วันเสาร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ความหมายและขอบเขตของจริยธรรม

ความหมายและขอบเขตของจริยธรรม
บทที่ ๑
๑. ความนำ
จริยธรรมเป็นแนวทางสำหรับมนุษย์ก้าวไปสู่ความดีงามทั้งปวง จริยธรรมจึงเป็นเรื่องราวที่สำคัญมากที่บุคคลทุกฝ่ายควรให้ความสนใจและศึกษาค้นคว้า จริยธรรมมีความหมายกว้างขวาง ครอบคลุมถึงศาสนา ศีลธรรม คุณธรรม และค่านิยม ยังมีความสับสนอยู่บ้างเกี่ยวกับความเข้าใจเรื่องจริยธรรม เช่น บางคนเห็นว่าจริยธรรมคือ ศาสนา บางคนเห็นว่าจริยธรรมเป็นสิ่งสากล เพื่อเป็นการปูพื้นฐานสำหรับความเข้าใจในเรื่องจริยธรรม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาความหมายของจริยธรรมและศัพท์ที่เกี่ยวข้องในแง่มุมต่าง ๆ พร้อมทั้งความกระจ่างเกี่ยวกับบรรทัดฐานของจริยธรรมว่าคืออะไร
๒. ความหมายและขอบเขตของจริยธรรม
คำว่า จริยธรรม โดยพยัญชนะแยกศัพท์เป็น จริย + ธรรม จริย แปลว่า ความประพฤติกิริยาที่ควรประพฤติ รากศัพท์ของ “จริย” มาจากคำว่า “จร” ในภาษาบาลี ซึ่งแปลว่า เที่ยวไป เดินทางไป จาริกไป ดำเนินไป ซึ่งถ้าแปลงเป็นคำนามมีความหมายว่า ความประพฤติ การดำเนินชีวิต การครองชีวิต ความเป็นอยู่ คำว่า “จร” นี้ถ้าแปลงรูปเป็นภาษาสันสกฤตจะกลายเป็น จรรย์ หรือ จรรยา ก็ได้ หรืออาจแปลงเป็นรูปบาลีคือ จริยา ก็ได้
สำหรับคำว่า “จริย” ในพระพุทธศาสนามีปรากฏอยู่ในศัพท์ดั้งเดิมที่เราจะพบบ่อยมากคือว่า พรหมจรรย์ ดังปรากฏในพุทธวจนะที่ว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลายจงจาริกไปเพื่อประโยชน์ และความสุขของชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวะและมนุษย์ทั้งหลาย…เธอทั้งหลายจงแสดงธรรม…จงประกาศพรหมจรรย์…(วินัย. ๔/๓๒/๓๙)
อีกคำหนึ่งคือธรรมจริยา แปลว่า ประพฤติธรรม ตั้งตนอยู่ในหลักของศีลธรรม ทั้งคำว่า พรหมจรรย์และคำว่าธรรมจริยา มีความหมายแตกต่างกัน ทั้งสองคำต่างก็อยู่ในมงคลสูตรทั้งคู่ คือคำว่า พรหมจรรย์ อยู่ในมงคลสูตร ข้อ ๓๒ ส่วนคำว่า ธรรมจริยา อยู่ในมงคลสูตร ข้อ ๑๘ ในภาษาบาลีไม่มีการใช้คำจริยธรรม มีแต่คำว่า จริย เท่านั้น แต่ถึงจะเติมแต่งคำว่า ธรรมเข้าไปก็ไม่มีข้อขัดข้องแต่อย่างใด คำว่าจริยธรรมตามที่เข้าใจกันในภาษาไทย ก็ยังสับสนไม่น้อย มีทั้งที่เข้าใจกันอย่างชาวบ้าน รู้สึกเหมือน ๆ กับศีลธรรมนั่นเองบ้าง เข้าใจอย่างนักวิชาการในเชิงปรัชญาบ้าง แต่ในที่นี้จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับความหมายเหล่านั้นเลย ข้อยุติอย่างเดียวกับคำว่าศีลธรรมข้างต้นนั่นแล ว่า ศีลธรรม ก็คือศีล ธรรมเป็นเพียงสร้อยคำ จริยธรรม ก็คือจริยา ส่วนธรรมเป็นเพียงสร้อยคำ ดังนั้น สรุปคำว่า จริยธรรม แปลว่า หลักการดำเนินชีวิต (พระราชวรมุนี, ๒๕๒๙ : ๕๙๒ และพระเทพเวที ๒๕๓๒ : ๑๐ – ๑๑)
คำว่า “ธรรม” นั้นมีความหมายมากมาย เช่น
(๑) ธรรม หมายถึง ความถูกต้อง
(๒) ธรรม หมายถึง ธรรมชาติ
(๓) ธรรม หมายถึง กฎเกณฑ์ หรือหลัก
(๔) ธรรม หมายถึง ความดี
(๕) ธรรม หมายถึง ธรรมจรรยา
(๖) ธรรม หมายถึง ธรรมเนียม
(๗) ธรรม หมายถึง หน้าที่
คำว่า ธรรม ที่ใช้สื่อความหมายกับคำว่าจริยธรรม น่าจะหมายถึงข้อ ๓ คือ ธรรม ที่หมายถึงกฎเกณฑ์หรือหลัก ซึ่งตรงกับที่พระเทพเวทีได้วิเคราะห์มาแล้ว ซึ่งหลักหรือกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับความประพฤติหรือการดำเนินชีวิตเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะได้มาจากคำสอนทางศาสนาที่บุคคลนิยมเชื่อถือ เช่น ชาวพุทธส่วนใหญ่จะเรียกคำสอนของพระพุทธเจ้าว่าพระธรรมหรือพุทธธรรม หลักคำสอนของศาสนาคริสต์อาจเรียกว่า คริสตธรรม เป็นต้น
ศาสนาทั้งหลายที่เกิดขึ้นในโลกมักสอนเกี่ยวกับการดำเนินชีวิต จริยธรรมของบุคคลและสังคมส่วนใหญ่มาจากคำสอนทางศาสนา แต่มิได้หมายความว่า จริยธรรม คือคำสอนทางศาสนาเพียงอย่างเดียว พระเมธีธรรมาภรณ์ (๒๕๓๔ : ๗๗ – ๗๙) เห็นว่าจริยธรรมเป็นหลักประพฤติปฏิบัติที่วางอยู่บนรากฐานของหลักคำสอนของปรัชญาและขนบธรรมเนียมประเพณีและมีส่วนประกอบสำคัญ ดังนี้
(๑) ความเชื่อเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ เช่น ถ้าเชื่อว่ามนุษย์มีธรรมชาติเห็นแก่ตัว ระบบจริยธรรมนั้นจะสอนมนุษย์ไม่ให้ละเมิดความชั่วต่าง ๆ เป็นต้น
(๒) ความเชื่อเกี่ยวกับอุดมคติหรือความดีสูงสุด เช่น พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานสอนให้บำเพ็ญตนเอาอย่างพระโพธิสัตว์
(๓) ระเบียบปฏิบัติหรือแนวทางแห่งการดำเนินชีวิต เช่น ชี้แนะให้ประพฤติปฏิบัติหรืองดเว้นต่าง ๆ เช่น ในศาสนาอิสลาม สอนให้ถือศีลอดตามฤดูกาล เป็นต้น
(๔) เหตุจูงใจให้คนละชั่วและประพฤติดีมีหลายประการ เช่น การรักษาศีล ช่วยให้เกิดความสงบสุขส่วนตนและสังคม บางคนอาจหวังผลตอบแทนในชาติหน้าหรือรางวัลจากพระเจ้า
คำว่า ธรรม อาจนำมาใช้ในความหมายของคุณความดี ความถูกต้อง มีข้อที่น่าสังเกตว่าธรรมจะเป็นคุณสมบัติพิเศษที่เป็นเครื่องจำแนกสัตว์กับมนุษย์ออกจากกันโดยแท้ ดังที่พระยาอนุมานราชธน (๒๕๒๔ : ๑) อธิบายไว้ดังนี้
…การที่มนุษย์มีชีวิต มีความรู้สึก กินอาหาร พักผ่อนหลับนอน กลัวภัยอันตรายนั้น
เป็นลักษณะอาการของสัญชาตญาณ ซึ่งไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์ย่อมมีเท่าเทียมกัน
แต่มนุษย์ดีกว่าสัตว์เป็นพิเศษ เพราะมนุษย์มีธรรม
….ธรรมจึงหมายถึง การปฏิบัติตนเพื่อให้พ้นไปจากสภาพป่าเถื่อนเยี่ยงสัตว์เดรัจฉาน
ซึ่งมีความเป็นอยู่อย่างนอนกับดินกินกับหญ้า อันเป็นไปตามธรรมชาติ
ดังนั้น คุณธรรมนั่นเองจึงเป็นคุณสมบัติทางจิตวิญญาณของมนุษย์ ซึ่งแสดงออกมาทางความประพฤติ เรียกกันว่า จริยธรรม นั่นเอง
จำรัส ดวงธิสาร (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ๒๕๒๒ : ๒๓ – ๒๖) ได้วิเคราะห์ความหมายจริยธรรมไว้สอดคล้องกันคือ ธรรมหมายถึงสิ่งที่บังคับมนุษย์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมให้มนุษย์เคลื่อนไหวอย่างมีกติกา ธรรมเป็นบรรทัดฐานสำหรับขีดเส้นให้มนุษย์ในสังคมต่าง ๆ ได้เคลื่อนไหวไปตามและเป็นเครื่องขัดเกลากมลสันดานของมนุษย์ และธรรมนั้นอาจจำแนกได้ ดังนี้
(๑) เนติธรรม ได้แก่ กฎหมาย
(๒) ตันติธรรม ได้แก่ ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม
(๓) ศีลธรรม ได้แก่ ศีลธรรมทางศาสนา
(๔) คุณธรรม ได้แก่ คุณงามความดีที่สั่งสมอยู่ในจิตใจของมนุษย์ซึ่งในพระพุทธศาสนาเรียกว่า บารมี
จริยธรรมจึงอยู่ในครรลอง ๔ ประการ ดังกล่าว แนวทางการแสดงออกของจริยธรรม อาจพิจารณาปฏิปทาของพระพุทธเจ้าหรือผู้บริสุทธิ์จากกิเลสต่าง ๆ เช่น พระอรหันต์ ท่านผู้ซึ่งบริบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ คือมีความเคลื่อนไหวหรือมีความประพฤติที่สมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤติที่ดีงาม มีการแสดงออก ๓ แนวทาง คือ
(๑) อัตตัตถจริยา คือ ประพฤติตนดี มีประโยชน์ มีคุณค่า
(๒) ญาตัตถจริยา คือ ประพฤติเป็นประโยชน์ต่อประยูรญาติ
(๓) โลกัตถจริยา คือ ประพฤติเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
ดังนั้น จริยธรรมนอกจากจะครอบคลุมครรลอง ๔ ประการ อันได้แก่ กฎหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณี ศีลธรรมทางศาสนา คุณงามความดีที่สั่งสมเป็นบารมี ดังกล่าวแล้ว ยังต้นแสดงออกทางพฤติกรรมที่เกี่ยวข้อง ๓ ประการ คือ ตนเอง ผู้อื่น และสังคม ซึ่งน่าจะหมายรวมถึงสิ่งแวดล้อมหรือสรรพสิ่งในธรรมชาติด้วย
คราวนี้ลองมาพิจารณาความหมายของจริยธรรมในพระพุทธศาสนากันบ้างพอสังเขป เนื่องจากคำว่าจริยนั้นเป็นคำที่อิงศัพท์ธรรมในพระพุทธศาสนาที่สำคัญมาก และมักเข้าใจคลาดเคลื่อนไป ที่น่าศึกษาได้แก่คำว่า พรหมจรรย์กับธรรมจริยา
พรหมจรรย์
คำว่า พรหม แปลว่า ประเสริฐ, ผู้ประเสริฐ ส่วนคำว่า จรรย์ มาจากคำว่า จร จึงแปลเหมือนกับคำว่า จริย คือ ความเคลื่อนไหว, การเป็นอยู่, ความประพฤติ, การดำเนินชีวิต สรุปคำว่า พรหมจรรย์ก็คือ การเป็นอยู่อย่างประเสริฐ, ความประพฤติอันประเสริฐ, การดำเนินชีวิตอย่างประเสริฐ ฯลฯ มีข้อความในพระสูตรซึ่งให้คำอธิบายคำว่า พรหมจรรย์ ไว้ดังนี้ (สี.ม. ๑๙/๕๗ – ๕๕๘/๒๐; ๓๐/๙; ๑๑๔ – ๖/๓๒ และ สี.ม. ๑๙/๑๑๓/๓๒)
“ที่เรียกว่า พรหมจรรย์ พรหมจรรย์ ดังนี้ พรหมจรรย์คืออะไร? พรหมจารีคืออะไร ที่จบของพรหมจรรย์คืออะไร?
“มรรคาอันเป็นอริยะ ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี้คือ พรหมจรรย์; บุคคลใดประกอบด้วยอริอัษฎางคิกมรรคนี้ บุคคลนั้นเรียกว่าเป็นพรหมจารี; ความสิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะ นี้เรียกว่าที่จบของพรหมจรรย์”
“ผลของพรหมจรรย์คืออะไร? โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตผล เหล่านี้เรียกว่า ผลของพรหมจรรย์”
ในมังคลวัตถุทีปนี้ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (๒๕๑๘ : ๔๖๐) ได้แสดงพรหมจรรย์เอาไว้ ๑๑ ประการ ดังนี้
(๑) ทาน คือการให้ การบริจาค
(๒) เวยยาวัจจะ คือการขวนขวายในกิจการงานอันเป็นคุณประโยชน์ต่อผู้อื่น
(๓) เบญจศีล คือการรักษากายวาจาให้เรียบร้อยด้วยศีล ๕ หรือสิกขาบท ๕ ประการ
(๔) อัปปมัญญา คือการเจริญเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาในบุคคลและสัตว์ทั้งหลายไม่จำกัด
(๕) เมถุนวิรัต คือการงดเว้นการเสพเมถุน
(๖) สทารสันโดษ คือการยินดีในภรรยาหรือสามีของตน ไม่คิดนอกใจ
(๗) วิริยะ คือความเพียรแรงกล้าอันประกอบด้วยองค์ ๔
(๘) อุโบสถ คือการรักษาอุโบสถศีลทั้ง ๘ ข้อ
(๙) อริยมรรค คือบำเพ็ญอริยมรรคมีองค์ ๘
(๑๐) ศาสนา คือการมีใจยึดมั่นศรัทธาในศาสนาธรรม
(๑๑) สมณธรรม คือการบำเพ็ญอุบายเพื่อให้เกิดความสงบทางกาย วาจา ใจ
เราจะเห็นว่าคำว่า พรหมจรรย์ นั้นถูกนำมาใช้ในความหมายแคบ ๆ คนทั่วไปมักคิดว่าพรหมจรรย์คือการครองเพศเป็นบรรพชิต การงดเว้นเมถุน การถืออุโบสถศีล ซึ่งที่จริงเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ความจริงแล้วพรหมจรรย์หมายถึงพระพุทธศาสนาทั้งหมด ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกล่าวแก่พระสาวกให้ออกประกาศพรหมจรรย์ และที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ได้แก่ นิพพาน คือความสิ้นกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวง พรหมจรรย์ทั้ง ๑๑ ข้อ ข้อ ๑, ๒, ๓ จัดเป็นพรหมจรรย์ชั้นต่ำ ข้อ ๔, ๕, ๖ จัดเป็นพรหมจรรย์ชั้นกลาง และ ๗, ๘, ๙, ๑๐, ๑๑ จัดเป็นพรหมจรรย์ชั้นสูง
ธรรมจริยา
ธรรมจริยา แปลตามพยัญชนะคือ การประพฤติธรรม หรือการดำเนินชีวิตที่เป็นธรรมนั่นเอง ธรรมในที่นี้คือความถูกต้อง ความดีงาม ความเที่ยงธรรม ซึ่งอาจเรียกอีกอย่างว่ากุศลธรรม ธรรมจริยาก็คือ การดำเนินชีวิตตามแนวที่เป็นกุศล กุศลธรรมก็คือธรรมฝ่ายดีทั้งหมดที่ผู้กระทำแล้วย่อมเกิดความเรียบร้อยทางกายวาจาใจ ประพฤติแล้วมีแต่ความสุขความเจริญทั้งตนเองและผู้อื่น เช่น เมื่อเว้นจากการฆ่าหรือประทุษร้ายก็ช่วยให้เขาได้รับความสุข เราก็เป็นคนดีและเขาก็มีความสุข เป็นนักศึกษาก็ตั้งใจเล่าเรียนให้ดีที่สุด ประพฤติเป็นธรรม ก็หมายความว่าทำให้ถูกต้อง และทำให้ดีนั่นเอง ใครมีหน้าที่การงานอะไรก็ทำไปตามนั้น ทำให้ถูกต้องและดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ตัวเองก็มีความสบายใจ คนอื่นก็สบายใจ ท่านพุทธทาส ท่านกล่าวย้ำเสมอ ๆ ว่า การทำหน้าที่ให้ถูกต้อง นั่นแหละคือการปฏิบัติธรรม หรือการประพฤติธรรมนั่นเอง ธรรมจริยาในพระพุทธศาสนา ได้แก่ กุศลกรรมบถ ๑๐ ซึ่งแปลว่า ทางแห่งการประกอบกรรมดี ๑๐ ประการ อัน เป็นทางนำไปสุคติมี ๑๐ ประการ คือ
ก . กายกรรม ๓ ประการ ได้แก่
(๑) ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นจากการทำลายชีวิต
(๒) อทินนาทานา เวรมณี เว้นจากถือเอาของที่เขามิได้ให้
(๓) กาเมสุมิจฉาจารา เว้นจากประพฤติผิดในกาม
ข. วจีกรรม ๔ ประการ ได้แก่
(๔) มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากการพูดเท็จ
(๕) ปิสุณาย วาจาย เวรมณี เว้นจากพูดส่อเสียด
(๖) ผรุสาย วาจาย เวรมณี เว้นจากการพูดคำหยาบ
(๗) สัมผัปปลาปา เวรณี เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ
ค. มโนกรรม ๓ ประการ ได้แก่
(๘) อนภิชฌา ไม่โลภคอยจ้องอยากได้ของเขา
(๙) อพยาบาท ไม่คิดร้ายเบียดเบียนเขา
(๑๐) สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบตามคลองธรรม
มีการใช้ศัพท์จริยธรรมในความหมายที่แคบลงกว่าความหมายที่แท้จริง นักวิชาการบางท่านใช้คำว่า “จริยธรรม” แทนคำว่า Ethics ในภาษาอังกฤษ ทำให้คำว่า จริยธรรม นั้นมีความหมายเทียบเท่ากับคำว่า ศีลธรรม หรือมักใช้แทนคำว่าศีลธรรมไปเลย ท่านพุทธทาสภิกขุกล่าวว่า จริยธรรม ก็คือศีลธรรมนั่นเอง (พุทธทาส ๒๕๒๙ : ๔๗๑ – ๔๗๓) ซึ่งคำว่า ศีลธรรม นั้น ทางพระก็คือ ศีล ๕ หรือเบญจศีล นั่นเอง ซึ่งที่จริงจริยธรรมมีความหมายกว้างกว่านั้น พระราชวรมุนี (๒๕๒๘ : ๑๒ – ๑๔) ได้อธิบายดังนี้
…จริยธรรมจึงมีความหมายกว้างกว่าศีลธรรม คือหมายถึงการดำเนินชีวิต ความเป็นอยู่ การยังชีวิตให้เป็นไป การครองชีวิต การใช้ชีวิต การเคลื่อนไหวของชีวิตทุกแง่ทุกด้าน ทุกระดับทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ ทั้งด้านส่วนตัวด้านสังคม ด้านอารมณ์ ด้านจิต ด้านปัญญา
…แม้แต่การปฏิบัติกรรมฐานเจริญสมาธิบำเพ็ญสมถะ เจริญวิปัสสนา ก็รวมอยู่ในคำว่า จริยธรรม
มีผู้รู้ได้พยายามให้ความหมายจริยธรรมไว้มากมาย (สำนักนายกรัฐมนตรี, ๒๕๒๒) เช่น
จริยธรรม คือ แนวทางในการประพฤติตนเพื่ออยู่กันได้อย่างร่มเย็นในสังคม (สาโรช บัวศรี)
จริยธรรม คือ ประมวลความประพฤติและความนึกคิดในสิ่งที่ดีงามเหมาะสม (ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์)
จริยธรรม คือ เชาว์ปัญญาทางสังคมของบุคคล อันได้แก่ การรับรู้ สังเกต เข้าใจสถานการณ์ของสังคม เข้าใจอำนาจของสังคม จริยธรรมคือความสามารถในการปรับตัวและควบคุมตัวเองในด้านต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสังคม จริยธรรมของบุคคลจะเจริญงอกงามไปพร้อม ๆ กับสติปัญญา จริยธรรมคุมถึงลักษณะต่าง ๆ ของบุคคลในสังคม เกิดจากความเจริญทางสติปัญญาที่งอกงามเพื่อเสริมสร้างสังคม (สมบูรณ์ ศาลายาชีวิน, จริยธรรมในทัศนะของ John Dewey)
จริยธรรมเป็นกลไกอันหนึ่งของสังคมที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของคนในสังคม กล่าวอีกอย่างหนึ่ง การที่มนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม ๆ จำเป็นต้องสร้างกลไกขึ้นมาเพื่อควบคุมให้สังคมเป็นสังคมที่ดี เป็นสังคมในอุดมคติของมนุษย์ โดยเหตุที่สังคมเป็นสังคมของมนุษย์ ความประพฤติที่ดีของมนุษย์จึงมิได้จำกัดอยู่แต่เพียงการแสวงหาความสุข เพื่อมนุษย์บางคนบางกลุ่ม แต่ต้องเป็นไปเพื่อมนุษย์ทุกคนในสังคมที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ความก้าวหน้าทางวิทยาการและวัตถุ อาจจะถือว่าเป็นสิ่งที่นำความสุขมาให้แก่สังคมมนุษย์ แต่ไม่อาจจะถือว่าเป็นสิ่งที่ดีงามของสังคม ถ้าความก้าวหน้าเหล่านี้ริดรอนชีวิตและศักดิ์ศรีของมนุษย์ด้วยกันเอง จริยธรรมจึงเป็นเรื่องของคุณค่าศักดิ์ศรีของมนุษย์ ทั้งในฐานะบุคคลและสังคมเป็นเรื่องที่อิทธิพลของความเชื่อในทางศาสนาและวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง (อำนวย ทะพิงค์แก และชยันต์ วรรธนะภูติ)
จริยธรรมมีความหมายกว้าง อาจรวมถึงศีลธรรม ศาสนา กฎหมาย และค่านิยมของแต่ละหมู่ในแง่พฤติกรรมศาสตร์ จริยธรรมหมายถึงลักษณะทางจิตใจและสภาพแวดล้อม ซึ่งทำให้บุคคลทำดีหรือละเว้นความชั่ว (ดวงเดือน พันธุมนาวิน)
๓. จริยธรรมกับศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
มีศัพท์หลายคำที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจริยธรรม บางครั้งสามารถใช้แทนกันได้ จะขอนำมาศึกษาเฉพาะคำที่น่าสนใจต่อไปนี้
๓.๑ ศีล
ศีลแม้จะมีคำอธิบายหลายนัย แต่มีลักษณะอย่างเดียวก็คือ ความปกติ ศีลจึงคือความที่มีกาย วาจา และจิตใจ เป็นปกติ
ในปฏิสัมภิทามรรค (สมเด็จพระญาณสังวร ๒๕๓๕ : ๑๕) อธิบายว่า “เจตนา สีลํ” เจตนาชื่อว่าศีล เจตสิกํ สีลํ เจตสิกชื่อว่าศีล สีวโร สีลี สังวรชื่อว่าศีล อวีติกกโม สีลี ความไม่ล่วงละเมิดชื่อว่าศีล ซึ่งทำให้มองเห็นว่าสาระสำคัญของศีลอยู่ที่เจตนา เพราะมีเจตนาดีเป็นเหตุจึงทำให้ละเว้นซึ่งทางกาย วาจา ใจได้ เจตนาตัวนี้น่าจะได้แก่ เจตสิกธรรม ๓ ประการ คือ ไม่คิดอยากได้ของผู้อื่น (อนภิชฌา ไม่มุ่งพยาบาทปองร้าย (อพยาบาท) และมีความเห็นถูกต้องตามคลองธรรม (สัมมาทิฏฐิ) เจตสิกธรรม หรือธรรม ๓ ประการ ทำให้เลิกล้มการทำบาปได้ มองอีกด้านหนึ่งก็คือ ไม่คิดล่วงละเมิดต่อผู้อื่น หรือมองอีกด้านหนึ่งก็คือ ศีลอยู่ที่ความสำรวมระวัง คือมีความระมัดระวังอย่างดีที่จะไม่ทำบาปทำชั่ว ดังนั้นถ้าจะยกเอาคุณลักษณะต่าง ๆ มาอธิบายชื่อเรียกของศีลจึงมีชื่อต่าง ๆ กัน ได้แก่ เจตนาศีล เจตสิกศีล สังวรศีล อวิติกกมศีล เป็นต้น
ถ้ามองให้ลึกที่สุด สภาพจิตที่ไม่คิดละเมิดเบียดเบียนผู้อื่นนั่นแหละคือตัวศีล ซึ่งได้แก่สภาพจิตที่เป็นปกติ ไม่ถูกกิเลสคือเครื่องเศร้าหมอง อันได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความลุ่มหลงเข้าครอบงำ เมื่อจิตเป็นปกติดีแล้ว ก็ย่อมไม่ทำความชั่วทั้งทางกายและทางวาจา เมื่อใจมีศีลการกระทำทางกายก็มีศีล การกล่าววาจาก็มีศีล ถ้าเกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง อย่างใดอย่างหนึ่งครอบงำจิตเมื่อใด มันมีอำนาจทำให้คิดอยากจะได้อยากจะเอาอยากจะมีจะเป็น คิดอาฆาตพยาบาทมุ่งร้ายลุ่มหลงงมงาย ถึงตอนนี้จิตก็จะเสียสมดุลคือเสียจากความปกติกลายเป็นจิตที่ผิดปกติวิปริตออกนอกลู่นอกทาง เรียกว่า จิตเสียศีลภายใน เป็นเหตุให้ทำอะไรไปตามอำนาจของกิเลสที่มาครอบงำ จะทำอะไรทางกายก็เป็นกายทุจริต จะเอ่ยวาจาอะไรออกมาก็เป็นวจีทุจริต การรักษาศีลจึงมี ๒ ชั้น ได้แก่ รักษาชั้นใน คือรักษาศีลที่จิตจัดเป็น “ศีลแท้” รักษาชั้นนอกคือรักษาศีลทางกายกับวาจา จัดเป็น “อาการศีล” การรักษาศีลอาจ เริ่มจากชั้นในไปหาชั้นนอกก็ได้ หรืออาจเริ่มจากชั้นนอกไปหาชั้นใน การรักษาศีลชั้นนอกไปหาชั้นใน การรักษาศีลชั้นนอกกระทำโดยเริ่มจากการสมาทานศีลทางกาย วาจา แล้วสำรวมระวังไม่ล่วงละเมิดศีลอย่างนี้เรียกว่า “อาการศีล” เมื่อตั้งใจรักษาอาการของศีลจนจิตใจสงบเป็นปกติก็ไม่คิดจะละเมิดศีลได้เองโดยอัตโนมัติ อาการของจิตที่สงบเห็นโทษเห็นภัยของการละเมิดศีล แล้วไม่คิดจะละเมิดนี้เรียกว่า “ตัวศีล” หรือ “ศีลแท้” ในขณะที่ฝึกหัดปฏิบัติในชั้นต้นเพื่อรักษาอาการของศีลนั้น อาจจะพลั้งเผลอไปบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดา หรืออาจจะต้องประสบความทุกข์ทรมาน ดิ้นรนกระวนกระวายเพราะว่าการฝึกอบรมนั้นเป็นการทวนกระแสกิเลสตัณหา แต่หากรู้ว่ารู้จักยืนหยัดตั้งมั่นด้วยขันติธรรม รู้จักใช้สติปัญญากำหนดพิจารณาอริยสัจสี่บ้าง พิจารณาคุณของการรักษาศีลบ้าง พิจารณาโทษของการขาดศีลบ้าง เป็นต้น ปัญญาก็จะได้รับการสนับสนุน ที่สุดกิเลสตัณหาก็พ่ายแพ้ทำให้ความสงบปรากฎตัวขึ้นจนได้ตัวศีล
ศีลกับวินัยเป็นของคู่กัน วินัยคือเครื่องบังคับควบคุมเพื่อให้เกิดธรรมชั้นศีล วินัย ได้แก่ ระเบียบแบบแผน ข้อบังคับ ข้อปฏิบัติ วินัยในพระพุทธศาสนาแบ่งเป็น ๒ ระดับ คือ อย่างต่ำสำหรับคฤหัสถ์เรียกว่า อาคาริยวินัย อย่างสูงสำหรับบรรพชิตเรียก อนาคาริยวินัย ทั้งนี้เพราะพระพุทธองค์ทรงทราบดีว่าคนเราไม่อาจประพฤติดีได้อย่างเดียวกันหมด จึงทรงสอนศีลไว้หลายระดับ
ก .อาคาริยวินัย ได้แก่
๑) ศีล ๕ สำหรับประชาชนทั่วไป หรือคฤหัสถ์ ควรรักษาศีล ๕ เป็นประจำ ศีล ๕ จึงได้ชื่อว่า นิจศีล ได้แก่
(๑) เว้นจากฆ่าสัตว์
(๒) เว้นจากลักทรัพย์
(๓) เว้นจากประพฤติผิดในกาม
(๔) เว้นจากพูดเท็จ
(๕) เว้นจากเสพย์สุรายาเสพติด
๒) ศีล ๘ หรืออุบสถศีล ที่เรียกว่า อุโบสถศีล เพราะเป็นศีลที่นิยมรักษากันในวันพระหรือวันอุโบสถ คือ ขึ้น ๘ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรม ๘ ค่ำ แรม ๑๕ ค่ำ ศีล ๘ อาจจะรักษาเป็นประจำก็ได้ ศีล ๘ นี้เพิ่มเติมจากศีล ๕ คือ
(๖) ไม่รับประทานอาหารในเวลาวิกาล
(๗) ไม่เล่มหรือดูการเล่ม งดเครื่องประดับตกแต่ง และการผัดผิว ทาย้อมร่างกาย
(๘) ไม่นอนบนที่นอนสูงใหญ่ภายในมีนุ่นหรือสำลี
๓) ศีลกรรมบถ ๑๐ ได้แก่ กุศลกรรมบถ ๑๐ ข้อ
(๑) กายกรรม ๓ ได้แก่ ไม่ฆ่าผู้อื่น ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม
(๒) วจีกรรม ๔ ได้แก่ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ
(๓) มโนกรรม ๓ ได้แก่ ไม่โลภอยากได้ของเขา ไม่พยาบาทปองร้าย และมีความเห็นถูกต้อง
ข. อนาคาริยวินัย
๑) ศีลสำหรับสามเณร ได้แก่ ศีล ๑๐
๒) ศีลสำหรับพระภิกษุ เรียกว่า ปาริสุทธศีล มี ๔ คือ
(๑) ปาฏิโมกข์สังวรศีล คือการสำรวมในพระปาฏิโมกข์เว้นจากข้อห้าม ทำตามข้ออนุญาต
(๒) อินทรียสังวรศีล คือการสำรวมอินทรีย์ระวังไม่ให้บาปอกุศลธรรมครอบงำ เมื่อรับรู้อารมณ์
(๓) อาชีวปาริสุทธิศีล คือการเลี้ยงชีวิตโดยทางที่ชอบ ไม่หลอกลวงผู้อื่นเลี้ยงชีวิต
(๔) ปัจจัยสันนิสิตศีล คือการพิจารณาใช้สอยปัจจัยสี่ ไม่ใช้สอยบริโภคด้วยตัณหา
สรุปแล้วศีลไม่ว่าจะมีกี่ข้อหรือกี่ประเภททั้งหมดก็มีคุณลักษณะอย่างเดียวกัน คือ เป็นธรรมที่ละเว้นบาปทางกาย ทางวาจา ทางใจ คือ มีกายปกติ มีวาจาปกติ มีใจปกติ
๓.๒ ศีลธรรม
(๑) ความหมายที่ใช้กันในภาษาไทยอย่างกว้างขวาง ศีลธรรม หมายถึง ความประพฤติที่ดีงาม ความหมายนี้ตรงกับคำจำกัดความที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (๒๕๒๕) อธิบายว่า ศีลธรรม คือ ความประพฤติที่ดีที่ชอบ ปัจจุบันจึงบัญญัติศีลธรรมตามความหมายตรงกับคำว่า moral หรือ morality ในภาษาอังกฤษ
(๒) ความหมายที่มักอธิบายกันว่า ศีลธรรม ก็คือศีลกับธรรม ศีลคือเว้นจากความชั่ว หรือศีลคือข้อห้าม ส่วนธรรมคือความประพฤติดี การแปลศีลว่าข้อห้ามมุ่งให้เข้าใจง่ายเป็นเบื้องแรก ต่อมาเลยยึดถือเข้าใจตามทำให้ความหมายคับแคบ คลาดเคลื่อน และเป็นการมองด้านลบเพียงด้านเดียว
(๓) ศีลธรรมโดยรูปศัพท์ดั้งเดิม มาจากหลักการทางพระพุทธศาสนาเป็นเกณฑ์ ศีลธรรมแปลว่า ธรรมชั้นศีล ธรรมภาคปฏิบัติทั้งหมดเรียกว่า ไตรสิกขา ซึ่งแบ่งเป็น ๓ ระดับ คือ ศีล สมาธิและปัญญา ทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา ล้วนเป็นธรรมทั้งสิ้น จึงมีธรรมขั้นศีล ธรรมขั้นสมาธิ และธรรมขั้นปัญญา ดังที่พระราชมุนี (๒๕๒๙ : ๕๙๒) ได้เคยวิเคราะห์ไปแล้วว่า ศีลธรรมก็คือศีลธรรมเป็นเพียงสร้อยคำ
นอกจากนี้อาจให้ความหมายกว้างกว่านี้ คืออาจแปลว่า ศีลและธรรมอื่น ๆ นอกจากศีลยังได้แก่ กรรมฐาน ขันธ์ห้า ไตรลักษณ์ ปฏิจจสมุปบาท ฯลฯ เป็นต้น ศีลในที่นี้เทียบเท่ากับวินัย ศีลธรรมจึงเท่ากับวินัย + ธรรม หรือธรรมวินัย ซึ่งเป็นตัวพระพุทธศาสนาทั้งหมด
๓.๓ คุณธรรม
คำว่า คุณธรรม โดยพยัญชนะแปลว่า ธรรมที่เป็นคุณ ความดี สภาพที่เกื้อกูลในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (๒๕๒๕) ให้ความหมายว่า “สภาพคุณงามความดี” คำนี้บัญญัติศัพท์ตรงกับ ภาษาอังกฤษว่า Virture ใน Dictionary of Education (Cater V. Good, ๑๙๗๓) ให้ความหมายว่า “ความล้ำเลิศแห่งอุปนิสัยและความประพฤติ (Excellence of Character of habitual behavior) นอกจากนี้ยังมีผู้ให้ความหมายอธิบายคำว่าคุณธรรมต่างกันออกไปดังนี้ (โกสินทร์ รังสยาพันธุ์, ๒๕๓๐ : ๑๕ – ๒๒)
คุณธรรมเป็นสิ่งที่ดีเด่นที่ติดตัวมาแต่กำเนิดและเปลี่ยนแปลงได้บ้างเมื่อได้รับการศึกษาและถือว่าความรู้คือคุณธรรม (Knowledge is Virture) หรือคุณธรรมนั้นสอนกันได้ (โสกราตีส)
คุณธรรมเป็นความรู้ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในตัวคนโดยบังเอิญ คุณธรรมเกิดจากความรู้ ไม่ใช่ความรู้ภาคทฤษฎี แต่เกิดจากการปฏิบัติ (เพลโต้)
คุณธรรม หมายถึงคุณงามความดี เป็นสภาวะจิตใจที่มั่นคงซึ่งแสดงตัวออกมาในรูปการกระทำที่จงใจอยู่ในทางสายกลาง ความรู้กับคุณธรรมแยกกันไม่ออก แต่ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน (อริสโตเติ้ล)
คุณธรรม คือความดีสูงสุด อันเกิดจากเจตจำนงที่ดีและจากการปลูกฝัง (ค้านท์)
คุณธรรม คืออุปนิสัยอันดีงามที่สั่งสมอยู่ในดวงจิตอันได้จากความพยายามและความประพฤติติดต่อกันมาเป็นเวลานาน (แมกเคนซี่)
คุณธรรม ได้แก่ คุณงามความดีที่สะสมอยู่ในใจมนุษย์ ซึ่งศาสนาพุทธเรียกว่า บารมี (จำรัส ดวงธิสาร)
คุณธรรม คือความรู้สึกนึกคิดหรือสภาพของจิตที่เป็นกุศล เกิดขึ้นได้เพราะจิตรู้ความจริง ความดีและความงาม (วีระ บำรุงรักษ์)
เพลโต้ (Plato) กล่าวว่า คุณธรรมที่แท้จริง หมายถึง การกระทำอันถูกต้องซึ่งเกิดจากความเข้าใจคุณค่าอันแท้จริงด้วยปัญญา … คุณธรรมทางปรัชญา ต้องอาศัยปัญญาและความเข้าใจหลักแห่งคุณธรรมนั้น … คุณธรรมทางสังคม คือการกระทำอันถูกต้องที่มาจากพื้นฐานอย่างอื่น เช่น ขนบธรรมเนียม นิสัย ประเพณี ความรู้สึกในทางดี ความโอบอ้อมอารี ความดี ตามสัญชาตญาณ ทำถูกเพราะคนอื่นทำ ทำเพราะเป็นประเพณี (ปรีชา ช้างขวัญยืน, ๒๕๑๔)
จากการศึกษาหาความหมายของคำว่าคุณธรรม สรุปได้ว่า คุณธรรม คือธรรมฝ่ายดีงามในจิตใจ ซึ่งอาจติดตัวมาแต่กำเนิด หรือสั่งสมด้วยการประพฤติปฏิบัติ คุณธรรมเป็นคุณสมบัติ ซึ่งซ่อนอยู่ภายในใจยากที่ผู้อื่นจะรับรู้หรือมองเห็นได้ ส่วนจริยธรรมเป็นการแสดงพฤติกรรมปรากฏออกมาทางกายกับวาจาให้ผู้อื่นมองเห็นหรือรับรู้ได้ จริยธรรมจะแยกออกจากคุณธรรมไม่ได้ จริยธรรมมีตัวคุณธรรมเป็นเครื่องส่อเจตนา
เนื่องจากพฤติกรรมของมนุษย์มีจิตใจเป็นผู้สั่งการควบคุมดูแล หากจิตใจร่าเริง เบิกบาน อากัปกิริยาก็จะแสดงออกอย่างคึกคักกระฉับกระเฉง แต่ถ้าหากว่าจิตใจเศร้าหมอง อากัปกิริยาก็จะแสดงออกอย่างเซื่องซึม เศร้าสร้อย ปรากฏแก่ผู้ได้พบเห็น ดังนั้นบุคคลผู้มีจิตใจดีงาม ก็คือบุคคลที่มีคุณธรรมสั่งสมเอาไว้ในดวงจิต เมื่อแสดงออกมาก็จะปรากฏให้ผู้อื่นรู้ว่าเป็นผู้มีจริยธรรมสูงหรือจริยธรรมต่ำ
คำว่า คุณธรรม มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า “กุศลธรรม” ในทางพระพุทธศาสนา คุณธรรมก็คือ กุศลธรรมนั่นเอง คำว่ากุศลธรรมมีความหมายโดยพยัญชนะว่า ธรรมฝ่ายกุศลธรรมที่ดี กุศลมีชื่อเรียกหลายอย่าง ได้แก่ บุญ ความดี ฉลาด สิ่งที่ดี คุณความดี ความชอบ ความถูกต้อง ตรงข้ามกับกุศลก็คืออกุศล ซึ่งได้แก่ ความชั่ว บาป ความผิด ความเลว ความไม่ดี ตัวอย่างต่อไปนี้ได้แก่ การปล้น การโกง การวางเพลิง โกหกตอแหล เล่นการพนัน เนรคุณ เอาเปรียบค้าของเถื่อน อิจฉาริษยา ประมาทเลินเล่อ ฯลฯ เหล่านี้เป็นพฤติกรรมที่เป็นบาป เป็นความเลว ความไม่ดีซึ่งเกิดขึ้นสังคมของเรามากมาย สาเหตุมาจากอกุศลนั่นเอง ตัวอกุศลเรียกว่า กิเลสหรือมลทินเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต ส่วนกุศลเรียกว่า บุญหรือคุณธรรมนั่นเอง ในทางพระพุทธศาสนาจะใช้คำว่า “กิเลส” เช่น กิเลสหนา กิเลสบาง กิเลสกำเริบ สิ้นกิเลส ฯลฯ โดยสรุป กิเลสมีอยู่ ๓ พวก เรียกว่า อกุศลมูล ได้แก่
(๑) กิเลสสายโลภ เป็นกิเลสที่ทำให้จิตใจโลภ กระหายอยากได้ ไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ เป็นความอยากในทางทุจริต
(๒) กิเลสสายโทสะ เป็นกิเลสชนิดที่ทำให้จิตร้อนรน กระวนกระวาย หงุดหงิด ขัดเคือง คิดประทุษร้าย ไม่พอใจ
(๓) กิเลสสายโมหะ เป็นกิเลสชนิดที่ทำให้จิตคิดลุ่มหลงวนเวียน งมงาย ไม่รู้จริง
ดังนั้น กุศลธรรมหรือธรรมอันเป็นความดีงามทั้งหลาย จะเกิดขึ้นและงอกงามขึ้นมาได้ ก็ต้องเกิดจากความไม่มี
มลทินที่เกิดจากกิเลส ๓ กอง นั่นเอง ในความเป็นจริงมนุษย์ปุถุชนล้วนแต่มีกิเลสอยู่ในใจทั้งสิ้น แต่จะมีมากหรือน้อยนั้นอีกเรื่องหนึ่ง คนไหนสิ้นกิเลสแล้วก็เป็นพระอรหันต์
หรือมองอีกอย่างหนึ่ง คุณธรรมหรือความดีงามทั้งหลายที่มนุษย์ประกอบขึ้น ย่อมมีรากฐานอันเป็นส่วนสำคัญที่รวมเรียกว่ากุศลมูล ๓ ประการ คือ
(๑) อโลภะ คือความไม่อยากได้ของผู้อื่น
(๒) อโทสะ คือความไม่คิดประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น
(๓) อโมหะ คือความรู้จริง ไม่ลุ่มหลงเข้าใจผิด
กุศลมูลทั้ง ๓ อย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งถ้ามีอยู่แล้วจึงทำให้กุศลหรือคุณธรรมอื่นที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้น
แล้วก็จะเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป และอกุศลหรือความชั่วหรือกิเลสทั้งหลายจะเกิดขึ้นไม่ได้ ส่วนอกุศลมูลซึ่งเป็นเหตุของความชั่วร้าย ถ้าเกิดขึ้นแล้วอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมทำลายคุณความดีทั้งหลายให้หมดสิ้น ทำให้อกุศลอื่น ๆ เจริญงอกงามขึ้นได้ ดังนั้นท่านจึงสอนให้เราหมั่นพิจารณาตรวจตราอยู่เสมอ ๆ ถ้ารู้สึกว่าความเสียหายจะเกิดขึ้นก็พยายามหยุดยั้งหรือกำจัดมันเสีย ดังตัวอย่างที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสแก่พระราหุลซึ่งเป็นพระโอรสว่า
…ไม่ว่ากรรมอันใดที่เธอตั้งใจจะทำ ทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี ทางใจก็ดีเธอควรพิจารณากรรมอันนั้น… ถ้าในการพิจารณานั้น เธอตระหนักว่า : ‘กรรมอันเราตั้งใจจะทำนี้จะเป็นผลร้ายต่อตนเอง เป็นผลร้ายต่อผู้อื่นหรือเป็นผลร้ายต่อทั้งตนเองและผู้อื่น กรรมอันนี้จะต้องเป็นการกระทำ อันไม่ชอบด้วยศีลธรรม เป็นการกระทำอันจะก่อให้เกิดทุกข์เป็นการกระทำอันจะมีผล เป็นความทุกข์ –แน่นอนทีเดียวที่เธอไม่ควรจะกระทำกรรมนั้นลงไป
“ขณะที่เธอกำลังทำกรรมอันหนึ่งด้วยเหมือนกัน ทางกายก็ดีทางวาจาก็ดี ทางใจก็ดี เธอควรจะพิจารณากรรมนั้น… ถ้าในการพิจารณาเธอตระหนักว่า กรรมอันนี้ซึ่งเรากำลังกระทำอยู่เป็นผลร้ายต่อตนเอง เป็นผลร้ายต่อผู้อื่น หรือเป็นผลร้ายต่อทั้งตนเองและผู้อื่น กรรมนี้เป็นการกระทำ อันมีผลเป็นความทุกข์เธอควรหยุดกระทำกรรมนั้นหลังจากที่เธอประกอบกรรมอันหนึ่งไปแล้วด้วยเหมือนกัน ทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี ทางใจก็ดี เธอควรจะพิจารณากรรมอันนั้น… ถ้าในการพิจารณาเธอตระหนักว่า กรรมนี้ซึ่งเราได้กระทำลงไปแล้วได้เป็นผลร้ายต่อทั้งตนเองและผู้อื่น มันได้เป็นกรรม อันไม่ชอบด้วยศีลธรรมไปแล้ว เป็นกรรมอันมีผลเป็นความทุกข์ไปแล้วเธอควรหลีกเลี่ยงกระทำกรรมนั้นในอนาคต (มัชฌิมนิกาย ๖๑, อ้างถึงใน ญาณโปนิกมหาเถระ ๒๕๒๐ : ๖๔ – ๖๖)

๓.๔ ค่านิยม
ค่านิยม (value) คืออะไร จอห์น ดิวอี้ ได้อธิบายว่า ค่านิยมก็คือการให้คุณค่า ให้ความสำคัญ ความชื่นชอบในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (appreciate) (John Dewey, ๑๙๕๙) มีผู้รู้ได้พยายามศึกษาอย่างกว้างขวางพร้อมทั้งได้ให้คำอธิบายไว้มากมาย (คณะอนุกรรมการฝ่ายวิจัยและพัฒนาวัฒนธรรม ๒๕๒๕) เช่น
ดวงเดือน พันธุมนาวิน กล่าวว่า “ค่านิยมเป็นลักษณะของสังคมและมีไว้เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ค่านิยมเป็นสภาพทางสังคมซึ่งอยู่ภายนอกตัวบุคคลและอาจจะมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของบุคคลได้มาก “ค่านิยม” ในความหมายนี้คือ กฎหมายทางสังคม ระเบียบแบบแผน และประเพณีนิยมของแต่ละหมู่เหล่า บุคคลเกิดมาก็จะพบสิ่งเหล่านี้รออยู่ในสังคมของตน บุคคลมีความจำเป็นต้องเรียนรู้และยอมรับกฎเกณฑ์เหล่านี้เพื่อที่จะอยู่ในสังคมนั้นต่อไป”
วีระ บำรุงรักษ์ กล่าวว่า “ประสบการณ์ใด ๆ ในชีวิตของบุคคลหรือสังคมที่เคยมีส่วนช่วยเพิ่มพูนคุณภาพชีวิตของมนุษย์หรือช่วยเชื่อมโยงวิถีทางและเป้าหมายแห่งชีวิต ย่อมเกี่ยวข้องกับค่านิยมทั้งสิ้น ค่านิยมเป็นสิ่งที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลยึดถือว่าเป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่งาม สิ่งที่ถูกต้องอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้ง ๒ – ๓ อย่างรวมกันก็ได้ สิ่งเหล่านี้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลจะถือเป็นเกณฑ์เบื้องต้นในการตัดสินใจเลือกในการดำรงชีวิต หรืออาจจะกล่าวง่าย ๆ ว่า เกณฑ์ใด ๆ ที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลยอมรับเพื่อใช้ในการเพิ่มคุณภาพชีวิต หรือใช้ในการดำเนินชีวิตเพื่อให้บรรลุเป้าหมายปลายทางเป็นเรื่องของค่านิยมทั้งสิ้น”
สุนทรี โคมิน และสนิท สมัครการ อธิบายว่า “ค่านิยมคือความเชื่อ (prescriptive belief) อย่างหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะถาวรที่เชื่อมว่าวิธีปฏิบัติบางอย่างหรือเป้าหมายของชีวิต “บางอย่างนั้น” เป็นสิ่งที่ตัวหรือสังคมเห็นดีเห็นชอบ สมควรที่จะยึดถือปฏิบัติมากกว่า หน้าที่ของค่านิยมมีดังนี้คือ ๑) ทำหน้าที่เป็นเกณฑ์ (criteria) หรือมาตรฐาน ๒) เป็นพยานการระลึกรู้ (perceived general plan) และ ๓) เป็นตัวอย่างบ่งชี้ถึงความต้องการและแรงจูงใจของมนุษย์”
พนัส หันนาคินทร์ (๒๕๒๓) กล่าวว่า ค่านิยม หมายถึง ความโน้มเอียงหรือแนวทางที่คนจะประพฤติไปในแนวทางใดทางหนึ่งที่ตนเองได้พิจารณาไตร่ตรองแล้วว่า เป็นสิ่งที่ดีสำหรับตนหรือสังคมยอมรับนับถือ และปฏิบัติตามแนวความคิดนั้นอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยก็ชั่วระยะเวลาหนึ่ง
ยังและแมค (Yong and Mack) กล่าวว่า “ค่านิยมคือความคิด (ideas) ในเรื่อง ‘สิ่งที่ควรจะเป็น (what ought)’ เช่น การที่เราปฏิบัติสิ่งหนึ่งสิ่งใดลงไปนั้น ก็มักพิจารณาหาคำตอบให้กับตนเองว่า การกระทำดังกล่าวนั้นสมควรหรือไม่ และมีใครบ้างที่เขาปฏิบัติอย่างนั้น”
ไคลด์ คลัคฮอท์น (Clyde Kluckhorn) ให้ความหมายว่า “ค่านิยมคือความคิดปรารถนาจะได้สิ่งใดสิ่งหนึ่งของบุคคลในสังคม ค่านิยมเป็นมาตรการในการตัดสินใจว่าบุคคลควรจะทำอะไรและต้องการอะไร ค่านิยมเป็นสิ่งที่ทำให้เราทราบถึงเป้าหมายต่าง ๆ ที่บุคคลในสังคมแสวงหา ทำให้เราทราบถึงระบบความเชื่อถือ ตลอดจนสิ่งอันเป็นความชื่นชอบของกลุ่มในสังคมนั้น”
สกอตส์ (Scott) กล่าวว่า “ค่านิยมเป็นความคิดรวบยอดของบุคคลซึ่งใช้ประเมินความดี ความชั่ว ความผิด ความถูก ความปรารถนา ความไม่ปรารถนา ที่เกิดจากการสังเกต ตริตรอง ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อการเลือกปฏิบัติและมีผลต่อการกระทำของบุคคล”
มิลเลอร์ (Miller) กล่าวว่า “ค่านิยมเป็นทัศนติและความเชื่อที่ฝังลึกในชีวิตของบุคคลและมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของบุคคลทุก ๆ ด้าน จากพฤติกรรมง่าย ๆ และธรรมดาที่สุด เช่น การแต่งกาย จนถึงพฤติกรรมที่ยากและซับซ้อน เช่น การแสดงความคิดเห็น การเลือกคู่ครอง อุดมคติความคิดทางการเมือง”
วิลเลียม (Williams) กล่าวว่า “ค่านิยม หมายถึงความรู้สึกนิยมชมชอบของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ ต่อขนบธรรมเนียมประเพณีของสังคม เป็นความรู้สึกพอใจที่จะทำ โดยทั่วไปค่านิยมเป็นเกณฑ์พื้นฐานแห่งพฤติกรรมของมนุษย์ซึ่งกำหนดไว้โดยสังคม มีผลต่อการประพฤติปฏิบัติ ความรู้สึกนึกคิดของบุคคลเป็นส่วนรวม ค่านิยมของบุคคลแต่ละกลุ่มอาจจะแตกต่างกันตามวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมา และค่านิยมดั้งเดิมก็เปลี่ยนแปลงไปได้ตามความเปลี่ยนแปลงของสังคม”
หลุยส์ ราท (Louis Rath อ้างถึงใน มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, ๒๕๒๙ : ๔๘) ได้ให้ความหมายค่านิยมว่า “ค่านิยมเป็นความเชื่อ เจตคติ หรืออารมณ์ความรู้สึก ที่ปัจเจกชนมีความภูมิใจ เป็นสิ่งที่สังคมยอมรับ และในบางครั้งเราก็มีค่านิยมสำหรับตัดสินสิ่งที่ไม่น่านิยมว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่มีคุณ ซึ่งในระหว่างค่านิยมที่ควรนิยม กับค่านิยมที่ไม่ควรนิยม เราอาจจะดึงเอาส่วนที่เป็นกลาง ๆ ไม่สุดโต่งข้างใดข้างหนึ่งมาประยุกต์ใช้ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว เพราะบางครั้งเราก็ใช้นำมาเป็นกรอบในการอ้าง โดยไม่รู้ตัวว่าเกณฑ์มาตรฐานเหล่านั้นได้มีบทบาทอยู่ในการตัดสินใจของเรา”
จากการศึกษาความหมายของค่านิยมจากความเห็นต่าง ๆ พอสรุปได้ว่า ค่านิยม เป็นสิ่งที่มีลักษณะเป็นนามธรรมที่บุคคลหรือสังคมเห็นว่าดี เห็นว่างาม เห็นว่าถูกต้อง น่าปรารถนา ค่านิยมเกิดจากประสบการณ์ หรือการเรียนรู้ของบุคคลหรือสังคม อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม
ค่านิยมของปัจเจกบุคคล ค่านิยมของคนแต่ละคนขึ้นอยู่กับว่า บุคคลนั้นให้ความสำคัญแก่อะไร ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เช่น ชอบการทำงานเป็นคณะ ชอบความมีระเบียบ วินัย ชอบพูดมากกว่าทำ ชอบของแถม หรือไม่ชอบพึ่งคนอื่น ไม่ชอบการโฆษณาชวนเชื่อ ไม่ชอบระบบพรรคพวก ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คือค่านิยมดังกล่าวก็จะเป็นพื้นฐานสำหรับการกระทำ การเลือก การตัดสินใจ ตลอดจนการตัดสินคุณค่าของบุคคลนั้น ค่านิยมในชีวิตประจำวันของมนุษย์จึงอาจแบ่งออกได้เป็น ๓ แบบ (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, ๒๕๒๙ : ๔๘ – ๔๙)
(๑) สุนทรียะ (aesthetic) คือมาตรฐานที่เราใช้ตัดสินความงาม เช่น ความงามของศิลปะ ดนตรี ธรรมชาติ รูปลักษณ์ของมนุษย์ การแต่งกาย
(๒) เครื่องมือ (instrumental) คือ เครื่องตัดสินหรือวิธีการที่เราใช้ตัดสินประสิทธิภาพของสัมฤทธิผลบางอย่าง เช่น การบรรยาย การแข่งขัน คำพูด
(๓) จริยธรรม (moral) คือ หลักการที่เราใช้ตัดสินว่าการกระทำและเป้าหมายนั้นเหมาะสมหรือไม่
ค่านิยมของสังคม ค่านิยมของสังคมจะขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่ว่า สังคมหรือสมาชิกส่วนใหญ่นิยมอะไร ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ประเมินค่าสิ่งต่าง ๆ กันอย่างไร เช่น คนส่วนใหญ่เห็นว่า คุณธรรมต่าง ๆ เป็นสิ่งดี การเคร่งศาสนาเป็นสิ่งดี การใช้ระบบประชาธิปไตยให้ความเป็นธรรมเป็นสิ่งดี หรือไม่ชอบยุ่งเรื่องคนอื่น ไม่ชอบให้ใครมาข่มเหงทำลายน้ำใจ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ก็จะกลายเป็นค่านิยมของสังคมนั้น และสุดท้ายก็จะกลายเป็นมาตรฐานหรือแบบฉบับสำหรับใช้ในการ
ตัดสินว่า อะไรดี อะไรชั่ว อะไรถูก อะไรผิด ดังนั้นค่านิยมจึงมีทั้งค่านิยมที่ดีและค่านิยมที่ไม่ดี ซึ่งขึ้นอยู่กับแนวโน้มของแต่ละบุคคลหรือสังคมนั้น ๆ ค่านิยมที่ดีเป็นสิ่งที่เราควรยึดถือ ควรปลูกฝังให้แก่ตนเองและสังคม เช่น การรักและเทิดทูนชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ความกตัญญูรู้จักตอบแทนคุณ ความขยันหมั่นเพียร เป็นต้น ส่วนค่านิยมที่เลวเป็นสิ่งที่ควรงดเว้น เป็นสิ่งที่เราต้องช่วยกันยกเลิกไม่ประพฤติ เช่น การพนันขันต่อ ความสุรุ่ยสุร่าย ความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ความมักง่ายเห็นแก่ได้ ฯลฯ
๓.๕ จริยศึกษา
ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (๒๕๒๕) ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้ จริยศึกษา คือการศึกษาเกี่ยวกับความเจริญงอกงามในทางความประพฤติและการปฏิบัติตนเพื่อให้อยู่ในแนวของศีลธรรมและวัฒนธรรม
ในเอกสารการสอนชุดวิชาจริยศึกษา (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, ๒๕๒๙) ได้อธิบายพอสรุปเป็นใจความว่าจริยศึกษา ได้แก่ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มุ่งให้เกิดการปฏิบัติตามแนวศีลธรรม จรรยา ที่กำหนดไว้ในศาสนา การปฏิบัติหน้าที่พลเมืองดีที่กำหนดไว้ในการปกครอง การมีค่านิยมที่พึงปรารถนาในสังคม และการพัฒนาจริยธรรมโดยตรงตามขั้นตอนของทฤษฎีพัฒนาการ การจัดจริยศึกษาในปัจจุบัน จึงต้องใช้รูปแบบหลาย ๆ อย่างผสมผสานกันโดยมีจุดเน้นของรูปแบบแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่ว่าผู้จัดจริยศึกษาต้องการเน้นจุดใดเป็นสำคัญ
ดังที่ได้ศึกษามาแล้วว่า จริยธรรม ศีลธรรม คุณธรรม ค่านิยมและวัฒนธรรมที่ดีงามต่าง ๆ เป็นต้น เป็นสิ่งที่จำเป็นและมีความสำคัญอย่างมากต่อมนุษย์โดยส่วนตัวและส่วนรวม ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ว่าในบ้านเมืองของเราหรือที่เกิดขึ้นในโลก ล้วนเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าผู้คนเหล่านั้นขาดแคลนจริยธรรมหรือคุณธรรมทั้งสิ้น เช่น การโหดร้ายทารุณ ความรุนแรงต่าง ๆ การข่มขืน การฉ้อโกง อุปัทวเหตุ แม้แต่ภัยที่เกิดจากธรรมชาติ เป็นต้น ล้วนเป็นฝีมือของคนที่ไม่มีจริยธรรมหรือคุณธรรมทั้งสิ้น ดังนั้นเป้าหมายของจริยศึกษาจึงมุ่งให้การศึกษาแก่บุคคลและสังคมให้บรรลุชีวิตที่ผาสุกงอกงามไพบูลย์ทั้งทางด้านกาย วาจา ใจ กระบวนการจัดการศึกษาอบรมให้บุคคลและสังคมบรรลุถึงจุดหมายดังกล่าวเรียกว่า จริยศึกษา (Moral education)
จริยศึกษาได้รวบรวมสิ่งต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องต่อไปนี้ (พระเมธีธรรมาภรณ์ ๒๕๓๑ : ๘๕)
(๑) ความรู้เรื่องศีล คือข้อห้ามหรือกฎเกณฑ์ต่าง ๆ
(๒) ความรู้เรื่องคุณธรรมที่ควรปลูกฝังในจิตใจ เช่น สัจจะ เมตตา เป็นต้น
(๓) ความรู้เรื่องจรรยามารยาท
(๔) ความรู้เรื่องขนบธรรมเนียมประเพณี
(๕) ความรู้เรื่องวัฒนธรรม
โดยสรุปไม่ว่าจริยศึกษาจะมีเนื้อหาอย่างไรก็ตาม แต่ก็พอสรุปได้ว่าเนื้อหาเหล่านั้นมุ่งให้ผู้เรียนเกิดความ
เจริญงอกงาม ๓ ด้าน คือ
(๑) ด้านความรู้ (knowledge) คือ รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรถูก อะไรผิด อะไรควร อะไรไม่ควร อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ ซึ่งความรู้เหล่านี้เป็นเพียงความรู้ความเข้าใจทางด้านปริยัติหรือด้านทฤษฎีเนื้อหาเท่านั้น ครูหรือผู้สอนเป็นเพียงผู้ชี้แนะหรือบอกเท่านั้น ผู้เรียนก็เกิดการรับรู้ว่า นี่เป็นความดี นี่เป็นความชั่ว นี่ควรปฏิบัติ นี่ไม่ควรปฏิบัติ ฯลฯ ทำให้ผู้เรียนเกิด การรู้จำกับรู้จัก แต่ยังไม่ทำให้เกิดตัวคุณธรรม
(๒) ด้านภาวะจิตหรือเจตคติ (mental position) คือเกิดความเลื่อมใส เชื่อมั่น ประทับใจ นิยมยกย่องบูชาในอุดมคติ ความดีงามต่าง ๆ แบบอย่างอันดีงามของวีรบุรุษ เช่น พระพุทธเจ้าโสกราตีส ขงจื้อ มหาตมะคานธี พระเยซู พระมะหะหมัด ฯลฯ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจต่อบุคคลเป็นอันมากหันมาเอาอย่างหรือลอกเลียนแบบ ภาวะจิตที่ใฝ่ดีนี้เอง คือตัวคุณธรรม เช่น บางครั้งตัวคุณธรรมอาจจะเกิดขึ้นจากศรัทธา หรือบางครั้งอาจเกิดเอง ด้วยการคิดเอง ไตร่ตรองด้วยเหตุผลหรือปัญญา เช่น โดยครูผู้สอนจัดประสบการณ์เหล่านี้ขึ้นมาจากการอภิปรายกันในห้องเรียน มีการสืบสอบสวนหรือค้นหาคำตอบ วิธีการเช่นนี้เป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้เกิดคุณธรรมงอกงามขึ้นมา เช่น เมธีตะวันตกที่ชื่อค้านท์ (Kant) เชื่อว่า กฎจริยธรรมนั้นมีอยู่แล้วในตัวมนุษย์ หากรู้จักค้นคิดพิจารณาคุณธรรมก็จะเกิดขึ้นมาได้ หรือวิภาษวิธี (Socratic method) ของโสกราตีส ซึ่งใกล้เคียงกับการขบปริศนาธรรมเพื่อเขย่าพุทธะหรือธาตุรู้ให้เกิดขึ้นมาในทำน องเดียวกัน
(๓) ด้านทักษะหรือลักษณะนิสัย (skill) คือความเคยชิน (habit) หรืออุปนิสัยสันดานอันดีงาม อันเกิดจากการฝึกฝนอบรมสั่งสมทีละเล็กละน้อยเป็นประจำ จนกล่าวได้ว่า บุคคลนั้นเป็นคนดีมีคุณธรรมประจำใจ
จริยธรรมที่แท้จะต้องเป็นกระบวนการเรียนการสอนเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ ๓ ด้าน ดังกล่าว แต่การศึกษาที่จะกระทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่จริงจังนั้นเป็นเรื่องต้องอาศัยการร่วมมือช่วยกันทำทุกหน่วยของสังคม เริ่มตั้งแต่สังคมครอบครัว ชุมชน โรงเรียน หน่วยงานทุกหน่วยต้องช่วยกันปฏิบัติจริงและต่อเนื่องไม่ขาดสาย
๓.๖ จริยศาสตร์ (Ethics)
ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (๒๕๒๕) อธิบายคำว่า จริยศาสตร์คือ ปรัชญาสาขาหนึ่งว่าด้วยความประพฤติและการครองชีวิตว่าอะไรดีอะไรชั่ว อะไรถูกอะไรผิด หรืออะไรควร อะไรไม่ควร พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงบัญญัติศัพท์จริยศาสตร์ ใช้แทนคำว่า Ethics ในภาษาอังกฤษ ส่วนคำว่า Ethics เป็นศัพท์มีต้นเค้ามาจากภาษากรีกว่า “Ethos” และรากศัพท์ที่เป็นภาษาละตินว่า Mores ภายหลังใช้กันว่า morale หรือ morality ทั้งคำกรีกและละติน Ethos และ mores นี้แปลว่า custom เหมือนกัน ทั้งสองคำนี้ใช้เป็นไวพจน์ซึ่งกันและกันเสมอ คำว่า custom แปลว่า character, manner, disposition เป็นภาษาไทย แปลว่า ขนบธรรมเนียม กริยาท่าทาง สมบัติผู้ดี จิตใจ อุปนิสัยใจคอ ในกาลต่อมาความนิยมส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนไป นักปรัชญาทั้งหลายมักใช้คำว่า moral ในความหมายว่า “คุณธรรม ศีลธรรม จรรยา”
ส่วนคำว่า Ethics จะหมายถึงศาสตร์แขนงหนึ่งที่ศึกษาค้นคว้าหาความหมายเกี่ยวกับความประพฤติที่ถูกและผิด (Ethics refers to the systematic general science of right or wrong conduct) จริยศาสตร์ในความหมายนี้ จัดเป็นสาขาหนึ่งของวิชาปรัชญา ปรัชญาคือวิชาที่ว่าด้วยหลักแห่งความรู้และความจริง ความจริงที่จริยศาสตร์ศึกษาเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับมนุษย์ มนุษย์จะต้องมีการดำรงชีวิตอยู่และเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้อื่น จึงมีปัญหาว่า มนุษย์ควรจะดำรงชีวิตอยู่อย่างอย่างไร และควรประพฤติต่อผู้อื่นอย่างไร จริยศาสตร์ต้องการหาคุณค่าของมนุษย์ ตลอดจนจุดหมายปลายทางอันเป็นอุดมคติสูงสุด ฯลฯ
อาจสรุปกล่าวสั้น ๆ ได้ว่า จริยศาสตร์พยายามตอบคำถามว่า “อะไรดี อะไรชั่ว อะไรควร หรือไม่ อะไรผิด อะไรถูก” นั่นเอง
ในสารานุกรมปรัชญา (Encyclopedia of philosophy, ๑๙๖๗) ได้อธิบายความหมายของคำว่า Ethics สรุปได้ ๓ ประเด็น คือ จริยศาสตร์ หรือ Ethics สามารถใช้ได้ในความหมายต่อไปนี้
(๑) Ethics หมายถึง a way of life : ทางดำเนินชีวิต ทางดำเนินชีวิตนี้ หมายถึง วิธีที่คนเรานำชีวิตตนไปสู่จุดมุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง ในความหมายทั่วไป อาจกล่าวได้ว่า ทางดำเนินชีวิตของคนเราโดยทั่วไปทุกชาติทุกภาษา คนแก่หรือคนหนุ่มล้วนต้องการความอยู่ดีกินดีด้วยปัจจัย ๔ ไม่มีอะไรแตกต่างกันมากมาย แต่ในทางศาสนาจะมีจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกันไป เช่น ในทางพระพุทธศาสนามุ่งดับทุกข์เป็นจุดหมายสูงสุด แต่ในศาสนาเทวนิยมทั้งหลายมุ่งชีวิตอมตะในสรวงสวรรค์กับพระเจ้า เป็นต้น สรุปจริยศาสตร์ในความหมายแรกนี้หมายถึง ทางดำเนินชีวิตรวมไปถึงระบบคำสอนในศาสนาต่าง ๆ
(๒) Ethics หมายถึง Moral code หรือ rules of conduct แปลว่า จรรยา จรรยาบรรณ หลักแห่งความประพฤติ ซึ่งได้แก่ ความถูกต้องดีงามที่บุคคลหรือสังคมประมวลไว้เป็นหลักสำหรับใช้ปฏิบัติ แบ่งออกเป็น ๒ ประการ คือ จริยศาสตร์ทั่วไป (general ethics) คือ หลักประพฤติโดยทั่ว ๆ ไป และจริยศาสตร์เฉพาะด้าน (specific ethics) ได้แก่ จรรยาเฉพาะวิชาชีพ เช่น จรรยาแพทย์ จรรยาครู จรรยาพยาบาล ฯลฯ
(๓) Ethics หมายถึง inquiry about ways of life and rules of conduct อันเป็นเรื่องของการใช้เหตุผลตรวจสอบเกี่ยวกับทางดำเนินชีวิต และหลักความประพฤติของมนุษย์ ซึ่งเป็นแนวทางการศึกษาปรัชญาประเภทหนึ่งที่จะพิจารณาตัดสินว่า หลักประพฤติอันใดดี ไม่มี สมควร ไม่สมควร ถูกหรือผิด การศึกษาเชิงปรัชญานี้จะต้องอาศัยศาสตร์เกี่ยวกับหลักความจริงต่าง ๆ เกี่ยวกับธรรมชาติของโลกและชีวิตนำมาเป็นเหตุผลในการตัดสินพิจารณา แต่เดิมการศึกษาแบบนี้เรียกว่า อภิปรัชญาและญาณวิทยา แต่กาลเวลาต่อมาวิชาการเหล่านี้ได้พัฒนากว้างขวาง เป็นศาสตร์สาขาต่าง ๆ มากมาย เช่น จิตวิทยา สังคมวิทยา ชีววิทยา ฯลฯ จนในปัจจุบัน แมคแฟดเดิน (McFadden) ได้สรุปว่า “จริยศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่ง” เนื่องจากการใช้ความจริงและความรู้ทางธรรมชาติมาเป็นเหตุผล นักปรัชญาบางกลุ่ม กล่าวว่า จริยศาสตร์เป็นวิชาในแขนงวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Natural science)
๔. มาตรฐานจริยธรรม
เมื่อจริยธรรมกลายเป็นมาตรฐานความประพฤติของมนุษย์ จึงน่าจะมาทำความเข้าใจกันเกี่ยวกับมาตรฐานจริยธรรม
มาตรฐาน หมายถึง เกณฑ์ที่ใช้วัดสิ่งใดสิ่งหนึ่งทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ
มาตรฐานทางจริยธรรมจึงหมายถึง เกณฑ์ที่ใช้วัดการกระทำของมนุษย์เพื่อให้รู้ว่า การกระทำอย่างไรถือว่า ถูก ผิด ควร ไม่ควร มาตรฐานจริยธรรมมีลักษณะสอดคล้องกับความดีคือ มีลักษณะอนุโลมตามความดีที่ถือว่าเป็นจุดหมายสูงสุดนั้น แต่ก่อนที่จะเข้าสู่รายละเอียดของหัวข้อนี้ควรทำความเข้าใจกับคำ ๒ คำเสียก่อน คือ จุดหมาย กับ วิถี
จุดหมาย (end) คือ เป้าหมายที่เราต้องการไปให้ถึง เป้าหมายที่เราต้องการบรรลุจุดที่เราต้องการไปให้ถึง สิ่งที่เราต้องให้ได้มา คนเรามีจุดหมายด้วยกันทุกคน จุดหมายนั้นอาจแตกต่างกันออกไป และมีอะไรเป็นขั้นตอน แต่จุดหมายในที่นี้ หมายถึงจุดหมายสูงสุดที่เมื่อเราเข้าถึงแล้วจะไม่ก้าวไปสู่จุดหมายอื่นอีกต่อไป เช่น นิพพาน พระเจ้า ความสุข
วิถี (means) หมายถึง วิธีการ การกระทำ แนวทางที่จะทำให้เราบรรลุถึงจุดหมาย เช่น ระเบียบ วินัย กฎเกณฑ์ ศีลธรรม จริยธรรม
คำสองคำนี้จะช่วยให้เราเรียนรู้เกี่ยวกับมาตรฐานการตัดสินดี ชั่ว ได้ดีขึ้น ทีนี้เรามาหันกลับเข้าสู่เนื้อหาของหัวข้อนี้ต่อไป
การที่เราจะตัดสินว่าอะไรดี อะไรชั่วนั้น ก่อนอื่นเราต้องรู้จักสิ่งที่ดีที่เป็นจุดหมายของเราเสียก่อน เสร็จแล้วนำเอาสิ่งดีนั้นไปตีค่าให้แก่สิ่งที่เราต้องการจะตัดสิน ตัวอย่าง สมมุติว่า “การสอบเข้ามหาวิทยาได้” เป็นสิ่งดี นี่เป็นจุดหมายของเรา วันหนึ่งเรากับเพื่อน ๆ ไปหาซื้อหนังสือมาอ่านเตรียมสอบ เข้าไปที่ร้านขายหนังสือแห่งหนึ่ง เพื่อนหยิบหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมาถามว่า หนังสือเล่มนี้ดีหรือไม่ เราก็เอาสิ่งดีเป็นจุดหมายของเราไปตีค่าให้แก่หนังสือเล่มนั้น ผลจะออกมาในลักษณะที่ว่า ถ้ามันมีส่วนช่วยให้เราสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ เราก็ตัดสินว่าดี ถ้าไม่มีส่วนช่วยให้เราไปสู่จุดหมายของเราได้หรือไม่ การสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้จึงเป็นเครื่องวัดคุณค่าของสิ่งอื่นที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับมัน ไม่ว่าจะเป็นวัตถุสิ่งของหรือการกระทำ
สำหรับมาตรฐานวัดความดีสูงขึ้นไปกว่านี้ก็มีวิธีการทำนองเดียวกัน เราต้องไม่ลืมว่าการมองความดี เราควรมองในหลายแง่หลายมุม มองจากหลาย ๆ จุด ดังนั้นมาตรฐานวัดความดี ก็ต้องมีหลายแง่ ซึ่งเราจะได้ศึกษาต่อไป
ก. มาตรฐานในแง่ปรัชญา เราทราบตัวอย่างความดีทางปรัชญาแล้วว่า ได้แก่ ความสุข ปัญญา การทำตามหน้าที่ สิ่งเหล่านี้แหละเป็นตัวอย่างมาตรฐานการวัดความดีความชั่วในแง่ปรัชญา เช่น พวกที่ถือว่าความสุขเป็นสิ่งดี ก็ยึดความสุขเป็นจุดหมาย เอาความสุขไปตีค่าให้แก่สิ่งอื่น ทั้งในแง่ดีและไม่ดี สิ่งดีคือสิ่งที่ก่อให้เกิดสุข การกระทำที่ดี คือการกระทำที่ก่อให้เกิดความสุข แม้ในเรื่องของปัญญา และการกระทำตามหน้าที่ ก็พึงคิดเปรียบเทียบในลักษณะเดียวกัน ต่อไปนี้จะอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการกระทำตามหน้าที่อีกสักเล็กน้อย เพราะเห็นว่าประโยชน์ต่อการตัดสินใจของเรา เราทราบดีว่าทุกคนล้วนมีหน้าที่ แต่การทำตามหน้าที่นั้นบางครั้งก็เกิดปัญหายุ่งยากแก่การตัดสินใจ เช่น ก เป็นตำรวจมีหน้าที่รักษากฎหมาย วันหนึ่งเขาได้รับคำสั่งให้ไปจับขโมยลักควายที่ป่าละเมาะแต่ลำพังผู้เดียว เขาจับขโมยได้ ๑ คน แต่เผอิญขโมยคนนั้นเป็นน้องชายของเขาเอง ในสถานการณ์เช่นนั้น ก จะปล่อยขโมยก็ได้เพราะ ไม่มีใครเห็น แต่ถ้ายึดหลักการกระทำตามหน้าที่เป็นจุดหมาย ก จะต้องจับน้องชายส่งฟ้องศาลในฐานขโมยความชาวบ้าน
อีกประการหนึ่ง ถ้าเราเจอปัญหาที่ทำให้เกิดความยุ่งยากในการตัดสินใจ ขอให้เรานึกถึงหลักการอย่างหนึ่ง นั่นคือ “จงทำตามหลักซึ่งท่านจงใจได้ ที่จะให้เป็นกฎสากล”
อีกทรรศนะหนึ่ง คือ พวกประโยชน์นิยม พวกนี้เอาประโยชน์สุขของคนหมู่มากเป็นเครื่องตัดสินดี ชั่ว คือ การกระทำใดก่อให้เกิดความสุขมากที่สุด แก่จำนวนคนมากที่สุด การกระทำนั้นถือว่าดี ส่วนสิ่งที่บ่อนทำลายความสุขของคนหมู่มาก ถือว่าชั่ว หลักการของพวกนี้ชื่อว่า หลัก “มหสุข” หลักความสุขของคนหมู่มาก
ข. มาตรฐานในแง่ศาสนา เราทราบแล้วว่า สิ่งดีสูงสุดในทางศาสนา ได้แก่ พระเจ้านิพพานหรือการดับทุกข์ พระเจ้าและนิพพานเป็นเครื่องวัดความดีในลักษณะที่ว่า สิ่งใดที่ทำให้บุคคลเข้าถึงพระเจ้า เข้าถึงนิพพาน สิ่งนั้นดี สิ่งใดทำให้บุคคลห่างไกลจากพระเจ้า ห่างไกลจากนิพพานสิ่งนั้นไม่ดี การกระทำที่ดี คือการกระทำที่ทำให้ถึงนิพพาน ให้ถึง พระเจ้า พระเจ้าและนิพพานเป็นจุดหมายสูงสุด เพื่อให้ศาสนิกบรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าวโดยปลอดภัยและรวดเร็ว ศาสดาของศาสนาจึงได้วางหลักศีลธรรมจริยธรรมเอาไว้ให้ประพฤติตาม หลักศีลธรรมจึงเป็นสิ่งที่ดี คือดีในแง่ที่เป็นวิธีเพื่อให้เข้าถึงจุดหมาย ถ้าเปรียบชีวิต ก็เหมือนการเดินทาง ชีวิตที่ประกอบด้วยศีลธรรมเป็นการเดินทางที่สะดวกปลอดภัย ชีวิตที่ไร้ศีลธรรมเป็นการเดินทางที่เต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนามและไร้หลักประกันที่จะให้ถึงจุดหมาย ดังนั้นในแง่ศาสนา เรากล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า การกระทำชั่ว คือการกระทำที่ผิดหลักศีลธรรม เพราะทำให้คนห่า งจากพระเจ้า ไกลจากนิพพาน การกระทำที่ดี คือการกระทำตามหลักศีลธรรม เพราะเป็นวิถีให้คนใกล้พระเจ้า ใกล้นิพพาน พระเจ้าและนิพพานเป็นสิ่งดี คือดีในแง่ที่เป็นจุดหมาย (end) ส่วนศีลธรรมเป็นสิ่งดี คือดีในแง่ที่เป็นวิถี (means) ในทางศาสนา จุดหมายกับวิถีมีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก ดังนั้นสิ่งที่ใช้วัดความดีอีกระดับหนึ่งในทางศาสนาคือ ศีลธรรม
มาตรฐานวัดดีชั่วตามแนวศาสนา


ดี ถูก ควร
ชั่ว ผิด ไม่ควร
ถูกหลักศีลธรรม
มีประโยชน์ มีคุณคา
ทำให้เกิดสุข
ทำลาย โลภ โกรธ หลง
ตนและคนอื่นไม่เดือนร้อน
บัณฑิตสรรเสริญ
ทนต่อการพิสูจน์
เป็นไปเพื่อความสงบสุข
ขัดหลักศีลธรรม
ทำลายประโยชน์ ทำลายคุณค่า
นำทุกข์มาให้
ส่งเสริม โลภ โกรธ หลง
เบียดเบียนตน คนอื่น
บัณฑิตไม่สรรเสริญ
ไม่ทนต่อการพิสูจน์
ก่อความวุ่นวาย
จากตารางเราจะเห็นว่า มาตรฐานตัดสินดีชั่วตามแนวของศาสนานี้เนื้อหาครอบคลุมไปถึงมาตรฐานในด้านอื่น ๆ กล่าวได้อย่างมั่นใจว่าผู้หญิงปฏิบัติตนตามหลักศีลธรรมโดยเคร่งครัด ไม่มีวันจะทำผิดกฎหมายของบ้านเมืองได้เลย
ค. มาตรฐานในแง่เศรษฐกิจ เศรษฐกิจ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายไว้ว่า “งานอันเกี่ยวกับการผลิต การจำหน่ายจ่ายแจก และการบริโภคใช้สอยสิ่งต่าง ๆ ของชุมชน” ความหมายนี้ชัดเจนอยู่แล้ว แต่ถ้าจะแยกกล่าวเป็นประเด็นก็มีอยู่ ๓ ประการ คือ
๑) ผลิตกรรม หมายถึง การผลิตทั้งในด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม
๒) ปฏิวัติกรรม หมายถึง การนำผลิตกรรมออกมาจำหน่ายจ่ายแจกเฉลี่ยแบ่งปันไปยังบุคคลและ สังคม
๓) ปริโภคกรรม หมายถึง การอุปโภคบริโภคผลิตกรรม และก่อให้เกิดการสึกหรอสิ้นเปลืองหมดไปแก่ผลิตกรรมนั้น
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจตามที่เราเข้าใจกันโดยทั่วไปนั้น หมายถึงทรัพย์หรือรายได้ เพื่อการยังชีพตามสมควรแก่ฐานะของบุคคลและสังคม มีทรัพย์มีรายได้ถือว่าดี ทรัพย์และรายได้จึงเป็นมาตรฐานตัดสินดีชั่วในแง่เศรษฐกิจ การที่เราจะตัดสินว่าอะไรดี อะไรชั่ว ให้เราเอาทรัพย์และรายได้หรือไม่ ถ้าเป็นถือว่าดี ถ้าไม่เป็นถือว่าไม่ดี เช่น การสงวนทรัพยากร การค้นหาทรัพยากร การประหยัด ความมัธยัสถ์ การเอาเงินฝากธนาคาร การเย็บ ปะ ชุน เสื้อผ้าที่ชำรุด สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งดีในแง่เศรษฐกิจ เพราะเป็นวิถีนำเราไปสู่ทรัพย์และรายได้ ส่วนการทำลายทรัพย์และรายได้ ส่วนการทำลายทรัพยากร การฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย การกักตุนสินค้า กินทิ้งกินขว้าง การเก็งกำไร เหล่านี้ถือเป็นความชั่วในแง่เศรษฐกิจเพราะเป็นอันตรายต่อทรัพย์และรายได้
ง. มาตรฐานในแง่สังคม สิ่งที่เป็นยอดปรารถนาของคนในสังคมคือ ความสงบสุข ในแง่ของสังคมความสงบสุขของสังคมเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ความสงบสุขหมายถึงลักษณะความเป็นอยู่ ๒ ประการ คือ
๑) การเป็นอยู่อย่างสงบ หมายถึง สภาพการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันโดยปราศจากภาวะวิกฤตเชิงจริยธรรม นั่นคือ สังคมที่ไม่มีโจรผู้ร้าย ไม่มีอาชญากรรม ไม่มีการแสดงพลังขัดแย้งชิงดีชิงเด่นกัน บ้านเมืองมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย
๒) การเป็นอยู่อย่างมีความสุข ความสุขคือความสบายกายสบายใจ ความสบายกายเกิดจากที่บุคคลมีปัจจัย ๔ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค เพียงพอแก่อัตภาพและฐานะของตนไม่ฟุ่มเฟือยนัก ไม่ฝืดเคืองนัก การอยู่ การไปสะดวกสบายปลอดภัย เกิดจากความรู้สึกอบอุ่นใจ ความรู้สึกปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ความไว้วางใจกันได้ ความปรารถนาดี การเป็นอยู่อย่างมีความสุขจึงได้แก่ การเป็นอยู่อย่างสบายกายสบายใจ
ความสงบกับความสุขรวมกันเข้าเป็นความสงบสุขดังกล่าว เป็นมาตรฐานตัดสินความดี ความชั่วในแง่สังคม กล่าวคือ สิ่งใดก่อให้เกิดความสงบแก่สังคม สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งดี เช่น ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ความอยู่ดีกินดี ความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติ ความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ดีเพราะเป็นวิถีนำเราไปสู่ความสงบสุขของสังคม สิ่งใดก่อให้เกิดความเดือนร้อนแก่สังคมบ่อนทำลายความสงบสุขของสังคม สิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งชั่ว เช่น อาชญากรรม โจรผู้ร้าย การจลาจล สงคราม การแข่งขันกันสร้างอาวุธ ความยากจนของประชาชน ความสกปรกรกรุงรังของบ้านเมือง การขาดระเบียบวินัยของคนในชาติ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งชั่วเพราะเป็นวิถีที่ทำลายความสงบสุขของสังคม
๕. สรุป
ในบทที่ว่าด้วยจริยธรรมนี้ เป็นการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจความหมายของจริยธรรมกับศัพท์เกี่ยวข้องในหลายมุมมอง เพื่อให้ทราบถึงต้นเค้าของศัพท์และทรรศนะมุมมองของผู้รู้ต่าง ๆ ที่พยายามศึกษาความหมายของจริยธรรมในด้านที่แตกต่างกัน ทำให้เรามองเห็นลักษณะความเป็นสากลของจริยธรรม ในการพิจารณาหาความหมายทำให้มองเห็นความลดหลั่น ความหมายในแนวลึกและแนวตื้น เช่น การศึกษาเกี่ยวกับศีล พบว่าที่ใช้กันทั่วไป มักหมายถึงเรื่องของกายกับวาจา แต่จากการศึกษาลึกลงไปพบว่า “ศีลแท้ ๆ” เป็นต้น เป็นเรื่องของจิตใจ ในลักษณะดังกล่าว ทำให้เรามองเห็นว่าการศึกษาจริยธรรมแม้ในส่วนเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับประเด็นของความหมายก็สามารถทำให้เขาใจลักษณะความเป็นสากลของจริยธรรม
นอกจากนี้ในการศึกษาทำให้เรามองเห็นสาระและอรรถของจริยธรรม เป็นต้นว่า มองเห็นพื้นฐานความเป็นมา เห็นกระบวนการต่อเนื่องว่า ศัพท์จริยธรรมมิได้เกิดขึ้นลอย ๆ ถ้าหากขาดความพิถีพิถันในการใช้ถ้อยคำอาจเเป็นเหตุให้เรามองไม่เห็นคุณค่าที่แท้จริงของจริยธรรมก็ได้
จากการศึกษาเกี่ยวกับความหมายและขอบข่ายของจริยธรรม รวมทั้งศัพท์ที่เกี่ยวข้องสามารถสรุปใจความสำคัญได้ ดังนี้
จริยธรรม คือ วิถีชีวิต หรือครรลองอันถูกต้องดีงามทุกประการของมนุษย์ เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนพึงประพฤติปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงสถาพชีวิตอันทรงคุณค่า อันเป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น
จริยธรรมเป็นเครื่องมือที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นจากภูมิปัญญาและประสบการณ์ เพื่อเข้าถึงอุดมคติของความดีงามและความเป็นมนุษย์ สิ่งนี้เองที่ทำให้มนุษย์ต่างจากสัตว์เดรัจฉาน
ดังนั้น จริยธรรมกลายเป็นมาตรฐานหรือบันทัดฐานที่สังคมยอมรับ ถ้าหากใครประพฤติปฏิบัติก็ถือว่าเป็นคนดี ถ้าหากใครละเมิดก็คือเป็นคนเลว
ศีลธรรม คือแนวประพฤติปฏิบัติที่ทำให้มนุษย์ดำเนินชีวิตได้อย่างมีระเบียบและเป็นปกติสุข
คุณธรรม คือคุณสมบัติดีงามที่สถิตอยู่ในจิตใจของมนุษย์ ศัพท์ที่สามารถใช้ในความหมายเดียวกับคุณธรรม ได้แก่ คำว่า กุศลธรรม
ค่านิยม คือระบบคุณค่าที่บุคคล หรือสังคมใดสังคมหนึ่ง ให้ความนิยมยกย่องว่าดีว่างาม ค่านิยมมีทั้งดีและไม่ดี ส่วนค่านิยมที่ดีจะต้องไม่ขัดกับจริยธรรมหรือศีลธรรม
จริยศาสตร์ (Ethics) เป็นศัพท์ศาสตร์หนึ่งในสาขาวิชาปรัชญา ที่ศึกษาเชิงวิเคราะห์เกี่ยวกับระบบคุณค่าทั้งหมดเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ โดยอาศัยเหตุผลเป็นเครื่องมือ แต่ในทางปฏิบัติ Ethics คำนี้มีความหมายกว้างขวาง ยังหมายถึง way of life, moral code หรือ rule of conduct อีกด้วย
จริยศึกษา เป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับแนวประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องดีงามต่าง ๆ ได้แก่ หลักศีลธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม กฎหมาย พร้อมทั้งพยายามปลูกฝังอบรมขยายผลให้ความรู้เหล่านี้สัมฤทธิ์ผลเป็นความเจริญงอกงามในเชิงปฎิบัติ
สำหรับมาตรฐานที่จะวัดความดีงามของมนุษย์ เราสามารถมองได้หลาย ๆ แง่ ที่สำคัญ ๆ ได้แก่ ในแง่ปรัชญา ในแง่ศาสนา ในแง่เศรษฐกิจ และในแง่สังคม
ที่มาบทความ : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศรีนวล รัฐไชย .จริยธรรมกับชีวิต. คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฏสวนสุนันทา, 2542.

ไม่มีความคิดเห็น: