วันพุธที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ศาสนา ปรัชญา ลัทธิ

ศาสนา
คำว่า “ศาสนา” มีความหมายตามรูปศัพท์ว่า คำสั่งสอน การปกครอง การฝึกหัด ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Religion ซึ่งมีศัพท์เดิมมาจากภาษาละตินว่า Religis และคำว่า Religis นี้นักปราชญ์ทางภาษาศาสตร์ได้สันนิษฐานว่ามาจากคำ 2 คำ คือ “relegere” ซึ่งแปลว่า การปฏิบัติต่อ หรือการเกี่ยวข้องด้วยความระมัดระวัง และ “religare” ซึ่งแปลว่า ผูกพัน เพราะฉะนั้น คำว่า Religion จึงมีความหมายตามรูปศัพท์ว่า การปฏิบัติต่อ การเกี่ยวข้อง หรือผูกพันอย่างระมัดระวัง ซึ่งอาจหมายถึงการปฏิบัติพระเจ้าด้วยความพินอบพิเทา การเกี่ยวข้องกับพระเจ้าด้วยความจงรักภักดี หรือการผูกพันกับพระเจ้าด้วยความรักและศรัทธา ทั้งนี้เพราะชาวตะวันตกเคยอบรมกันมาให้เชื่อถือในเรื่องของพระเจ้า และพระเจ้าเป็นเรื่องของศาสนา เมื่อพูดถึงคำว่า ศาสนา หรือ Religion จึงเข้าใจว่าเป็นหลักการหรือข้อที่พึงปฏิบัติต่อพระเจ้า ศาสนาและพระเจ้าเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแยกจากกันและกันได้ ถ้าไม่มีพระเจ้า ก็ไม่มีศาสนาหรือไม่เป็นศาสนา นับว่าเป็นการให้ความหมายที่ออกจะแคบไป ทั้ง ๆ ที่ในโลกนี้ก็ยังมีศาสนาอื่น ๆ ที่ไม่เชื่อถือในเรื่องพระเจ้า เช่น ศาสนาพุทธ ศาสนาเชน ที่ชาวโลกทั่วไปก็ยอมรับนับถือว่าเป็นศาสนา จากความหมายของรูปศัพท์ดังที่กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่า คำว่าศาสนาในภาษาไทย และ Religion ในภาษาอังกฤษนั้น มีความหมายไม่ตรงกันทีเดียว ถ้าจะหาทางประนีประนอมเพื่อให้ความหมายตามรูปศัพท์พอที่จะเข้ากันได้ ก็อาจจะให้ความหมายว่า คำสั่งสอนว่าด้วยหลักการปฏิบัติต่อกัน หรือคำสั่งสอนเกี่ยวกับหลักปฏิบัติที่ทำให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีต่อกันและกัน
นักปราชญ์ศาสนาได้ให้ความหมายของศาสนาไว้ ซึ่งจะแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้แล้วแต่ประเด็นที่ต้องการเน้นและสภาพแวดล้อม
Saint Augustine เน้นการกลับคืน ( Recover ) กล่าวว่า ศาสนา คือ ความดีอันเกิดจากการถวายความบริสุทธิ์ซึ่งได้มาจากพระเจ้ากลับคืนไปยังพระเจ้า
Max Miller เน้นพุทธิปัญญา ( Intellect ) กล่าวว่า ศาสนา คือ ความสามารถหรืออำนาจทางจิตซึ่งไม่ขึ้นแก่ความรู้สึกทางประสาทสัมผัสหรือเหตุผล สามารถนำบุคคลให้เข้าถึงพระเจ้าภายใต้พระนามต่าง ๆ
หลวงวิจิตรวาทการ เน้นองค์ประกอบของศาสนา กล่าวว่า คำสอนที่จัดเป็นศาสนานั้นต้องเป็น
เรื่องที่ถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ มีสอนทางจรรยา มีศาสดา มีคณะบุคคลที่รักษาความศักดิ์สิทธิ์และคำสอนไว้ เช่น พระหรือนักบวช และมีการกวดขันเรื่องความจงรักภักดี
ศาสตราจารย์เสฐียร พันธรังสี เน้นลักษณะของศาสนา กล่าวว่า ลักษณะที่เรียกว่าศาสนาได้ มีหลักการดังนี้ คือ ต้องเป็นเรื่องเชื่อถือได้โดยมีความศักดิ์สิทธิ์ มีคำสอนทางธรรมจรรยา มีศาสดา และมีผู้สืบต่อคำสอนที่เรียกกันว่าพระหรือนักบวช
อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ เน้นลักษณะคำสอน กล่าวว่า คำสอนที่นับว่าเป็นศาสนานั้นว่าด้วยเรื่องต่าง ๆ คือ ความเชื่อในอำนาจที่มองเห็นไม่ได้ด้วยตาบางอย่าง เช่น อำนาจของธรรม หรืออำนาจของพระเจ้า มีหลักศีลธรรม มีคำสอนว่าด้วยจุดหมายสูงสุดแห่งชีวิต และพิธีกรรม
จากคำจำกัดความและทัศนะต่าง ๆ ที่กล่าวข้างต้นนี้ พอจะสรุปเป็นทัศนะอีกทัศนะหนึ่งได้ว่า ศาสนา คือ คำสั่งสอนที่พระศาสดาได้ค้นพบ หรือได้จากเทวโองการซึ่งมีลักษณะศักดิ์สิทธิ์เป็นที่พึ่งทางใจ ได้ถูกนำมาเผยแพร่ให้มวลมนุษยชาติประพฤติปฏิบัตินาม และประกอบพิธีกรรมเพื่อประสบสันติสุขในระดับศีลธรรมจรรยา และสันติสุขนิรันดร อันเป็นจุดหมายสูงสุดของชีวิต

ศาสนากับลัทธิ
คำว่า “ลัทธิ” เป็นคำที่มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่าศาสนา เพราะลัทธิตรงกับภาษาอังกฤษว่า Doctrine พจนานุกรมอังกฤษได้ให้ความหมายว่า “เรื่องที่สั่งสอนกันมา ความเชื่อถือ โอวาทของนิกายใดนิกายหนึ่ง” ส่วนพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายของ “ลัทธิ” ไว้ว่า “คติความเชื่อถือ หรือความคิดเห็น เช่น ลัทธิศาสนา ลัทธิการเมือง ลัทธิประเพณี” นอกจากนี้ยังมีท่านผู้รู้ได้ให้ความหมายเอาไว้ต่าง ๆ กัน เช่น หลวงวิจิตรวาทการ เขียนไว้ว่า ลัทธิ คือ แนวคิดคำสอนที่มีผู้นับถือกันมาก ๆ ศาสตราจารย์เสฐียร พันธรังษี เขียนไว้ว่า ลัทธิ คือ คำสอนเฉพาะกลุ่มเฉพาะพวก พ.อ. ปิ่น มุทุกันต์ เขียนไว้ว่า ลัทธิ คือ กระบวนความเชื่อถือในทางพิธีกรรมของประชาชน พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) เขียนไว้ว่า ลัทธิ คือ ความเชื่อถือ ความรู้ และประเพณีที่ได้รับและปฏิบัติสืบต่อกันมา จากคำจำกัดความต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น พอจะสรุปได้ว่า ลัทธิ คือ สิ่งที่มนุษย์ได้รับและเชื่อถือปฏิบัติสืบต่อกันมา อาจเป็นหลักความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม หรือแนวคิดคำสอนเรื่องทั่ว ๆ ไป เช่น เศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา ปรัชญา วัฒนธรรม และศาสนา จะเห็น
ได้ว่าศาสนาเหมือนกับลัทธิในแง่ที่เป็นความเชื่อถือเหมือนกัน แต่จะแตกต่างกันในประเด็นดังต่อไปนี้
1. ศาสนามีความหมายแคบกว่าลัทธิ เพราะศาสนาเน้นในเรื่องของศีลธรรมจริยธรรม บุญบาปความดี ความชั่ว และจุดหมายสูงสุดของชีวิต ส่วนลัทธิมีความหมายกว้างกว่า อาจมีทั้งแง่เศรษฐกิจ
การเมือง การศึกษา ปรัชญา วัฒนธรรม ส่วนแง่ศีลธรรมจริยธรรมอาจมีหรือไม่มีก็ได้
2. ศาสนาเน้นทั้งระดับศีลธรรมจรรยาและระดับปรมัตถสัจจะ อันเป็นจุดหมายสูงสุดของชีวิต ส่วนลัทธิจะสอนเฉพาะระดับศีลธรรมจรรยาเพื่อให้เกิดความผาสุก ความสงบ และความไพบูลย์ในโลกนี้ชาตินี้เท่านั้น
3. ศาสนาจะต้องมีพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับคำสอนในรูปของศาสนพิธี ส่วนลัทธินั้นสุดแท้แต่จะกำหนด บางลัทธิก็มี บางลัทธิก็ไม่มี
4. ศาสนามีลักษณะศักดิ์สิทธิ์ เป็นสิ่งเคารพสูงสุด เป็นที่พึ่งทางใจของมนุษย์ ส่วนลัทธิไม่มีลักษณะดังกล่าว
5. ศาสนาเป็นหลักการที่แท้จริงแน่นอนไม่มีการเปลี่ยนแปลง ลัทธิอาจเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลาและสถานที่
6. ศาสนามีศาสดาเป็นผู้ก่อตั้ง และศาสดานั้นอาจจะได้รับเทวโองการมาจากพระเจ้า หรือได้ค้นพบสัจธรรมที่มีอยู่แล้ว ถึงแม้ไม่มีใครค้นพบ สัจธรรมนี้ก็ยังมีอยู่ ในกรณีแรกศาสดาเป็นคนกลางที่นำเอาคำสอนของพระเจ้ามาบอกมนุษย์ ในกรณีหลังศาสดาเป็นคนกลางที่นำเอาสัจธรรมมาบอกมนุษย์
ส่วนลัทธิแม้จะมีผู้ก่อตั้งเป็นเจ้าลัทธิก็ตาม แต่ไม่มีลักษณะเหมือนศาสดา กล่าวคือ ความคิดคำสอนนั้นเป็นของเจ้าลัทธิเอง เป็นข้อเสนอ เป็นทัศนะส่วนตัว ซึ่งแถลงให้คนอื่นทราบ หากมีคนเห็นด้วยและทำตามก็กลายเป็นลัทธิ
7. ศาสนาเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับมนุษย์ทั้งโลก เพื่อประโยชน์สุขแห่งมวลมนุษย์ทั่วไป ส่วนลัทธิเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับมนุษย์บางกลุ่มบางพวก และเพื่อประโยชน์สุขแห่งมนุษย์บางกลุ่มบางพวกเท่านั้น
8. มนุษย์นับถือศาสนาหลายศาสนาในเวลาเดียวกันไม่ได้ แต่ลัทธินั้นมนุษย์สามารถนับถือหลายลัทธิในเวลาเดียวกันได้

ศาสนากับปรัชญา
คำว่าปรัชญา มีความหมายตามรูปศัพท์ว่า ความรู้อันประเสริฐ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Philo-sophy ซึ่งมีความหมายตามรูปศัพท์ว่า ความรักในความรู้ และมีนักปรัชญาได้ให้คำจำกัดความไว้มากมาย อาทิเช่น
ศาสตราจารย์เสฐียร พันธรังษี กล่าวไว้ว่า “ปรัชญา ได้แก่ หลักฐานแห่งความรู้ หลักวิทยา-การ หรือหลักประพฤติปฏิบัติ หรือหมายถึงความเชื่ออันใดอันหนึ่ง เป็นความรู้ความคิดที่ไม่เกี่ยวข้อง
กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเทพเจ้าใด ๆ”
หลวงวิจิตรวาทการ กล่าวไว้ว่า “ปรัชญา หมายถึง หลักความดีที่สามารถสอนกันเองได้ คิดค้นมาใหม่ได้ ซึ่งมีจดจารึกกันไว้เพื่อศึกษากันต่อมา ไม่เกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ ไม่ได้มาจากเทพเจ้าหรือสวรรค์ชั้นใด ๆ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายไว้ว่า “ปรัชญา น. วิชาว่าด้วยหลักแห่งความรู้และความจริง”
เพลโต นักปรัชญากรีกผู้ยิ่งใหญ่ กล่าวไว้ว่า “ปรัชญามุ่งที่จะรู้สิ่งนิรันดรและธรรมชาติแท้จริงของสิ่งทั้งหลาย หมายความว่า ปรัชญา หมายถึง การศึกษาหาความรู้เรื่องสิ่งนิรันดรและความจริงของสิ่งเหล่านั้น”
อริสโตเติล กล่าวไว้ว่า “ปรัชญา คือ ศาสตร์ที่สืบค้นถึงธรรมชาติของสิ่งที่มีอยู่โดยตัวเอง ตลอดจนคุณลักษณะตามธรรมชาติของสิ่งนั้น” เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าทั้งศาสนาและปรัชญาเหมือนกันตรงที่ต่างมุ่งหาความจริงสูงสุดหรืออันติมะสัจจะเกี่ยวกับเรื่องมนุษย์ เรื่องโลก เรื่องสากลจักรวาล เรื่องวิญญาณ หรือแม้แต่เรื่องพระเจ้า โดยศึกษาเรื่องเหล่านี้และพยายามเข้าใจถึงสิ่งเหล่านี้เหมือนกัน ต่างกันก็ตรงที่เมื่อค้นพบความจริงหรือได้ความคิดใหม่เกี่ยวกับความจริงแล้ว นักปรัชญาจะหยุดอยู่แค่นั้น จะไม่สนใจในการปฏิบัติหรือเข้าถึงความจริงนั้นคล้าย ๆ กับว่าเพื่อรู้ความจริงหรือหาความจริงที่จะรู้เท่านั้น ส่วนศาสนาเน้นในเรื่องปฏิบัติ เมื่อค้นพบความจริงหรือได้รับความจริงอันเป็นเทวโองการแล้ว จะต้องปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความจริงนั้น เช่นพระพุทธเจ้าเมื่อทรงค้นพบความจริงอันประเสริฐที่เรียกว่า อริยสัจ 4 พระองค์ก็ได้ปฏิบัติเข้าถึงความจริงนั้น และสอนให้ศาสนิกชนลงมือปฏิบัติเพื่อเข้าถึงสัจธรรมนั้น ส่วนที่คล้ายคลึงอีกอย่างก็คือ คุณลักษณะของศาสดาและนักปรัชญา กล่าวคือ ต่างก็เป็นคนฉลาดชอบคิดเรื่องเหตุผล นับว่าเป็นบุคคลชั้นปัญญาชนที่เดียว ต่างกันก็คือศาสดามีจำนวนน้อย ส่วนนักปรัชญามีจำนวนมากมาย แต่อย่างไรก็ตามในส่วนที่ต่างกัน ศาสนากับปรัชญาอาจจะแตกต่างกันในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
1. ศาสดาล้วนแต่ต้องได้บำเพ็ญคุณงามความดี และเป็นนักเสียสละอย่างสูง ส่วนนักปรัชญานั้นยังเป็นบุคคลประเภทหลงติดอยู่กับโลก มีเพียงส่วนน้อยมากที่จะเป็นนักเสียสละและมีคุณธรรมเต็มเปี่ยมเยียงศาสดา
2. การก่อตั้งศาสนาเป็นงานที่ลำบาก ส่วนการคิดปรัชญานั้นเป็นงานที่ไม่ยากลำบากเท่าไรนัก
3. ศาสนา หมายถึง ลัทธิความเชื่อถือที่มีศาสดาเป็นผู้ริเริ่ม ส่วนปรัชญานั้นหมายความถึงการ
แสวงหาความรู้ซึ่งผู้รักในความรู้อาศัยหลักตรรกศาสตร์ค้นคิดเท่าที่จะค้นคิดได้
4. ศาสนามุ่งความบริสุทธิ์และความหลุดรอด ส่วนปรัชญามุ่งตรงต่อความจริงเท่านั้น
5. ศาสนาสอนให้คนรักกัน ให้ละชั่วทำดี ให้มีความเมตตาปรานีต่อกัน โดยไม่ถือชั้นวรรณะ
สอนให้รู้จักเอ็นดูแม้แต่สัตว์ สอนให้บำเพ็ญความดีทั้งแก่ตนและผู้อื่น สอนให้รู้จักเสียสละเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่นในทางที่ชอบ สอนให้สละความชั่วร้ายทั้งหลาย แล้วบำเพ็ญความดียิ่ง ๆ ขึ้นไปสอนให้ชำระกายวาจาใจให้หมดจดจากสรรพสิ่งที่เกี่ยวข้องอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ ส่วนปรัชญานั้นมุ่งแสดงให้คนเห็นความจริงของโลก โดยมิให้งมงายไร้เหตุผล
6. วิธีการของศาสนานั้นใช้ศรัทธาเป็นพื้นฐาน ส่วนวิธีการทางปรัชญานั้นใช้การคาดคะเนและใช้หลักตรรกศาสตร์ปะปนกันไป
7. ศาสนามีคัมภีร์เป็นที่รวบรวมคำสอน และถือว่าเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ ส่วนปรัชญาแม้จะมีหนังสือที่นักปรัชญาแต่ละคนอาจเขียนไว้ แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์อย่างคัมภีร์ของศาสนา คงถือเป็นเหมือนหนังสือทั่ว ๆ ไป
8. ศาสนาต้องมีพิธีกรรมที่เรียกว่าศาสนพิธี อันเป็นระเบียบปฏิบัติศาสนกิจ แต่ปรัชญาไม่มีพิธีกรรมใด ๆ
9. ศาสนามีศาสนบุคคล คือ สมาชิกชั้นนำของศาสนาที่ทำหน้าที่สืบต่ออายุศาสนา โดยการศึกษาปฏิบัติเผยแพร่และนำประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ส่วนปรัชญาไม่มีคณะบุคคลเช่นกล่าวนี้
10. ศาสนาต้องมีศาสนสมบัติ คือ สิ่งที่อยู่ในกรรมสิทธิ์ขององค์การศาสนา อันได้แก่ ศาสนสถานต่าง ๆ เช่น วัด วิหาร โบสถ์ มัสยิด เทวลัย ตลอดทั้งปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุต่าง ๆ ส่วนปรัชญาไม่มีสถานเช่นที่ว่านี้
11. ศาสนามีการกวดขันเรื่องความภักดี กล่าวคือ ผู้นับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่งอยู่แล้วจะไปนับถือศาสนาอื่นในเวลาเดียวกันไม่ได้ ส่วนปรัชญาไม่มีการกวดขันเรื่องความภักดีเช่นนั้น
12. คำสอนของศาสนามีลักษณะเป็นปรัชญาได้ แต่ปรัชญาของนักปรัชญาไม่ได้เป็นศาสนา

ไม่มีความคิดเห็น: