วันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

พระพุทธสิหิงค์ ตำนานและรูปแบบ

ความนำ
พระพุทธรูปนั้นเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสิ่งบูชาสักการะของพุทธศาสนิกชนอย่างสูงสุด เพราะถือว่า พระพุทธรูปนั้นเป็นเสมือนพระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาของพุทธศาสนา ที่พุทธศาสนิกชนทุกคนบูชาและเคารพสูงสุด พระพุทธรูปถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของประติมากรรมอันเกี่ยวกับประดิษฐกรรมตามกระบวนช่างปั้น,แกะสลักและหล่อซึ่งทำให้เกิดรูปที่มีมิติที่สมบูรณ์ตามอุดมคติของศิลปินผู้ซาบซึ้งในหลักธรรมของพระพุทธองค์อย่างแท้จริงแล้วจึงเนรมิตพระรูปให้ตรงกับมโนภาพของตน และให้เป็นสื่อแทนคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
อนึ่ง พระพุทธรูปนั้นตามหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาแล้วจัดเป็นเจดีย์ประเภทหนึ่งใน เจดีย์ ๔ ประเภท คือ
๑. ธาตุเจดีย์ เจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า
ภาพที่ ๑ พระธาตุนาดูน อ.นาดูน จ.มหาสารคาม
๒. บริโภคเจดีย์ เจดีย์คือสิ่งหรือสถานที่พระพุทธเจ้าเคยทรงใช้หรือประทับอยู่ หมายถึงต้น, สังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่ง ตลอดถึงสิ่งที่พระพุทธองค์เคยทรงบริโภค เช่น บาตรจีวรและบริขารอื่น ๆ เป็นต้น

ภาพที่ ๒ สังเวชนียสถาน ๔
๓. ธรรมเจดีย์ เจดีย์ที่บรรจุพระธรรม เช่น บรรจุใบลานจารึกพุทธพจน์แสดงหลักธรรมประกอบด้วยปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น

ภาพที่ ๓ หอไตรวัดทุ่งศรีเมือง อ.เมือง จ. อุบลราชธานี
๔. อุทเทสิกเจดีย์ เจดีย์ที่สร้างอุทิศพระพุทธเจ้า อันได้แก่ พระพุทธรูปนั้นเอง[๑]
ภาพที่ ๔ พระพุทธสิหิงค์ วัดพระสิงห์ อ.เมือง จ. เชียงใหม่
ดังนั้น การศึกษาเกี่ยวกับพระพุทธรูปก็จัดได้ว่ามีความสำคัญในฐานะที่เป็นอุทเทสิกเจดีย์และก่อให้เกิดปัญญา ก่อให้เกิดความศรัทธาเลื่อมใส และมีความรู้ความเข้าใจในศิลปะด้านนี้มากยิ่งขึ้นทำให้เห็นคุณค่าทางภูมิปัญญาของผู้สร้างและปรัชญาที่มีอยู่ในพระพุทธรูปเหล่านั้นด้วย

สำหรับพระพุทธรูปที่สำคัญ ๆ ในประเทศไทยมีมากมายหลายองค์ด้วยกัน แต่ข้าพเจ้าเลือกศึกษาเฉพาะ พระพุทธสิหิงค์เท่านั้น พระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิหล่อหุ้มทองคำซึ่งก็นับว่าเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญของประเทศไทยองค์หนึ่งที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายเคารพบูชา ในเทศกาลวันสงกรานต์ทางราชการจะจัดปะรำขึ้นแล้วอาราธนาอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานเพื่อให้ประชาชนได้นมัสการและทรงน้ำโดยทั่วกันทุก ๆ ปี[๒] ในการศึกษาพระพุทธสิหิงค์นี้จะเน้นเพียง ๒ ประเด็นคือ
๑. ตำนานประวัติความเป็นมา
๒. รูปแบบของพระพุทธสิหิงค์

๑. ประวัติความเป็นมา

เรื่องตำนานหรือประวัติของพระพุทธสิหิงค์ ได้มีท่านผู้เรียบเรียงไว้แล้วหลายท่าน เช่น พระโพธิรังสี ปราชญ์แห่งเมืองเชียงใหม่ ได้เขียนเป็นภาษามคธ ราว พ.ศ.๑๙๖๐ และบรรยายเรื่องราว จนมาถึง พ.ศ.๒๔๕๔ สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยา ดำรงราชานุภาพ ได้ทรงนิพนธ์ต่อจากพระโพธิรังสี มาจนถึงสมัย หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ได้เรียบเรียงใหม่เป็นตำนานย่อ และกล่าวข้อวิจารณ์ในทางโบราณคดี ส่วนที่ผู้เขียนได้นำกล่าวมานี้ได้อ้างถึงตำนานพระพุทธสิหิงค์ ของพลตรีหลวงวิจิตรวาทการ เขียนขึ้นเนื่องด้วยได้มีการรวบรวมข้อเท็จจริง ที่ท่านผู้รู้ทั้งหลายเหล่านั้นได้ค้นคว้าแล้วมาเรียบเรียงไว้ให้เป็นตำนานที่อ่านง่าย เพื่อความสะดวกและเข้าใจแก่ผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาทั่วไป

พระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปที่กษัตริย์ลังกาได้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๗๐๐ ได้อัญเชิญเข้ามาสู่ประเทศสยาม ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ฉะนั้น จึงต้องนับว่า พระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของประเทศสยามอย่างแท้จริง[๓] แต่ในเมืองไทย พระพุทธรูปที่ทรงพระนามว่าพระพุทธสิหิงค์นั้นมีอยู่ ๓ องค์ ๓ แห่งคือ




(ภาพที่ ๕ พระพุทธสิหิงค์ทั้ง ๓ องค์)

องค์ที่ ๑ ประดิษฐานในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร

(ภาพที่ ๖)

พระพุทธสิหิงค์ องค์ที่ ๑ (ภาพที่ ๖) นี้เป็นพระพุทธรูปปางนั่งขัดสมาธิสูง ๙๖ ซม. หน้าตักกว้าง ๖๖ ซม. หล่อด้วยสัมฤทธิ์ ปิดทองคำเปลว พระสรีระได้สัดส่วนและงดงามที่สุดจะหา พระพุทธโบราณในเมืองไทยที่งดงาม และได้สัดส่วนเทียมพระพุทธสิหิงค์องค์นี้มิได้เลย ตามตำนานกล่าวว่าองค์นี้ศิลปะสุโขทัยประดิษฐานในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ กรุงเทพมหานคร


องค์ที่ ๒ ประดิษฐานในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่
(ภาพที่ ๗)

พระพุทธสิหิงค์ องค์ที่ ๒ (ภาพที่ ๗) เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ มีความสำคัญคู่กับพระพุทธสิหิงค์ในกรุงเทพฯ และเมืองนครศรีธรรมราช เป็นพระพุทธรูปที่งดงามมาก องค์นี้ศิลปะเชียงแสน พระพุทธสิหิงค์เชียงใหม่ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร หล่อด้วยสัมฤทธิ์ปิดทองคำเปลว หนักตักกว้าง ๔๐ นิ้ว ศิลปะเชียงแสนรุ่นแรก ปัจจุบันประดิษฐานในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่




องค์ที่ ๓ ประดิษฐานในหอพระพุทธสิหิงค์ ข้างศาลากลาง จ.นครศรีธรรมราช
(ภาพที่ ๘)

พระพุทธสิหิงค์ องค์ที่ ๓ (ภาพที่ ๘) เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองนครศรีธรรมราช มีความสำคัญคู่กับพระพุทธสิหิงค์เมืองเชียงใหม่ และกรุงเทพมหานคร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร แบบขนมต้ม มีพระพักตร์กลม อมยิ้ม พระอุระอวบอ้วน หล่อด้วยสัมฤทธิ์ ปิดทอง หน้าตักกว้าง ๑๔ นิ้ว สูง ๑๖.๘ นิ้ว นับเป็นพระพุทธรูปสำคัญ คู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณกาล ประดิษฐานอยู่ในบุษบกไม้ ณ หอพระ ระหว่างศาลกับศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช องค์นี้ศิลปะศรีวิชัย

ประวัติหรือตำนานของพระพุทธสิหิงค์นี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงนิพนธ์ ไว้ว่า[๔] เดิมพระเจ้ากรุงลังกาองค์ ๑ ทรงสร้างขึ้นไว้ พระเจ้านครศรีธรรมราชไปขอมาถวายสมเด็จพระร่วง(รามราช) พระเจ้ากรุงสุโขทัย ๆ ทรงปฏิบัติบูชามาหลายรัชกาล จนถึงสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ กรุงศรีอยุธยาได้เมืองสุโขทัยเป็นเมืองขึ้น จึงเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมาไว้ในกรุงศรีอยุธยา อยู่ได้หน่อยหนึ่ง พระมเหสีคิดอุบายทูลขอให้พระยาญาณดิศผู้เป็นบุตรไปไว้ ณ เมืองกำแพงเพชร อยู่นั้นไม่ช้า พระยามหาพรหมเจ้าเมืองเชียงรายยกกองทัพมาตีเมืองกำแพงเพชร พระยาญาณดิศสู้ไม่ได้ยอมเป็นไมตรี พระยามหาพรหมจึงของพระพุทธสิหิงค์ไปไว้เมืองเชียงราย ต่อมาพระยามหาพรหมเกิดวิวาทกับพระเจ้าแสนเมืองมา เจ้านครเชียงใหม่ผู้เป็นหลาน พระเจ้าแสนเมืองมายกกองทัพไปตีได้เมืองเชียงรายจึงเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมากับพระแก้วมรกตด้วยกัน พระพุทธสิหิงค์อยู่ในเมืองเชียงใหม่จนสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จไปตีเมืองเชียงใหม่ได้ เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๒๐๕ จึงเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมากรุงศรีอยุธยาประดิษฐานไว้ในวัดพระศรีสรรเพชญ

พระพุทธสิหิงค์อยู่ในกรุงศรีอยุธยาต่อมาตลอด ๑๐๕ ปี จนเสียพระนครแก่พม่าข้าศึก สมัยนั้นชาวเชียงใหม่ยังเป็นพวกพม่าจึงเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับไปไว้เมืองเชียงใหม่ ครั้งรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ ไทยมณฑลภาคพายัพกลับมาเป็นของไทย แต่ในสมัยผู้คนร่อยหรอไม่พอจะตั้งรักษาเมืองเชียงใหม่ไว้ต่อสู้พม่าได้ ต้องทิ้งเมืองเชียงใหม่ให้ร้าง คงรักษาแต่เมืองนครลำปางเป็นที่มั่นอยู่คราวหนึ่ง สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงพระดำริว่า พระพุทธสิหิงค์เคยเป็นพระพุทธรูปสำคัญในกรุงศรีอยุธยาโดยมีตำนานดังแสดงมาจึงได้โปรดให้เชิญลงมายังกรุงเทพฯ เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๓๘[๕]

สำหรับประวัติพระพุทธสิหิงค์ที่วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่นั้นมีตำนานกล่าวว่า[๖] เมื่อพุทธศักราช ๑๙๕๐ ขณะเมื่อพระพุทธสิหิงค์ยังประดิษฐานอยู่ ณ เมืองเชียงราย เชียงรายกับเชียงใหม่เกิดการรบพุ่งกันซึ่งเชียงใหม่เป็นฝ่ายชนะ พระเจ้าแสนเมืองมาแห่งนครเชียงใหม่จึงโปรดให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มายังเชียงใหม่โดยล่องเรือมาตามลำน้ำปิง เรือที่อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาเทียบท่าขึ้นฝั่งยังนครเชียงใหม่ที่ท่าวังสิงห์ ขณะเชิญขึ้นประดิษฐานบนบุษบกปรากฏรัศมีจากองค์พระเรืองรองเป็นลำไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือไหลถึง ๒,๐๐๐ วา ต่อมาจึงได้มีการสร้างวัดขึ้น ณ ที่นั้นได้ชื่อตามเหตุอัศจรรย์ในครั้งนั้นว่า วัดฟ้าฮ่าม ซึ่งหมายถึงฟ้าอร่ามนั่นเอง แต่แรกนั้นพระเจ้าแสนเมืองมาตั้งพระทัยจะอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปประดิษฐานยังวัดสวนดอกซึ่งตั้งอยู่นอกเวียงออกไปทางทิศตะวันตก แต่เมื่อชักลากบุษบกไปถึงวัดลีเชียงพระก็มีอันติดขัดไม่อาจลากต่อไปได้ พระเจ้าแสนเมืองมาถือเป็นศุภนิมิตโปรดให้สร้างมณฑปขึ้น ณ วัดลีเชียงพระและประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ไว้ ณ วัดนั้น เมื่อพระพุทธสิหิงค์ประดิษฐานอยู่ ณ วัดลีเชียงพระ ความศรัทธาเลื่อมใสของชาวเมืองที่มีต่อพระพุทธรูปองค์นี้ทำให้ชาวเมืองเชียงใหม่พากันเรียกชื่อวัดตามนามพระ แต่เนื่องจากชาวเมืองเรียกนามพระพุทธสิหิงค์กร่อนเป็นพระสิงห์ วัดพระพุทธสิหิงค์กลายเป็นวัดพระสิงห์ดังเช่นทุกวันนี้

ส่วนพระพุทธสิหิงค์ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติที่ปรากฏเรื่องราวตาม สิหิงคนิทาน หรือตำนานของพระพุทธสิหิงค์ที่กล่าวว่าพ่อขุนรามคำแหงแห่งกรุงสุโขทัยได้ทรงทราบกิตติศัพท์เกี่ยวกับพระพุทธสิหิงค์จึงโปรดให้พระยานครศรีธรรมราชแต่งทูตอัญเชิญพระราชสาสน์ไปขอประทานพระพุทธสิหิงค์จากกษัตริย์ลังกา ซึ่งพระเจ้ากรุงลังกาก็ถวายให้สมพระราชประสงค์จึงได้มีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์เข้ามายังดินแดนไทยโดยผ่านทางนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นเมืองที่มีการติดต่อสัมพันธ์อยู่กับลังกาอย่างใกล้ชิด ตามตำนานนั้นว่าพ่อขุนรามคำแหงไปรับพระพุทธสิหิงค์ถึงยังนครศรีธรรมราชด้วยพระองค์เอง พระพุทธสิหิงค์เป็นที่เลื่อมใสเคารพบูชาในหมู่ชาวภาคใต้โดยเฉพาะชาวนครศรีธรรมราชเป็นอย่างยิ่ง ว่ากันว่าผู้ทุจริตคิดมิชอบทั้งหลายจะไม่กล้าสาบานต่อหน้าองค์พระเลย หลังจากที่ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่ศาลากลางจังหวัดแล้วคดีความที่จะต้องขึ้นโรงขึ้นศาลลดน้อยลงไปอย่างเห็นได้ชัดเนื่องจากมักมีการเอ่ยอ้างนามพระพุทธสิหิงค์ในการสาบานตัว ทำให้ไม่มีใครกล้าเบิกความเท็จ[๗]

กล่าวโดยสรุปประวัติความเป็นมาของพระพุทธสิหิงค์พบว่าน่าจะเกิดขึ้นในลังกาและได้อัญเชิญมายังเมืองต่าง ๆ ตามลำดับ คือ นครศรีธรรมราช ละโว้ สุโขทัย อยุธยา ชัยนาท กำแพงเพชร ก่อนจะขึ้นมาสู่ล้านนา

๒.รูปแบบพุทธลักษณะของพระพุทธสิหิงค์
พระพุทธสิหิงค์ถือได้ว่าเป็นรูปแบบการสร้างสกุลช่างเชียงแสน(พุทธศตวรรษที่ ๑๖-๒๑)เป็นสกุลช่างทางภาคเหนือมีเมืองเชียงแสนเป็นเมืองสำคัญในสมัยนั้นของอาณาจักรล้านนาไทยอาจจะมีคำถามว่าทำไม่จึงเรียกว่าสิงห์ หรือสิงห์ ๑ สิงห์ ๒ และสิงห์๓ คำตอบคือพระพุทธรูปมีความงดงามน่าเกรงขามท่าทางสง่าดุจพญาสิงหราชจึงได้นามว่าสิงห์หนึ่ง สิงห์สองและสิงห์สาม[๘]พระพุทธสิหิงค์องค์แรก (ภาพที่ ๖) เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ บางท่านกล่าวว่าเป็นศิลปะลังกา แต่ก็มีบางท่านเช่น ศักดิ์ชัย สายสิงห์ [๙] ให้ความเห็นว่าลักษณะทางศิลปกรรมน่าจะเป็นแบบสุโขทัย อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ หรืออาจจะสรุปได้ว่าพระพุทธสิหิงค์ที่ประดิษฐานในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์นั้นอาจจะเป็นพระพุทธรูปล้านนาที่มีอิทธิพลของศิลปะสุโขทัยที่เรียกว่าพระพุทธรูปแบบเชียงแสนสิงห์สอง อาจจะประมาณเกิดขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ก็ได้

ส่วนพระพุทธสิหิงค์องค์ที่ ๒ (ภาพที่ ๗) นั้นเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร เป็นศิลปะล้านนาแบบที่เรียกว่า “สิงห์หนึ่ง” อายุราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ พระพุทธรูปเชียงแสนยุคแรก (สิงห์หนึ่ง) มีพุทธลักษณะแบบศิลปะปาละของอินเดีย ได้รับอิทธิพลเผยแพร่ผ่านมาทางพม่า มีพระพักตร์กลมอมยิ้ม พระหนุ (คาง) เป็นปมนูน ชายสังฆาฏิเป็นรูปทรงเขี้ยวตะขาบอยู่เหนือพระถัน นิยมสร้างปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร ฐานบัวหงาย หล่อด้วยโลหะสำริด ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ [๑๐]พระพุทธสิหิงค์แบบสิงห์หนึ่งนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เมื่อมีการรับตำนานหรือคติการสร้างพระพุทธสิหิงค์เกิดขึ้น ชาวล้านนาจึงถือเอารูปแบบของพระพุทธรูปแบบสิงห์หนึ่งซึ่งได้รับความนิยมในขณะนั้นเป็นต้นแบบของพระพุทธสิหิงค์และเรียกว่าพระสิงห์ในเวลาต่อมา อีกอย่างหนึ่งพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรแบบล้านนานี้เองน่าจะเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญทำให้เกิดการสร้างพระพุทธรูปแบบนี้อย่างแพร่หลายไปยังแหล่งอื่น ๆ โดยเฉพาะเมืองที่ได้รับการกล่าวถึงในตำนานของล้านนาที่ว่าพระพุทธสิหิงค์ได้ผ่านมาตามเมืองต่าง ๆ เช่น นครศรีธรรมราช อยุธยา ชัยนาท สุโขทัย กำแพงเพชร เป็นต้น

พระพุทธสิหิงค์องค์ที่ ๓ (ภาพที่ ๘) ปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร เช่นเดียวกับองค์ที่ ๒ แต่อวบอ้วนมากกว่านิยมเรียกว่าแบบ ขนมต้ม หรือศิลปะแบบขนมต้ม จัดอยู่ในสกุลช่างนครศรีธรรมราช ในสมัยอยุธยาราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒

สรุป
ประวัติตำนานและรูปแบบพระพุทธสิหิงค์จากการศึกษาสรุปได้ว่า ตามประวัติพระพุทธสิหิงค์มาจากลังกาแล้วผ่านนครศรีธรรมราช ละโว้ สุโขทัย อยุธยา ชัยนาท กำแพงเพชร ก่อนจะขึ้นมาสู่ล้านนา แต่จากการศึกษาค้นคว้าของ ศักดิ์ชัย สายสิงห์[๑๑] พบได้ข้อสรุปว่า ตำนานและรูปแบบของพระพุทธสิหิงค์นั้นน่าจะมาจากล้านนา เพราะพระพุทธรูปคือพระพุทธสิหิงค์ในกลุ่มขัดสมาธิเพชรตามตำนานเกิดขึ้นในล้านนาและน่าจะแพร่หลายลงมายังสุโขทัย อยุธยา และกำแพงเพชร โดยพบหลักฐานคือการค้นพบพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรในพระอุระของพระมงคลบพิตรและในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะเป็นการแสดงให้เห็นลักษณะการผสมผสานทางด้านรูปแบบระหว่างการแสดงลักษณะขัดสมาธิเพชรแบบล้านนาที่ไม่ใช่สายวิวัฒนาการของอยุธยาที่มีพื้นฐานมาจากขอม และจากการค้นพบพระพุทธรูปในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะแสดงให้เห็นว่าอยุธยาได้รู้จักพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชร “พระพุทธสิหิงค์” แล้ว อย่างน้อยประมาณต้นหรือกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐ หลักฐานอีกอย่างหนึ่งคือการค้นพบพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรในนามพระพุทธสิหิงค์คือพระพุทธรูปที่พบที่วัดโกขาม จังหวัดสมุทรสงครามเป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรแบบอยุธยาที่เรียกว่าแบบขนมต้ม มีจารึกที่ฐานที่กล่าวว่าพระพุทธรูปองค์นี้คือ พระพุทธสิหิงค์ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๒๓๒

เพราะฉะนั้น จึงอาจได้ข้อสรุปอีกอย่างหนึ่งว่า รูปแบบการสร้างพระพุทธสิหิงค์นั้นน่าจะเกิดที่ล้านนาก่อนแล้วจึงแผ่ขยายลงมาสุโขทัย อยุธยา จนถึงนครศรีธรรมราช ไม่ใช่มาจากลังกามาถึงภาคใต้แล้วขึ้นไปทางเหนือตามตำนานที่กล่าวไว้ พระพุทธสิหิงค์องค์แรก(ภาพที่ ๖) น่าจะเป็นพระพุทธรูปล้านนาประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ รูปแบบน่าจะเป็นสกุลช่างสุโขทัย ส่วนองค์ที่ ๒ (ภาพที่ ๗) เป็นศิลปะแบบล้านนาอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ส่วนองค์ที่ ๓ (ภาพที่ ๘) เป็นศิลปะแบบขนมต้นสกุลช่างนครศรีธรรมราชที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะของอยุธยา



[๑] ขุ.อ. ๒๔๗, ชา.อ. ๖/๑๘๕, วินย. ฎีกา ๑/๒๖๓.
[๒] กรมการศาสนา, ประวัติพระพุทธรูปองค์สำคัญ (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์การศาสนา, ๒๕๒๔), หน้า๑๐๐.
[๓] http://www.komchadluek.net/column/pra/2005/03/28/02.php

[๔] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ตำนานพระพุทธรูปสำคัญ( กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๔๘) , หน้า๕๑.
[๕] ประวัติตำนานพระพุทธสิหิงค์ รายละเอียดอ่านได้จาก ประวัติพระพุทธรูปองค์สำคัญ. อ้างแล้ว หน้า ๑๐๐-๑๑๒.
[๖] วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร, พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง (พิมพ์ครั้งที่ ๓, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ทิพากร, ๒๕๔๖), หน้า ๒๔.
[๗] วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร, พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง (พิมพ์ครั้งที่ ๓, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ทิพากร, ๒๕๔๖), หน้า ๒๖.

[๘] ขวัญทอง สอนศิริ, พุทธนาคบริรักษ์ ๔๘ พรรษา สยามบรมราชกุมารี ( จัดพิมพ์ขึ้นเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเจริญพระชนมายุ ๔๘ พรรษา พ.ศ. ๒๕๔๖, นครปฐม: เพชรเกษมการพิมพ์, ๒๕๔๖), หน้า ๔๓.
[๙] รศ.ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์, ศิลปะสุโขทัย:บทวิเคราะห์หลักฐานโบราณคดี จารึกและศิลปกรรม (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร,๒๕๕๑) ,หน้า ๑๒๑,
[๑๐] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๒๒.
[๑๑] รศ.ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์, ศิลปะสุโขทัย:บทวิเคราะห์หลักฐานโบราณคดี จารึกและศิลปกรรม (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร,๒๕๕๑) ,หน้า ๑๒๒-๑๒๓,

ไม่มีความคิดเห็น: