วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

สันโดษ

สันโดษ

บทนำ
สังคมมนุษย์ทุกวันนี้ล้วนมีการดำรงชีวิตด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นปัจจัย ๔ เพื่ออุปโภคบริโภค เครื่องใช้สอยต่าง ๆ แต่ว่าไม่ค่อยมองเห็นความสำคัญของสิ่งเล็กน้อยพยายามสรรหาแสวงหาสิ่งที่สังคมกำหนดขึ้นว่า สิ่งนั้นมีค่าน้อยมีค่ามากก็เลยกลายเป็นว่าเป็นคนหลงค่านิยมไป ฉะนั้นเราจำเป็นจะต้องมีความสันโดษ พระธรรมวิสุทธิกวี (พิจิตร ตวณฺโณ) ( ๒๕๕๐: ๑๖-๑๗) ได้อธิบายได้ว่า ความสันโดษนี้เหมาะแก่ทุกคน ยิ่งในสมัยปัจจุบัน ความสันโดษนี้ยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้น เพราะคนเราไม่ว่ายากจนหรือร่ำรวย ถ้าขาดสันโดษเสียแล้วก็ย่อมทำความเดือดร้อนให้กับตนเองและผู้อื่นเสมอ ส่วนคนที่มีสันโดษไม่ว่าเขาจะอยู่ในฐานะเช่นไรคือ ไม่ว่าเขาจะยากจนหรือร่ำรวย ก็ย่อมทำความสุขความเจริญให้กับตนเองและผู้อื่นเสมอ อันเป็นผลสะท้อนต่อความสงบสุขและความเจริญของบ้านเมืองอีกด้วย เพราะเหตุนี้เอง พระพุทธเจ้าจึงตรัสสรรเสริญธรรมะข้อนี้ไว้ในมงคลสูตรว่า ความสันโดษเป็นมงคลอย่างสูง คือ เป็นความเจริญก้าวหน้าในชีวิตอย่างมาก

ในอดีตและยุคปัจจุบันยังมีหลายคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับหลักคำสอนเรื่องสันโดษ มีบางคนกล่าวว่า คำสอนเรื่องสันโดษในพระพุทธศาสนาเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยที่เข้าใจว่า คำสอนเรื่องนี้เป็นเหตุให้คนไทยมีนิสัยตามแต่จะได้ ไม่ขวนขวายเพื่อก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ เพราะถือว่าพอเลี้ยงตัวไปวันหนึ่ง ๆ ก็พอแล้ว ทั้งเป็นเหตุพื้นฐานให้คนไทยเกียจคร้านอีกด้วย ความจริง เป็นเรื่องของการเข้าใจผิดและใช้หลักธรรมผิดประเภทเช่นเดียวกับการเข้าใจผิด และใช้ยาผิดประเภท คำสอนทางพระพุทธศาสนาไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจแต่อย่างใด การไม่เข้าใจคำสอนและการไม่ปฏิบัติตามหลักคำสอนต่างหากที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ (สุวรรณ เพชรนิล, ๒๕๔๔: ๒๔๐-๒๔๑)
สันโดษก็คือความพอดีพอใจในสิ่งที่ตนมีในสิ่งที่ตนได้ไม่อยากได้จนเกิดความโลภ พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต), ( ๒๕๔๘: ๑๐๖) จำแนกสันโดษไว้ ๓ อย่างด้วยกันคือ
๑. ยถาลาภสันโดษ ยินดีตามที่ได้
๒. ยถาพลสันโดษ ยินดีตามกำลัง
๓. ยถาสารุปปสันโดษ ยินดีตามสมควร
สันโดษพระผู้มีพระภาคเจ้าพระพุทธตรัสว่าเป็นมงคลแก่ชีวิต ในแนวทางพระพุทธศาสนามีนักปราชญ์ท่านหนึ่งได้กล่าวสรรเสริญสันโดษว่าเป็นมงคลแก่ชีวิตซึ่งอยู่ในหนังสือมังคลัตถทีปนี เล่มสองมีเนื้อความภาษาบาลีว่า
คารโว จ นิวาโต จ สนตุฏฺ จ กตญุตา
กาเลน ธมฺมสฺสวนํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตม
ความเคารพ ความถ่อมตน ความเป็นผู้สันโดษ ความกตัญญู
การฟังธรรมตามกาล ๕ อย่างนี้จัดว่าเป็นมงคลชีวิตอย่างสุงสุด
(มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙ : ๑๔)

ความสันโดษจึงถือว่าอยู่ในหลักมงคลชีวิต ๓๘ ประการ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยในการที่จะมีสันโดษมิใช่ง่าย เพราะว่าทุกคนย่อมมีโลภคือความอยากได้กันทุกคนแต่เราต้องใช้ธรรมะคือความสันโดษข่มความอยากเอาไว้ เมื่อทำได้อย่างนี้ ก็จะทำให้เรามีชีวิตที่มีแต่ความสุข มีคนสรรเสริญ เป็นคนดีของสังคม

ความหมายของสันโดษ
สันโดษหมายถึงความพอดีหรือความยินดีอยู่ได้ด้วยของที่มีอยู่ ไม่ด้นรนแสวงหาสิ่งของต่างๆจนน่าเกลียดเกินไป ให้รู้จักหน้าที่การงานของตัวเองยินดีตามมีตามได้ยินดีตามสมควร บุคคลนำไปใช้ได้เหมาะสมกับหน้าที่ของตน สันโดษจึงเป็นมูลเหตุให้บุคคลประกอบอาชีพสุจริตหรือที่เรียหกว่าสัมมาอาชีวะ เมื่อทุกคนที่มีสันโดษล้วนเป็นคนขยันมั่นเพียรในการหาในการก่อสร้างให้เกิดทรัพย์สินเป็นของตนขึ้นในทางที่ชอบธรรมแล้วจะทำให้ทุกคนเป็นผู้สามารถตั้งตนให้ครนมีทรัพย์สินเป็นหลักฐานพึ่งตนเองได้

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) (๒๕๔๘:๑๐๕-๑๐๖)ได้อธิบายว่า สันโดษคือความยินดี,ความพอใจ, ความยินดีด้วยของของตนซึ่งได้มาด้วยเรี่ยวแรงความเพียรโดยชอบธรรม, ความยินดีด้วยปัจจัยสี่ตามมีตามได้, ความรู้จักอิ่มรู้จักพอ
พระสมชาย านวุฑฺโฒ (๒๕๓๓ : ๑๘๗) ได้กล่าวความหมายของสันโดษไว้ว่า สันโดษมาจากภาษาบาลีว่า สันโตสะ สัน แปลว่า ตน โตสะ แปลว่ายินดี สันโดษจึงแปลว่า ยินดีชอบใจ พอใจ อิ่มใจ จุใจ สุขใจ กับสิ่งของ ๆ ตน ความหมายโดยย่อ คือให้รู้จักพอ ให้รู้จักประมาณ

เสฐียรพงษ์ วรรณปก (๒๕๓๓ : ๑๑๘) กล่าวความหมายของความสันโดษไว้ว่า สันโดษสันตุฏฐินั้นหมายความว่า ความภูมิใจในผลสำเร็จที่ตนสร้างสรรค์ขึ้นมาด้วย ความสามารถ ด้วยความพากเพียรพยายาม ของตนในทางที่สุจริต ชอบธรรม

ตามที่กล่าวมาสันโดษจึงเป็นสิ่งสำคัญมากในการดำเนินชีวิต เพื่อให้อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขเมื่อมีความสันโดษแล้วก็จะก่อให้เกิดความเห็นอกเห็นใจกันมีความเมตตากรุณามุทิตาอุเบกขาซึ่งเป็นหัวใจหลักของคนที่มีคุณธรรมตามหลักพระพุทธศาสนาเรียกว่า พรหมวิหารธรรมนั้นเอง
คนที่มีสันโดษจึงถือว่าเป็นมงคลอย่างประเสริฐกับตัวเองด้วย ทั้งพระผู้มีพระภาคก็ทรงสรรเสริญ ความสันโดษว่า สนฺตุฏฺฐี ปรมํ ธนํ แปลว่า ความสันโดษเป็นทรัพย์อันประเสริฐอธิบายว่าคนที่ประกอบด้วยสันโดษ ย่อมเป็นผู้มีความสุขไม่ลำบากยากเข็ญทั้งทำให้ตัวเองและประเทศชาติมีความเจริญ พัฒนาด้วย

ลักษณะของสันโดษ
ตามที่กล่าวแล้ว สันโดษซึ่งแปลว่า ความยินดี ความพอใจ ในสิ่งของที่ตนอยู่ พระสมชาย านวุฑฺโฒ (๒๕๓๓:๑๘๘) ได้จำแนกประเภทของสันโดษไว้ ๓ อย่างคือ
๑. สเกนสันโดษ ยินดีตามมี
๒. สันเตนสันโดษ ยินดีตามได้
๓. สเมนสันโดษ ยินดีตามควร
ยินดีตามมี หมายถึงการยินดีในสิ่งของที่ตนมีที่ตนครอบครองอยู่ไม่ดิ้นรนขวยขวาย สิ่งของ ๆ คนอื่นมาเพื่อตน พอใจในของๆตน ไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ ลูกเมีย หรือแม้แต่ฟหน้าที่การงานที่ทำเป็นต้นสันโดษข้อนี้จึงเป็นเครื่องกำจัดความเกียจคร้าน เบื่อหน่าย

ยินดีตามได้ หมายถึงยินดีกับสิ่งที่ตนได้มา อธิบายว่า แสวงหาสิ่งใด ได้สิ่งนั้นมาก็มีความพอใจในสิ่งนั้น ถึงมันจะไม่ดีมาก ไม่ประณีตก็ยินดีเท่านั้น ไม่กระวนกระวายดิ้นรณสิ่งที่เกินกำลัง สติปัญญาความสามารถ

ยินดีตามควร หมายถึงยินดีกับของที่สมควรกับตัวเองเท่านั้น สิ่งใดมีอยู่ หรือสิ่งที่จะได้มามันอาจมีค่ามากไม่สมกับเราที่จะได้รับก็ไม่ยินดี ไม่ยอมรับเอาสิ่งนั้นมาครอบครองเป็นของตนเอง

อานิสงส์ของการมีสันโดษ
อานิสงส์ของสันโดษนั้นถ้าเป็นคฤหัสถ์นำไปใช้ย่อมทำให้รู้จักผิดชอบ และรู้จักตนเองท่านได้ให้ความหมายสำหรับคฤหัสถ์ไว้ว่า จงสันโดษในรูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ซึ่งก็หมายความว่า ยินดีในภรรยาสามีของตน นั้นเอง ซึ่งท่านก็น้อมเข้ามาในศีล ๕ ข้อ คือข้อที่สาม ไม่ประพฤตินอกใจสามีภรรยาของตนเอง และยินดีตามมีตามได้ยินดีในหน้าที่การงานของตนเอง ยินในฐานะการหาได้รายที่ตนทำงานมาได้ ซึ่งทำให้เกิดสุขทั้งชาตินี้ และชาติหน้าต่อไป ถ้าเป็นพระภิกษุสามเณร ท่านให้สันโดษในจีวรบิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานเภสัช ซึ่งจะทำให้พระภิกษุสามเณรมีความสุขกาย สบายใจ ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า และบรรลุมรรคผลนิพพานสืบต่อไป ดังข้อความที่กล่าวไว้ในมังคลัตถทีปนีแปลเล่ม ๔ (มหามกุฏราชวิทยาลัย,๒๕๓๙:๒:๑๐๔)ที่ว่า
“ภิกษุผู้สันโดษ ย่อมเป็นผู้อยู่เป็นสุขในทิศทั้ง ๔ และเป็นผู้ไม่กระทบกระทั่ง สันโดษอยู่ด้วยปัจจัยนอกนี้ ๆ (ตามมีตามได้) ครอบงำเสียซึ่งอันตรายทั้งหลาย ไม่หวาดเสียว เป็นผู้เดียว เช่นกับนอแรด พึงเที่ยวไป”
พระสมชาย านวุฑฺโฒ (๒๕๓๓ : ๑๙๗) ได้จำแนกอานิสงส์ของสันโดษไว้ ๑๐ อย่างคือ
๑. ตัดกังวลต่างๆ
๒. ออกห่างอกุศล
๓. ทำตนให้สบาย
๔. คลายผิดคิดถูก
๕. ปลูกศีลธรรม
๖. นำตนให้พ้นทุกข์
๗. ไม่ฝ่าฟืนทำชั่ว
๘. ปลูกแต่ความเจริญ
๙. สร้างแต่เหตุดี
๑๐. นำศาสนาให้รุ่งเรือง


สรุปความ
สันโดษหมายถึงความยินดีในสิ่งที่ตนเองมี ในที่นี้คือยินดีในหน้าที่การงานของตัวเองในทรัพย์สินของตนเอง ถ้าเป็นคฤหัสถ์ก็ยินดีในหน้าที่การงานของคฤหัสถ์ ถ้าเป็นบรรพชิตก็ยินดีในกิจของบรรพชิต ซึ่งแบ่งออกเป็นสามอย่างคือ
๑. ยถาลาภสันโดษ ยินดีตามได้
๒. ยถาพลสันโดษ ยินดีตามกำลัง
๓. ยถาสารุปปสันโดษ ยินดีตามสมควร ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์จะขาดสันโดษไม่ได้เลย ถ้าไม่มีคุณธรรมข้อนี้ ก็จะทำให้เดือดร้อนทั้งตนเองและผู้อื่น ถ้ามีความสันโดษทำให้ผู้ปฏิบัติได้รับผล ประโยชน์ที่เป็นคุณูปการอย่างยิ่งทั้งในชาตินี้และสัมปรายภพอย่างแท้จริง



















บรรณานุกรม
พระธรรมวิสุทธิกวี (พิจิตร ตวณฺโณ). พระพุทธศาสนากับชีวิตพอเพียง. กรุงเทพมหานคร : ชวนพิมพ์ ๕๐ จำกัด , ๒๕๕๐.
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลธรรม. (พิมพ์ครั้งที่ ๑๓) กรุงเทพมหานคร:บริษัท เอส. อาร์. พริ้นติ้งแมสโปรดักส์จำกัด:๒๕๔๘.
พระสมชาย านวุฑฺโฒ.มงคลชีวิต ฉบับธรรมทายาท.กรุงเทพมหานคร : กราฟิคอาร์ต, ๒๕๓๓.
มหามกุฏราชวิทยาลัย.มังคลัตถทีปนีแปลเล่มสอง.กรุงเทพมหานคร:มหามกุฏราชวิทยาลัย,๒๕๓๙.
.มหามกุฏราชวิทยาลัย.มังคลัตถทีปนีแปลเล่มสี่. กรุงเทพมหานคร : มหามกุฏราชวิทยาลัย,๒๕๓๙.
เสฐียรพงษ์ วรรณปก. สูตรสำเร็จแห่งชีวิต. กรุงเทพมหานคร : อมรินทร์พรี้นติ้งกรุ๊พ, ๒๕๓๓.
สุวรรณ เพชรนิล. พุทธปรัชญาเบื้องต้น. (พิมพ์ครั้งที่ ๘). กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ๒๕๔๔.

ไม่มีความคิดเห็น: