิตา ทิฎฐิยา สุปฺปฏิวิทฺธา” [๘] ความว่า “ ฟังมาก จำได้คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยทิฏฐิ (คือเข้าใจทะลุปรุโปร่ง)” ความรู้ในระดับนี้จึงมิใช่เพียงจำได้เท่านั้น แต่มีความเข้าใจในสิ่งที่จำได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ความรู้ในระดับนี้เป็นความรู้ที่ละเอียดอ่อนหรือประณีตขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งและความรู้ลักษณะนี้จะประมวลไว้ในจิตในแบบที่เรียกว่าทิฏฐิ (ความเข้าใจ, ความเห็น, ความเชื่อ) เรียกว่า จินตามยปัญญา
๓. ภาวนา คือการให้มีขึ้น หรือการพัฒนา หมายถึง กระบวนการของการพัฒนาจิตหรืออบรมจิตเพื่อทำจิตให้สงบนิ่ง พร้อมทั้งกำจัดหรือขับไล่สิ่งที่ทำให้จิตเศร้าหมองคือ กิเลสออกไปจากจิต จิตก็สงบใสบริสุทธิ์ ปัญญาญาณหรือความสามารถในการหยั่งรู้ก็เกิดขึ้น ความรู้ที่ได้จากญาณนี้ พระพุทธศาสนาถือว่าเป็นความรู้ที่ถูกต้องหรือตรงตามความเป็นจริง เพราะการรู้ด้วยญาณนั้น พระพุทธศาสนาถือว่าเป็น การรู้สิ่งนั้น ๆ ตามที่เป็นจริง ดังพุทธพจน์ว่า สมาหิเต จิตฺเต ธมฺมา ปาตุภวนฺติ[๙] ความว่า เมื่อจิตเป็นสมาธิ ความจริงย่อมปรากฏ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ยถาภูตญาณทัสสนะ แปลว่า เห็นด้วยญาณตามเป็นจริง ความรู้ในระดับนี้เป็นความรู้ที่ไม่ขึ้นอยู่กับตัวกลางหรือสื่อใด ๆ แต่เป็นการรู้ตรงของจิต มีลักษณะเป็นการหยั่งรู้(ญาณ) หรือเป็นความรู้ระดับเหนือประสบการณ์และเหนือเหตุผล เรียกว่า ภาวนามยปัญญา
ในความรู้ทั้ง ๓ คือ ความรู้ระดับสุตะ และจินตาเป็นความรู้ขั้นสามัญ ส่วนความรู้จากภาวนา เป็นความรู้ขั้นวิสามัญ หรือเหนือธรรมดา ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า อภิญญา ความรู้ทั้งสองนี้จะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อนำความรู้ไปเพื่อช่วยเหลือตนเองหรือป้องกันตนเองได้ที่เรียกว่านิปกปัญญา หรือ เนปักกปัญญา คือ ปัญญารักษาตนหรือรักษาตัวรอด[๑๐] ความรู้ที่มีคุณค่าต่อชีวิตคือรู้ว่าอะไรดี รู้ว่าอะไรชั่ว และรู้วิธีที่จะช่วยให้ทำดีเว้นชั่วได้อย่างสมบูรณ์ แต่ความรู้ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นก็ยังถือว่าไม่ใช่สุดยอดแห่งความรู้ทางพระพุทธศาสนา เพราะสุดยอดของความรู้ก็คือ ความรู้ที่ทำให้สิ้นทุกข์ดังพุทธพจน์ที่ว่า “พรหมจรรย์นี้...มิใช่มีความถึงพร้อมแห่งสมาธิเป็นอานิสงส์.....มิใช่มีความถึงพร้อมแห่งญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์... (แต่) มีเจโตวิมุติอันไม่กำเริบเป็นประโยชน์เป็นสาระเป็นผลสุดท้าย”[๑๑] และอีกพระสูตรหนึ่งกล่าวไว้ตรง ๆ ว่า “ ปรมา อริยา ปญฺญา ยทิทํ สพฺพทุกฺขขเย ญาณํ”[๑๒] แปลว่า สุดยอดของปัญญาคือ ความรู้ในความสิ้นทุกข์
เพราะฉะนั้น ในการใช้ชีวิตเพื่อแสวงหาความรู้ในทางพระพุทธศาสนานั้นจะต้องเป็นความรู้ที่แท้จริงคือความรู้ที่ถูกต้อง แท้จริงถูกต้องอย่างไร คือเมื่อความรู้เกิดขึ้นความชั่วต้องลดลงหรือรู้มากเท่าไรความชั่วยิ่งลดลงเท่านั้น ถ้าเป็นไปได้ต้องรู้ถึงขั้นขจัดทุกข์ที่เป็นต้นตอของปัญหาได้คือ การเกิด แก่ และตาย นั้นคือสุดยอดของความรู้ที่มนุษย์ควรแสวงหาในหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา
ความจริง
เมื่อชีวิตมีความรู้ที่ดี ถูกต้องแล้วก็ต้องรู้มากขึ้น รู้อะไร รู้ความจริง ความจริงในทางพระพุทธศาสนานั้นเราเรียกว่าอริยสัจ คือความจริงอันประเสริฐ สามารถทำให้ผู้รู้เป็นผู้ประเสริฐที่เรียกว่าเป็นพระอริยบุคคลนั่นเอง ความจริงในอริยสัจ ๔ นั้นกล่าวโดยสรุปแล้วคือการรู้ความจริง ๒ ประการคือความจริงเกี่ยวกับทุกข์ และความจริงเกี่ยวกับการดับทุกข์ หรือถ้าให้สั้นกว่านั้นคือการรู้ความจริงเกี่ยวกับขันธ์ ๕ ที่เป็นนามรูป ว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์และ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา[๑๓] การรู้ความจริงในพุทธปรัชญาจะเน้นเรื่องการรู้ภายในคือเรื่องของขันธ์ ๕ และจะไม่ให้ความสำคัญกับความรู้ภายนอก เช่นเรื่องโลก จักรวาล เป็นต้น เพราะไม่ใช่เป้าหมายของความรู้คือ ความรู้เหล่านั้นไม่อาจนำมนุษย์พ้นทุกข์ได้
ความดี
การรู้ความจริงนั้นเป็นพื้นฐานของความดี ความดีคืออะไร ในพระพุทธศาสนามีคำที่ใช้เรียกหรือใช้แทนที่หมายถึงความดีหลายคำ คือ บุญ กุศล ธัมมจริยา สมจริยา สุจริต กรณียะ[๑๔] คำเหล่านี้ในความหมายรวมหมายถึงความดี ความดีอาจแบ่งได้ ๒ ลักษณะ[๑๕]คือ ความดีในเชิงเหตุได้แก่คุณธรรมและการกระทำที่ดีทั้งหลายซึ่งเป็นเหตุให้ได้มาซึ่งผลดีหรือผลที่ดี ความดีส่วนนี้อาจเรียกว่า เป็นความดีเชิงอุปกรณ์ และความดีเชิงผล ได้แก่วิบาก หรือผลดีที่เกิดจากการประพฤติธรรมหรือการทำดีในลักษณะต่าง ๆ การทำความดีอาจแบ่งเป็น ๓ ระดับคือ ความดีขั้นต้น ความดีขั้นกลาง และความดีขั้นสูง

ความงาม
ความดีทั้งสามขั้นนี้จะเกี่ยวโยงกับความงามในทางพระพุทธศาสนาด้วย เพราะว่า พระพุทธเจ้าทรงประทานวิธีการประกาศพระศาสนาที่เรียกว่า พรหมจรรย์ แก่พระอรหันต์ ๖๐ องค์ ก็เน้นเรื่องความดีและความงาม งามอย่างไร ในพระพุทธพจน์ที่ตรัสว่าจงประกาศพรหมจรรย์ซึ่งงามในเบื้องต้น (อาทิกลฺยาณํ) งามในท่ามกลาง (มชฺเฌฺกลฺยาณํ) และงามในที่สุด (ปริโยสานกลฺยาณํ) ความดีหรือความงามในเบื้องต้นได้แก่ความดีระดับวัตถุด้วยการมีทรัพย์สมบัติ และมีเบญจศีลซึ่งถือว่าเป็นคนดีคนงาม ที่เรียกว่า ดีแบบปุถุชน ความดีหรือความงามในท่ามกลางได้แก่การมีศีลมีธรรม มีสมาธิที่ช่วยแก้ปัญหาชีวิตได้ในระดับหนึ่งคนดีระดับนี้อาจเรียกว่า กัลยาณชน ความดีหรือความงามในที่สุด ได้แก่ความดีความงามที่เกิดจากการพัฒนาชีวิตมีศีล สมาธิ ปัญญา ดำเนินตามทางสายกลางที่เป็นส่วนเหตุทำให้ผู้นั้นสามารถทำลายกิเลสตามระดับต่าง ๆ (สังโยชน์ ๑๐)[๑๖] จนทำให้ผู้นั้นกลายเป็นคนดีคนงามที่เรียกว่า อารยชน หรือ อริยบุคคล ความงามที่แสดงออกผ่านคนดีแสดงให้เห็นว่า ความงามเป็นการปรากฏของความดีนั่นเอง




สรุป
แนวคิดในการดำเนินชีวิตตามคำสอนทางพระพุทธศาสนาต้องพัฒนาความรู้ที่สามารถลดละหรือกำจัดกิเลสความชั่ว หรือที่เรียกว่า รู้เพื่อทำดีและรู้เพื่อละชั่ว ความรู้ที่ต้องค้นหาศึกษาคือเรื่องของความจริงที่เกี่ยวกับตนเอง ศึกษาเรื่องภายในตนเป็นความจริงที่นำไปสู่ความดีที่เป็นส่วนเหตุคือกุศลกรรม การทำความดี และจะได้รับผลที่ เรียกว่า กุศลวิบาก เมื่อทำความดีและได้รับผลของความดีจะทำให้เกิดความงามที่เป็นปรากฏการณ์ของการทำความดี งามทั้งภายใน ที่เรียกว่าคุณงามความดี งามทั้งภายนอก ที่เรียกว่างามด้วยกิริยาท่าทาง จะเห็นได้ว่าเรื่องของชีวิต ความรู้ ความจริง ความดี และความงามเป็นความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในฐานะเป็นปรัชญาชีวิตซึ่งจะก่อให้เกิดความดีความงามแก่ชีวิตตามสมควรแก่การประพฤติปฏิบัติต่อไป
[๑] ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ (กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์พับบิเคชั่นส์, ๒๕๔๖), หน้า ๓๖๖.
[๒] สมนฺต. ทุติย. ๓๕๔.
[๓] ๑๔/ ๖๗๙ /๔๓๖.
[๔] สํ. มหา. ๑๙/ ๑๔๕๙/ ๔๔๓.
[๕] สํ. สคา. ๑๕/ ๒๐๓ /๕๘.
[๖] สุเชาวน์ พลอยชุม, พุทธปรัชญาในสุตตันตปิฎก (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ๒๕๕๑), หน้า ๑๐๗-๑๑๐.
[๗] อํ. ปญฺจก. ๒๒/ ๘๗ /๑๒๙.
[๘] อํ. ปญฺจก. ๒๒/ ๘๗ /๑๒๙.
[๙] สํ. ส ฬา . ๑๘ /๑๔๔/ ๙๘.
[๑๐] ขุ.มหา.๒๙/๙๒๑/๕๘๗; อภิ.วิ. ๓๕/๕๙๙/๓๒๘;๓๕/๑๑๐๗/๕๗๒.
[๑๑] ม.มู ๑๒/๓๕๒/๓๗๓.
[๑๒] ม.อุ.๑๔/๖๙๒/๔๔๕.
[๑๓] อํ ติก. ๒๐/๓๖๘/๕๗๖.
[๑๔] อํ. ทุก. ๒๐/๒๖๒-๒๖๕/๗๑.
[๑๕] สุเชาวน์ พลอยชุม, พุทธปรัชญาในสุตตันตปิฎก (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ๒๕๕๑) , หน้า ๑๖๗.

[๑๖] สังโยชน์ ๑๐ คือกิเลสอันผูกใจสัตว์,ธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์หรือผูกกรรมไว้กรรมผล ได้แก่ สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวของตน วิจิกิจฉา ความสงสัยความลังเลไม่แน่ใจ สีลัพพตปรามาส ความถือมั่นศีลพรตโดยสักว่าทำตาม ๆ กันไปอย่างงมงายเห็นว่าจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ด้วยเพียงศีลและวัตร กามราคะ ความกำหนัดในกาม, ความติดใจในกามคุณ ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งในใจ, ความงดหงิดขัดเคือง รูปราคะ ความติดใจในอารมณ์แห่งรูปฌานหรือในรูปธรรมอันประณีต , ความปรารถนาในรูปภพ อรูปราคะ ความติดใจในอารมณ์แห่งอรูปฌานหรือในอรูปธรรม,ความปรารถนาในอรูปภพ มานะ ความสำคัญตนคือถือตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่ อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน และ อวิชชา ความไม่รู้จริง,ความหลง (พระเทพเวที(ประยุทธ์ ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลธรรม ( พิมพ์ครั้งที่ ๗ , กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,๒๕๓๕) หน้า๒๘๙-๒๙๐.

ไม่มีความคิดเห็น: